xs
xsm
sm
md
lg

ตั้ง บ.ทุนสำรอง ธปท.เล็งลงทุนหุ้นนอก ยึดรูปแบบเกาหลี-คาดสรุปใน 1-2 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หม่อมเต่า” เผย แบงก์ชาติมีแนวคิดตั้ง “บริษัทจำกัด” นำทุนสำรองบางส่วนไปลงทุนในหุ้นที่มั่นคง เพื่อหารายได้เพิ่มขึ้น ยึดรูปแบบประเทศเกาหลีใต้ทำ ได้ข้อสรุปภายใน 1-2 เดือน พร้อมเสนอขุนคลังคนใหม่ ขณะที่รองฯ อัจนา ยืนยันทุนสำรองเมื่อหักเงินสำรองยังเหลือเงินมากพอลงทุนหากำไร

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (กกธ.) หรือบอร์ดแบงก์ชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้บริหารธปท.ได้ยอมรับหลักการนำทุนสำรองบางส่วนไปลงทุนภายใต้โครงสร้างบริษัทจำกัดแล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งจะแก้ไขกฎหมายให้สามารถไปลงทุนในหุ้นได้ด้วย ต่อจากนี้ไปฝ่ายบริหาร ธปท.จะหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ดูแลภาคการเงิน เพื่อกำหนดระเบียบต่างๆ ของบริษัทจำกัดดังกล่าว จึงคาดว่าในอีก 1-2 เดือนข้างหน้าจะได้ข้อสรุปและนำเรื่องนี้เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่พิจารณาต่อไป

“คงไม่ใช้โครงสร้างแบบกองทุนความมั่นคงแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund หรือ SWF) ซึ่งตัดทุนสำรองออกไป ตั้งเป็นกองทุนใหม่และจ้างคนนอกบริหาร เพราะเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายประเทศที่มีกองทุนลักษณะนี้ แต่มองว่าโครงสร้างที่ดีที่สุดมองว่าควรเป็นแบบบริษัทจำกัดที่หลายประเทศดำเนินการอยู่และตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ
ประเทศเกาหลีที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก และ ธปท.ก็ศึกษาโครงสร้างนี้กว่า 1 ปีแล้ว”

โครงสร้างแบบบริษัทจำกัดนี้จะอยู่ภายใต้การดูแลของ ธปท.ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 99.99% และมีกฎหมายเฉพาะในการบริหารคล้ายกับบริษัทจำกัด โดยมีทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการของบริษัทชุดหนึ่งที่ธปท.เป็นผู้ควบคุมดูแล ขั้นตอนและรายละเอียดต่างๆ อาทิ ประเภทสินทรัพย์ที่ลงทุน ซึ่งจะเปิดโอกาสให้มีการลงทุนในตราสารทุนที่ไหนได้บ้าง

เมื่อสินทรัพย์เปลี่ยนแปลงค่าควรบันทึกอย่างไร สัดส่วนการนำเงินสำรองมาใช้ในการลงทุน การแต่งตั้งกรรมการขึ้นมาดูแล ซึ่งจะมีตัวแทนจากกระทรวงการคลังอย่างน้อย 2-3 คนร่วมด้วย เพื่อสร้างมั่นใจต่อสาธารณะ บทลงโทษต่างๆ และข้อห้ามบางอย่าง 2-3 ประเด็น เป็นต้น

แต่การดำเนินการเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องปริมาณเงินทุนสำรองที่มีมาก แต่กลับเป็นเรื่องความจำเป็นมากกว่า โดยมองว่าขณะนี้อัตราผลตอบแทนจากตราสารหนี้ค่อนข้างต่ำเทียบกับตราสารทุน ต่างกับในอดีตที่ผลตอบแทนการลงทุน 2 ประเภทนี้ ไม่แตกต่างกันนัก จึงมองว่าการได้รับเงินปันผลย่อมดีกว่าอัตราดอกเบี้ย และไม่ใช่เรื่องยากหากจะพิจารณาลงทุนตราสารทุนที่มีความเสี่ยงไม่มากนัก เพราะในโลกมีตราสารทุนหลากหลายชนิด ฉะนั้น ควรหาจุดสมดุลในการหาผลตอบแทนสูงขึ้นภายใต้ขอบเขตความเสี่ยงที่สามารถรับได้

