xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“บิ๊กตู่” ผบ.ทบ.วัยทอง เก่งแต่ด่า ไม่กล้าขึ้น “ฮ.”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กลายเป็น “โศกนาฏกรรม” ที่สร้างความสลดหดหู่ใจ และ “ช็อก” คนไทยทั้งประเทศอยู่ในขณะนี้ กับเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์กองทัพบกรุ่น “ฮิวอี้ แบล็กฮอว์ก และเบลล์ 212” ประสบอุบัติเหตุ “ตก” ติดต่อกัน 3 ครั้งซ้อน! ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จนทำให้เจ้าหน้าที่และนักบินสังเวยชีวิตรวม 17 นาย บาดเจ็บ 1 นาย ซึ่งนับเป็นความสูญเสียอันใหญ่หลวงที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์กองทัพ(บก)ไทย !

ทั้งนี้ อุบัติเหตุทั้ง 3 ครั้ง แม้จะมาจากภารกิจที่ต่างกัน แต่ก็เกี่ยวเนื่องกัน เริ่มจากเฮลิคอปเตอร์ “ฮิวอี้” เป็นภารกิจสนับสนุนของกองพลทหารราบที่ 9 (พล ร.9 กองกำลังสุรสีห์ ค่ายทัพพระยาเสือ) ร่วมกับกรมทรัพยากรป่าไม้ ในการดูแลรักษาป่า ซึ่งในวันเกิดเหตุได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ผลักดันชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกป่า จนประสบอุบัติเหตุ “ตก” ในที่สุด ส่วน “แบล็กฮอว์ก” เป็นภารกิจสนับสนุนผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9 ในภารกิจรับศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ “ฮิวอี้” ตก และ “เบลล์” เป็นภารกิจรับศพจากแก่งกระจานไป จ.กาญจนบุรี โดยเฮลิคอปเตอร์ทั้ง 3 ลำ และทั้ง 3 เหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาไล่เลี่ยกันเพียง 8 วัน

อย่างไรก็ตาม ภายในความโศกเศร้าของผู้คนทั้งประเทศ ก็ระคนไปกับความสงสัยที่ว่า อะไรเป็นสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิด “โศกนาฏกรรม” เฮลิคอปเตอร์ตกซ้ำซากติดต่อกันถึง 3 ครั้งซ้อนขนาดนี้ เพราะถึงแม้จะเป็น “เหตุสุดวิสัย” และไม่มีใครอยากให้เกิด แต่ขณะเดียวกันมันก็เกินกว่าที่จะยอมรับได้ว่าเป็น “อุบัติเหตุ” ปกติธรรมดา แล้วก็ปล่อยให้เรื่องเงียบหายไปกับสายลมและเมฆหมอกแห่งความแปรปรวน เฮลิคอปเตอร์ตก 3 ครั้งซ้อนในเวลาไล่เลี่ยกัน เรื่องอย่างนี้มันน่าจะมีที่มาที่ไป และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่หลายคนจะตั้งคำถามถึงเบื้องลึกและเบื้องหลัง และตั้งข้อสังเกตเพื่อตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ ฮ. ตก!

และนั่นเป็นที่มาของอาการ “วีนแตก” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ที่ออกมาแสดงอารมณ์เกรี้ยวกราด “ปรี๊ดแตก” ใส่สื่อมวลชนและนักวิชาการที่ตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องการซ่อมบำรุงรักษาอากาศยานของกองทัพว่ามีประสิทธิภาพแค่ไหน การตั้งข้อสังเกตในเรื่องการทุจริตในการจัดซื้ออะไหล่ และรวมถึงการเดินทางไปร่วมงานสวดพระอภิธรรมศพนายทหารกล้า ที่เปลี่ยนยานพาหนะจาก ฮ. มาเป็นใช้รถยนต์แทน

**สาเหตุสำคัญที่(อาจ)ทำให้ ฮ. ตก !?

ทั้งนี้ แม้ พล.อ.ประยุทธ์พยายามอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเชิงวิทยาศาสตร์ว่า ครั้งแรกเป็นอุบัติเหตุ ครั้งที่สองเป็นเหตุสุดวิสัย และครั้งที่สามเป็นเรื่องเครื่องยนต์ขัดข้อง แต่ความผิดปกติดังกล่าวทำให้สังคมอดตั้งข้อสงสัยถึงความโปร่งใสในการใช้งบประมาณจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ การจัดซื้อจัดหาอะไหล่ และการซ่อมบำรุง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่อง “แบล็กฮอว์ก” ที่ขึ้นชื่อลือชาว่าเป็นเฮลิคอปเตอร์ที่ทรงประสิทธิภาพ ทันสมัยที่สุดของกองทัพ แต่ทำไมกลับต้องมาประสบชะตากรรมอย่างนี้ ซ้ำร้ายยังมาเกิดเหตุกับ “เบลล์ 212” ที่ว่ากันว่าเป็น ฮ. ระบบขนส่งที่ดีสุดของกองทัพ ซึ่งตอนที่เครื่องตก (ในบริเวณไม่ห่างจากค่ายฝึกการรบพิเศษแก่งกระจานเพียง 5 กม.) มีรายงานยืนยันว่าสภาพอากาศเปิด ไม่มีเมฆฝน อีกทั้งนักบินที่เกิดอุบัติเหตุทั้ง 3 ลำ มีความสามารถ มีความชำนาญ มีชั่วโมงบินมาก และมีประสบการณ์สูงทุกคน ดังนั้น สาเหตุจึงหนีไม่พ้นเรื่องของ “เครื่องยนต์”

ทั้งนี้ อุบัติเหตุทั้ง 3 ครั้งถือเป็น “โศกนาฏกรรม” ที่นำมาซึ่งความสูญเสียอันใหญ่หลวง และนำมาซึ่งความเศร้าสลดแก่คนไทยทั้งประเทศ เพราะได้สูญเสียนายทหารที่มีความรู้ความสามารถไปเป็นจำนวนมาก และที่สำคัญยังได้สูญเสียนายทหารระดับผู้บัญชาการกองพลเลยทีเดียว จึงน่าจะถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการตรวจสอบกองทัพอย่างเอาจริงเอาจังเสียที !

