เอเอฟพี/เอเจนซี - ศาลเยอรมนีมีคำสั่งวันนี้ (20) ให้ถอนอายัดเครื่องบินโบอิ้ง 737 ของไทย โดยมีเงื่อนไขว่าต้องวางเงินเป็นหลักประกันมูลค่า 20 ล้านยูโร (ประมาณ 850 ล้านบาท) เพื่อยุติความผิดพ้องหมองใจของทั้งสองฝ่าย
เครื่องโบอิ้ง 737 ลำดังกล่าวถูกอายัด ณ ท่าอากาศยานนครมิวนิก เมื่อวันอังคาร (12) ที่แล้ว สืบเนื่องจากกรณีพิพาทเชิงพาณิชย์ระหว่างทางการไทย กับ วอลเตอร์ บาว (Walter Bau) บริษัทก่อสร้างสัญชาติเยอรมนี ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสถานะล้มละลาย
ศาลเยอรมนีแถลงว่า ได้รับคำยืนยันภายใต้คำสัตย์สาบานจาก นายสมชาย จันทร์รอด อธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) ว่า เครื่องบินลำดังกล่าว รวมทั้งเอกสารกรรมสิทธิ์ เป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และไม่ใช่ทรัพย์สินของทางการไทย
คริสตอฟ เฟลล์เนอร์ รองประธานศาลเยอรมนี กล่าวว่า เอกสารเหล่านี้เป็น “ข้อสันนิษฐานถึงการเป็นเจ้าของ” เท่านั้น เพราะฉะนั้นจะต้องมีการฝากเงิน 20 ล้านยูโร (ประมาณ 850 ล้านบาท) ในรูปแบบหนังสือค้ำประกันของธนาคาร พร้อมทั้งกล่าวว่า “ไม่มีการค้ำประกัน ก็นำเครื่องขึ้นไม่ได้”
ศาลเยอรมนีแถลงว่าจำเป็นต้องมีการวางเงินประกัน เนื่องจากยังไม่ได้ตัดสินชี้ขาดว่า เครื่องโบอิ้ง 737 ลำนี้เป็นสมบัติของผู้ใด และเหตุที่ต้องใช้เงินค้ำประกันมากถึง 20 ล้านยูโร เนื่องจากจำนวนดังกล่าวเท่ากับราคาประเมินของเครื่องบิน
การอายัดเครื่องโบอิ้ง 737 ดังกล่าว ทำให้ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้องเดินทางไปยังกรุงเบอร์ลิน เขาได้นิยามถึงเหตุการณ์ที่เกิดว่า “ความผิดพลาดใหญ่หลวง” และได้เข้าพบเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศระดับสูงของเยอรมนี เพื่อเรียกร้องให้ถอนอายัดเครื่องบินลำดังกล่าว
รัฐบาลเยอรมนี แถลงว่า เสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ไม่มีอำนาจสั่งการได้ โดยย้ำว่าอำนาจทั้งหมดขึ้นอยู่กับศาล