xs
xsm
sm
md
lg

ไทยปัดวางมัดจำโบอิ้ง สู้ต่อลุ้นศาลตัดสินส.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“กษิต”ปัดวางมัดจำ 20 ล้านยูโรแลกถอนอายัดโบอิ้ง 737 ยันรอศาลเยอรมันตัดสินเดือนส.ค. ทีเดียว ระดมมือกฏหมายสู้ เผยมีหลักฐานชี้ชัดเป็นเครื่องส่วนพระองค์ไม่ใช่ของรัฐบาล ส่วนทอ.ยันเครื่องบินไม่ได้ประจำกองกองทัพอากาศ อัยการสูงสุด ทำความเห็นส่ง “มาร์ค-กต.” วันนี้

นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เปิดเผยภายหลังจากการเดินทางกลับจากประเทศเยอรมัน ที่สนามบินสุวรรณภูมิ วานนี้ (21 ก.ค.) ว่า ทางการไทยจะสู้คดีถึงที่สุด หลังศาลแขวงลีนต์ชูต ของประเทศเยอรมนี สั่งอายัดเครื่องบินโบอิ้ง 737 โดยต่อรองให้วางเงินมัดจำวงเงิน 20 ล้านยูโร หรือประมาณ 850 ล้านบาท หรือเทียบเท่ากับราคาของเครื่องบิน

"ที่ผ่านมา ได้เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ถึงความคืบหน้าทั้งหมดแล้ว และมีความเห็นว่า จะสู้คดีโดยจะเตรียมพยานในการต่อสู้ เนื่องจากมั่นใจว่า เครื่องบินดังกล่าวเป็นของพระองค์ และพระองค์ก็ไม่เกี่ยวข้องใดๆ ซึ่งเป็นหลักฐานที่แน่นหนา จึงไม่จำเป็นต้องวางมัดจำจำนวน 20 ล้านยูโร"

ทั้งนี้ ทางการไทยจะระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้รู้กฏหมาย อาทิ กระทรวงต่างประเทศ ,อธิบดีกรมการบินพลเรือน , ผู้แทนกองทัพอากาศ และผู้ชำนาญกฎหมายการซื้อขาย และเกี่ยวกับทรัพทย์สินต่างๆ สู้คดี โดยยืนยันว่าเครื่องบินดังกล่าวเป็นเครื่องส่วนพระองค์ไม่ใช่ของรัฐบาล ประกอบกับหลักฐานของฝ่ายไทยที่ยื่นไปก่อนหน้านี้ เห็นว่าไม่น่าจะมีเหตุผลที่ทางการไทยจะต้องไปวางเงินมัดจำ 20 ล้านยูโรอีก เพื่อแลกกับการถอนอายัคเครื่องบินโบอิ้งลำนี้แต่อย่างใด

นายกษิตกล่าวว่า มติดังกล่าวถือเป็นการพิจารณาเบื้องต้น ซึ่งเรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี และยืนยันว่า รัฐบาลจะไม่วางเงินมัดจำเพื่อถอนอายัดเครื่องบินโบอิ้งลำดังกล่าว โดยศาลเยอรมนีจะมีการตัดสินในระหว่างสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนส.ค. เนื่องจากกระบวนทางศาลยังไม่เสร็จสิ้น เพราะยังพิจารณาผู้ถือครองเครื่องบินตามที่ไทยยื่นเอกสาร และในวันนี้ (22 ก.ค.) จะเข้าหารือกับทางอัยการสูงสุด โดยจะมีการประชุมเป็นการภายใน เพื่อเตรียมสู้คดีและยืนยันให้หลักฐาน พยานมีความแน่นหนายิ่งขึ้น ตลอดจนจะจัดหาล่ามภาษาเยอรมันร่วมด้วย

สำหรับตัวเครื่องบิน ขณะนี้ยังจอดอยู่ที่เมืองมิวนิค และจะนำกลับมาประเทศไทยได้ หลังศาลได้ตัดสินในขั้นตอนสุดท้ายในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนส.ค.

**นายกฯรออัยการสูงสุดทำความเห็น

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศ จะแถลงอย่างเป็นทางการ แต่โดยสรุปเป็นคำสั่งศาลเบื้องต้น ซึ่งได้เห็นเอกสารหลักฐานที่ได้ยื่นไปเป็นการยืนยันว่าเครื่องบินเป็นเครื่องบินส่วนพระองค์ แต่กระบวนการพิจารณาของศาลเยอรมนี จะต้องมีการสืบพยานอีกครั้ง ซึ่งอาจจะเริ่มในสัปดาห์ที่สองของเดือนส.ค. ฉะนั้น ศาลจึงมีคำสั่งเบื้องต้นว่าถ้าจะถอนอายัดเครื่องบินทันที ต้องมีการวางเงิน ซึ่งต้องฟังว่าทางอัยการจะมีการพิจารณาในเรื่องนี้ และแนวทางควรจะเป็นอย่างไร ขณะเดียวก็ได้นำความทั้งหมดกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบแล้ว

**กต.โยนกลับให้ “มาร์ค” แถลง

นายเจษฏา กตเวทิน รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงต่างประเทศ (กต.) กล่าวถึงความคืบหน้าในเรื่องนี้ว่า กระทรวงต่างประเทศเข้าใจว่าทางทำเนียบรัฐบาลคงจะมีการหารือและสรุปแนวทางที่ชัดเจนได้ ส่วนกรณีที่นายกฯ ได้ให้กระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ชี้แจงในเรื่องนี้นั้น คงจะมีการสื่อสารกันคลาดเคลื่อน เพราะในเรื่องนี้เป็นที่ตกลงกันแล้วว่าในรายละเอียดต่างๆ หลังจากที่มีการหารือกับคณะอัยการสูงสุดในประเด็นข้อกฏหมายต่างๆ แล้ว ทำเนียบรัฐบาลจะเป็นผู้ชี้แจงเอง