กล่าวสำหรับ “กองทัพไทย” เพิ่งได้รับการจัดอันดับความเข้มแข็งทางการทหารจากเว็บไซต์ Globalfirepower.com ว่ามีความเข้มแข็งในอันดับ 19 ของโลก สูงขึ้นจากปี 53 ที่อยู่อันดับ 28 ของโลก สอดคล้องกับ “งบประมาณ” ที่รัฐจัดสรรให้กองทัพในแต่ละปี โดยเฉพาะในส่วนของการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ เป็นสิ่งหนึ่งที่ถูกสังคมตั้งคำถามมาโดยตลอดว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านความมั่นคง หรือเพื่อสร้างโอกาสหาค่าน้ำร้อนน้ำชาของคนในระดับสั่งการกันแน่

นอกจากเว็บไซต์ Globalfirepower.com แล้วยังมีการอ้างตัวเลขจากห้องสมุดรัฐสภาสหรัฐ และสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ ว่าในปี 2554 ไทยได้จัดงบประมาณให้กระทรวงกลาโหมเป็นจำนวน 5,200 ล้านดอลลาร์ แปลงเป็นเงินไทย 156,000 ล้านบาท รัฐบาลจัดงบประมาณให้กับกองทัพมากมายขนาดนี้ คนไทยจึงคาดหวังว่า อาวุธยุทโธปกรณ์ต้องมีคุณภาพ สร้างความปลอดภัย และใช้งานได้อย่างคุ้มค่า

แต่อนิจจา ในอดีตที่ผ่านมามีประจักษ์พยานหลักฐานตำตาว่า อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ผ่านการจัดซื้อจัดหามาในราคาแพงลิบลิ่วของกองทัพไทย เมื่อนำมาใช้งานจริงมีสภาพไม่ต่างกับ “เศษเหล็ก” หรือเป็นของเก่าล้าสมัยจนโลกลืมไปแล้ว ไม่ต้องย้อนไปไกล แค่กรณี “ไม้ล้างป่าช้า” เครื่องจีที 200 หรือ “บอลลูนเหี่ยว” เรือเหาะตรวจการณ์มูลค่าหลายร้อยล้านบาท ที่ถูกแฉว่าไร้ประสิทธิภาพ และไม่สามารถใช้งานได้จริง ที่จนวันนี้ก็ยังไม่มีคำอธิบายที่ฟังได้ออกมาจากกองทัพเลย

เช่นเดียวกับงบในการซ่อมบำรุงอาวุธ ยุทโธปกรณ์ และพาหนะสำคัญทั้งหลาย ที่หมดไปโดยที่ยากต่อการตรวจสอบว่า เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

ทั้งนี้ ว่ากันเฉพาะกรณีการจัดซื้ออะไหล่และซ่อมบำรุงเฮลิคอปเตอร์เบลล์ 212 จากการตรวจสอบของศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนของสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยระบุว่า ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมาจนถึงสิ้นเดือน กุมภาพันธ์ 2554 กองทัพบกโดยกรมการขนส่งทหารบกใช้งบประมาณไปแล้วจำนวน 918.5 ล้านบาท ผ่านทางสามบริษัท ได้แก่ บริษัทเบลล์ เฮลิคอปเตอร์ เอเซีย (พีทีอี) จำกัด จากประเทศสิงคโปร์ จำนวน 24 ครั้ง วงเงิน 715.4ล้านบาท บริษัทที่สอง บริษัทโรยัลสกายจำกัด 1 ครั้ง วงเงิน 26.2 ล้านบาท และ 3. บริษัทริชมอนด์ จำกัด จำนวน 2 ครั้ง วงเงิน 160.2 ล้านบาท โดยหนึ่งในสามบริษัทดังกล่าวมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับอดีตนายทหารระดับสูงยศ “พลเอก” นายหนึ่ง

แม้ว่าข้อมูลดังกล่าวจะไม่สามารถบ่งชี้ถึงเรื่องข้อสงสัยเกี่ยวกับการทุจริตก็ตาม แต่มันก็ทำให้เห็นถึงจำนวนงบประมาณในการจัดซื้ออะไหล่ในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา โดบริษัทเหล่านั้นมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอดีตนายทหารใหญ่ มันก็ส่อให้เห็นนัยบางอย่างได้บ้างพอสมควร และที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้ออาวุธ หรือแม้แต่การซื้ออะไหล่ซ่อมบำรุงหลายครั้งล้วนออกมาอย่างไร้ประสิทธิภาพ ไม่คุ้มค่างบประมาณที่สูญเสียไป

คำถามก็คือ กองทัพบก โดยกรมการขนส่งทหารบก ใช้งบประมาณในการจัดซื้อจัดหาอะไหล่ ซ่อมบำรุงเฮลิคอปเตอร์ เบลล์ 212 ไปแล้ว 918.5 ล้านบาท ซึ่งงบในการจัดซื้ออะไหล่และซ่อมบำรุงน่าจะทำให้เครื่องมีความสมบูรณ์ในการขึ้นบินปฏิบัติหน้าที่ แต่ทำไม “เบลล์ 212” จึงมาประสบชะตากรรม “ตก” โดยมีสาเหตุมาจาก “เครื่องยนต์ขัดข้อง” ในขณะที่สภาพอากาศเปิดอย่างนี้

อย่างไรก็ตาม หากตั้งคำถามต่อไปว่า ถ้าสาเหตุการตก(น่าจะ)เกิดจากอุปกรณ์ภายใน "เครื่องยนต์" มากกว่าจะเป็นที่ตัวนักบิน หรือสภาพอากาศ สิ่งที่ต้องค้นหาคำตอบกันต่อไปก็คือ หากจุดบกพร่องอยู่ที่ “เครื่องยนต์” จริง ปัจจัยที่ทำให้เครื่องยนต์บกพร่องเกิดจาก "เหตุสุดวิสัย" หรือเกิดจากปัจจัยอื่น เช่น "การซ่อมบำรุง" หรือ "การจัดหาอะไหล่" ที่อาจจะสนับสนุนภารกิจได้ไม่เพียงพอ !?

