xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตขโมยอาวุธในกองทัพบก

เผยแพร่:   โดย: ว.ร. ฤทธาคนี

เป็นเรื่องหน้าเศร้า น่าสมเพช และน่าเป็นห่วง เมื่อเกิดเหตุการณ์ขโมยอาวุธในค่ายทหารติดๆ กันปีต่อปี โดยคดีแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2553 เมื่อทหารชั่วประมาณ 10 นาย ขโมยอาวุธกระสุนไปจากคลังแสงของกองพันทหารช่าง 401 ค่ายอภัยบริรักษ์ จังหวัดพัทลุง เป็นจำนวนมาก ได้แก่ลูกระเบิดสังหารบุคคลแบบเอ็ม 26 จำนวน 20 ลูก แบบเอ็ม 67 จำนวน 20 ลูก เครื่องกระสุนปืนแบบเอชเค จำนวน 2,000 นัด แบบเอ็ม 16 จำนวน 2,000 นัด

ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่ทหารกองทัพภาคที่ 4 จะจับกุมทหารหัวขโมยได้ทั้งหมด ซึ่งให้การสารภาพ และบอกที่ซ่อนเครื่องอาวุธกระสุนเหล่านั้น จนสามารถยึดคืนได้ทั้งหมดแล้วก็ตาม แต่จากการสอบสวนพบว่าอาวุธเหล่านั้นมีส่วนพัวพันกับกลุ่มก่อการร้ายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่รายละเอียดการสอบสวนและการส่งฟ้องลงโทษทางอาญาแผ่นดินโดยศาลทหาร ไม่ปรากฏให้สาธารณชนทราบ ทำเหมือนว่าเป็นเรื่องภายในของกองทัพบก

ในวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2554 เวลาผ่านไป 1 ปี ก็เกิดการขโมยอาวุธกระสุนจากคลังแสงกองพันทหารราบที่ 1 ศูนย์การทหารราบ ค่ายธนะรัชต์ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รายการดังนี้

1. ปืนเล็กยาวแบบเอ็ม 16 จำนวน 117 กระบอก

2. ปืนพกประจำกายแบบอัตโนมัติ 11 มม. จำนวน 10 กระบอก
3. ปืนยิงระเบิดแบบเอ็ม 79 จำนวน 5 กระบอก

4. ปืนกลอเนกประสงค์แบบเอ็ม 60 จำนวน 4 กระบอก
5. ปืนครกยิงลูกระเบิด ขนาด 60 มม. จำนวน 1 กระบอก
6. ปืนกลอเนกประสงค์แบบเอ็ม 249 จำนวน 4 กระบอก

ต่อมาเมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา ผู้บัญชาการทหารบกได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า จับตัวผู้กระทำผิดขโมยอาวุธสงครามได้แล้วก็ตาม อย่างไรก็ดี หากอาวุธเหล่านี้ตกไปอยู่ในมือของผู้ก่อการร้าย หรือมือสังหาร โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเกิดความหายนะอย่างใหญ่หลวงแก่ทั้งทหารและประชาชน

ผู้บัญชาการทหารบกยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาความจริงขึ้น 2 ระดับ คือ ระดับหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง คือ ศูนย์การทหารราบ และระดับกองทัพบก ผู้บัญชาการทหารบกยืนยันว่า ผู้บังคับหน่วยที่อาวุธถูกขโมยต้องรับผิดชอบ

ทั้งสองกรณีเป็นเรื่องใหญ่ในสายตาของสาธารณชนชาวไทยและต่างประเทศ เพราะว่าดัชนีอาชญากรรมการสังหาร และการลอบวางระเบิดในภาคใต้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับในห้วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางระเบิดที่พักอาศัยของข้าราชการตำรวจ สถานีตำรวจภูธรศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส ถึงแม้ว่าไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ที่พักอาศัยและรถยนต์ จำนวน 18 คัน ได้รับความเสียหาย ซึ่งผู้ก่อการร้ายใช้ยุทธวิธีลวงดึงความสนใจ ด้วยการปาระเบิดเอ็ม 26 ใส่บ้านพักตำรวจ

ขณะที่ผู้ก่อการร้ายอีกคนหนึ่งขับรถยนต์กระบะไปจอดใต้อาคารแฟลตตำรวจ แล้วขึ้นจักรยานยนต์หนีไป พร้อมกับกดระเบิดแสวงเครื่องด้วยถังแก๊สหุงต้มหนัก 15 กิโลกรัม ก่อความเสียหายทั้งทรัพย์สินและขวัญกำลังใจของชาวบ้าน เพราะเขาย่อมคิดว่า “ตำรวจยังโดนระเบิด แล้วชาวบ้านล่ะจะปลอดภัยอย่างไร”

