xs
xsm
sm
md
lg

ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องอนุญาโตตุลาการ

เผยแพร่:   โดย: ประพันธ์ คูณมี

สืบเนื่องจากกรณีที่ศาลเยอรมนีสั่งอายัดเครื่องบิน โบอิ้ง 737 พระราชพาหนะส่วนพระองค์ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่เมืองมิวนิก มีการปิดหมายสั่งยึดไว้ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยบริษัท วอลเตอร์ บาว (Water Bau) ของเยอรมนี ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ในปัญหาข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัท วอลเตอร์ บาว จำกัด เกี่ยวกับเรื่องการผิดสัญญาสัมปทานการก่อสร้างทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ เมื่อปี 2543 ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ชี้ขาดให้ราชอาณาจักรไทย ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินประมาณ 30 ล้านยูโร หรือราว 1,200 ล้านบาท บวกดอกเบี้ย 6 เดือนในอัตราร้อยละ 2 ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2549 รวมถึงค่าใช้จ่ายในกระบวนการอนุญาโตตุลาการอีกประมาณ 2 ล้านยูโร หรือ 80 ล้านบาท

บริษัท วอลเตอร์ บาว เจ้าหนี้ขอให้ศาลเยอรมนีอายัดเครื่องบินลำดังกล่าว โดยอ้างเหตุว่า เป็นทรัพย์สินของรัฐบาลไทย กรณีดังกล่าว ทำให้ผู้ที่ติดตามข่าวสารอาจเกิดความสงสัย และมีคำถามในใจมากมายหลายประเด็น เหตุใดบริษัทต่างชาติ จึงสามารถไปขอให้ศาลต่างประเทศยึดอายัดทรัพย์สินดังกล่าว โดยอ้างเอาคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ เป็นข้ออ้างต่อศาลเยอรมนีได้ เพื่อความรู้ความเข้าใจต่อเรื่องดังกล่าว ผู้เขียนจึงขอนำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องอนุญาโตตุลาการ ที่มีการเผยแพร่ให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป โดยสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรมของประเทศไทย มาบอกกล่าวแก่ท่านผู้อ่านเพื่อจะได้มีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจในการติดตามข่าวสารดังกล่าว ซึ่งพอจะสรุปความได้ดังนี้

(1) ในการทำสัญญาโครงการขนาดใหญ่ และสัญญาการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ มักจะยึดถือเอาการระงับข้อพิพาท โดยอนุญาโตตุลาการเป็นแนวปฏิบัติที่สำคัญ จนถือเป็นประเพณีของการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ แม้แต่ในการทำสัญญาว่าด้วยเขตการค้าเสรี (FTA) ที่ประเทศไทยทำกับประเทศต่างๆ ก็จะมีการกำหนดเรื่องการระงับข้อพิพาท ด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการไว้ด้วยเสมอ การระงับข้อพิพาทด้วยวิธีนี้ เป็นหนึ่งในบรรดาหลายวิธีของการระงับข้อพิพาททางการค้าการลงทุน แทนการฟ้องร้องคดีต่อศาล และสามารถช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการฟ้องร้องคดีต่อศาลได้เป็นอย่างดี คือ กระบวนการอนุญาโตตุลาการ จะกระทำอย่างเป็นความลับ ไม่เปิดเผยต่อสาธารณชน มีความคล่องตัวสูง แก้ไขข้อพิพาทได้รวดเร็ว กำหนดนัดพิจารณาก็เป็นไปด้วยความสะดวกทั้งสองฝ่าย ไม่ต้อเข้าคิวกับคดีอื่นๆ ลดการเผชิญหน้าระหว่างคู่กรณี

ประเด็นข้อพิพาทที่มีลักษณะทางเทคนิค หรือต้องอาศัยความรู้ความชำนาญเฉพาะสาขา ก็สามารถคัดสรรผู้ที่จะทำหน้าที่ชี้ขาดข้อพิพาทที่มีความรู้ความชำนาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง ที่คู่กรณีมีความมั่นใจในความสุจริตและเป็นกลางมาทำหน้าที่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมตามความประสงค์ ที่สำคัญคือ คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการสามารถนำไปขอให้ศาลในประเทศต่างๆ มากกว่า 140 ประเทศทั่วโลกบังคับให้ได้ ในขณะที่คำพิพากษาของศาล ไม่ว่าของประเทศใด จะมีผลบังคับได้เฉพาะกับทรัพย์สินในประเทศนั้นๆ เท่านั้น

