xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ยึดโบอิ้ง 737 “พระราชพาหนะส่วนพระองค์” “ความผิดพลาดอันใหญ่หลวง” ของเยอรมนี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาทันทีเมื่อศาลเยอรมนีสั่งอายัดเครื่องบินโบอิ้ง 737 พระราชพาหนะส่วนพระองค์ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่นครมิวนิก โดยมีการปิดหมายสั่งยึดไว้ เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา หลังจากมีข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัท วอลเตอร์บาว (Walter Bau) ของเยอรมนี เกี่ยวกับสัมปทานการก่อสร้างทางด่วน “ดอนเมืองโทลล์เวย์” เมื่อปี 2543 โดยบริษัท วอลเตอร์บาว ได้ยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อขออายัดเครื่องบินลำดังกล่าว เนื่องจากเข้าใจว่า “เครื่องบินส่วนพระองค์” เป็นของรัฐบาลไทย

ขณะที่รัฐบาลไทยยืนยันว่า เครื่องโบอิ้ง 737 เป็นเครื่องบินส่วนพระองค์ ไม่ใช่ของรัฐบาล โดยกองทัพอากาศได้ทำหนังสือน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นพระราชพาหนะใช้ในภารกิจตามพระราชอัธยาศัย เมื่อปี 2550

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ศาลเยอรมนีมีคำสั่งให้ถอนอายัดเครื่องบินโบอิ้งลำดังกล่าว โดยมีเงื่อนไขว่าต้องวางเงินเป็นหลักประกันมูลค่า 20 ล้านยูโร หรือประมาณ 850 ล้านบาท โดยศาลเยอรมนีแถลงว่า ได้รับคำยืนยันภายใต้คำสัตย์สาบานจาก “นายสมชาย จันทร์รอด” อธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) ว่า เครื่องบินลำดังกล่าว รวมทั้งเอกสารกรรมสิทธิ์ เป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และไม่ใช่ทรัพย์สินของทางการไทย

นายคริสตอฟ เฟลล์เนอร์ รองประธานศาลเยอรมนี กล่าวว่า เอกสารเหล่านี้เป็น “ข้อสันนิษฐานถึงการเป็นเจ้าของ” เท่านั้น เพราะฉะนั้นจะต้องมีการฝากเงิน 20 ล้านยูโร ในรูปแบบหนังสือค้ำประกันของธนาคาร พร้อมทั้งกล่าวว่า “ไม่มีการค้ำประกัน ก็นำเครื่องขึ้นไม่ได้”

ทั้งนี้ ศาลเยอรมนีแถลงว่า จำเป็นต้องมีการวางเงินประกัน เนื่องจากยังไม่ได้ตัดสินชี้ขาดว่า เครื่องโบอิ้ง 737 ลำนี้เป็นสมบัติของผู้ใด และเหตุที่ต้องใช้เงินค้ำประกันมากถึง 20 ล้านยูโร เนื่องจากจำนวนดังกล่าวเท่ากับราคาประเมินของเครื่องบิน

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ได้เปิดเผยว่า ทางการไทยจะสู้คดีถึงที่สุด โดยทางการไทยจะระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้รู้กฎหมาย อาทิ กระทรวงต่างประเทศ,อธิบดีกรมการบินพลเรือน, ผู้แทนกองทัพอากาศ ฯลฯ สู้คดี โดยยืนยันว่าเครื่องบินดังกล่าวเป็นเครื่องบินส่วนพระองค์ ไม่ใช่ของรัฐบาล ประกอบกับหลักฐานของฝ่ายไทยที่ยื่นไปก่อนหน้านี้ ไม่น่าจะมีเหตุผลที่ทางการไทยจะต้องไปวางเงินมัดจำ 20 ล้านยูโร เพื่อแลกกับการถอนอายัดเครื่องบินโบอิ้งลำนี้อีก

