xs
xsm
sm
md
lg

“สุวิทย์” ซัด ผอ.ยูเนสโกหมกเม็ด ชี้มติข้อ 5 เปิดกว้างเขมรรุกอธิปไตยไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุวิทย์ คุณกิตติ  (แฟ้มภาพ)
“สุวิทย์” ซัด ผอ.ยูเนสโกหมกเม็ด เหมือนแก้ตัวหลังไทยถอนตัวออกจากภาคีมรดกโลก ระบุมติข้อ 5 เปิดกว้างให้เขมรรุกล้ำอธิปไตยไทย ยันรับไม่ได้ และต้องตรวจสอบให้ชัด งงกระทรวงต่างประเทศกลับลำไม่เห็นด้วย สงสัยตอนประชุมไม่เห็นมีใครขัด

วันนี้ (28 มิ.ย.) นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน้าหัวหน้าคณะเจรจาของฝ่ายไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกกล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในส่วนหนังสือจากผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโกที่มาถึงนายกรัฐมนตรีในภายหลัง โดยระบุว่าที่ประชุมไม่ได้มีการพิจารณาร่างแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารของกัมพูชา เป็นการยืนยันในส่วนที่กัมพูชาว่าโกหกที่ไปกล่าวอ้างว่ามีการพิจารณาแผนบริหารจัดการไปแล้ว

ที่สำคัญในขณะที่มีการพูดจากันก่อนที่ร่างมติดังกล่าวจะเข้าที่ประชุม เราก็ถามเพื่อขอคำยืนยัน แต่เขาก็ไม่เคยยืนยันกับเรา ซึ่งเหมือนกับหมกเม็ดสอดไส้ และเมื่อเราถอนตัวแล้วถึงมาปฏิเสธว่าไม่มีการพิจารณาแผนบริหารจัดการ ตนถามว่าหากเราไม่ถอนตัวข้อมติที่ออกมาไม่มีเรื่องของแผนบริหารจัดการคนไทยจะเข้าอย่างไร รวมทั้งยูเนสโกจะทำหนังสือมาอย่างนี้หรือไม่

นายสุวิทย์กล่าวว่า ในมติข้อ 5 ของวาระเขาพระวิหาร เขียนเปิดช่องให้ทางกัมพูชาทำอย่างไรก็ได้กับตัวปราสาทเขาพระวิหาร ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมแซม การบูรณะ การขอรับเงินช่วยเหลือจากทางยูเนสโก จากทางศูนย์มรดกโลก ซึ่งประเทศไทยเองก็ปฏิเสธมาตลอดว่าเราไม่ยินยอมจนกว่าการปักปันเขตแดนจะแล้วเสร็จ และได้รับอนุญาตจากประเทศไทยให้เข้าไปดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้จะเป็นประเด็นปัญหาและสาระสำคัญ ซึ่งที่ประชุม ครม.ได้มีมติให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปตรวจสอบดูมติในข้อ 5 อีกครั้ง ซึ่งตนได้ดูอย่างรอบครอบแล้วว่ามติข้อ 5 เป็นประเด็นปัญหาและจะเป็นข้อความที่ทางกัมพูชาสามารถนำมาอ้างได้ในการขอเงินและความช่วยเหลือเพื่อส่งคนขึ้นไปบนพื้นที่ปราสาทเขาพระวิหาร

“ผมบอกและยืนยันกับยูเนสโกกับศูนย์มรดกโลกอยู่ตลอดเวลาว่า การปกป้องคุ้มครองตัวปราสาทนั้นทำได้ง่ายนิดเดียว คือ กัมพูชาต้องถอนทหารออกจากตัวปราสาท และบริเวณตัวปราสาท และไม่ใช้เป็นฐานปืนใหญ่มายิงถล่มประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ผมพูดกับยูเนสโกมา 3 ปีแล้ว โดยได้นำรูปไปให้ยูเนสโกได้ดูด้วยว่ามีการตั้งปืนใหญ่อยู่ในตัวปราสาทเลย ทั้งนี้ ยูเนสโกทราบดี แต่ทางยูเนสโกเองไม่มีความพยายามที่จะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างชัดเจนประการใด” นายสุวิทย์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่าการอนุมัติตามมติข้อ 5 ของวาระเขาพระวิหารที่ระบุว่าให้ทางกัมพูชาสามารถเข้าไปซ่อมแซม บูรณะตัวปราสาทเขาพระวิหารได้ จะมีผลต่อการเสียดินแดนของไทยใช่หรือไม่ นายสุวิทย์กล่าวว่า การดำเนินการใดๆ หากอยู่ในเขตอำนาจอธิปไตยของกัมพูชานั้นสามารถทำได้ แต่หากการดำเนินการใดๆ ที่ต้องเข้ามาดำเนินการในเขตแดนไทย ถือเป็นการรุกล้ำอำนาจอธิปไตยของไทยนั้นทำไม่ได้ อย่างไรก็ตาม มันมีหลายวิธีในการเจรจาบนเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งตนทำมาหมดแล้ว ทั้งพูดคุย ล็อบบี้ พยายามทำความเข้าใจ และทุกวิถีทางที่จะให้ยูเนสโกมองเห็นถึงความอ่อนไหวในเรื่องนี้

