xs
xsm
sm
md
lg

งง !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

12 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เป็นข่าวที่ต้องถือว่าสะเทือนไปทั่วประเทศ เมื่อศาลเยอรมันได้อายัดเครื่องบินโบอิ้ง 737 พระราชพาหนะส่วนพระองค์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่สนามบินมิวนิค ประเทศเยอรมนี

เรื่องนี้สืบเนื่องมาจาก บริษัท วอลเตอร์ บาว จำกัด ผู้รับเหมาจากประเทศเยอรมนี เคยถือหุ้นบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ผู้รับสัมปทานทางยกระดับ ดอนเมืองโทลล์เวย์ สัดส่วน 9.87%

วอลเตอร์ บาว ได้ยื่นฟ้องรัฐบาลไทยตั้งแต่กลางปี 2550 ผ่านกระบวนกา อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ภายใต้ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและการคุ้มครองการลงทุนระหว่างไทย-เยอรมนี พ.ศ. 2545 ซึ่งปรากฏว่าผ่านไปเกือบ 2 ปี อนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ว่าประเทศไทยเป็นฝ่ายผิดและต้องชำระค่าชดเชยจำนวน 29.21 ล้านยูโร พร้อมดอกเบี้ย และจ่ายค่าทนายให้กับวอลเตอร์ บาวอีก 1.8 ล้านยูโร รวมเบ็ดเสร็จทั้งสิ้นถึงปัจจุบันประมาณ 36 ล้านยูโร

ปี 2553 ฝ่ายไทยได้เคยดำเนินการเสนอคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่อศาลปกครองกลาง เพื่อเพิกถอนคำชี้ขาด แต่ศาลปกครองกลางของไทยมีคำวินิจฉัยว่า คดีดังกล่าวไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง

ต่อมาเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ของบริษัท วอลเตอร์ บาว (ในฐานะบริษัทล้มละลาย) ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลสหรัฐอเมริกา (Southern District of New York) เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2553 เพราะไทยและสหรัฐต่างเป็นรัฐภาคีภายใต้อนุสัญญานิวยอร์คและบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ปรากฏว่า ศาลสหรัฐได้ออกคำสั่งรับรองคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในกรณีที่ไทยไม่ชำระตามคำตัดสิน วอลเตอร์ บาว อาจขอให้ศาลบังคับเอากับทรัพย์สินของรัฐบาลไทยที่อยู่ในเขตอำนาจได้

ซึ่งเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 อธิบายว่า กระบวนการพิจารณาคำตัดสินของศาลที่นิวยอร์คนั้นเพื่อขอคำตัดสินว่า การบังคับคดีในเรื่องนี้สามารถกระทำในสหรัฐอเมริกาได้หรือไม่เท่านั้น ซึ่งจะไม่มีการสืบพยานใดที่จะทำให้ประเทศไทยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามคำตัดสินได้ ดังนั้นศาลประจำรัฐ Landshut ประเทศเยอรมนี ได้มีคำสั่งถอนอายัดเครื่องบิน โบอิ้ง 737 โดยประเทศไทยต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกันธนาคารมูลค่า 20 ล้านยูโร โดยการสืบพยานจะเริ่มมีอีกครั้งประมาณสัปดาห์ที่สองของเดือนสิงหาคมซึ่งยังคาดการณ์ไม่ได้ว่ากระบวนการพิจารณาทั้งหลายจะสิ้นสุดไปเมื่อไร

เอกอัครราชทูตออกแถลงการณ์ฉบับนี้มาก็เพื่อย้ำกว่าคำสั่งการอายัดโดยศาลประจำรัฐLandshut ประเทศเยอรมนี โดยกำหนดเงื่อนไขให้ไทยนำหลักทรัพย์ค้ำประกันธนาคารมูลค่า 20 ล้านยูโรแทนนั้น ถือเป็นคำตัดสินที่สิ้นสุด

ข้อสำคัญก็คือการแถลงการณ์ดังกล่าวนั้น แสดงให้เห็นว่าอายัดทรัพย์ซึ่งเป็นกระบวนการบังคับคดีในการตัดสินของอนุญาโตตุลาการนั้น อาจไม่ได้เกิดเฉพาะที่ศาลเยอรมนีเท่านั้น แต่วันนี้อาจลามไปถึงศาลที่สหรัฐอเมริกาด้วย และในอนาคตอาจลามไปทั่วโลก เพื่อให้สามารถยึดทรัพย์สินของรัฐบาลไทยมาชำระหนี้ หากไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ

รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 แสดงความไม่พอใจต่อสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย
ที่ได้ออกเอกสารแถลงข่าวเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 โดยย้ำว่าเป็นเรื่องของรัฐบาลไทยกับเอกชน และไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการอายัดเครื่องบินส่วนพระองค์ของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารแต่ประการใด โดยกระทรวงการต่างประเทศได้ย้ำความมุ่งมั่นที่จะรักษาและดำรงไว้ซึ่งพระเกียรติยศของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

ส่วนรัฐบาลไทย หลังจากที่ อนุญาโตตุลาการมีคำตัดสินมาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 แต่ก็ยังหวังว่าจะใช้ศาลปกครองกลางของไทย(ซึ่งไม่รับคำร้องไปแล้ว) และศาลปกครองสูงสุดของไทยเพื่อเพิกถอนคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ โดยอ้างว่าคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการไม่เป็นธรรม