อย่างไรก็ตาม ต้นสายปลายเหตุของการอายัดเครื่องบินโบอิ้ง 737 ลำดังกล่าว สืบเนื่องมาจากกรณีพิพาทเชิงพาณิชย์ระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัท วอลเตอร์บาว ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างสัญชาติเยอรมนี (ปัจจุบันอยู่ในสถานะล้มละลาย) เกี่ยวกับสัมปทานการก่อสร้างทางด่วน “ดอนเมืองโทลล์เวย์” เมื่อปี 2543 ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ชี้ขาดให้ราชอาณาจักรไทยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินเกือบ 30 ล้านยูโร หรือราว 1,200 ล้านบาท บวกดอกเบี้ย 6 เดือนในอัตราร้อยละ 2 ตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค. 2549 รวมถึงค่าใช้จ่ายในกระบวนการอนุญาโตตุลาการของบริษัท วอลเตอร์บาว อีกเกือบ 2 ล้านยูโร หรือราว 80 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่า “เพราะรัฐบาลไทยผิดพันธกรณี” จนส่งผลให้ทนายความของบริษัทวอลเตอร์บาว ฟ้องร้องกับศาลเยอรมนี ให้อายัดเครื่องบินลำดังกล่าว เพราะเข้าใจว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลไทย

นายแวร์เนอร์ ชไนเดอร์ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ของบริษัท วอลเตอร์บาว กล่าวว่า ได้อายัดเครื่องบินหลังจากรัฐบาลไทยปฏิเสธชำระหนี้แก่บริษัท ซึ่งพยายามดำเนินการมานานหลายปีเพื่อให้รัฐบาลไทยตอบสนองข้อเรียกร้องชำระหนี้กว่า 30 ล้านยูโร และมาตรการเด็ดขาดที่นำมาใช้ถือเป็นหนทางสุดท้าย พร้อมระบุด้วยว่ารัฐบาลไทยถ่วงเวลาไปเรื่อยๆ และไม่เคยตอบสนองข้อเรียกร้องของบริษัท แม้กระทั่งหน่วยงานของรัฐบาลเยอรมนีได้ยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว แต่ก็ยังไร้ผล

ขณะที่ นายกษิตได้แถลงถึงกรณีที่เกิดขึ้น โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า “...ทางเจ้าทุกข์และศาลเยอรมนีสามารถอายัดทรัพย์สินของรัฐบาลไทยได้ แต่เครื่องบินลำนี้เป็นของส่วนพระองค์ ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินของรัฐบาลไทย เพราะฉะนั้นในแง่กฎหมาย เราถือว่าเป็นการอายัดทรัพย์สินส่วนบุคคล เป็นการผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง เราได้ยืนยันเรื่องนี้ผ่านทางการทูต โดยสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี และในฐานะ รมว.การต่างประเทศ ได้มีหนังสืออย่างเป็นทางการ ถึงรมว.การต่างประเทศ ของเยอรมนี

“...เราได้ยื่นหลักฐานคือใบทะเบียนแสดงความเป็นเจ้าของว่าเป็นเครื่องบินของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ไม่ใช่ของรัฐบาลไทย” นายกษิตกล่าว และว่า “ถือเป็น 'ความผิดพลาดอันใหญ่หลวง' ของกระบวนการยุติธรรมของเยอรมนี ที่ไต่สวนแต่เพียงฝ่ายโจทก์เพียงฝ่ายเดียว”

ขณะเดียวกัน รัฐบาลเยอรมนีแถลงว่า เสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ไม่มีอำนาจสั่งการได้ โดยย้ำว่าอำนาจทั้งหมดขึ้นอยู่กับศาล

ทั้งนี้ เกี่ยวกับเครื่องบินลำดังกล่าว ทางกองทัพอากาศได้ตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่า เป็นเครื่องบินที่กองทัพอากาศไทยได้ทูลเกล้าฯถวายเมื่อปี พ.ศ.2550 ในช่วงที่ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศ ทำให้สถานะของเครื่องบินลำดังกล่าวไม่ใช่เครื่องบินของทางราชการแต่อย่างใด แต่เป็นเครื่องบินส่วนพระองค์