เหมือนอย่างที่ อดีตนักบิน ฮ.รายหนึ่ง ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าว โดยวิเคราะห์ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นเพื่อค้นหาสมมติฐานของอุบัติเหตุครั้งนี้ว่า

“หากมองถึงเรื่องการซ่อมบำรุง โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า ด้วยมาตรฐานของช่างเครื่อง ทบ. และขั้นตอนปฏิบัติที่ต้องยึดตามคู่มืออย่างเคร่งครัดมีมาตรฐานที่ดีเพียงพออยู่แล้ว โดยขั้นตอนการซ่อมบำรุงอากาศยานมีอยู่ 3 ระดับ คือ 1.การซ่อมขั้นหน่วย ซึ่งจะเริ่มต้นเมื่อ ฮ.ขึ้นบินครบ 25 ชั่วโมง 2.การซ่อมขั้นสนาม ซึ่งจะเริ่มต้นเมื่อ ฮ.ขึ้นบินครบ 100 ชั่วโมง และ 3.การซ่อมขั้นคลัง ซึ่งจะทำเมื่อ ฮ.ขึ้นบิน 500 หรือ 1,000 ชั่วโมงขึ้นไป”

คำถามก็คือ เมื่อมีขั้นตอนปฏิบัติอยู่ ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนนั้นหรือไม่ อดีตนักบิน ฮ. เชื่อว่าช่างเครื่อง ทบ. มีคุณภาพ ที่สำคัญคือ หากทดสอบแล้วเครื่องไม่พร้อมบิน ก็ไม่คิดว่าจะมีนักบินคนไหนยอมขึ้นบิน ฉะนั้น จึงน่าจะตัดเรื่องการซ่อมบำรุงไปได้

ส่วนปัจจัยข้อต่อไป คือ การส่งกำลังบำรุง หรือการจัดหา “อะไหล่” มาสนับสนุนการบิน อดีตนักบิน ฮ. มองว่า ปัจจัยข้อนี้น่าจะมีส่วนมากกว่า เพราะปัญหาของหน่วยบินทุกยุคที่ผ่านมา คือ 1.ได้รับการจัดสรรงบซ่อมบำรุงน้อย 2.มีงบน้อยอยู่แล้ว แต่ไปซื้อของแพงเข้ามาอีก ยกตัวอย่าง ฮ.รุ่นเบลล์ 212 ซึ่งเป็นของบริษัทเบลล์เฮลิคอปเตอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่บริษัทเบลล์ได้มอบให้ "เบลล์เอเซีย" ที่สิงคโปร์เป็นตัวแทนจำหน่ายอะไหล่ และเท่าที่ผ่านมาพบว่า มีการจัดซื้ออะไหล่ที่มีราคาแพงกว่าความเป็นจริงมาก

"หากอยากรู้ว่า ราคากลางของชิ้นส่วนอะไหล่ ฮ. อยู่ที่เท่าใด สามารถค้นหาได้จากในอินเทอร์เน็ต และลองนำเอามาเทียบกับราคาที่กองทัพจัดซื้อ ซึ่งหากกองทัพยอมเปิดเผยข้อมูลก็จะได้รู้กันว่า ราคามีความแตกต่างกันแค่ไหน" อดีตนักบิน ฮ. ให้ข้อมูล

ทั้งนี้ อดีตนักบิน ฮ. บอกว่า ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลมากคือ หน่วยงานที่จัดหาอะไหล่ไม่ใช่ศูนย์การบินทหารบก แต่เป็นกรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) ซึ่งบางครั้งมีการตัดลด "อะไหล่จำเป็น" บางตัวออกไป แล้วเอา "อะไหล่ที่ไม่ค่อยได้ใช้งาน" ใส่เข้าไปแทน เพื่อให้พอดีกับจำนวนงบที่ได้รับจัดสรรมา นั่นคือสาเหตุที่ทำให้อะไหล่ไม่เพียงพอจนต้องมีการซ่อมแบบ "กินตัว" นั่นก็คือ “จอดเครื่องไว้” เพื่อถอดมาเป็นอะไหล่ ซึ่งในกรณีของเบลล์ 212 ที่มีอยู่ 40 กว่าเครื่อง แต่สามารถบินได้เพียง 20 กว่าเครื่องเท่านั้น

ถึงแม้ตอนนี้จะยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า อะไรเป็นสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เฮลิคอปเตอร์ตกจนกลายเป็น “โศกนาฏกรรม” สร้างความสลดหดหู่ให้กับผู้คนทั้งประเทศ แต่อย่างน้อยที่สุด สังคมก็ได้พิจารณาข้อมูลและความคิดเห็นหลายๆ ด้าน ในขณะที่ “ความจริง” ยังคลุมเครือเหมือนเมฆหมอกเหนือผืนป่าแก่งกระจานอยู่ในขณะนี้

**สำนึกในการจัดซื้อจัดหา “อาวุธยุทโธปกรณ์”
และกรรม “วิธีพิเศษ” ของกองทัพ

นอกจากนี้ ยังมีคำถามนานัปการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพบก “บิ๊กโปรเจ็กต์” ทั้งหลายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังช่วงการปฏิวัติรัฐประหาร เดือนกันยายน 2549 ซึ่งมีหลายโครงการที่กำลังเข้าคิวในการเข้าประจำการ เพราะได้มีการทยอยอนุมัติงบประมาณอย่างต่อเนื่อง อย่างล่าสุด มีรายงานว่า ที่เข้าประจำการ ได้แก่ เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงขนาดกลาง MI-17 V5 จำนวน 3 เครื่อง วงเงิน 995 ล้านบาทได้เข้ามาประจำการที่กองทัพบก เพื่อใช้ทดแทน ฮ. ชีนุก ที่มีปัญหาเรื่องซ่อมบำรุงและอะไหล่ทดแทน

นอกจากนี้ กองทัพบกยังได้ดำเนินการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ UH-60 - M / Black Hawk เพื่อใช้ในภารกิจด้านยุทธการ และยุทธวิธี เพิ่มเติมอีก 3 เครื่อง วงเงินกว่า 3 พันล้านบาท โดยโครงการดังกล่าวบรรจุอยู่ในแผนงบประมาณปี 2554 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการอนุมัติของสภาคองเกรสสหรัฐฯ ทั้งนี้ กองทัพบกมีเฮลิคอปเตอร์ UH-60 - L /Black Hawk ประจำการแล้ว 7 เครื่อง เมื่อครั้งที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก และได้รับการอนุมัติจัดหาเพิ่มเติมไปแล้วเมื่อปีงบประมาณ 2553 ซึ่งเป็นรุ่น L อีก 3 เครื่อง วงเงินประมาณ 2.5 พันล้านบาท ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการผลิตเพื่อส่งมอบให้กองทัพบกไทยในปีหน้า โดยกองทัพบก มีแผนในการจัดหาเฮลิคอปเตอร์รุ่นดังกล่าว เข้าประจำการให้ครบ 33 ลำ