พฤติกรรมการขโมยอาวุธกระสุนในค่ายทหาร เป็นวิกฤตของกองทัพบกอย่างแน่นอน เพราะว่าศรัทธาความเชื่อมั่นในการรักษาความปลอดภัยของประชาชนนั้น ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมพื้นฐานของทหาร โดยเฉพาะความรับผิดชอบการปฏิบัติหน้าที่ และการควบคุมกำกับดูแลของผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารทุกระดับ ถ้าสิ่งเหล่านี้ขาดไป ศรัทธาก็หายไปด้วย

เหตุการณ์เกิดขึ้นที่พัทลุง กลับมิได้เป็นสัญญาณใดๆ เตือนให้ทุกหน่วยทหารจะต้องสร้างมาตรการคุมเข้ม โดยไม่ต้องคำนึงถึงเรื่อง “ตีตนไปก่อนไข้” และเหตุเกิดขึ้นแล้วก็มิได้ “ล้อมคอก” ครั้นเมื่อเกิดเรื่องขึ้น สาธารณชนก็ขาดศรัทธาและกลายเป็นเรื่อง “ขี้ปากชาวบ้าน” ที่เน้นในเรื่องระเบียบวินัย การขาดความรับผิดชอบและการตรวจตราจุดอ่อนจุดแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างมาตรการให้เป็นระบบ รวมทั้งการติดตั้งระบบกันขโมย

วิกฤตนี้กองทัพพึงต้องสังวร ในพระราชหัตถเลขาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้กองทัพบก เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2495 มีใจความว่า “ทหารพึงสำนึกในเกียรติอันสูงของตน ที่เป็นผู้มีหน้าที่คุ้มครองและรักษาไว้ซึ่งเอกราชของประเทศชาติ และมั่นอยู่ในสัตย์และวินัยของทหาร ตามนัยพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงริเริ่มการจัดระเบียบกองทัพบกไทยให้เข้ารูปตามสมัยนิยม ที่ได้พระราชทานไว้ในคราวทรงรับคทาทหารบกเมื่อ พ.ศ. 2446 ซึ่งมีพระราชดำรัสไว้ด้วยว่า “ทหารเป็นผู้แปลกกว่าโจร ก็เพราะเป็นผู้มีสัตย์ ถือมั่นใจธรรมของทหาร คือ ใช้ศาสตราวุธในการรักษาชาติ ศาสนา และบ้านเมือง มีความกล้าหาญ ไม่คิดแก่ความยากและชีวิต” ดังนี้

ฉะนั้น ขอทหารทั้งหลายจงสังวร และมั่นอยู่ในคุณธรรมที่ว่านั้นให้จงมาก เพื่อความเจริญรุ่งเรืองแห่งกองทัพบกไทย”

วิกฤตขโมยอาวุธทหาร จะต้องได้รับการป้องปรามและปราบปราม มิให้ลุกลามและเกิดขึ้นอีก สาธารณชนจะต้องรับรู้ถึงตัวบุคคลที่ขโมยอาวุธ และจำเลยเหล่านั้นจะต้องได้รับโทษตามกระบิลกฎหมายที่ตราความผิดและบทลงโทษไว้ โดยยึดเอาโทษสูงสุด เพื่อมิให้เป็นแบบอย่าง
ผบ.ทบ.ต้องทำการทั้งปวงเพื่อเรียกศรัทธา ความเชื่อมั่น และความเห็นอกเห็นใจจากสาธารณชนคืนมา และต้องจดจำทฤษฎีไตรภาคีชนะสงครามของ ฟอน เคล้าซ์วิทซ์ ที่กล่าวถึงกองทัพ แม่ทัพ รัฐบาลและประชาชน ว่าทั้งสามขั้วนี้จะต้องประสานเอื้อเฟื้อกัน และส่งเสริมกันอย่างแน่นแฟ้น จึงจะทำให้เกิดพลังในการป้องปราม และเอาชนะศึกศัตรูได้อย่างแท้จริงในยามสงคราม

ในปัจจุบันประชาชนไทยมีสิทธิในการออกความคิดเห็นมากขึ้นกว่าอดีตเช่นสากล และทุกคนมีความปรารถนาที่จะเห็นกองทัพมีวินัย มีความเข้มแข็ง และเป็นเครื่องมือของรัฐ อันหมายถึงประชาชนในการรักษาเอกราชอธิปไตย ปกป้องและดำรงไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์เจ้า การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ เมื่อเกิดวิกฤตความวุ่นวายภายในประเทศ และช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆ ทั้งในยามสงบ และยามมีวิกฤตการณ์จากทั้งภัยสงครามและภัยธรรมชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น