xs
xsm
sm
md
lg

รายงาน “ทวงคืน ปตท.” ตอนที่ 2 หุ้นผู้มีอุปการคุณ ของชำร่วยทางการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดังที่กล่าวมาตอนแรกว่า การกระจายหุ้น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ทั้ง 800 ล้านหุ้น เมื่อปี 2544 ในนามของการแปรรูปนั้นมีปัญหาความไม่ชอบมาพากลทุกกลุ่ม

หุ้นดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของคนไทยทั้งชาติ โดยหลักการแล้วหากจะขายจึงควรขายให้แก่คนไทยโดยเท่าเทียมกันก่อน หากเหลือจึงจะขายให้แก่นักลงทุนต่างชาติได้ แต่เพื่อที่จะเข้าแย่งชิงทรัพย์สินของชาติและประชาชน คณะกรรมการแปรรูปฯ กำหนดสัดส่วนให้ขายแก่นักลงทุนรายย่อยเพียง 220 ล้านหุ้น ขายในราคาพาร์ให้แก่ผู้มีอุปการคุณจำนวน 25 ล้านหุ้น ขายให้แก่นักลงทุนประเภทสถาบันไทย จำนวน 235 ล้านหุ้น แต่ขายให้นิติบุคคลต่างประเทศ จำนวนมากที่สุด และสามารถแอบแฝงเข้าถือครองได้ง่ายที่สุดจำนวน 320 ล้านหุ้น

นี่คือ เทคนิคการฉ้อฉลชั้นเซียน เปรียบเสมือน “ล็อกสเปกไว้ล่วงหน้า” เพราะการกำหนดเช่นนี้คือการวางเงื่อนไขระเบียบวิธีการและกำหนดเพื่อบุคคลเข้าแย่งชิงทรัพย์สินของรัฐและประชาชนในนามของการจัดสรรเพื่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขายให้นิติบุคคลต่างประเทศเพราะอยู่นอกเหนือกลไกการตรวจสอบใดๆ ของรัฐและอยู่ในรูปของการถือหุ้นในฐานะตัวแทนเชิด (Nominee) ได้

วงการเชื่อกันว่า นักการเมืองไทยได้ครอบครองหุ้นของ ปตท.ด้วยสัดส่วนสูงมาก ผ่านหุ้นกลุ่มที่จัดขายให้นิติบุคคลต่างประเทศจำนวนมาก 320 ล้านหุ้น ซึ่งเป็นการง่ายดายมากที่นักการเมืองไทยจะถือหุ้นผ่านโบรกเกอร์ต่างประเทศ หรือที่วงการหุ้นเรียกขานว่า “ฝรั่งหัวดำ” นี่เป็นความลับดำมืดมายาวนานเกือบ 10 ปี ว่ามีฝรั่งหัวดำถือครองหุ้น ปตท.มากน้อยเพียงใด มูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดินจึงได้ร้องขอศาลปกครองเพื่อจัดการให้ความลับดำกล่าวคลี่คลายออกมาโดยบรรยายคำฟ้องว่า

“มีบุคคลในรัฐบาลบางคนได้มีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) เข้าไปทำสัญญาจัดตั้งกองทุนส่วนบุคคลเข้ามาซื้อหุ้นของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โดยหลีกเลี่ยงกฎหมาย ป.ป.ช. และหลีกเลี่ยงการตรวจสอบโดยเจ้าพนักงานของรัฐบาลไทย ผู้ฟ้องคดีจึงประสงค์จะขอให้ศาลเรียกบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเหล่านี้จากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และเรียกผู้ถือหุ้นต่างประเทศเหล่านี้เข้ามาในคดี และพิสูจน์ที่มาของเงินที่นำมาซื้อหุ้น ตัวตนของผู้ถือหุ้นที่แท้จริง รวมทั้งเงินปันผลที่จ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นที่เป็นนิติบุคคลต่างประเทศเหล่านี้ว่า ได้โอนจากบัญชีของนิติบุคคลเหล่านั้นเข้าบัญชีของผู้ใด เพื่อตรวจสอบว่ามีหุ้นที่จำหน่ายให้แก่บุคคลโดยผิดกฎหมาย ป.ป.ช.จำนวนเท่าใด”

นอกจากนั้น ความไม่ชอบมาพากลทั้งหลายปวงนอกเหนือจากหุ้นจัดสรรให้นักลงทุนต่างประเทศ กับหุ้นที่จัดสรรให้กับรายย่อยผ่านธนาคาร 220 ล้านหุ้น ซึ่งขายหมดในพริบตาที่กล่าวมาแล้ว ยังมีหุ้นกลุ่มที่มีปัญหาความไม่โปร่งใสที่น่าเกลียดมากที่สุดอีกกลุ่ม..นั่นก็คือ หุ้นผู้มีอุปการคุณจำนวน 25 ล้านหุ้น

สำหรับบริษัทห้างร้านทั่วไปที่เป็นของเอกชน การที่เถ้าแก่เจ้าของกิจการจะมอบหุ้นราคาพิเศษให้กับแขกผู้ใหญ่คู่ค้าเก่าแก่ หรือคนสนิทในนามหุ้นผู้มีอุปการคุณ สามารถกระทำได้เพราะสินทรัพย์และผลประโยชน์ดังกล่าวเป็นของเอกชน แต่สำหรับกิจการที่เป็นของรัฐอย่างบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เงินทุนที่ลงไปก้อนหน้าล้วนมาจากภาษีประชาชนข้อเท็จจริงคือในขณะนั้นกระทรวงการคลังถือหุ้น 100% ย่อมต้องถือว่าหุ้นทุกหุ้นเป็นสมบัติส่วนรวมของชาติ

มูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดิน ได้เตรียมยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในประเด็นหุ้นผู้มีอุปการคุณด้วย โดยบรรยายคำฟ้องว่ามีการกำหนดให้บุคคลบางกลุ่มที่คณะกรรมการของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เห็นชอบให้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนของกระทรวงการคลัง จำนวน 25 ล้านหุ้นได้ในราคาพาร์ (10 บาทต่อหุ้น) ซึ่งต่ำกว่าราคาเปิดจองและต่ำกว่าราคาสินทรัพย์ต่อหุ้นที่แท้จริงของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โดยอ้างสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่า ผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัดสามารถให้หุ้นอุปการคุณในราคาพาร์ได้ ซึ่งความจริงแล้วคณะกรรมการของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือคณะรัฐมนตรีไม่มีสิทธิกระทำเช่นว่านั้นได้ เพราะผู้ถือหุ้นที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินของบริษัทส่วนตัวชอบที่จะขายใครในราคาเท่าใดก็ได้

มูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดินระบุในคำฟ้องว่า คณะกรรมการของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และคณะรัฐมนตรีมิใช่เจ้าของบริษัทฯ ดังนั้น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จึงไม่มีอำนาจที่จะขายหุ้นซึ่งไม่ใช่ของตนให้แก่ผู้ใดในราคาตามใจชอบได้ เพราะหุ้นของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นของรัฐ และประชาชนจึงต้องทำไปตามขอบเขตและบทบัญญัติของกฎหมาย ด้วยความโปร่งใสและตรวจสอบได้เท่านั้น คือจะต้องขายตามราคาตลาดที่แท้จริง

โดยสรุปก็คือ การขายหุ้นในราคาพาร์จำนวน 25 ล้านหุ้น จึงเป็นการขายโดยไม่โปร่งใสไม่เป็นธรรม ขาดหลักธรรมาภิบาลและไม่อาจตรวจสอบได้ เพราะ ปตท.ไม่ยอมเปิดเผยว่าผู้ใดได้หุ้นอุปการคุณไปจำนวนเท่าใด และบรรดาผู้ได้หุ้นอุปการคุณไปนั้นได้มีอุปการคุณอย่างใดต่อบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

การตรวจสอบทางการข่าวพบว่า ในห้วงเวลาที่กำลังมีการกระจายหุ้น ปตท. ได้มีข้อเสนอเชิญชวนระหว่างบุคคลใกล้ชิดสนิทสนมกับผู้บริหารของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้รับคำสอบถามว่าต้องการหุ้น ปตท.หรือไม่? ต่อมาก็ได้รับจัดสรรในบัญชีรายชื่อผู้มีอุปการคุณ หาได้มีระเบียบเงื่อนไขกำหนดชัดเจนว่า “ผู้มีอุปการคุณ” มีองค์ประกอบหรือต้องมีคุณสมบัติเช่นไรจึงเข้าข่ายได้รับสิทธิพิเศษกว่าคนทั่วไป

สมมติหากมีผู้มีอุปการคุณคนหนึ่งได้รับจัดสรรไป 5 หมื่นหุ้นๆ ละ 10 บาท (ราคาพาร์) เขาจ่ายเงินต้นทุนไป 5 เพียงแสนบาทรอจังหวะราคาหุ้นขึ้นแตะ 300 บาท เท่ากับหุ้นที่เขาถือมีมูลค่าถึง 15 ล้านบาททันที - ช่างเป็นการลงทุนด้วยวิธีพิเศษที่ได้ผลงดงามยิ่ง!

ในช่วงปลายปี 2544 ต่อเนื่อง 2545 อันเป็นห้วงเวลาที่สื่อมวลชน พรรคการเมืองฝ่ายค้านในขณะนั้นคือพรรคประชาธิปัตย์กำลังให้ความสนใจการขายหุ้นปตท.ที่ไม่โปร่งใส มีการเปิดเผยชื่อญาติพี่น้องคนนามสกุลเดียวกับนักการเมืองขึ้นมาจำนวนหนึ่ง คำถามในช่วงแรกคือเหตุใดคนเหล่านี้จึงครอบครองหุ้นบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้มากเป็นหลักหลายแสนหลักล้านหุ้นมีการใช้เส้นสายล็อกหุ้นแย่งชิงมาจากประชาชนรายย่อยที่ต้องต่อคิวซื้อจากเคาน์เตอร์ธนาคารหรือไม่? ปรากฏว่ามีคำพยายามอธิบายจากผู้บริหารบริษัท ปตท.ว่า ผู้ถือครองหุ้นชื่อดังบางคนได้รับจัดสรรจากหลายๆ ช่องทางเช่นได้ครอบครองทั้งหุ้นผู้มีอุปการคุณและหุ้นนักลงทุนทั่วไปซึ่งมีบัญชีเปิดกับโบรกเกอร์อยู่ก่อน ดังนั้นเขาจึงมีหุ้นมาก แท้จริงมิได้ผิดปกติแต่อย่างใด

คำอธิบายดังกล่าวของผู้บริหาร ปตท.ฟังเผินๆ เหมือนจะเป็นธรรม แต่แท้จริงแล้วยิ่งสะท้อนชัดขึ้นว่า ญาติพี่น้องตระกูลดังใกล้ชิดนักการเมืองก็ได้รับจัดสรรหุ้นอุปการคุณด้วยเช่นกัน มูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดินจึงร้องศาลปกครอง ขอให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) แสดงรายชื่อผู้ถือหุ้นอุปการคุณจำนวน 25 ล้านหุ้น และขอให้ศาลได้โปรดเพิกถอนหุ้นอุปการคุณจำนวน 25 ล้านหุ้นดังกล่าวข้างต้นให้เป็นของกระทรวงการคลังเช่นเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น