ทั้งนี้ กองทัพสหรัฐฯ จะส่งมอบ ฮ.โจมตีคอบบร้า มือ 2 จำนวน 4 ลำ ที่สหรัฐฯ ปลดประจำการและยกให้กองทัพบกไทยโดยไม่คิดมูลค่า แต่ให้รัฐบาลไทยอนุมัติงบประมาณจากที่กองทัพบกเสนอ เพื่อทำการปรับสภาพเพื่อนำ ฮ. รุ่นนี้ ใช้งานในภารกิจโจมตีได้ โดยคาดว่าจะส่งมอบให้ไทยได้ในปลายปีนี้เช่นกัน

ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น มีรายงานว่า กองทัพบกกำลังจัดหารถถัง Oplot จากประเทศยูเครน จำนวน 200 คัน เพื่อทดแทนรถถัง M-41 ที่กำลังจะปลดประจำการในหลายหน่วย ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านขั้นตอนการคัดเลือกแบบและบรรจุอยู่ในแผนงบประมาณปี 54 ที่ผ่านสภาไปแล้ว ทั้งนี้ ได้ดำเนินการจัดหาในระยะแรกเข้าประจำการ 1-2 กองพัน (คันละ 120 ล้านบาท) ประจำการที่ ม.พัน 2 รอ. หรือ ม.พัน 8 เพื่อใช้ในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ตอบสนองการป้องกันภัยคุกคามที่เกิดขึ้น โดยรถถังที่ไทยสั่งผลิตจะติดปืนใหญ่ขนาด 125 มม. คาดว่าจะส่งมอบได้ปลายปีนี้หรือปีหน้า

นอกจากนี้ ยังมีรายงานด้วยว่า กองทัพบกยังรอการส่งมอบรถหุ้มเกราะล้อยาง BRT 3E1 จากยูเครน ที่กองทัพบกจัดหาในระยะแรก 101 คัน และระยะที่ 2 จำนวน 121 คัน ขณะนี้มีการส่งมอบในระยะแรกแล้ว 14 คัน คาดว่าจะดำเนินการส่งมอบให้ครบตามจำนวนได้ในปี 2555

และยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะยังมีรายงานเกี่ยวกับอาวุธที่ได้มีการอนุมัติจัดซื้อก่อนหน้านี้ในนามของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ซึ่งเป็นการจัดซื้อ “วิธีพิเศษ” เน้นที่ภารกิจในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ

ทั้งนี้ ภารกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดูเหมือนว่าการจัดหาเครื่องมือตรวจการณ์เพิ่มเติม เช่น โครงการเรือเหาะเพื่อความมั่นคง ที่กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันไปทั่วทั้งเมืองเหมือนกับกรณีเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด จีที -200 หรือ “ไม้ล้างป่าช้า” อันอื้อฉาว ที่กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงขั้นตอนและระเบียบวิธีการในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพ ที่ถูกพ่อค้าหลอกขาย โดยใช้ “ความเชื่อ” เป็นเครื่องมือ

ยังไม่นับรวมอาวุธประจำการ ประเภทปืน “ทราโว” ที่มีรายงานว่า มีการจัดหาเพื่อทยอยเข้าประจำการอย่างต่อเนื่อง หรือแม้กระทั่งเสื้อเกราะ ไปจนถึงการจัดหาเครื่องมือสำหรับการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือเครื่องมือควบคุมฝูงชน ตั้งแต่อุปกรณ์ รถฉีดน้ำ ที่ทั้งหมดนั้นเป็นการจัดหาแบบ “วิธีพิเศษ” เพื่อเลี่ยง ม.190 ของรัฐธรรมนูญ ในการทำสัญญาแบบรัฐต่อรัฐ แต่เหล่าทัพต่างๆ ย้ำว่า “วิธีพิเศษ” คือการต่อรองเพื่อให้ฝ่ายผู้ซื้อได้ประโยชน์สูงสุด

ซึ่งการจัดหาด้วย “วิธีพิเศษ” กลายเป็นประเด็นรองที่ถูกวิจารณ์มากกว่าการซื้ออาวุธแบบ “บิ๊กล็อต” และมีความต่อเนื่องติดต่อกันทุกเหล่าทัพ พร้อมถูกโจมตีเมื่อเข้า ครม. โดยโหมประโคมข่าวเรื่องการอนุมัติ เพื่อเอาใจกองทัพ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการทำหน้าที่เป็น “กระดูกสันหลัง” และเป็น “รั้ว” ให้กับรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์

ทั้งนี้ ปมประเด็น และปัญหาที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากการที่เหล่าทัพจัดหาอาวุธที่เหมาะสมเข้าประจำการ หากแต่เป็น “กรรมวิธี” ในการจัดซื้อ ทั้ง “วิธีพิเศษ” ที่แม้เหล่าทัพจะมีคณะกรรมการฯ ในการพิจารณาทุกระดับชั้น แต่ก็หนีข่าวฉาวเรื่อง “นายหน้า” ที่วิ่งเข้า-ออก ดิวงานจนคนในกองทัพรู้กันไปทั่ว หลายโครงการมี “กลิ่น” จนทำให้บางโครงการ “ราคา” กับ ”ของ” ไม่อยู่ในระดับที่สมดุล และรัฐต้องสูญเสียงบประมาณไปกับสิ่งเหล่านี้จำนวนมหาศาล ถึงแม้คนส่วนใหญ่ในสังคมจะเข้าใจในความจำเป็นต่อการพัฒนากองทัพ หากแต่ “ยอมรับไม่ได้” ที่จะให้การจัดซื้อจัดหาหลายครั้งได้มาซึ่งอาวุธที่ “ห่วยแตก” ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่สูญเสียไป ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นหลายโครงการ อีกทั้งมี “บิ๊กทหาร” หลายคนที่เกษียณร่ำรวย อู้ฟู่ เพราะมี “โปรเจ็กต์” ทิ้งทวนเป็น “โบนัส” ทิ้งท้ายก่อนการปลดเกษียณ...
เวรกรรมจริงๆ ประเทศไทย!

