“ชวนนท์” เผย 14 ก.ค. “กษิต” นำทีมฟังคำตัดสินศาลโลกกรณีเขมรร้องออกมาตรการชั่วคราว 3 ประเด็น เชื่อคำตัดสินจะเป็นประโยชน์กับไทย ฝากรัฐบาลหน้ายึดแนวทางรักษาอธิปไตยอย่างที่รัฐบาลนี้ทำมา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 10.00 น. นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ และนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการ รมว.ต่างประเทศ เดินทางเข้าพบนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล
นายชวนนท์เปิดเผยภายหลังเข้าพบนายกรัฐมนตรีว่า ตนและนายกษิตได้เข้ามารายงานนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) จะมีการตัดสินมาตรการคุ้มครองชั่วคราวให้กับกัมพูชาหรือไม่ในวันที่ 18 ก.ค.นี้ โดยคณะของกระทรวงการต่างประเทศ จะเดินทางไปในวันที่ 14 ก.ค.นี้ จากกรณีที่ศาลโลกจะมีคำวินิจฉัยคำร้องของรัฐบาลกัมพูชาในเรื่องการขอให้ออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวใน 3 ประเด็น คือ
1.ขอให้ประเทศไทยนั้นได้ถอนกำลังทหารออกจากรอบปราสาทพระวิหาร 2.หยุดกระทำกิจการทหารที่จะกระทบสิทธิและอธิปไตยของกัมพูชา และ 3.หยุดสร้างการสู้รบเขตแดนระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งข้อต่อสู้ของเราได้มีการชี้แจงไปแล้วว่าศาลโลกไม่มีอำนาจตัดสินเรื่องนี้ และประเทศไทยตั้งแต่ปี 2505 ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลโลกไปครบถ้วนทุกประเด็นแล้ว และขณะนี้ไม่มีความขัดแย้งในพื้นที่ไม่มีการตีความที่แตกต่างกันระหว่างไทยกับกัมพูชา ฉะนั้น คิดว่าประเด็นที่เราชี้แจงต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไปเมื่อ 2 เดือนที่แล้วน่าจะทำความเข้าใจ หวังว่าคำตัดสินคดีนี้จะออกเป็นประโยชน์กับประเทศไทย
ผู้สื่อข่าวถามว่า จากนี้ยังมีคดีหลักที่ต้องต่อสู้ แล้วแนวทางการต่อสู้คดีของรัฐบาลจะเปลี่ยนไปหรือไม่หากเปลี่ยนรัฐบาล นายชวนนท์กล่าวว่า อย่างที่นายกรัฐมนตรีกล่าวไว้ว่าเราเห็นว่าเรื่องอธิปไตยเป็นเรื่องที่ทุกรัฐบาลควรจะมีความเห็นที่ตรงกัน เรื่องนโยบายเรื่องดำเนินการกิจการภายในนั้นแตกต่างกันได้ แต่เรื่องการรักษาแผ่นดิน อธิปไตยนั้น ตนเชื่อว่าและหวังว่ารัฐบาลใหม่ที่เข้ามาคงมีแนวทางไม่แตกต่างกับเรา สิ่งที่เราดำเนินการมา 2 ปี ยืนยันว่าไม่มีนโยบายอะไรที่จะรุกรานประเทศเพื่อนบ้าน แต่เป็นเรื่องรักษาอธิปไตย รักษาประโยชน์ที่มีอยู่ของประเทศ ฉะนั้นเราหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะทำในแนวทางเดียวกัน
ส่วนถ้าแนวทางของรัฐบาลใหม่แตกต่างจากแนวทางที่ทำมาจะสูญเปล่าหรือไม่ นายชวนนท์กล่าวว่า ถ้าคำตัดสินมาตรการชั่วคราวออกมาเรียบร้อย จะมีทางไหนทางหนึ่ง ก็อาจจะส่งผลไปถึงคำร้องการตัดสินพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร ซึ่งต้องใช้เวลา 6 เดือนในการพิจารณา ถึงตรงนั้นเรื่องคำร้องการตัดสินพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารสิ่งที่รัฐบาลนี้ได้วางแนวทางไว้ ได้ปรึกษากับที่ปรึกษากฎหมายชาวต่างชาติ และผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงการต่างประเทศ หวังว่ารัฐบาลใหม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ จะดำเนินทิศทางที่สอดคล้องกัน
ต่อข้อถามว่ากรณีไทยถอนตัวจากภาคีมรดกโลกที่ยังไม่สมบูรณ์คิดว่ารัฐบาลใหม่ต้องเดินตามแนวทางหรือไม่ นายชวนนท์กล่าวว่า เรื่องมรดกโลกมันอยู่ที่ว่าสาเหตุที่เราถอนตัว เราถอนตัวเพราะความคลุมเครือในเรื่องของการที่จะเข้ามาบูรณะซ่อมแซม ถ้ารัฐบาลใหม่สามารถไปทำความเข้าใจกับมรดกโลกได้ ทำความเข้าใจกับกัมพูชาได้ว่าความชัดเจนคืออะไร ตนก็คิดว่ามีเหตุผลที่เขาจะตัดสินใจทางใดทางหนึ่ง แต่ขอให้ชัดเจนเรื่องรักษาอธิปไตยเท่านั้นเอง
เมื่อถามว่าถ้ากลับไปเหมือนตอนที่นายนพดล ปัทมะ อดีตรมว.ต่างประเทศลงแถลงการณ์ร่วมจะเกิดอะไรขึ้น นายชวนนท์กล่าวว่า ต้องพิจารณาดู เพราะการมีแถลงการณ์ร่วมก็ทำให้กัมพูชาไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้ฝ่ายเดียว และขณะนี้แผนบริหารจัดการของกัมพูชายังใช้แผนที่ 1 ต่อ 200,000 ซึ่งทำให้ไทยเสียเปรียบอยู่ที่ส่งไปให้กับมรดกโลก ฝากรัฐบาลชุดใหม่ว่าต้องยืนยันแนวของเราว่าสันปันน้ำเท่านั้นที่เป็นเส้นแบ่งเขตแดนไทยกัมพูชาบริเวณตัวปราสาทพระวิหาร
ผู้สื่อข่าวถามว่าแนวทางคำตัดสินของศาลโลกจะออกมาอย่างไร นายชวนนท์กล่าวว่า เท่าที่ปรึกษากับที่ปรึกษาทางกฎหมายเห็นว่าศาลมีคำร้องไป 3 ข้อ ฉะนั้นศาลคงจะพิจารณาได้เพียงว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องแต่ละข้อไม่มีระดับคำตัดสิน มีเพียงรับหรือไม่รับ หรือให้หรือไม่ให้ตามที่กัมพูชาร้องไปกี่ข้อเท่านั้น