xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ยึด “เครื่องบินส่วนพระองค์” ปล่อย “นช.ทักษิณ” เข้าประเทศ เยอรมันกระทำ “หยามหมิ่น” คนไทย !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้เหตุการณ์บานปลายออกไปอีก หลังจากบริษัท วอลเตอร์บาว (Walter Bau) คู่พิพาทของรัฐบาลไทย ขออำนาจศาลเยอรมนีอายัดเครื่องบินโบอิ้ง 737 พระราชพาหนะส่วนพระองค์ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร โดยศาลเยอรมนีมีคำสั่งให้ไทยวางเงินประกันจำนวน 850 ล้านบาท เพื่อเป็นหลักประกันในการถอนอายัด ซึ่งเรื่องดังกล่าวรัฐบาลไทยยืนยันว่า จะไม่วางเงินประกันจำนวน 850 ล้านบาท เนื่องจากเครื่องโบอิ้ง 737 เป็นเครื่องบินส่วนพระองค์ ไม่ใช่ของรัฐบาลไทย ศาลเยอรมนีจึงไม่มีอำนาจอายัด

แต่ล่าสุด เมื่อวันที่ 22ก.ค. สถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ ยืนยันคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ที่สั่งให้ประเทศไทยต้องจ่ายค่าชดเชย จำนวน 36 ล้านยูโร หรือประมาณ 1,560 ล้านบาท ให้แก่บริษัท วอลเตอร์บาว โดยถ้อยแถลงการณ์มีลักษณะ “ข่มขู่และแข็งกร้าว” ย้ำให้รัฐบาลไทยต้องจ่ายเงิน เพื่อปกป้องการลงทุนระหว่างไทยกับเยอรมนี

"...เครื่องบินได้ถูกอายัดหลังจากคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้ตัดสินเมื่อกลางปี พ.ศ. 2552 ว่ารัฐบาลไทยต้องจ่ายค่าเสียหายชดเชยให้กับบริษัท วอลเตอร์ บาว ซึ่งคำตัดสินถือเป็นสิ้นสุด และเพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามสัญญาเพื่อการปกป้องการลงทุนที่ประเทศไทยและประเทศเยอรมนีร่วมลงนามกันไว้ รัฐบาลเยอรมันคาดหวังว่า รัฐบาลไทยจะปฏิบัติตามคำตัดสินนี้อย่างเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้

"รายงานข่าวต่างๆ ของสื่อไทยเกี่ยวกับกระบวนการของศาลในกรุงนิวยอร์กนั้น ทำให้ผู้อ่านเข้าใจคลาดเคลื่อน กระบวนการพิจารณาคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่กรุงนิวยอร์กนั้น เพื่อขอคำตัดสินว่า การบังคับคดีในเรื่องนี้สามารถกระทำในสหรัฐอเมริกาได้หรือไม่เท่านั้น ซึ่งจะไม่มีการสืบพยานใดที่จะทำให้ประเทศไทยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามคำตัดสินได้

"การตัดสินใจของรัฐบาลไทยในเรื่องนี้โดยเร็ว จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนเยอรมันและจากประเทศอื่นๆ ในประเทศไทยอีกครั้งและจะส่งสัญญาณทางบวกสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมัน-ไทยต่อไปด้วย” แถลงการณ์เยอรมันระบุ

ทั้งนี้ ถ้อยแถลงการณ์ที่มีลักษณะ “ข่มขู่และแข็งกร้าว” นี้เกิดขึ้นในขณะที่มีรายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศว่า รัฐบาลเยอรมันได้ยกเลิกคำสั่งในการห้าม นช.ทักษิณ ชินวัตร เข้าประเทศ ซึ่งแปลเยอรมันเป็นไทย ก็คือ ยึดเครื่องบินส่วนพระองค์ แต่ปล่อยนักโทษหนีคุกเข้าประเทศ ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเยอรมันทำอย่างนี้เพื่ออะไร !?

