xs
xsm
sm
md
lg

ถอนอายัดโบอิ้ง ขอเงิน20ล.ยูโร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ศาลเยอรมนีมีคำสั่งวานนี้ (20) ให้ถอนอายัดเครื่องบินโบอื้ง 737 ของไทย โดยมีเงื่อนไขว่าต้องวางเงินเป็นหลักประกันมูลค่า 20 ล้านยูโร (ประมาณ 850 ล้านบาท)เครื่องบินโบอิ้ง 737 ลำดังกล่าวถูกอายัด ณ ท่าอากาศยานนครมิวนิก เมื่อวันอังคาร (12) ที่แล้ว สืบเนื่องจากกรณีพิพาทเชิงพาณิชย์ระหว่างรัฐบาลไทย กับ วอลเตอร์ บาว (Walter Bau) บริษัทก่อสร้างสัญชาติเยอรมนี ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสถานะล้มละลาย

ศาลเยอรมนีซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ เมืองลันด์ชัตแห่งนี้ระบุว่า ได้รับคำยืนยันภายใต้คำสัตย์สาบานจาก นายสมชาย จันทร์รอด อธิบดีกรมการบินพลเรือน ว่า เครื่องบินลำดังกล่าว เป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ไม่ใช่ทรัพย์สินของรัฐไทย นอกจากนั้นยังมีเอกสารกรรมสิทธิ์การจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เมื่อปี 2007 มาแสดงด้วย

อย่างไรก็ตาม คริสตอฟ เฟลล์เนอร์ ผู้พิพากษารองหัวหน้าคณะของศาลแห่งนี้กล่าวว่า เนื่องจากเอกสารเหล่านี้เพียงแสดงถึง “การอ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ” เท่านั้น เพราะฉะนั้นจะต้องมีการวางเงินค้ำประกันจำนวน 20 ล้านยูโร (ประมาณ 850 ล้านบาท) ในรูปแบบหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ทั้งนี้วงเงินดังกล่าวคำนวณจากประมาณการมูลค่าของเครื่องบินโบอิ้งลำนี้

ศาลเยอรมนีแห่งนี้บอกว่า การวางเงินค้ำประกันเป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากศาลยังไม่ได้ตัดสินว่าใครเป็นเจ้าของเครื่องบินลำนี้ โดยที่เฟลล์เนอร์บอกว่า “ไม่มีการค้ำประกัน ก็นำเครื่องขึ้นไม่ได้” แต่ถ้าหากทุกอย่างเป็นไปด้วยดี โดยที่ศาลเชื่อว่าเครื่องบินนี้เป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จริงๆ ศาลก็จะคืนเงินค้ำประกันให้

การอายัดเครื่องโบอิ้ง 737 ดังกล่าว ทำให้ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้องรีบเดินทางไปยังกรุงเบอร์ลิน เขาได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เป็น“ความผิดพลาดใหญ่หลวง” และได้เข้าพบเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศระดับสูงของเยอรมนี เพื่อเรียกร้องให้ถอนอายัดเครื่องบินลำดังกล่าว

รัฐบาลเยอรมนี แถลงว่า เสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ไม่มีอำนาจสั่งการได้ โดยย้ำว่าอำนาจทั้งหมดขึ้นอยู่กับศาล

ด้านนายเจษฎา กตเวทิน รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังศาลเยอรมนีมีคำสั่งเบื้องต้นให้เพิกถอนอายัดเครื่องบินโบอิ้ง 737 เนื่องจากคณะนักกฎหมายของไทยประสบความสำเร็จในขั้นสำคัญ คือ การทำให้ศาลเชื่อว่าเครื่องบินลำดังกล่าวเป็นเครื่องบินส่วนพระองค์จริง แต่หากทางการไทยต้องการนำเครื่องบินดังกล่าวออกมาทันที จะต้องวางเงินประกัน 20 ล้านเหรียญยูโร คิดเป็นเงินไทยประมาณ 845 ล้านบาท

ทั้งนี้ ขั้นตอนการดำเนินการนั้น จะต้องรอคณะทำงานทางด้านกฎหมายทั้งที่นครมิวนิค ประเทศเยอรมันนี และกระทรวงการต่างประเทศศึกษาก่อน ซึ่งในขั้นนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