“การแก้ไขกฎหมายให้ซื้อตราสารทุนได้ และตั้งเงื่อนไขให้ประชาชนมั่นใจว่าการบริหารงานที่ดีตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ดีก็น่าจะปลอดแรงกดดันทางการเมือง พร้อมทั้งยังลิงก์มายังบอร์ดแบงก์ชาติที่มาจากการคัดเลือกไม่ใช่แต่งตั้ง หรือเลือกตั้งและมีบุคคลภายนอกจากของกระทรวงต่างๆ มานั่งอยู่ด้วย ซึ่งบุคคลเหล่านี้ล้วนเป็นคนรักชาติพอควรและไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง จึงช่วยให้มีหลักธรรมาภิบาลได้ระดับหนึ่ง”

ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ กล่าวว่า กว่าจะได้โครงสร้างดังกล่าว ธปท.ได้ทำการศึกษาการนำทุนสำรองไปลงทุนไว้ 3 โครงสร้าง ได้แก่ 1.ยกร่างกฎหมายพิเศษใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งอาจต้องใช้เวลา โดยจะมีลักษณะกองทุนเหมือน SWF แยกการนำทุนสำรองไปลงทุนและไม่ให้อยู่ภายใต้ธปท.แต่อาจมีปัญหาเรื่องบันทึกกำไรขาดทุนจากการบริหารว่าไม่ควรปรากฏในทุนสำรองทันที เพราะในทุนสำรองควรมีเงินไว้รองรับการค้าการลงทุนด้วย อีกส่วนหนึ่งถึงจะไปหาผลตอบแทน เพราะปัจจุบันเงินบาทเริ่มแพงขึ้นต่างกับในต่างประเทศบางแห่ง โดยเฉพาะสหรัฐที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้

2.แก้ไขกฎหมายมาตราเดียวให้ ธปท.สามารถเข้าไปซื้อหุ้นได้ จากปัจจุบันที่จำกัดในเรื่องนี้ แต่มองว่าประเด็นนี้อาจขัดต่อบทบาทหน้าที่ของธนาคารกลางที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์หลักในการลงทุนเหมือนกับอาชีพเฮดจ์ฟันด์ และ 3.การแก้ไขกฎหมายมาตราเดียวที่ปัจจุบันห้ามไม่ให้ลงทุนในหุ้น ก็เพิ่มข้อความไปว่า ยกเว้นบริษัทจำกัดที่สามารถเข้าไปซื้อหุ้นได้หากมีความจำเป็น ซึ่งมองว่าเป็นโครงสร้างที่ดีที่สุดในขณะนี้

ลงทุนในหุ้นเพื่อกระจายความเสี่ยง

ด้าน นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท.กล่าวว่า ต้องเข้าใจด้วยว่าในทุนสำรอง ไม่ได้เกิดจากการสะสมของเงินที่เกินดุลการค้าอย่างเดียว แต่เงินบางส่วนยังต้องใช้หนุนหลงธนบัตรออกใช้ เงินที่ต้องกันไว้ในบัญชีเงินสำรองพิเศษ รวมไปถึงเงินลงทุนระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติซึ่งต้องดูถึงขั้นกรณีเลวร้ายสุดที่เงินเหล่านี้ถูกเรียกกลับคืนหรือไหลออกไปทั้งหมดด้วย จึงต้องมาดูว่าปริมาณเงินสำรองที่มีอยู่ปัจจุบันเมื่อหักลบเงินเหล่านี้แล้วจะเหลืออยู่เท่าไหร ซึ่งยอมรับว่ามีเงินเหลือจำนวนหนึ่งที่มากพอนำไปลงทุนเพิ่มเติมได้

“การแก้กฎหมายให้สามารถลงทุนในหุ้นได้เพิ่มเติมเป็นการกระจายควมเสี่ยงในการลงทุนของทุนสำรอง ในช่วงที่ระบบการเงินโลกมีความผันผวน เพราะในแต่ละช่วงผลตอบแทนของตราสารทุนกับตราสารหนี้อาจสวนทางกัน โดยบางช่วงการลงทุนในหุ้นดีกว่าพันธบัตร หรือบางช่วงพันธบัตรจะดีกว่าลงทุนในหุ้นจึงมองว่าเป็นเรื่องที่ดีกว่าการลงทุนได้แบบใดแบบหนึ่งอย่างเดียว” รองผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสุดท้ายแล้วจะได้ความชัดเจนแนวทางการนำทุนสำรองไปลงทุนแล้ว แต่ก็ต้องสำรวจความคิดเห็นทุกฝ่าย รวมไปถึงประชาชนด้วย เพราะการแก้ไขกฎหมายธปท.จะต้องผ่านการพิจารณาจากกระทรวงการคลัง คณะรัฐมนตรี และเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภาด้วย ซึ่งหากทุกฝ่ายเห็นชอบจึงจะสามารถดำเนินการขยายการลงทุนตามแนวคิดดังกล่าวได้
กำลังโหลดความคิดเห็น