xs
xsm
sm
md
lg

พระบรมฯทรงห่วง ความรู้สึกคนไทยต่อโบอิ้ง แนะรัฐบาลไม่ต้องวางเงินประกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการายวัน - พระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ทรงห่วงความรู้สึกคนไทย รัฐบาลไม่ต้องวางเงินประกันเยอรมัน 20 ล้านยูโร เพื่อเอาเครื่องบินพระที่นั่งกลับ ขณะที่อัยการสูงสุดแถลงยืนยันไทย มีหลักฐานใบกรรมสิทธิ์ถือครองเครื่องโบอิ้ง 737 เป็นทรัพย์ส่วนพระองค์ ไม่เกี่ยวคดีวอเตอร์บราวน์ - ไม่ทำผิดกฎการบิน มั่นใจเอาเครื่องกลับไม่เสียเงินแม้แต่บาทเดียว คาดคดีเสร็จสิ้นเดือน ส.ค.นี้

วานนี้ (22 ก.ค.) เมื่อเวลา 15.30 น. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนแจ้งวัฒนะ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด แถลงความคืบหน้าการถอนอายัดเครื่องบินพระราชพาหนะ โบอิ้ง 737 จากประเทศเยอรมัน ว่า ข้อมูลหลักฐานที่อัยการเสนอต่อศาลเยอรมันยืนยันว่าเครื่องบินเป็นทรัพย์สินของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ไม่ใช่ของกองทัพไทย จะมายัดเยียดว่าเป็นของกองทัพอากาศได้อย่างไร ซึ่งในบัญชีรายชื่อเครื่องบินของกองทัพอากาศก็ไม่มีเครื่องบินลำนี้อยู่ในบัญชีตั้งแต่เดือนส.ค. ปี 2007 จึงมั่นใจว่าจะสามารถนำเครื่องบินกลับมาได้ โดยไม่ต้องเสียเงินค่ามัดจำแม้แต่บาทเดียว อย่างไรก็ดี สำหรังเงินประกันที่ศาลเยอรมันมีคำสั่งอายัดเครื่องบิน ตามข้อกฎหมายแพ่งประเทศเยอรมันนั้น ทรัพย์ที่ถูกอายัดและไม่มีคำสั่งเพิกถอน เราสามารถใช้หนังสือค้ำประกันจากธนาคารไปค้ำประกันโดยไม่ต้องวางเงินสด 20 ล้านยูโร เสียค่าธรรมเนียมเพียง 1-2 เปอร์เซ็นต์ของวงเงิน

นายจุลสิงห์ กล่าวต่อไปว่า เหตุผลที่ศาลเยอรมันสั่งอายัดเครื่องบินไว้ชั่วคราว เพราะมีข้อมูลจากเว็ปไซต์เอกชนที่ไหนก็ไม่รู้ ระบุว่ากองทัพอากาศยังมีเครื่องบินลำนี้อยู่ แต่เรามีเว็ปไซต์อย่างเป็นทางการของไทยที่ยืนยันข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ดังนั้นวันนี้หากพูดถึงพยานหลักฐานที่มีอยู่ ยืนยันว่าเครื่องบินเป็นของสมเด็จพระบรมฯ 100 เปอร์เซ็นต์ เพียงแต่ต้องรอกระบวนการพิจารณาของศาลเยอรมัน ส่วนการพิจารณาคดีนั้นอัยการร้องขอให้ศาลเร่งพิจารณาคดีเร็วขึ้นให้เสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคมนี้ ส่วนขั้นตอนการพิจารณาไต่สวนพยานทั้งสองฝ่ายจะทำภายใน 1 วัน ซึ่งฝ่ายไทย ได้เสนอบัญชีพยานต่อศาลเยอรมันไปแล้วจำนวน 3 คน เช่น เจ้าหน้าที่กองทัพอากาศ ซึ่งเป็นผู้รู้เห็นเหตุการณ์การถวายเครื่องบินโบอิ้ง 737 และเจ้าหน้าที่กรมการบินพลเรือน ที่รู้เรื่องการจดกรรมสิทธิ์ นอกจานนี้ยังมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายเครื่องบินเมื่อครั้งที่ยังอยู่ในบัญชีกองทัพอากาศ พร้อมทั้งใบทะเบียนแสดงกรรมสิทธิ์ ซึ่งหลังจากนี้จะต้องรอฟังว่าศาลจะกำหนดฟังคดีเมื่อใด โดยฝ่ายอัยการได้ประสานขอให้เร่งรัดพิจารณาคดีให้เสร็จภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้