**“บิ๊กตู่” ปรี๊ดแตก
แอ๊บแบ๊วอ้อน “ปู" ซื้อ ฮ. ใหม่ 30 ลำ !

เมื่อมองตรงนี้ ก็จะพบกับความง่ายดายของการบริหารจัดการงบประมาณเข้ากระเป๋าตัวเองซึ่งอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพที่ด้อยประสิทธิภาพ อาจทำเงินมหาศาล สร้างความร่ำรวยให้กับคนในระดับ “สั่งการ” หากแต่ความ “หายนะ” มาบังเกิดกับระดับ “ปฏิบัติการ” ส่งผลไปถึงบรรดาทหารหาญต้องมาสังเวยชีวิตอย่างที่ไม่ควรจะเป็น แทนที่จะได้ทำหน้าที่เป็น “รั้วของชาติ” พลีชีพเพื่อปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน อย่างเต็มความภาคภูมิของชายชาติทหาร

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ก็ย่อมทำให้เกิดอาการ “ช็อก” กันเป็นธรรมดา แต่พอตั้งสติได้สังคมก็ย่อมมีคำถามอื่นๆ ตามมา อย่างเช่น มันเกิดสาเหตุอะไรกันแน่ มีปัญหาในเรื่องการ “ซ่อมบำรุง” หรือเปล่า หรือยังใช้เครื่องบินรุ่นเก่าที่หลายประเทศปลดประจำการไปแล้วหรือไม่ เพราะอย่างกรณี “ฮิวอี้” เครื่องแรกที่ตกนั้น ถ้าลองค้นประวัติข้อมูลดูก็จะพบว่า มันได้กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของสงครามเวียดนามเมื่อ 50 ปีก่อนไปแล้ว และในอเมริกาก็ถูกปลดประจำการ และเข้าพิพิธภัณฑ์ไปแล้ว หรือถ้ามีการบินก็มักจะเป็นการบินโชว์ในงานระดมทุนของทหารผ่านศึกเวียดนาม อะไรทำนองนั้น

แต่ที่มีการตั้งข้อสงสัยกันมากก็คือ มีการทุจริตในการ “จัดซื้อ” อะไหล่ และการซ่อมบำรุงรักษาอากาศยานของกองทัพบก หรือไม่ ทั้งนี้ เมื่อมีความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงเกิดขึ้น มันก็ช่วยไม่ได้ที่จะทำให้คนคิดและตั้งคำถามไปต่างๆนานา ซึ่งนั่นเป็นที่มาของอาการ “วีนแตก” ของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ออกมาแสดงอารมณ์เกรี้ยวกราด “ปรี๊ดแตก” ใส่สื่อมวลชนและนักวิชาการที่ตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องการซ่อมบำรุงรักษาอากาศยานของกองทัพว่ามีประสิทธิภาพแค่ไหน รวมไปถึงมีการตั้งข้อสังเกตในเรื่องการทุจริตในการจัดซื้ออะไหล่ อีกด้วย ซึ่งประเด็นเหล่านี้แหละที่ไปเพิ่มอารมณ์ฉุนเฉียวให้กับ ผบ.ทบ. เค้า!

ทั้งที่ตามหลักการ (ของคนที่มีวุฒิภาวะของความเป็นผู้นำ ที่แม้แต่หัวหน้าลูกเสือ ยุวกาชาด และเนตรนารี น้องๆ หนูๆ เขาก็ยังมีวุฒิภาวะของความเป็นผู้นำ) แล้ว พล.อ.ประยุทธ์เป็นถึงผู้บัญชาการทหารบก และเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงาน นอกจากควรจะแสดงวุฒิภาวะของความเป็นผู้นำที่มีความน่าเคารพและน่าเชื่อถือแล้ว ท่านควรจะรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย โดยประกาศสอบสวนหาข้อเท็จจริงโดยเร็วเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และที่สำคัญท่านต้อง “ชี้แจง” ให้กระจ่าง เพราะต้องไม่ลืมว่าที่ผ่านมามีหลายโครงการในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพที่เต็มไปด้วยข่าวคราวอื้อฉาว ไร้ประสิทธิภาพมากมาย มันช่วยไม่ได้ที่คนในสังคมประเทศชาติเขาจะเกิดข้อสงสัยขึ้นมา หรือท่านว่าไม่จริง...?

ไม่ใช่เอะอะอะไรก็บอก “กองทัพบกใครจะมาแตะต้องไม่ได้”

แน่นอน การปกป้องรักษาชื่อเสียงเกียรติยศของกองทัพบก เป็นสิ่งที่ดีและควรทำ ไม่มีใครเขาว่า แต่ในฐานะผู้นำสูงสุดของกองทัพบก ก็อยากให้มีสติอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยเหตุด้วยผลกว่านี้ ไม่ใช่พอเขาวิพากษ์วิจารณ์อะไรไม่ถูกใจตัวเองหน่อย ก็ออกมา “ปรี๊ดๆๆ!”