(2) บทบาทและหน้าที่ของอนุญาโตตุลาการ ใกล้เคียงกับบทบาทหน้าที่ของ “ผู้พิพากษา” หรือ “ตุลาการ” หน้าที่หลักของอนุญาโตตุลาการ คือ การวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อพิพาทต่างๆ ที่คู่พิพาทนำเสนอขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อเท็จจริง เช่น เหตุการณ์มีรายละเอียดอย่างไร ฝ่ายใดเป็นฝ่ายกระทำให้เกิดความเสียหาย หรือปัญหาข้อกฎหมายว่า ฝ่ายใดกระทำผิดกฎหมาย ผิดสัญญา หรือข้อตกลงที่กำหนดไว้หรือไม่ และจะต้องรับผิดต่อความเสียหายอย่างไร เป็นต้น ในการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาต่างๆ อนุญาโตตุลาการต้องพิจารณาจากพยานหลักฐาน และเหตุผลที่แต่ละฝ่ายนำเสนอ ประกอบกับข้อตกลงระหว่างคู่สัญญาเป็นหลัก เหมือนกับการทำหน้าที่ของผู้พิพากษา หรือตุลาการ “คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงเปรียบได้กับคำพิพากษา” ของศาลต่างๆ

(3) ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ ในการตกลงเรื่องข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ จึงมีประเด็นที่ควรเข้าใจหลายประการ ได้แก่ (ก) จะใช้บริการสถาบันอนุญาโตตุลาการแห่งใดแห่งหนึ่ง หรือคู่พิพาทจะรับผิดชอบจัดการกระบวนการต่างๆ เอง (ข) หากใช้สถาบันอนุญาโตตุลาการจะใช้สถาบันใด ในประเทศหรือต่างประเทศ (ค) จะใช้อนุญาโตตุลาการกี่คน ซึ่งปกติจะกำหนดเป็นเลขคี่ (ง) ภาษาที่จะใช้ในการดำเนินกระบวนการ จะใช้เป็นภาษาอะไร (จ) สถานที่ดำเนินกระบวนการจะเป็นที่ใด เหล่านี้เป็นต้น

(4) เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้น คู่กรณีจะทำอย่างไร กรณีที่มีความตกลงเกี่ยวกับวิธีการระงับข้อพิพาทไว้ว่า ให้ใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการ ไม่ว่าจะเป็นความตกลงที่ทำขึ้นก่อน หรือภายหลังที่เกิดข้อพิพาท คู่กรณีก็ควรดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด เช่น อาจมีการเจรจาหรือไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อน ก็ต้องดำเนินการตามที่กำหนดจนครบ เมื่อไม่สามารถตกลงกันได้ จึงทำเรื่องเสนอต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ โดยการทำเป็น “คำเสนอข้อพิพาท” ซึ่งต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับกรณีพิพาทที่เกิดขึ้น เหตุผลที่ยกขึ้นสนับสนุนข้ออ้างของตน คำขอที่จะให้อีกฝ่ายหนึ่งชำระหนี้เป็นจำนวนเท่าใด หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด จากนั้นสถาบันอนุญาโตตุลาการ ก็จะส่งสำเนาคำเสนอข้อพิพาทให้อีกฝ่ายหนึ่งเพื่อทำคำคัดค้าน ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาอื่นๆ ต่อไป ประเทศไทยก็มีสถาบันอนุญาโตตุลาการขึ้นกับสำนักงานศาลยุติธรรม ตั้งแต่ปี 2533 ถึงปัจจุบันเป็นเวลา 21 ปี

(5) การแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ คู่กรณีสามารถคัดสรรบุคคลที่ตนเห็นว่าเหมาะสม ซึ่งบุคคลดังกล่าวอาจเป็นบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อของสถาบันอนุญาโตตุลาการ ที่ได้จัดทำบัญชีรายชื่อเอาไว้ หรืออาจแต่งตั้งจากบุคคลที่อยู่นอกบัญชีก็ได้ ส่วนประธานคณะอนุญาโตตุลาการ คู่พิพาททั้งสองฝ่าย เป็นผู้ร่วมคัดเลือกและแต่งตั้ง หากอนุญาโตตุลาการทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงเกี่ยวกับผู้ทำหน้าที่ประธานได้ ทั้งสองฝ่ายจะเสนอรายชื่อฝ่ายละ 3 คน แล้วสถาบันฯ จะเสนอชื่ออีก 3 คน จากนั้นจึงมีการส่งรายชื่อทั้งหมด 9 ชื่อ กลับไปให้อนุญาโตตุลาการทั้งสองฝ่ายเรียงลำดับความพึงพอใจ ผู้ที่ได้รับคะแนนความพึงพอใจสูงสุด ก็จะได้รับการทาบทามให้ทำหน้าที่เป็นประธาน เว้นแต่บุคคลนั้นไม่สามารถทำหน้าที่ได้ จึงจะทาบทามบุคคลในลำดับถัดไป จนกว่าจะได้ผู้ที่รับเป็นประธาน

(6) กระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ เมื่อมีกระบวนการพิจารณาเสร็จสิ้นลง และมีคำวินิจฉัยชี้ขาดแล้ว คำชี้ขาดจึงเปรียบได้กับ “คำพิพากษา”

นี่เป็นความรู้ความเข้าใจบางส่วนของกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ยังคงมีรายละเอียดที่ผู้สนใจควรศึกษาหาความรู้อีกมาก ซึ่งผู้เขียนจะขอนำเสนอในตอนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น