ทั้งนี้ อัยการพิจารณาแล้วจะต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ เนื่องจากเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเฉพาะหน้าของสำนักงานอัยการสูงสุด โดยตนเป็นผู้ดูแลเอง

ผู้สื่อข่าวถามว่าอัยการเตรียมดำเนินการฟ้องกลับใครบ้างหรือไม่ นายจุลสิงห์ กล่าวว่า มีแน่นอน 2 ประเด็น โดยเฉพาะเรื่องการยึดอายัดเครื่องบินผิดลำ และเรื่องเนื้อหาในคดี ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดตั้งทีมงานขึ้นมาทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ส่วนจะดำเนินการฟ้องร้องใครบ้างคงจะเปิดเผยให้ทราบอีกครั้ง แต่ในส่วนของบริษัท วอร์เตอร์บลาวฟ้องให้รัฐบาลไทยชำระเงินตามคำวินิจฉัยอนุญาโตตุลาการนั้น ยินยันว่าคดียังไม่จบ โดยจะมาบอกว่ารัฐบาลไทยดื้อแพ่งไม่จ่ายเงินไม่ได้ ซึ่งในเรื่องนี้ได้เตรียมยื่นอุทธรณ์ในช่วงปลายเดือนนี้ ถ้าถึงที่สุดแล้วหากจะแพ้คดีหลักเราก็ต้องยอมจ่าย ซึ่งเราเป็นประเทศไทย มีอยู่ในแผนที่ ไม่สามารถหนีออกไปนอกโลกได้

“สมเด็จพระบรมฯทรงรับรู้ความรู้สึกของคนไทย และอยากให้คนไทยเข้าใจว่าพระองค์ท่านไม่ได้ทำอะไรผิดกฎการบิน ทรงทำถูกต้องทุกอย่าง ซึ่งท่านไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับคดีที่รัฐบาลไทยกับบริษัท วอร์เตอร์บราวมีคดีความต่อกัน โดยอัยการได้ถวายรายงานกับคดีความให้ท่านทราบแล้ว ซึ่งคดียังไม่จบ รอยื่นอุทธรณ์อยู่ ส่วนเครื่องบินระหว่างนี้ยังจอดอยู่ที่ประเทศเยอรมัน ซึ่งพระองค์ท่านมีพระราชวินิจฉัยว่าไม่ต้องวางเงินประกัน แต่รัฐบาลไทยก็พร้อมที่จะเอาเงินวางเพื่อจะนำเครื่องบินออกมาเพื่อถวายให้ท่านทรงใช้งาน แต่พระองค์ท่านไม่ประสงค์ให้นำเงินของรัฐบาลไทยไปวาง“ อัยการสูงสุด กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการแถลงข่าว นายจุลสิงห์ ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยว่า ตามที่บริษัท Walter Bau AG ซึ่งมีคดีพิพาทอนุญาโตตุลาการกับราชอาณาจักรไทย ได้ร้องเรียนให้ศาลกรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมณี มีคำสั่งอายัดชั่วคราวเครื่องบิน Boeing 737-400 ซึ่งเป็นเครื่องบินพระราชพาหนะส่วนพระองค์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ที่จอดอยู่ ณ สนามบินแห่งมิวนิค โดยศาลดังกล่าวได้ออกหมายอายัดเครื่องบินชั่วคราวให้ตามที่บริษัท Walter Bau AG ร้องขอ เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 54 โดยเชื่อตามที่นาย Schneider ผู้บริหารจัดการทรัพย์สินของบริษัท Walter Bau AG กล่าวอ้างแต่เพียงฝ่ายเดียว ว่าเครื่องบินลำดังกล่าวเป็นของรัฐบาลไทย โดยหยิบยกข้ออ้างต่าง ๆ หลายประการที่คลาดเคลื่อนและไม่เป็นความจริง