อย่างล่าสุด ก็ออกอาการหงุดหงิดที่สื่อพาดหัวข่าว “อ้อนรัฐบาลซื้อเฮลิคอปเตอร์ 30 ลำ” โดยบอกว่าเป็นการไม่ให้เกียรติทหาร แถมยังติงการพาดหัวข่าว “รมว.กห.-ผบ.ทบ. ไม่กล้าขึ้น ฮ.ให้ลูกน้องไปแทน” โดยขู่ว่าถ้าขืนขึ้นหัวข่าวแบบนี้เลิกให้สัมภาษณ์

“วันก่อนผมเดินทางไปร่วมพิธีรดน้ำศพของผู้เสียชีวิตที่ จ.กาญจนบุรี ซึ่งเรามีแผนการเดินทางของผู้บังคับบัญชา จากฝ่ายอำนวยการเตรียมการทั้งเดินทางด้วยรถยนต์ หรือ ฮ. โดยปกติถ้าอากาศไม่ดีก็จะไม่บินขึ้น เว้นแต่สถานการณ์ไม่ปกติ คือ สถานการณ์ที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในการกู้ภัย แต่ไม่ใช่ว่าไปเขียนกันว่า รมว.กลาโหม และ ผบ.ทบ.ไม่กล้าขึ้น ฮ. แต่ให้ลูกน้องขึ้นแทน ซึ่งผมไม่ได้โกรธ แต่เป็นธรรมหรือไม่” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

จากนั้นก็หันมาถามผู้สื่อข่าวว่า เป็นธรรมหรือไม่กับเรื่องอย่างนี้ “ผมอยากถามว่าความคิดของสื่อกับการเขียนไปนั้นเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าเห็นด้วยก็จะให้เดินทางด้วย ฮ.ไปด้วยทุกครั้ง” แต่เมื่อผู้สื่อข่าวแย้งว่า ข่าวที่นำเสนอ ผบ.ทบ. เดินทางด้วยรถยนต์แทนขึ้น ฮ. เพราะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง พล.อ.ประยุทธ์ ก็บอกว่า “ข่าวที่ออกมาไม่ใช่อย่างนั้น ฉะนั้นต้องจำไว้ว่าใครพาดหัวข่าว ถ้าอย่างนี้วันหลังก็ไม่ต้องมาสัมภาษณ์กันแล้ว”

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้เดินไปขึ้นลิฟต์ด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว แต่แล้วก็เดินกลับออกมาชี้หน้าผู้สื่อข่าว พร้อมกับย้ำอีกว่า “ถ้าไม่ตอบคำถามผมว่าใครพาดหัวข่าว ก็ไม่ต้องมาถามกันอีก ต่อไปนี้จะไม่ให้สัมภาษณ์”

อย่างไรก็ตาม หากจะไล่เรียงให้เห็นไปทีละเรื่องเท่าที่พอเป็นประเด็นอื้อฉาวของกองทัพบกก่อนหน้านี้ ก็อย่างเช่น เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด จีที 200 ที่ต่อมาได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่ต่างจาก “ไม้ล้างป่าช้า” หรือ “เรือเหาะ”ที่หวังจะนำมาตรวจสอบความเคลื่อนไหวของผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ต้องยอมรับความจริงว่าใช้งานไม่ได้ผลตามที่คาดหมายเอาไว้ รวมไปถึงกรณีการจัดซื้อรถลำเลียง “หุ้มเกราะล้อยาง” จากยูเครนอันอื้อฉาว รวมกันแล้วต้องใช้งบประมาณเกือบหมื่นล้านบาท

และนอกจากนี้ หากพูดความจริงกันตรงๆ แบบไม่ต้องเกรงใจ ในยุคที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก ได้เกิดเหตุการณ์ที่ส่อให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพ “หย่อนยาน” ในการบริหารงานและการบังคับบัญชาสั่งการ เห็นได้จากกรณีมีการขโมยอาวุธปืนของทางการจากคลังแสงลพบุรี ออกไปขาย ที่แม้ตอนนั้นยังเป็นรองผู้บัญชาการทหารบกก็ตาม แต่ถัดจากนั้นเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นที่ค่ายธนะรัชต์ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งจนถึงบัดนี้ผลการสอบสวนก็ยังไม่มีการแถลงออกมาให้แน่ชัด รวมไปถึงการจับกุมคนร้ายได้มากน้อยแต่ไหน นี่ยังไม่นับกรณีปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชาที่สรุปผลงานโดยรวมยังไม่น่าประทับใจอีกด้วย รวมถึงกรณีทหารเกณฑ์ลากปืนเอชเคไปกระหน่ำยิงแฟนสาวจนเสียชีวิตต่อหน้าต่อตามารดาของเธอ ถ้าไม่เรียกว่าเป็นความไร้ประสิทธิภาพ และ “หย่อนยาน” จนทำให้พลทหารเกณฑ์เอาอาวุธปืนประจำกาย ขณะเข้าเวรยาม ออกมาก่อเหตุกระหน่ำยิงผู้หญิงกลางเมืองได้ขนาดนี้ จะให้เรียกว่าอะไร

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำซ้อนต่อเนื่องล้วนเกิดขึ้นในยุคที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้บัญชาการทหารบกแทบทั้งสิ้น หรือไม่ก็ต้องมีส่วนสำคัญในการร่วมรับผิดชอบ ซึ่งนั่นก็ย่อมหมายถึงเหตุการณ์อุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกถึง 3 ครั้งซ้อนภายในช่วงระยะเวลาเพียง 8 วัน ไม่ใช่แสดงอาการโกรธเกรี้ยว เพราะในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงาน ท่านต้องชี้แจงให้เคลียร์ และตรงประเด็น แต่นี่กลายเป็นว่าคิดจะใช้จังหวะนี้ขอซื้อเฮลิคอปเตอร์ล็อตใหญ่จำนวน 30 ลำหน้าตาเฉย

ทั้งที่มันเป็นคนละเรื่องเดียวกัน ชาวบ้านเขาอยากรู้ว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมดังกล่าวมันมาจากสาเหตุอะไรกันแน่ แต่แทนที่จะเร่งรัดให้สอบสวนหาข้อเท็จจริง แต่นี่กลับจะของบซื้อเครื่องใหม่เสียฉิบ ประชาชนจะบ้าตาย!

และกับกรณีที่เดินทางพร้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม ไปร่วมงานสวดพระอภิธรรมศพนายทหารกล้าที่ประสบอุบัติเหตุดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่มีรายงานข่าวว่า ได้เปลี่ยนยานพาหนะจาก ฮ. มาเป็นใช้รถยนต์แทน พร้อมทั้งสั่งให้งดบินชั่วคราว ถ้าในเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ มั่นใจก็ต้องสร้าง “ภาวะผู้นำ-ขึ้นบินโชว์” เพื่อเรียกขวัญกำลังใจของกำลังพลกลับมา แต่นี่ก็แสดงให้เห็นว่าในใจตัวเองก็หวั่นไหวเหมือนกัน และเมื่อหวั่นไหวมากๆ มันก็ “ปรี๊ดแตก” เป็นธรรมดา...

