xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอยมรดกโลก ตอนที่ 2

เผยแพร่:   โดย: เทพมนตรี ลิมปพยอม

(ต่อจากตอนที่แล้ว)

นอกจากนี้มติคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 32 ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ ICC พระวิหาร (International Coordination Committee PreahVihear) และให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็น 1 ใน 7 ชาติสมาชิก ซึ่งผลของการออกมติในครั้งนี้ประเทศไทยได้โต้แย้งเกี่ยวกับแผนที่ที่แนบท้ายคำแถลงการณ์ร่วมและการปรับปรุงแผนที่ครั้งใหม่ของประเทศกัมพูชาที่นำเสนอต่อศูนย์กลางมรดกโลกที่ปารีสในข้อที่ว่า แผนที่แนบท้ายคำแถลงการณ์ร่วมอยู่ภายใต้การคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองกลาง แต่คณะกรรมการมรดกโลกกลับเมินเฉยคำร้องขอของประเทศไทย ได้อนุมัติการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารไปอย่างผิดหลักการทางวิชาการ ประกอบกับ ICOMOS ฝ่ายไทยได้มีหนังสือแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงต่อเรื่องนี้ แต่คณะกรรมการมรดกโลกสากลกลับขอให้ศูนย์กลางมรดกโลก (WHC) ทำการช่วยเหลือประเทศกัมพูชาโดยจัดการหาผู้เชี่ยวชาญชาวอินเดียมาทำแผนบริหารจัดการพื้นที่ปราสาทพระวิหารให้เสร็จสิ้น

ภายหลังจากการออกมติของคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 32 ภาคประชาชนของประเทศไทยได้แสดงความไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง และศาลรัฐธรรมนูญของประเทศไทยยังได้ทำการวินิจฉัยว่าพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารเป็นของไทย และแผนที่แนบท้ายคำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาฉบับที่ได้พิจารณาในสมัยการประชุมมรดกโลกครั้งที่ 32 เป็นฉบับที่อาจทำให้ประเทศไทยสุ่มเสี่ยงต่อการเสียดินแดน เพราะรัฐบาลไทยในปี พ.ศ. 2505 เคารพคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีปราสาทพระวิหาร จะปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกด้วยการออกมติคณะรัฐมนตรีกัน “อาณาบริเวณรอบตัวปราสาท” เพื่อให้กัมพูชาเข้ามาใช้อำนาจอธิปไตยเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้น ไม่มีการยกดินแดนให้กัมพูชาแต่อย่างใด นอกจากนี้รัฐบาลไทยในปี 2505 ยังทำหนังสือสงวนสิทธิ์เพื่อทวงคืนตัวปราสาทพระวิหารต่อองค์การสหประชาชาติ โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาไว้ด้วย

(อนึ่งกัมพูชามักจะบิดเบือนคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีปราสาทพระวิหารว่า ศาลนั้นได้พิจารณาตัดสินแผนที่ในภาคผนวกหนึ่งและศาลได้ตัดสินเส้นเขตแดนบนแผนที่ ซึ่งศาลฯ ไม่มีคำพิพากษาเช่นนั้นเลย)

หลังมติคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 32 ประเทศกัมพูชาได้ส่งกองกำลังติดอาวุธเข้ามารุกล้ำดินแดนประเทศไทย และมีการขยายชุมชนของชาวกัมพูชาเข้ามาในดินแดนประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการปกป้องดินแดนอันเป็นอธิปไตยของไทย การปะทะกันของทหารไทยและทหารกัมพูชา ส่งผลให้เกิดการสูญเสียทั้งสองฝ่ายจากการที่กัมพูชาละเมิดอธิปไตยของประเทศไทย แต่ฝ่ายกัมพูชาโดยประธานคณะกรรมการมรดกโลกกัมพูชาได้ทำเอกสารให้ร้ายต่อประเทศไทย ณ ศูนย์กลางมรดกโลก (WHC) โดยการกล่าวหาไทยว่าเป็นผู้รุกรานและใช้อาวุธทำลายตัวปราสาทพระวิหาร รายงานฉบับดังกล่าวของกัมพูชาเข้าไปสู่วาระการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 33