ที่ฝ่ายรัฐบาลไทยอ้างว่าไม่เป็นธรรมนั้นเพราะ วอลเตอร์ บาว ไม่ใช่คู่สัญญากับรัฐบาลโดยตรง เป็นเพียงแค่ผู้ถือหุ้นส่วนน้อยของบริษัทรับสัมปทานดอนเมืองโทลล์เวย์เท่านั้น อีกทั้งรัฐบาลได้ขยายสัมปทานออกไปถึงปี 2557 ให้ปรับค่าผ่านทางได้ มีการปรับค่าผ่านทางขึ้นรถยนต์ 4 ล้อจาก 55 บาท เป็น 85 บาท ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการเยียวยาให้กับผู้ถือหุ้นบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) แล้ว

โดยรัฐบาลไทยน่าจะมีความคาดหวังการเทียบเคียงคดีที่ศาลปกครองกลาง (9 พฤษภาคม 2549) และศาลปกครองสูงสุดที่มีคำวินิจฉัย (8 ธันวาคม พ.ศ. 2549) ที่ได้เพิกถอนคำสั่งของอนุญาโตตุลาการที่ไม่เป็นธรรมกรณีของ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) กับ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

ประกอบกับความประมาทชะล่าใจของรัฐบาลไทย ที่คิดว่าศาลในต่างประเทศไม่มีมาตรการบังคับคดีกับไทยได้
เพราะทรัพย์สินที่จะถูกยึดได้นั้นถูกจำกัดอย่างมาก โดยไม่สามารถยึดทรัพย์สินที่ได้รับการคุ้มครองพิเศษ เช่น ไม่สามารถยึดทรัพย์สินและอาคารของสถานทูต, ไม่สามารถยึดทรัพย์สินของธนาคารกลางหรือสถาบันการเงินที่ไม่ใช้เพื่อทำธุรกิจ, ไม่สามารถยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางทหาร เป็นต้น ในขณะที่ทรัพย์สินที่เสี่ยงต่อการถูกยึด ได้แก่ทรัพย์สินของรัฐที่ใช้ในกิจกรรมเชิงพาณิชย์ และทรัพย์สินขององค์กรที่รัฐเป็นเจ้าของ

โดยที่รัฐบาลไม่คาดคิดว่า วอเตอร์ บาว จะเลือกให้ศาลอายัดเครื่องบิน โบอิ้ง 737 พระราชพาหนะส่วนพระองค์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร โดยอ้างว่าเป็นเครื่องบินที่มาจากงบประมาณแผ่นดินและเป็นทรัพย์สินของกองทัพอากาศมาก่อน

แต่กรณีนี้ก็ไม่เหมือนกับคดีไอทีวีเสียทีเดียว เพราะคดีไอทีวีนั้น อนุญาโตตุลาการ ยังอยู่ในเรื่องระหว่างบริษัทเอกชนไทย กับรัฐบาลไทย แต่กรณีนี้มีโครงสร้างในเรื่องอนุญาโตตุลาการต่างกัน เพราะคดีนี้ อนุญาโตตุลาการอยู่ ภายใต้ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและการคุ้มครองการลงทุนระหว่างไทย-เยอรมนี พ.ศ. 2545 โดยคู่กรณีเป็น รัฐบาลไทย กับเอกชนสัญชาติเยอรมนี

ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปก็คือ...

ประการแรก ศาลปกครองสูงสุดของไทย จะตัดสินแตกต่างจาก ศาลเยอรมัน และศาลสหรัฐอเมริกา หรือไม่?

และประการที่สอง หากศาลปกครองสูงสุดของไทยตัดสินแตกต่างจาก ศาลเยอรมัน และศาลสหรัฐอเมริกาแล้ว จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในการตัดสินของศาลเยอรมัน และศาลสหรัฐอเมริกา หรือศาลในประเทศอื่นๆอีกหลายประเทศที่กำลังจะตัดสินตามมา หรือไม่?

เพราะศาลในต่างประเทศจะยึดเอาคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการเป็นหลักสำคัญ (หากไม่พบว่ามีการทุจริต) เพราะถือว่าเป็นการตกลงใจกันเองของคู่สัญญาที่เป็นรัฐภาคีสมาชิกภายใต้อนุสัญญานิวยอร์คและบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และภายใต้ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและการคุ้มครองการลงทุนระหว่างไทย-เยอรมนี พ.ศ. 2545

เพียงแต่อาจจะเกิดคำถามสงสัยได้ว่า เหตุใดในกรณีที่ไทยและเยอรมันมีข้อตกลงกันที่จะใช้คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการเป็นหลัก แต่ฝ่ายไทยกลับปฏิเสธคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการไม่ปฏิบัติตามสู้ทุกรูปแบบ ไม่วางแม้แต่หลักประกันในการต่อสู้คดี ด้วยข้ออ้างว่าไม่เป็นธรรม จนเป็นเหตุทำให้ศาลเยอรมนีอายัดเครื่องบินพระราชพาหนะส่วนพระองค์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร

ในขณะที่คดีการตีความคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 นั้น ประเทศไทยไม่ได้ต่ออายุปฏิญญาการยอมรับการบังคับอำนาจของศาลโลกมา 50 ปี แถมยังได้ยื่นคัดค้าน ประท้วง และตั้งข้อสงวนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 เพราะคำตัดสินมีความไม่เป็นธรรม มาวันนี้จะน้อมรับ ยอมรับ อำนาจศาลโลกทั้งๆที่จะทำให้ไทยสุ่มเสี่ยงจะเสียดินแดนในทางนิตินัยในรัชกาลปัจจุบัน ได้อย่างไร?

ท่านผู้อ่าน “งง” กับตรรกะของรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ !?


กำลังโหลดความคิดเห็น