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด กระทรวงการต่างประเทศของไทย ออกแถลงการณ์ต่อเอกสารแถลงข่าวของสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย โดยมีเนื้อหาใจความว่า

“ตามที่สถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย ได้ออกเอกสารแถลงข่าวเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 เรียกร้องให้รัฐบาลไทยรีบดำเนินการชำระค่าเสียหายให้แก่บริษัท วอลเตอร์ บาว โดยมีข้อความพาดพิงถึงการอายัดเครื่องบินส่วนพระองค์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร นั้น

“กระทรวงการต่างประเทศขอแถลงเป็นการย้ำอีกครั้งว่า กรณีพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัท วอลเตอร์ บาว เป็นกรณีพิพาทระหว่างรัฐกับผู้ลงทุนเอกชน ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้รับผิดชอบในนามของรัฐบาลไทย โดยกรณีพิพาทนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องแต่ประการใดกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และทรัพย์สินส่วนพระองค์ พระองค์ทรงเป็นบุคคลภายนอก ไม่ใช่คู่พิพาทในกรณีดังกล่าว และเช่นเดียวกัน รัฐบาลเยอรมนีก็ไม่ใช่คู่กรณี

“กระทรวงการต่างประเทศขอแถลงด้วยว่า ฝ่ายไทยได้แจ้งข้อเท็จจริงข้างต้นให้แก่รัฐบาลเยอรมนีแล้วในทุกระดับตั้งแต่ต้น ซึ่งรัฐบาลเยอรมนีก็น่าจะตระหนักดีถึงข้อเท็จจริงนี้ และด้วยเหตุนี้ รัฐบาลไทยจึงรู้สึกผิดหวังต่อท่าทีและการดำเนินการของรัฐบาลเยอรมนี ดังเอกสารแถลงข่าวล่าสุดของสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย ซึ่งยังคงพาดพิงถึงการอายัดเครื่องบินส่วนพระองค์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร โดยใช่เหตุ และโดยมิบังควร

“กระทรวงการต่างประเทศขอย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะรักษาและดำรงไว้ซึ่งพระเกียรติยศของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร รวมทั้งกำลังดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้เรื่องเกี่ยวกับการอายัดเครื่องบินส่วนพระองค์ยุติลงอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม” แถลงการณ์กระทรวงการต่างประเทศไทย ระบุ

ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับแถลงการณ์ของสถานทูตเยอรมนีว่า ปัญหานี้กระบวนการต่างๆ ยังไม่จบ ฉะนั้นไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เท่าที่ทราบเขาพูดคนละคดีกัน เป็นการพูดถึงตัวคดีหลัก ไม่ใช่เรื่องเครื่องบิน และขอยืนยันว่าในส่วนรัฐบาลไทย ยังอยู่ในกระบวนการของการต่อสู้ในเรื่องที่จะมาใช้สิทธิ์ของวอลเตอร์ บาว

“ไม่เห็นว่าเยอรมนีจะมีเหตุผลอะไรที่จะมาทำแบบนี้ ขณะเดียวกันกระทรวงการต่างประเทศ ก็มีหนังสือไปแล้ว เพราะโดยข้อเท็จจริงเรื่องนี้ยังไม่จบ ถ้าจบรัฐบาลไทยก็มีความรับผิดชอบอยู่แล้ว ฉะนั้น ฝ่ายบริหารของเยอรมนีไม่ควรต้องมากังวลเรื่องนี้ และไม่มีสิทธิ์มาบีบรัฐบาลไทย” นายอภิสิทธิ์กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าบริษัท วอลเตอร์ บาว มีอิทธิพลต่อรัฐบาลเยอรมันในการออกแถลงการณ์ฉบับนี้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ให้ความเห็นว่า ตนไม่ใช้คำว่าอิทธิพล แต่เวลาที่ภาคเอกชนมีปัญหา ฝ่ายบริหารก็มักจะไปพูดกับประเทศที่เกี่ยวข้อง เหมือนเวลานักลงทุนไทยมาร้องเรียน รัฐบาลก็ไปพูดให้เขาบ้าง

“แต่รูปแบบที่สถานทูตเยอรมันทำ เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ถือว่าไม่เหมาะสม” นายอภิสิทธิ์ให้ความเห็น

อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ก่อนหน้านี้ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด ได้ให้ความเห็นว่า เหตุผลที่ศาลเยอรมนีสั่งอายัดเครื่องบินไว้ชั่วคราวเป็นเพราะมีข้อมูลจากเว็บไซต์เอกชนที่ไหนก็ไม่รู้ ระบุว่ากองทัพอากาศยังมีเครื่องบินลำนี้อยู่ แต่เรามีเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของไทยที่ยืนยันข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ดังนั้นวันนี้หากพูดถึงพยานหลักฐานที่มีอยู่ ยืนยันว่าเครื่องบินเป็นของสมเด็จพระบรมฯ ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพียงแต่ต้องรอกระบวนการพิจารณาของศาลเยอรมนี ส่วนการพิจารณาคดีนั้นอัยการร้องขอให้ศาลเร่งพิจารณาคดีเร็วขึ้น ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคม

ทั้งนี้ ในส่วนของบริษัท วอลเตอร์ บาว ฟ้องให้รัฐบาลไทยชำระเงินตามคำวินิจฉัยอนุญาโตตุลาการนั้น นายจุลสิงห์ยืนยันว่า คดียังไม่จบ จะมาบอกว่ารัฐบาลไทยดื้อแพ่งไม่จ่ายเงินไม่ได้ โดยเตรียมจะยื่นอุทธรณ์ในช่วงปลายเดือนนี้ ถ้าถึงที่สุดแล้วหากจะแพ้คดีหลักเราก็ต้องยอมจ่าย เราเป็นประเทศไทย มีอยู่ในแผนที่ ไม่สามารถหนีออกไปนอกโลกได้

“สมเด็จพระบรมฯ ทรงรับรู้ความรู้สึกของคนไทย และอยากให้คนไทยเข้าใจว่าพระองค์ท่านไม่ได้ทำอะไรผิดกฎการบิน ทรงทำถูกต้องทุกอย่าง ซึ่งท่านไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับคดีที่รัฐบาลไทยกับบริษัท วอลเตอร์ บาว มีคดีความต่อกัน โดยอัยการได้ถวายรายงานกับคดีความให้ท่านทราบแล้ว ซึ่งคดียังไม่จบ รอยื่นอุทธรณ์อยู่ ส่วนเครื่องบิน ระหว่างนี้ยังจอดอยู่ที่ประเทศเยอรมัน ซึ่งพระองค์ท่านมีพระราชวินิจฉัยว่าไม่ต้องวางเงินประกัน แต่รัฐบาลไทยก็พร้อมที่จะเอาเงินวางเพื่อจะนำเครื่องบินออกมาเพื่อถวายให้ท่านทรงใช้งาน แต่พระองค์ท่านไม่ประสงค์ให้นำเงินของรัฐบาลไทยไปวาง“ อัยการสูงสุด กล่าว

อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายเจษฎา กตเวทิน รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรักษาการโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ให้ความเห็นว่า เรื่องนี้เป็นการดำเนินการตามกรอบกฎหมาย และรัฐบาลไทยยังไม่ได้ยินฝ่ายใดระบุว่า การที่รัฐบาลไทยยังไม่จ่ายเงินค่าชดเชยให้บริษัทนี้ เป็นการทำผิดกฎหมาย หรือผิดความตกลงที่มีต่อกัน และยังไม่มีการระบุว่า รัฐบาลไทยไม่มีสิทธิต่อสู้ทางกฎหมายแล้ว ตรงนี้เป็นเรื่องที่เราต้องพิจารณาให้ดี

“การต่อสู้คดีเป็นเรื่องที่อัยการสูงสุด (อสส.) สามารถให้ข้อมูลได้ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า แม้อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตัดสินแล้วว่าให้จ่ายเงินชดเชย แต่ขั้นตอนต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการยื่นร้องต่อศาล เพื่อให้มีการบังคับคดีที่ยังให้เราใช้สิทธิต่อสู้ได้ ที่จริงแล้วเป็นอย่างไร กระทรวงการต่างประเทศกำลังเร่งหารือกับ อสส. และดูว่าการที่ความเข้าใจของเยอรมนีคลาดเคลื่อน เป็นความคลาดเคลื่อนในสาระสำคัญ หรือเป็นเพราะเขาให้ภาพไม่ครบ เมื่อการหารือระหว่างกระทรวงฯ กับ อสส.ได้ข้อสรุปแล้ว อาจมีการทำหนังสือชี้แจงตอบโต้ทางการเยอรมนี เพื่อให้ข้อมูลต่าง ๆ ที่ถูกต้อง โดยเฉพาะเรื่องข้อกฎหมาย” นายเจษฎาให้ความเห็น