นี่แหละ “ลูกผู้ชายตัวจริง” !!!

**************************************

สมรรถนะ ฮ.ทบ.
7 รุ่น 300 ลำ
โปรดอย่าถามวันนี้ยังดีอยู่มั้ย

จากกรณีโศกนาฏกรรมเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกตกถึง 3 ครั้งจนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 17 คนในการปฏิบัติภารกิจที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรีนั้น ทำให้สังคมอดตั้งคำถามถึง “สภาพความจริง” ของมวลหมู่เฮลิคอปเตอร์กองทัพบก ภายใต้การบัญชาการของศูนย์การบินทหารบกในปัจจุบันว่า เป็นเช่นไร

มีปัญหาที่ตรงไหน และมีความจำเป็นที่จะต้องยกเครื่องครั้งใหญ่เพื่อมิให้เกิดโศกนาฏกรรมกับทรัพยากรบุคคลอันทรงคุณค่าหรือไม่

ในปัจจุบัน ศูนย์การบินทหารบกมีเฮลิคอปเตอร์ประจำการทั้งสิ้น 7 รุ่นด้วยกันประกอบด้วย

หนึ่ง-เฮลิคอปเตอร์อเนกประสงค์ ฮ.ท.60(UH-60L Black Hawk) มีทั้งหมด 7 ลำ ตกที่แก่งกระจาน 1 ลำ เหลือใช้งาน 6 ลำ

สอง-เฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป แบบ 1(UH-1H Huey) หรือ “ฮิวอี้” มีประมาณ 92 ลำ แต่สามารถใช้งานได้ประมาณ 50% เนื่องจากไม่มีงบประมาณที่เพียงพอในการซ่อมบำรุง ทำให้ส่วนหนึ่งต้องจอดไว้และนำอะไหล่ไปซ่อมบำรุงเครื่องที่สามารถใช้งานได้ หรือที่ศัพท์ทางการบินใช้คำว่า “ถอดปรน” หรือ “กินตัว”
สาม-เฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป แบบ 212(UH-1N หรือBell 212) มีทั้งหมด 60 ลำ

สี่-เฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป แบบ 206(Bell 206 Jet Ranger) มีทั้งหมด 10 เครื่อง

ห้า-เฮลิคอปเตอร์ฝึกแบบ 300 (TH-300C) มีทั้งหมด 48 ลำ

หก-เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงแบบ 47(CH-47D Chinook) มี 6 ลำ ไม่สามารถบินได้ครบเนื่องจากขาดงบประมาณ

และเจ็ด-เฮลิคอปเตอร์โจมตีแบบ 1(AH-1F Cobra) หรือคอบบรา มีทั้งหมด 4 ลำ ตกไป 1 ลำและกำลังได้รับเพิ่มอีก 7 ลำ

สำหรับเฮลิคอปเตอร์ 3 รุ่นที่ตกในภารกิจป่าแก่งกระจานประกอบด้วยเฮลิคอปเตอร์อเนกประสงค์ ฮ.ท.60(UH-60L Black Hawk) เฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป แบบ 1(UH-1H Huey) หรือฮิวอี้ และเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป แบบ 212(UH-1N หรือBell 212) นั้น Siam Intelligence Unit(SIU) ได้อธิบายรายละเอียดของแต่ละรุ่นเอาไว้อย่างน่าสนใจ

เฮลิคอปเตอร์ รุ่นฮิวอี้ ผลิตโดยบริษัท เบลล์ เฮลิคอปเตอร์ จำกัด ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยของไทยเป็นรุ่น UH-1H ฮ.ฮิวอี้นี้เข้าประจำการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2511 ตามโครงการช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐอเมริกาในยุคสงครามเวียดนามกำลังระอุซึ่งเวลานั้นต้องการอากาศยานในการรับส่งกำลังทหารที่อ่อนตัวมีความยืดหยุ่นสูง

ทั้งนี้ ฮิวอี้เป็นเฮลิคอปเตอร์เครื่องยนต์เดี่ยว ของประเทศไทยใช้เครื่อง Lycoming T-53 ให้กำลัง 1,400 แรงม้า สามารทำความเร็วสูงสุดที่ 223 กม./ชม. หรือ 124 น็อต สามรารถบรรทุกคนได้สูงสุด 11 คนพร้อมสัมภาระ หรือ ติดตั้งเปลพยาบาลได้ 6 เปล บินได้นาน 2 ชั่วโมง 20 นาทีถูกผลิตออกมามากกว่า 16,000 ลำทั่วโลกและประจำการใน 70 ประเทศ

เฮลิคอปเตอร์แบบฮิวอี้มีความคล่องตัวสูงสามารถบินเลาะตามภูมิประเทศได้คล่อง ซ่อมบำรุงง่ายหาอะไหล่ทดแท่นได้ง่ายค่าใช้จ่ายในการดูแลค่อนข้างต่ำ ด้วยกำลังเครื่องแม้เพียงเครื่องเดียว แต่ก็สามารถปฏิบัติได้หลากหลายภารกิจทั้งภารกิจทางทหารเช่นการส่งกำลังบำรุง ส่งกลับสายการแพทย์ สนับสนุนการรบ รวมถึงงานทางพลเรือนเช่นการเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติต่างๆ เป็นต้น

สำหรับในประเทศไทย ฮิวอี้เป็นม้างานหลักของทุกเหล่าทัพ โดยเฉพาะกองทัพบกซึ่งมีภารกิจค่อนข้างมาก โดยของกองทัพบกถูกนำเข้าประการไว้ที่ ศูนย์การบินทหารบก ลพบุรี โดยฮ.ฮิวอี้ของไทยมีบทบาทมากในช่วงสงครามปราบปรามคอมมิวนิสต์ในหลายสมรภูมิ รวมทั้งการสนับสนุนภารกิจที่มิใช่ภารกิจการรบตามแบบ