“องค์กรยูเนสโกไม่ควรจะให้เงินช่วยเหลือกัมพูชา เพราะจะกระทบต่ออำนาจอธิปไตยของไทย เพราะเราทำหนังสือคัดค้านไปแล้ว เนื่องจากกระบวนการอย่างนี้เรารับไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ในมติข้อ 5 เป็นเรื่องที่จะต้องรายงานต่อนายกรัฐมนตรี เนื่องจากต้องตรวจสอบว่าใจความของมันมีความหมายที่กว้างขวางมากแค่ไหน และจะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง เพราะมันเปิดกว้างให้กัมพูชาทำอะไรก็ได้ และเราจะไปยินยอมให้เขาทำได้อย่างไร”

ส่วนจดหมายที่ผู้อำนวยการยูเนสโกส่งมาถึงนายกรัฐมนตรีจะมีผลต่อการที่ได้มีมติไปแล้วหรือไม่ นายสุวิทย์กล่าวว่า มติที่ออกมา ในร่างมติที่ออกมาอยู่ดีๆ ก็ไม่พูดถึงเรื่องแผนบริหารจัดการเลย ซึ่งมันหายไป และการประชุมครั้งต่อไปจะมีการหยิบยกขึ้นมาอีกหรือไม่ หรือจะเลยตามเลย ถึงแม้ว่าตอนหลังผู้อำนวยการยูเนสโกจะมีหนังสือมาถึงไทย หลังจากลงมติแล้ว ที่เป็นการยืนยันว่าที่ประชุมคณะกรรมการไม่ได้พิจารณา โดยเขาบอกว่าไม่ได้ดิสคัตเรื่องนี้ แต่ถามว่าในเมื่อไม่ได้ดิสคัตในเรื่องนี้ แล้วทำไมไม่เขียนอยู่ในข้อมติ เพราะอะไรถึงไม่เขียนอยู่ในข้อมติอย่างที่ไทยเสนอว่าควรจะต้องเขียน เพราะถ้าเขียนอยู่ในข้อมติมันก็เป็นการยืนยันว่าไม่ได้มีการดิสคัตกันจริง ซึ่งถ้าไม่เขียนแบบนี้ตนเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าไม่มีดิสคัตหมายความว่าไม่มีการพิจารณาหรืออภิปรายแล้วคุณให้ความเห็นชอบแผนการบริหารจัดการไปแล้วหรือยัง หรือว่าคุณทำอะไรกับแผนหรือไม่ ซึ่งการมาเขียนอธิบายในภายหลังตนคิดว่ามันก็เหมือนการแก้ตัว

นายสุวิทย์กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยภายหลังตัดสินถอนตัวจากภาคีมรดกโลกว่า ก่อนจะตัดสินใจถอนตัวออกจากภาคีมรดกโลกตนได้ถามที่ประชุมแล้วว่าใครมีความเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ ก็ไม่มีใครแสดงความคิดเห็นเป็นอื่น ทั้งนี้ ตนได้ถามทางกระทรวงการต่างประเทศว่าเห็นด้วยหรือไม่โดยย้ำหลายครั้ง ซึ่งนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการ รมว.ต่างประเทศ อธิบดีกรมสนธิสัญญา และเจ้าที่อีกหลายคน ก็ไม่มีใครเห็นเป็นอื่น ตนก็บอกตรงๆ ว่าตนเปิดกว้างเพราะเป็นเรื่องสำคัญของบ้านเมือง ซึ่งก็มีความเห็นต่างๆ นานาว่าเรื่องนี้รับได้ เรื่องนี้รับไม่ได้ แต่ในที่สุดตนก็ได้ดูว่าอะไรที่จะต้องดำเนินการ เนื่องจากมาตรการดังกล่าวตนก็พยายามดูว่าถ้าเราจะหลีกเลี่ยงในการถอนตัวจากการเป็นภาคีสมาชิกได้ เราพยายามที่จะทำอยู่แล้ว

“ผมไม่เข้าใจว่าตอนนั้นทำไมถึงไม่ทักท้วง ทั้งที่ประชุมด้วยกัน โดยนายชวนนท์ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ทั้งคู่ก็เห็นด้วย แต่มาตอนหลังกระทรวงการต่างประเทศมีมาบอกว่าไม่เห็นด้วยเพราะอะไร”

นายสุวิทย์กล่าวว่า ตนได้ทำงานนี้มาตลอดระยะเวลา 3 ปี และไม่ได้อยู่บนหอคอยงาช้างเหมือนกับคนอื่น ซึ่งเมื่อตนลงไปทำเองได้เห็นปัญหาก็พยายามแก้ไขปัญหาตลอดมา และตนเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ตนทำเป็นการรักษาเกียรติภูมิของคนไทย รักษาดินแดนและอำนาจอธิปไตยของไทย โดยที่ตนไม่ได้มีผลประโยชน์ใดๆ นอกจากการรักษาผลประโยชน์ของประเทศ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไทยตัดสินใจถอนตัวออกจากภาคีมรดกโลกไม่ไดเร็วเกินไป เพราะ 3 ปี เราดำเนินการมานาน และในที่ประชุมหากเราไม่ตัดสินใจและอยู่ร่วมในการกระบวนการพิจารณา เมื่อมีการลงมติออกมา เราก็ต้องรับผิดชอบด้วย เมื่อเรารับผิดชอบด้วย กัมพูชาก็จะสามารถนำประเด็นนี้ไปอ้างในศาลโลกได้ ประเทศไทยก็จะเสียหาย
กำลังโหลดความคิดเห็น