สมัยประชุมที่ 33 ณ เมืองเซบิย่า ประเทศสเปน การประชุมครั้งนี้ฝ่ายกัมพูชาได้นำเสนอความเสียหายของตัวปราสาทจากการกระทำของฝ่ายไทยแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยเฉพาะการทำลายตัวตลาดชุมชนชาวกัมพูชา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วกองกำลังทหารและชุมชนกัมพูชาได้รุกล้ำเข้ามาอยู่ในดินแดนประเทศไทย เมื่อมีการปะทะ ทหารไทยได้ใช้กำลังเพื่อผลักดันชาวกัมพูชาเพื่อรักษาอำนาจอธิปไตย หากแต่ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกกลับเห็นพ้องกับฝ่ายกัมพูชา และได้อนุมัติเงินช่วยเหลือฝ่ายกัมพูชาในการมาฟื้นฟูตลาดของชุมชนชาวกัมพูชาที่อยู่ในดินแดนประเทศไทย และบริเวณทางขึ้นตัวปราสาท อีกทั้งยังได้อนุมัติเงินเพิ่มเติมในการทำแผนบริหารจัดการให้สำเร็จ และเปิดโอกาสให้กัมพูชาเป็นกรณีพิเศษ เฉพาะกรณีประเทศฝรั่งเศสได้ออกตัวมาปกป้องประเทศกัมพูชา โดยไม่ฟังเสียงทัดทานของฝ่ายไทย ประกอบกับคณะกรรมการยังออกมติที่บีบบังคับฝ่ายไทยให้ความร่วมมือกับฝ่ายกัมพูชาและประเทศภาคีสมาชิกอื่นๆ ในการจัดตั้ง ICC พระวิหาร (International Coordination Committee)

ภายหลังการออกมติ ฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชากลับมีความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น เพราะฝ่ายไทยมองเห็นว่าทั้งองค์การยูเนสโกภายใต้การนำของนายทาเคชิ มัตสึอุระ ผู้อำนวยการใหญ่ และนางฟรองซัวร์ รีวิแยร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายวัฒนธรรม ได้ให้การสนับสนุนอย่างผิดปกติ จัดผู้แทนยูเนสโกเข้ามาสำรวจความเสียหายของปราสาทพระวิหารจนฝ่ายไทยจำเป็นต้องจัดเจ้าหน้าที่เข้ามาอารักขา และแสดงสิทธิอำนาจอธิปไตยบริเวณพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร

องค์การยูเนสโก และศูนย์กลางมรดกโลก ยังคงให้การสนับสนุนและช่วยเหลือกัมพูชาอย่างพิเศษ และดูเหมือนว่าจะให้สิทธิในการส่งเอกสารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแผนบริหารการจัดการ หรือความขัดแย้งทางด้านทหารที่ฝ่ายกัมพูชาเข้ามารุกรานดินแดนประเทศไทย โดยเฉพาะการตัดถนนเข้ามายังตัวปราสาทพระวิหารได้ทำลายพื้นที่อุทยานแห่งชาติเข้าพระวิหารของประเทศไทย และองค์การยูเนสโกโดยศูนย์กลางมรดกโลก (WHC) กลับละเลยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกในข้อที่ว่า กรณีปราสาทพระวิหารในฐานะมรดกโลกได้ก่อให้เกิดสถานการณ์การสู้รบทางการทหาร มีกองกำลังติดอาวุธ และมีการปะทะกันก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตทหารและประชาชน ศูนย์กลางมรดกโลกยังคงเพิกเฉยละเลยที่จะขึ้นบัญชีมรดกโลกอันตรายต่อปราสาทพระวิหารตามอนุสัญญาและขั้นตอนต่างๆ ตามข้อ 177 ถึง 191 (อ่านต่อวันพุธหน้าครับ)
กำลังโหลดความคิดเห็น