ขณะที่ Bell 212 ของกองทัพไทยถูกจัดอยู่ในภารกิจค้นหาและกู้ภัย (Search and Rescue : SAR) มีอุปกรณ์เสริมเข้ามาคือเครื่องกว้านซึ่งติดอยู่บนลำตัวเครื่องสามารถกว้านเพื่อดึงคนที่ได้รับบาดเจ็บหรือการถอนตัวออกจากพื้นที่ได้ โดยกองทัพบกประจำการอยู่ประมาณ 40 ลำกระจายไปตามหน่วยงานการบินของกองพลและศูนย์การบินทหารบกตามแต่ละพื้นที่

Bell-212 เป็นเฮลิคอปเตอร์ขนาดกลาง 2 ใบพัด 2 เครื่องยนต์บรรทุกผู้โดยสารจำนวน 15 ที่นั่ง โดย ฮ.Bell-212 อยู่ในรุ่น UH-1 N  ของบริษัท เบลล์ เฮลิคอปเตอร์ของสหรัฐฯ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างบริษัท BELL HELICOPTER  และบริษัท Pratt & Whitney ของแคนาดา ในช่วงหลังสงครามเวียดนามช่วงปี 70 ศักยภาพของเฮลิคอปเตอร์เบลล์ 212 ถูกพัฒนามาจากเฮลิคอปเตอร์รุ่น 204 และ 205 ที่เป็นเครื่องยนต์เดี่ยว ใบพัดคู่

เฮลิคอปเตอร์รุ่นนี้ถูกนำมาใช้ค้นหาและกู้ภัยค่อนข้างกว้างขวางด้วยกำลังเครื่องยนต์ที่เชื่อถือได้ สมรรถนะของอากาศยานที่ดีและในราคาที่ไม่แพงมากเกินไปเมื่อเทียบกับแบล็กฮอว์กซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าและค่าใช้จ่ายในการดูแลใช้งานสูงกว่า

ซึ่ง Bell-212 ถือว่าเป็นม้างานหนึ่งของกองทัพบก ซึ่งลำที่ประสบเหตุนั้นเข้าประจำการมาตั้งแต่ปี  2535 ที่ได้รับการปรับปรุงก่อนเข้าประจำการ ซึ่งฮ.Bell-212 ที่ตกนั้นทางกองทัพบกได้รายงานว่าอาจเกิดจากโรเตอร์ท้ายหรือใบพัดหางไม่ทำงานทำให้เครื่องหมุนและตกลงมา ซึ่งทางกองทัพบกได้ประกาศห้ามบินของ Bell-212 ทุกลำจนกว่าจะหาสาเหตุพบ

Bell-212 เป็นเฮลิคอปเตอร์รุ่น Huey ที่ถูกพัฒนาเพิ่มเติมในเรื่องสมรรถนะเครื่องยนต์ให้มีความเชื่อได้มาก โดยแต่เดิมฮิวอี้จะมีเพียงเครื่องยนต์เดี่ยว ได้พัฒนาและติดตั้งให้มีสองเครื่องยนต์เพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้นโดยพัฒนาร่วมกับบริษัทของแคนาดาและบริษัทผลิตเครื่องยนต์อย่าง Pratt & Withney โดยสามารถทำการบินได้ไกลถึง 420 กม.ความเร็วสูงสุด  220 กม./ชม. สามารถบรรทุกทหารไปได้ 14 คน

ในส่วนของ แบล็กฮอว์ก (UH-60L Blackhawk) เป็นเฮลิคอปเตอร์ที่ทันสมัยที่สุดแบบหนึ่งของกองทัพไทยเข้าประจำการมาตั้งแต่ 2545 จำนวน 7 ลำในกองบินปีกหมุนที่ ๙ (ผสม) กองพันบิน ศูนย์การบินทหารบก จ.ลพบุรี

แบล็กฮอว์กผลิตโดยบริษัท Sikorsky Aircraft Corporation ประเทศสหรัฐอเมริกา ถือว่าเป็นเฮลิคอปเตอร์ขนาดกลางที่ดีที่สุดแบบหนึ่งของโลก มีความสามารถในการบินในระดับสูงด้วยระบบอำนวยการบินที่ทันสมัย ห้องนักบินเป็นระบบ Glass Cockpit  ซึ่งช่วยลดภาระนักบินและทำให้การบินง่ายมากขึ้น  ผลิตออกมากว่า 2,600 ลำ ตั้งแต่ 1974 เป็นต้นมา ประจำการอยู่ใน 24 ประเทศทั่วโลก โดยแบล็กฮอว์กถูกนำไปใช้ในปฏิบัติการทางทหารหลายปฏิบัติการ ได้แก่ สงครามอ่าวเปอร์เซียทุกครั้ง สงครามก่อการร้ายในอัฟกานิสถาน รวมทั้ง การักษาสันติภาพในโซมาเลียที่เกิดเหตุการณ์ ฮ.ตกถึง 2 ลำกลางเมืองโมกาดิชู จนกลายเป็นหนังเรื่อง Blackhawk Down ที่โด่งดัง

แบล็กฮอว์กมีเครื่องยนต์ถึง 2 เครื่องยนต์General Electric T700 - GE - 701C turboshaft, มีกำลังเครื่องยนต์ละ 1890 แรงม้า (1410 กิโลวัตต์) สามารถบรรทุกทหารได้ 14 คนพร้อมสัมภาระ หรือมากถึง 20 คนเมื่อถอดที่นั่งออกหมด สามารถบรรทุกอุปกรณ์นอกเครื่องได้สูงถึง 9,000 ปอนด์ (UH - 60L) ทำความเร็วได้สูงสุด  159 น็อต (183 mph,  295 กม. / ชม. ) รัศมีทำการ 592 กม.ระยะบินเดินทาง : 1,380 ไมล์ (1,200 nmi, 2,220 กม. ) เมื่อติด ESSS stub wings และ external tanks  สามารติดอาวุธได้หลากหลายทั้ง ปืน GAU - 19 Gatling 2 ? .50 นิ้ว (12.7 มิลลิเมตร) หรือ  จรวดนำวิถีด้วยเลเซอร์ AGM-114 Hellfire โดยในห้องนักบินถูกติดตั้งด้วยระบบนำร่องที่ทันสมัย
แต่ปัญหาใหญ่ของอากาศยานประเภทปีกหมุนของกองทัพบกก็คือ อากาศยานที่มีทั้งหมดราว 300 ลำนั้น สามารถบินได้จริงเพียงแค่ 100 กว่าลำเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น