"กองทัพอากาศยืนยันว่าไม่ใช่เครื่องบินของราชการ หรือรัฐบาล เพราะได้มีการทูลเกล้าฯถวายไปแล้ว มีหนังสือทูลเกล้าฯ อย่างถูกต้อง ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ขอหนังสือดังกล่าวไปเพื่อนำไปยืนยันกับทางเยอรมนี ซึ่งกองทัพอากาศได้ส่งไปให้เรียบร้อยแล้ว" พล.อ.ต.มณฑล สัชฌุกร โฆษกกองทัพอากาศ กล่าวยืนยัน

ส่วนการดำเนินการติดตามถอนอายัดเครื่องบินโบอิ้ง 737 นั้น อธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.)ได้นำเอกสารการจดทะเบียนเครื่องบินโบอิ้ง 737-400 ไปชี้แจงต่อศาลประเทศเยอรมนี เพื่อแสดงสถานะของเครื่องบิน ซึ่งจะทำให้เกิดความชัดเจนว่าเครื่องบินลำดังกล่าวที่ถูกอายัดไว้นั้นไม่ได้เป็นทรัพย์สินของรัฐบาลไทย และทรัพย์สินที่จะยึดหรืออายัดได้นั้นจะต้องเป็นของรัฐบาลไทย โดยยกเว้นทรัพย์สินของสถานทูต และทรัพย์สินที่เกี่ยวกับความมั่นคง

ส่วนกรณีที่บริษัท วอลเตอร์บาว ฟ้องศาลนิวยอร์กเรียกค่าชดใช้จากรัฐบาลไทย วงเงิน 29 ล้านเหรียญยูโร หรือประมาณ 1,300 ล้านบาท จากกรณีสัมปทานดอนเมืองโทลล์เวย์นั้น ขณะนี้ถือว่าคดียังไม่สิ้นสุด อยู่ในกระบวนการบังคับคดี ซึ่งกรมทางหลวง (ทล.) ได้เตรียมข้อมูลสนับสนุนให้อัยการสูงสุดในการยื่นอุทธรณ์ในประเด็นคำวินิจฉัยไม่ชอบ ซึ่งได้แจ้งความประสงค์ในการยื่นอุทธรณ์ไว้แล้ว มีระยะเวลาในการยื่นถึงวันที่ 28 ก.ค. 2554

อย่างไรก็ตาม กล่าวสำหรับความเป็นมา บริษัท วอลเตอร์บาว จำกัด เป็นบริษัทก่อสร้าง จดทะเบียนที่ประเทศเยอรมนี เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ดอนเมืองโทลล์เวย์ จำกัด ที่จดทะเบียนในไทย ผู้รับสัมปทานทางด่วนดอนเมือง

ทั้งนี้ บริษัท วอลเตอร์ บาว ได้ยื่นฟ้องรัฐบาลไทยในปี 2549 (สมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) โดยอ้างว่าได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลไทยผิดสัญญาในโครงการก่อสร้าง “โทลล์เวย์” เช่น ขอให้ลดค่าผ่านทางเหลือ 20 บาทตลอดสาย และมีมาตรการไม่ให้บริษัทปรับค่าผ่านทาง นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการสร้างทางแข่ง เช่น โครงการโฮปเวลล์ การก่อสร้างทางเบี่ยงบนถนนวิภาวดีรังสิต การก่อสร้างสะพานลอยที่แยกสุทธิสารบนถนนวิภาวดีรังสิต การย้ายสนามบินดอนเมืองไปสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นต้น

จริงๆ แล้ว สถานะของบริษัท วอลเตอร์บาว คือ ผู้รับเหมาจากประเทศเยอรมนี ซึ่งเคยถือหุ้นบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ผู้รับสัมปทานโทลล์เวย์ สัดส่วน 9.87%

บริษัท วอลเตอร์บาว ได้ยื่นฟ้องรัฐบาลไทยผ่านกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ภายใต้ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างไทย-เยอรมนี ปี พ.ศ. 2545 โดยคณะอนุญาโตตุลาการมีที่ตั้งอยู่ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่กระบวนการไต่สวนดำเนินการในฮ่องกง ซึ่งฝ่ายไทยได้ดำเนินการซักค้านเมื่อวันที่ 31 ก.ค. และ 1 ส.ค. 2550

อนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดในวันที่ 1 ก.ค. 2552 ระบุว่าไทยผิดพันธกรณีภายใต้ความตกลง และต้องชำระค่าชดเชยจำนวน 29.21 ล้านยูโร พร้อมดอกเบี้ย 6 เดือน ในอัตรา 2% ต่อปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค. 2549 พร้อมทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีของฝ่ายวอลเตอร์บาว จำนวน 1,806,560 ยูโร รวมทั้งดอกเบี้ยตามอัตราเดียวกับค่าชดเชยความเสียหาย

ในปี 2553 คณะทำงานดำเนินการเสนอคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่อศาลปกครองกลาง เพื่อเพิกถอนคำชี้ขาด แต่ศาลปกครองมีคำวินิจฉัยว่า คดีดังกล่าวไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง

ต่อมาผู้จัดการทรัพย์ของบริษัท วอลเตอร์บาว (บริษัทล้มละลาย ) ได้ยื่นคำร้องต่อศาลสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2553 เพื่อบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ โดยใช้สิทธิตามอนุสัญญานิวยอร์กว่าด้วยการยอมรับและบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำในต่างประเทศ ซึ่งไทยและสหรัฐฯ เป็นภาคี ศาลสหรัฐได้ออกคำสั่งรับรองคำชี้ขาดและออกคำตัดสินว่า ไทยต้องรับผิดชอบการจ่ายเงินตามที่คำชี้ขาดกำหนด ในกรณีที่ไทยไม่ชำระตามคำตัดสิน บริษัท วอลเตอร์บาว อาจขอให้ศาลบังคับเอากับทรัพย์สินของรัฐบาลไทยที่อยู่ในเขตอำนาจได้

อย่างไรก็ตาม กรณีบริษัท วอลเตอร์บาว ถูกนำเข้าที่ประชุมครม.รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นเรื่องด่วน เมื่อวันอังคารที่ 18 พ.ค. 2553 เพราะมีกระแสข่าวว่า บริษัท วอเตอร์บาว กำลังเตรียมอายัดทรัพย์สินของรัฐบาลไทยในต่างแดน โดยจุดยืนของรัฐบาลไทย คือ ไม่เห็นด้วยกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อต่อสู้คดี

ซึ่งที่ผ่านมาได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองชั้นต้นให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการแล้ว แต่ศาลไม่รับคำร้อง อยู่ระหว่างจะอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป ทั้งต่อศาลไทยและศาลโลก หลังจากที่บริษัทวอลเตอร์บาว ยื่นฟ้องต่อศาลนิวยอร์ก ขณะที่ ทีมกฎหมายจากสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยแนวทางต่อสู้ของฝ่ายไทย คือ การโต้แย้งคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยยึดตามข้อเท็จจริง เพราะวอลเตอร์บาว ฟ้องเรียกค่าเสียหายด้วยเจตนาไม่สุจริต และคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ยุติธรรมด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้บริษัทไม่มีสิทธิจะฟ้องรัฐบาลไทย เพราะไม่ใช่คู่สัญญากับรัฐบาลโดยตรง เป็นเพียงแค่ผู้ถือหุ้นของโทลล์เวย์ เท่านั้น ประเด็นสำคัญก่อนหน้านี้รัฐบาลได้เยียวยาจากที่โทลล์เวย์ เรียกค่าชดเชยไปแล้ว เช่น ขยายสัมปทานออกไปอีกถึงปี 2577 ให้ปรับค่าผ่านทางได้ตามสัญญาเดิม รวมถึงการปรับค่าผ่านทางขึ้นรถยนต์ 4 ล้อ จาก 55 บาทเป็น 85 บาท (22 ธ.ค.2552) ส่วนค่าชดเชยรายได้จากการให้ลดค่าผ่านทางเหลือ 20 บาทตลอดสาย กรมทางหลวงจ่ายชดเชยไปแล้ว 30 ล้านบาท เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ของฝ่ายไทย ในส่วนของทรัพย์สินของไทยที่ได้รับความคุ้มครองพิเศษจากการถูกยึด ได้แก่ ทรัพย์สินของสถานทูตและอาคารที่เกี่ยวข้องตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ทรัพย์สินของธนาคารกลางหรือหน่วยงานทางการเงิน โดยทรัพย์สินนั้นจะต้องเก็บไว้เพื่อบัญชีตัวเอง และไม่ใช้เพื่อการทำธุรกิจ และต้องไม่สละสิทธิการคุ้มครองโดยธนาคารหรือรัฐนั้นเอง รวมถึงทรัพย์สินทางทหาร ที่ใช้เพื่อและเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางทหาร และอยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานทหาร

สำหรับทรัพย์สินที่เสี่ยงต่อการถูกยึด แบ่งเป็นทรัพย์สินของรัฐ โดยสามารถกระทำได้กับทรัพย์สินใดๆ ที่ใช้ในกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ถึงแม้จะไม่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องเดิม ทรัพย์สินอีกส่วนที่เสี่ยงต่อการถูกยึด คือ ทรัพย์สินขององค์กรที่รัฐเป็นเจ้าของ

แต่แล้ว วอลเตอร์บาว ก็เลือกยึดเครื่องบินโบอิ้ง 737 !

อย่างไรก็ตาม จากการที่บริษัท วอลเตอร์บาว ร้องขอต่อศาลเยอรมนี ให้ยึดเครื่องบินดังกล่าว ทั้งที่คดียังไม่ถึงที่สุด และศาลเยอรมนีออกคำสั่งให้ยึดตามคำขอ หากเป็นไปโดยอาศัยบทบัญญัติของอนุสัญญาฉบับนิวยอร์กดังกล่าว ก็น่าจะเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบเพราะเป็นการ “ฟ้องซ้ำ” เนื่องจากคดีนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลที่สหรัฐอเมริกา

จากพฤติการณ์ฟ้องซ้อนฟ้องซ้ำ ดังกล่าว และการดำเนินการหลายประการของบริษัท วอลเตอร์บาว ที่ผ่านมา และตามถ้อยแถลงของ นายแวร์เนอร์ ชไนเดอร์ บ่งชี้ไปในทางที่ทำให้เห็นได้ว่า บริษัทนี้ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต กล่าวคือ นายแวร์เนอร์ ชไนเดอร์ ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ว่า มาตรการรุนแรงในการขอให้ศาลออกคำสั่งยึดเครื่องบินดังกล่าวเป็นหนทางสุดท้าย ที่จะให้รัฐบาลไทยชำระหนี้ และยังอ้างด้วยว่า เขาใช้แท็กติกเดียวกันนี้ ยึดเครื่องบินแอร์บัสของสายการบินตะวันออกกลาง ที่สนามบินอิสตันบูลมาแล้วเมื่อเดือนตุลาคม 2549 ในคดีที่มีข้อพิพาทเรื่องหนี้สินกับรัฐบาลเลบานอน ซึ่งครั้งนั้นทำให้รัฐบาลเลบานอนยื่นคำประท้วงรัฐบาลตุรกีในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ สื่อต่างประเทศยังให้ความเห็นด้วยว่าทางบริษัท วอลเตอร์บาว ได้เตรียมการมาเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วที่จะดำเนินการยึดเครื่องบินลำนี้ ดังนั้น การที่บริษัท วอลเตอร์บาว ขอให้ศาลเยอรมนีออกคำสั่งยึดเครื่องบินดังกล่าว จึงน่าจะเป็นการวางแผนที่มีการเตรียมการไว้ล่วงหน้า เพื่อบีบรัฐบาลไทยให้ยอมจ่ายเงินให้ตามที่ต้องการทั้งที่คดียังไม่ถึงที่สุด โดยเลือกยึดเครื่องบินโบอิ้ง 737 ซึ่งเป็นพระราชพาหนะส่วนพระองค์

กำลังโหลดความคิดเห็น