บิ๊กโทลล์เวย์ ยันยกเลิกสัมปานไม่ได้

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. นายสมบัติ พานิชชีวะ ประธานกรรมการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือดอนเมืองโทลล์เวย์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่กระทรวงคมนาคมได้ระบุว่าขณะนี้ กรมทางหลวงได้พบเอกสารหลักฐานข้อเท็จจริงใหม่ ที่อาจจะนำไปสู่การลดอายุสัญญาสัมปทานที่จะหมดสัญญาในปี 2577 ลง หรือยกเลิกสัญญาสัมปทานในโครงการดอนเมืองโทลล์เวย์นั้น ในเรื่องนี้เชื่อมั่นว่า กระทรวงคมนาคม หรือกรมทางหลวง ในฐานะคู่สัญญาโดยตรงกับโทลล์เวย์ จะไม่สามารถดำเนินการลดอายุสัญญาที่มีอยู่เดิม หรือยกเลิกสัญญาสัมปทานโทลล์เวย์ได้ เนื่องจากในช่วงที่บริษัทได้รับการขยายอายุสัญญาสัมปทาน ได้ดำเนินการตามขั้นตอนและได้รับการชดเชยอย่างถูกต้องจากภาครัฐทุกประการ

การต่ออายุ หรือขยายสัญญาสัมปทานให้กับโทลล์เวย์จนหมดสัญญาในปี 2577 นั้น โทลล์เวย์จะเป็นผู้ดำเนินการขยายอายุสัญญาสัมปทานเองไม่ได้ แต่เป็นอำนาจหน้าที่และผ่านกระบวนการขั้นตอนของกฎหมายอย่างละเอียดรอบคอบจากภาครัฐแล้ว ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายกฎหมายของ กรมทางหลวง คณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งจะเห็นว่าการกระทำต่างๆ ฝ่ายภาครัฐเป็นผู้มีอำนาจ และหน้าที่ที่จะทำให้มีผลบังคับตามกฎหมาย ทางบริษัทโทลล์เวย์ ไม่ได้เป็นผู้กำหนด

นายสมบัติ กล่าวต่อว่า การที่กระทรวงคมนาคมจะนำเรื่องของการฟ้องร้องบังคับคดีของ บริษัท วอลเตอร์ บาว ให้รัฐบาลชดใช้ค่าเสียหายกว่า 29 ล้านยูโร แล้วมาโยงกับการอาจจะพิจารณาลดอายุ หรือ ยกเลิกสัญญาสัมปทานของโทลล์เวย์นั้น ในเรื่องนี้ยืนยันว่าไม่สามารถนำมาโยงกันได้ เนื่องจากการฟ้องร้องครั้งนี้ โทลล์เวย์ไม่ได้มีส่วนร่วม หรือเห็นด้วยกับ วอลเตอร์ บาว แต่อย่างใด แม้ว่าการฟ้องร้องดังกล่าวจะอยู่ในช่วงที่วอลเตอร์บาวยังถือหุ้นอยู่โทลล์เวย์ก็ตาม โดยวอลเตอร์บาวไม่ได้ฟ้องร้องในนามผู้ถือหุ้นกับโทลล์เวย์ แต่เป็นการฟ้องร้องในนามนักลงทุนต่างชาติ อาศัยอนุสัญญาระหว่างประเทศ ระหว่างประเทศไทย กับประเทศเยอรมนี ที่มีการคุ้มครองกันอยู่

นายสมบัติ กล่าวด้วยว่า โทลล์เวย์ ไม่เคยคิดที่จะฟ้องร้องรัฐบาล หรือ กรมทางหลวงในฐานะผู้ให้สัญญาสัมปทานอย่างเด็ดขาด เนื่องจากในช่วงที่รัฐบาลมีการพิจารณาขยายอายุสัญญาสัมปทานให้กับโทลล์เวย์ ในปี 2549-2550 และได้พิจารณาขยายอายุสัญญาสัมปทานเป็นครั้งที่ 2 อีก 13 ปี คือตั้งแต่ปี 2564-2577 จำนวน 13 ปี ให้สิ้นสุดในปี 2577 นั้น โทลล์เวย์ได้มีการลงนามในข้อตกลงร่วมกันระหว่างกรมทางหลวง ว่าหากมีการขยายอายุสัญญาสัมปทานให้กับโทลล์เวย์แล้ว โทลล์เวย์จะไม่สามารถมาอ้างเหตุผลฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย หรือเงินชดเชยจากกรมทางหลวง หรือ รัฐบาลไทยได้ กว่าจะมาถึงวันนี้โทลล์เวย์ล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด ประสบปัญหาเดือดร้อนมากว่า 10 ปี ดังนั้นการฟ้องร้องจึงไม่เกี่ยวกับโทลล์เวย์แน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น