สำนักงานอัยการสูงสุดทราบเรื่องการอายัดเครื่องบินดังกล่าวในช่วงเช้าวันที่ 13 ก.ค. 54 สำนักงานอัยการสูงสุดพร้อมคณะทำงาน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการต่างประเทศ และกรมการบินพลเรือนได้ปรึกษาหารือร่วมกันโดยทันที และต่อมาได้เดินทางไปยังเมืองมิวนิค ในคืนเดียวกันนี้ สำนักงานอัยการสูงสุดและคณะทำงานได้ทำการตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องและข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว และนำเรียนต่อศาลแห่งเมืองแลนด์ชู๊ต ซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อขอให้ยกเลิกการอายัดเครื่องบินโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ คณะทำงานได้ให้ทนายความชาวเยอรมันยื่นคำร้องพร้อมเอกสารสนับสนุนคำร้องต่อศาลเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 54 และยื่นคำร้องเพิ่มเติมพร้อมเอกสารอีกครั้งในวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้แก่

1. เครื่องหมายตราครุฑสีแดงบนพื้นที่สีน้ำเงินเข้ม ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ที่ใช้ได้เฉพาะสมเด็จพระบรมฯ
2. เครื่องหมายธงชาติที่มีลักษณะเป็นรูปวงกลม
3. หมายเลข “90401”
4.คำว่า “Royal Fight” ที่ปรากฎบนเครื่องบิน
5. ข้อมูลของเครื่องบินที่ปรากฎใน Private Website ที่จัดทำโดยนายไมเคิล ฟาเดอร์ ไม่ถูกต้อง ขาดความน่าเชื่อถือ และไม่ตรงกับข้อมูลที่ปรากฎในเว็ปไซต์ของกองทัพอากาศไทย

6. เครื่องบินลำนี้มีข้อความว่า “ฑีปังกรรัศมีโชติ” ซึ่งเป็นพระนามของพระราชโอรสในสมเด็จพระบรมฯ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงทรัพย์สินส่วนพระองค์
7. เครื่องหมาย “HS-CMV” ที่ปรากฎบนตัวเครื่องบิน ยืนยันได้ว่าเครื่องบินลำนี้เป็นเครื่องบินพลเรือน โดยคำว่า HS หมายถึง เครื่องบินที่จดทะเบียนในประเทศไทยกับกรมการบินพลเรือนตามที่กำหนดไว้ใน ICAO ส่วนคำว่า CMV หมายถึงพระนามย่อของสมเด็จพระบรมฯ เป็นภาษาอังกฤษ และ 8. ใบสำคัญจดทะเบียนเครื่องบินลำนี้ว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของสมเด็จพระบรมฯ ออกให้โดยกรมการบินพลเรือน และหนังสือรับรองการเป็นเจ้าของเครื่องบินลำนี้ลงนามโดยอธิบดีกรมการบินพลเรือน

อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลแห่งเมืองแลนด์ชู๊ตได้พิจารณาพยานหลักฐานต่างๆแล้ว จึงมีคำสั่งในเบื้องต้นสรุปได้ว่า จากเอกสารต่างๆและหนังสือรับรองข้อเท็จจริงแสดงได้ว่าเครื่องบินลำดังกล่าวเป็นของสมเด็จพระบรมฯ โดยถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งการตัดสินดังกล่าวเกิดจากการตรวจสอบหลักฐานเอกสารเพียงอย่างเดียว และคู่ความฝ่ายตรงข้ามได้คัดค้านพยานหลักฐานต่าง ๆ ของฝ่ายไทย ศาลจึงมีคำสั่งให้ถอนอายัด โดยมีเงื่อนไขให้วางหลักประกันมูลค่า 20 ล้านยูโร จนกว่าจะมีคำพิพากษาเมื่อคดีเสร็จสิ้น

ซึ่งในเรื่องดังกล่าวฝ่ายไทยได้ประชุมหารือกันแล้วเห็นว่า ยังไม่ควรวางหลักประกันดังกล่าว เพื่อรอให้ศาลพิจารณาและสืบพยานให้เสร็จสิ้นไปในคราวเดียว ซึ่งคาดว่ากระบวนการสืบพยานในชั้นศาลจะมีขึ้นประมาณปลายเดือนสิงหาคมนี้ ส่วนเรื่องการดำเนินคดีกับบริษัท Walter Bau AG นาย Schneider ซึ่งเป็นผู้จัดการทรัพย์สินบริษัทฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องนั้น อยู่ในระหว่างการพิจารณาและดำเนินการของสำนักงานอัยการสูงสุด และคณะทำงานซึ่งมีกระบวนการที่จะต้องดำเนินการต่อไป

**ชงสภาทนายฟ้องเลิกสัญญาโทลล์เวย์

วันเดียวกัน คณะกรรมาธิการคมนาคม วุฒิสภา กรมทางหลวง สภาทนายความ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้หารือถึงปัญหาขยายสัญญาสัมปทานกับบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากกรมทางหลวงไม่ปฏิบัติตามกฎหมายร่วมทุน กรณีขยายระยะเวลาสัมปทานให้บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง หรือ ดอนเมืองโทลล์เวย์ จนถึงปี 2577 คณะกรรมาธิการฯ จึงเสนอให้สภาทนายความ เป็นตัวแทนฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้ยกเลิกการทำสัญญากับบริษัท ดอนเมืองโทลล์เวย์ แต่จะเป็นช่วงเวลาใดต้องขึ้นอยู่กับสภาทนายความ

ก่อนหน้านั้นนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้เข้าพบคณะกรรมาธิการคมนาคม วุฒิสภา เพื่อแจงข้อเท็จจริงปัญหาขยายสัญญาสัมปทานกับบริษัทดอนเมืองโทลล์เวย์ หลังกรมทางหลวงพบหลักฐานใหม่ อาจทำให้สัญญาส่วนขยายอายุถึงปี 2577 ต้องสิ้นสุดลง

ก่อนหน้านั้นนายสมบัติ พานิชชีวะ ประธานกรรมการบริษัท ดอนเมืองโทลล์เวย์ ยืนยันว่า กรมทางหลวง และกระทรวงคมนาคมไม่สามารถลดอายุสัญญา รวมถึงบอกเลิกสัมปทาน เนื่องจากบริษัทปฏิบัติตามเงื่อนไขถูกต้องทุกขั้นตอน ขณะเดียวกันจะไม่ฟ้องกลับ

ทั้งนี้ กรมทางหลวง ในฐานะคู่สัญญากับบริษัท ดอนเมืองโทลล์เวย์ ได้ขยายอายุสัญญาสัมปทานให้บริษัทดังกล่าว จากเดิมสัญญาสัมปทานมีอายุ 25 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2532 - 2557 ต่อมามีการขยายอายุออกไปอีก 7 ปี คือ ตั้งแต่ปี 2557 - 2564 และในช่วงรอยต่อปี 2549 - 2550 ได้มีการขยายอายุสัญญาสัมปทานเป็นครั้งที่ 2 อีก 13 ปี คือช่วงปี 2564 -2577.
กำลังโหลดความคิดเห็น