**ย้ำโบอิ้ง 737ไม่ได้เป็นของทอ.แล้ว

พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ให้สัมภาษณ์ที่พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ ว่า กองทัพอากาศได้รับการประสานเรื่องเอกสารที่เกี่ยวกับเครื่องบินดังกล่าว โดยได้ส่งหนังสือยืนยันไปว่า เครื่องบิน โบอิ้ง 737-400 กองทัพอากาศได้น้อมเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารตั้งแต่ปี 2550 และเครื่องบินดังกล่าวไม่ได้ประจำการอยู่ในกองทัพอากาศแล้ว ซึ่งขั้นตอนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกใบสำคัญการจดทะเบียน ซึ่งกรมการขนส่งทางอากาศได้ดำเนินการไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ครั้งนั้น

"จากเอกสารที่เขานำไปอ้างถึงเว็บไซต์หนึ่ง ซึ่งไม่ได้เป็นเว็บไซต์ของกองทัพอากาศ แต่เป็นของกลุ่มบุคคลที่เขามีคามสนใจและทำข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องบินกองทัพอากาศ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และเราได้ยืนยันไปแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขานำไปอ้าง ไม่ใช่เอกสารของทางราชการ จึงไม่น่าจะมีน้ำหนักที่จะนำไปอ้างอิงได้ ส่วนข้อมูลของกองทัพอากาศ สามารถตรวจสอบได้ในเว็บไซต์ของกองทัพอากาศ”ผู้บัญชาการทหารอากาศกล่าว

พล.อ.อิทธพร กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องนานมาแล้วที่เกี่ยวกับทางยกระดับโทลล์เวย์ที่จะต้องต่อสู้กันในชั้นศาล อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการปฏิบัติ ทุกอย่างต้องอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย คิดว่าทั้งสองประเทศคงคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้อยู่

**ชี้ช่องใช้งบกลางวางประกันโบอิ้ง

นายปรีชา สุวรรณทัต อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการเงินการคลัง กล่าวว่า คำสั่งของศาลเยอรมัน ไม่ได้หมายความว่า คดีนี้จบหรือถึงที่สุดแล้ว ยังต้องต่อสู้กันต่อ อย่างไรก็ตาม วาระเร่งด่วนที่สุดในขณะนี้ คือ รัฐบาลต้องรีบนำเงินไปวางประกัน เพื่อนำเครื่องบินออกมา ซึ่งเงินจำนวน 20 ล้านยูโรนี้ ไม่ได้จ่ายขาด หรือตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทเอกชนที่ฟ้องคดี เพราะหากไทยชนะคดีก็จะได้เงินคืน

การนำเงินไปจ่ายเพื่อนำเครื่องบินกลับมา เป็นภารกิจที่รัฐบาลชุดปัจจุบันสามารถทำได้เลย โดยไม่ต้องรอรัฐบาลชุดใหม่ ส่วนที่มาของเงินจำนวนนี้ เบื้องต้นต้องไปดูงบกลาง ในหมวดเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ซึ่งตั้งไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554 ก่อน

“งบกลางตั้งไว้ 47,600 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเงินยอดนี้เหลือเท่าไร ต้องสำรวจดู ถ้าเหลือพอ รัฐบาลสามารถนำเงินจำนวนนี้ไปวางประกันได้เลย แต่การใช้เงินจำนวนนี้ รัฐบาลรักษาการจะต้องขออนุมัติจากกกต. ก่อน ซึ่งเป็นเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (2) ทั้งนี้ หากงบกลางมีไม่เพียงพอ ยังมีเงินอีกก้อนหนึ่งสามารถนำไปใช้ได้ในภารกิจเร่งด่วนนี้ คือ เงินทุนสำรองจ่ายจำนวน 100 ล้านบาท ที่ตั้งไว้ตามมาตรา 29 ทวิ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ แต่มีเพดานเพียง 100 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งสามารถดึงมาเพิ่มเติมได้ แต่จะต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายชดใช้ในปีงบประมาณถัดไป หากเงิน 2 ยอดนี้ ยังไม่พออีก ต้องไปใช้เงินนอกงบประมาณที่เป็นเงินคงคลังตามกฎหมายเงินคงคลังกรณีจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งส่วนตัว เห็นว่า เข้าหลักเกณฑ์สามารถนำมาใช้ได้เช่นกัน”นายปรีชากล่าว

**ยันวอเตอร์บาว์นไม่เกี่ยวโทลล์เวย์

นายสมบัติ พานิชชีวะ ประธานกรรมการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรณีบริษัท วอเตอร์ บราวน์ จำกัด ฟ้องร้องรัฐบาลไทยและมีปัญหาถึงขั้นการอายัดเครื่องบินนั้น เป็นเรื่องของวอเตอร์ บราวน์กับรัฐบาลไทย และเป็นการฟ้องโดยใช้สิทธิ์ตามสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนต่างตอบแทนระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี พ.ศ.2545 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบริษัท ส่วนกรณีที่กระทรวงคมนาคมออกมาระบุว่า มีข้อมูลใหม่ทำให้ไทยเสียหายจากสัญญาทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ และสามารถนำมาฟ้องร้องบริษัทถึงขั้นทำให้ปรับลดอายุหรือยกเลิกสัมปทานนั้น เชื่อมั่นว่า การพิจารณาขยายอายุสัญญาสัมปทานที่ผ่านมา ทำตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านการตีความจากคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงไม่กังวลใด และพร้อมที่จะชี้แจง หากได้รับการติดต่อมาจากกรมทางหลวง ซึ่งเป็นคู่สัญญา
กำลังโหลดความคิดเห็น