ส่วนกรณีที่แถลงการณ์ของสถานทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย ระบุชัดว่าอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตัดสินเป็นที่สิ้นสุดแล้ว แต่รัฐบาลไทยกลับไม่ยอมชดใช้ให้กับบริษัท วอลเตอร์ บาว นั้น นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

“รัฐบาลยืนยันหลักการและเข้าใจว่ากระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีเองก็เคยพูดว่า เรื่องของกระบวนการยุติธรรมดำเนินการอยู่ ซึ่งอยู่ในชั้นอุทธรณ์และยังมีข้อสังเกตทางกฎหมายหลายเรื่อง และกระบวนการยุติธรรมของเยอรมนีก็แยกแยะออกจากเรื่องของฝ่ายบริหาร เราก็แปลกใจนิดหน่อยที่กระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีให้ความเห็นเกี่ยวข้องกับกระบวนยุติธรรม” นายปณิธานกล่าว และว่า “เราเรียกร้องให้กระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี ระมัดระวังในเรื่องนี้ และให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องทั้งหมด ซึ่งรัฐบาลจะส่งข้อมูลชี้แจงไปที่เยอรมนีอีกครั้ง”

ทั้งนี้ เกี่ยวกับกรณีที่มีข่าวว่า ทางการเยอรมนีอนุญาตให้ นช.ทักษิณ ชินวัตร เข้าประเทศได้แล้ว จะมีความเกี่ยวโยงกับกรณีนี้หรือไม่นั้น นายปณิธานให้ความเห็นว่า ตอนนี้ยังเป็นข่าวอยู่ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะตรวจสอบอีกครั้ง แต่ก็อยากให้มีความร่วมมือที่ดีระหว่างสองประเทศ เพราะอดีตนายกรัฐมนตรี มีเรื่องเกี่ยวข้องกับกฎหมายที่ต้องดำเนินการกับกระบวนการยุติธรรม

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรัฐบาลก็ระมัดระวังอยู่เสมอ และหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนี” นายปณิธาน กล่าว

อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับกระแสข่าวที่รัฐบาลเยอรมนียกเลิกคำสั่งห้าม นช.ทักษิณ ชินวัตร เข้าประเทศนั้น ล่าสุด มีการยืนยันกระแสข่าวดังกล่าวจากสื่อในเยอรมันแล้ว โดย “นายศักดิ์สิทธิ์ ไสยสมบัติ” บล็อกเกอร์ชาวไทย รายงานผ่านเว็บไซต์สยามวอยเซส อ้างหนังสือพิมพ์แฟรงก์เฟอร์เตอร์ อัลเกอไมน์ ไซตุง ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศเยอรมนีอีกครั้ง หลังจากมีคำสั่งห้ามเข้าประเทศเมื่อปี 2549 โดย นายกีโด เวสเตอร์เวลล์ รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี ได้ยกเลิกคำสั่งห้าม พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าประเทศ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. และแจ้งต่อกระทรวงกลาโหม ซึ่งสามารถสั่งการโดยตรงกับหน่วยงานย่อยทั้งหมด รวมถึงตำรวจส่วนกลาง ให้นำไปปฎิบัติในทันที

ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวมองว่า การตัดสินใจของรัฐบาลเยอรมนี ซึ่งยังไม่แจ้งให้ไทยทราบอย่างเป็นทางการ อาจทำให้เกิดความตึงเครียดในความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ ทั้งนี้ จดหมายเวียนของรัฐบาลเยอรมนีระบุว่า เหตุผลที่ยกเลิกคำสั่งห้าม พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าประเทศ เป็นเพราะสถานการณ์ทางการเมืองของไทยเปลี่ยนแปลงไป

อย่างไรก็ตาม นายศักดิ์สิทธิ์ รายงานว่า แม้เยอรมนีมีคำสั่งห้ามเข้าประเทศตั้งแต่ปี 2549 แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถเล็ดลอดเข้าไปในเยอรมนีได้ช่วงปลายปี 2551 และยังได้รับอนุญาตให้ตั้งถิ่นฐานที่เขต “บัด โกดส์แบร์ก” ใกล้กับเมืองบอนน์ อดีตเมืองหลวงของเยอรมนีตะวันตก ซึ่งเป็นที่พำนักของเอกอัครราชทูตไทยในขณะนั้น ด้วยความช่วยเหลือของกลุ่มเพื่อนชาวเยอรมันที่น่าสงสัย รวมถึงอดีตสายลับ อดีตผู้บัญชาการตำรวจท้องถิ่น ทนายความ และยังได้รับคำรับรองเป็นลายลักษณ์อักษรจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร “หัวอนุรักษ์” หลายคนของเยอรมนี

ทั้งนี้ ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่ส่วนกลางต่างไม่ทราบที่อยู่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในเยอรมนี และกล่าวโทษว่าหน่วยข่าวกรองเยอรมนีเป็นผู้ช่วยเหลืออดีตนายกรัฐมนตรีไทย เมื่อเรื่องราวเปิดเผย เยอรมนีก็ยกเลิกการอนุญาตให้ พ.ต.ท.ทักษิณพำนักในประเทศ เมื่อเดือนพ.ค.2551

อย่างไรก็ตาม นายศักดิ์สิทธิ์ ตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดเยอรมนีจึงยกเลิกคำสั่งห้าม พ.ต.ท.ทักษิณเข้าประเทศในตอนนี้ และอ้างหนังสือพิมพ์ซุดดอยช์ ไซตุง ที่รายงานเมื่อเดือนมิ.ย. เกี่ยวกับความพยายามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเยอรมนี ในการเกลี้ยกล่อมให้นายเวสเตอร์เวลล์ อนุญาตให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าประเทศอีกครั้ง

ทั้งนี้ การยกเลิกคำสั่งห้าม พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าประเทศเยอรมนี เกิดขึ้นในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเยอรมนีย่ำแย่ สืบเนื่องจากการอายัดเครื่องบินพระราชพาหนะ ซึ่งยังไม่มีข้อยุติ และมีความเป็นไปได้มากที่สุดที่ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ จะมุ่งความสนใจไปที่เรื่องดังกล่าวมากกว่า

นอกจากนี้ นายศักดิ์สิทธิ์ยังชี้ว่า ประเทศไทยไม่อยู่ในนโยบายการต่างประเทศของเยอรมนี มาตั้งแต่รัฐบาลชุดปัจจุบันเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2552 ดังนั้นจึงน่าสนใจที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเยอรมนี กำลังผลักดันเพื่อการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน และน่าจับตามองว่า เหตุใดคนเหล่านี้จึงสนับสนุน “พ.ต.ท.ทักษิณ”

อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับกระแสข่าวรัฐบาลเยอรมนียกเลิกคำสั่งห้าม นช.ทักษิณ เข้าประเทศนั้น นายสเตฟาน ดูเพิล อุปทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย รักษาการเอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า การจะรู้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางเข้าประเทศเยอรมนีได้หรือไม่ คงต้องรอการพิจารณาเป็นครั้งๆ ขึ้นอยู่กับว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะยื่นความจำนงขอเข้าประเทศเยอรมนีเมื่อใด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลเบอร์ลินจะตัดสินใจอย่างไร

“เรื่องนี้ควรให้กระทรวงต่างประเทศของไทย สอบถามข้อเท็จจริงไปยังรัฐบาลเบอร์ลิน ถึงจะได้คำตอบที่ชัดเจนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถเดินทางเข้าประเทศเยอรมนีได้หรือไม่” นายดูเพิลตอบอย่างเฉไฉ

เหมือนแถลงการณ์เยอรมนี ที่ไม่ให้เกียรติประเทศไทยเอาเสียเลย !
กำลังโหลดความคิดเห็น