xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ปัญหาแผนพัฒนาพลังงานของรัฐสับสน ทางออกต้องมุ่งสู่การพัฒนาพลังงานทางเลือก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพภาคอีสาน และศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมืองสถาบันพระปกเกล้า จ.อุดรธานี ร่วมกับองค์กรเครือข่าย ประกอบด้วย  Mekong School Alummi เครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศแม่น้ำโขง(Mee Net) , เครือข่ายพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต , เครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และเครือข่ายทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อมอีสาน จัดเวทีเสวนา “สถานการณ์ปัญหาพลังงานนิวเคลียร์และทางออกสู่การพัฒนาพลังงานทางเลือกในสังคมไทย”
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน เปิดเวทีถกสถานการณ์ปัญหานิวเคลียร์และทางออกสู่การพัฒนาพลังงานทางเลือกในสังคม ชำแหละแผนพัฒนาพลังงานของรัฐไทยขัดแย้งกันเอง ด้านหนึ่งโหมรณรงค์ลดการใช้ไฟฟ้าแต่ขณะเดียวกันกลับเดินหน้าผลิตและซื้อไฟฟ้าเพิ่มเพื่อสนองภาคอุตสาหกรรมขณะที่ประชาชนและสิ่งแวดล้อมรับผลกระทบเต็มๆ ย้ำ รัฐบาลไทยต้องส่งเสริมพลังงานทางเลือกเท่านั้นเพื่อยุติปัญหาระยะยาว

เมื่อบ่ายวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพภาคอีสาน และศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมืองสถาบันพระปกเกล้า จ.อุดรธานี ร่วมกับองค์กรเครือข่าย ประกอบด้วย Mekong School Alummi เครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศแม่น้ำโขง(Mee Net), เครือข่ายพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต , เครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และเครือข่ายทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อมอีสาน จัดเวทีเสวนา “สถานการณ์ปัญหาพลังงานนิวเคลียร์และทางออกสู่การพัฒนาพลังงานทางเลือกในสังคมไทย” โดยได้รับความสนใจจากนักศึกษา กลุ่มชาวบ้าน และผู้สนใจทั่วไป กว่า 100 คน ร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูล

นายสันติ โชคชัยชำนาญกิจ ตัวแทนกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต ได้อภิปรายให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันสังคมไทยมีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นในแผนพัฒนาด้านพลังงาน (PDP) มีโครงสร้างที่ขัดแย้งกันเองอยู่ ด้านหนึ่งได้พยายามจัดทำแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการใช้ไฟฟ้าในประเทศ แต่อีกด้านหนึ่งภาครัฐโดยเฉพาะ กฟผ. ยังแสดงท่าทีในการเป็นผู้ค้าไฟฟ้าขาย เช่น แผนในการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งสร้างภาระในการแบกรับต้นทุนที่ไม่จำเป็นของประชาชน

“พลังงานไฟฟ้าที่ใช้กัน ประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้เป็นผู้ใช้ แต่กลับตกไปอยู่ที่ ภาคอุตสาหกรรม ถึงร้อยละ 47.33 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ ภาคธุรกิจ ร้อยละ 25.69 เปอร์เซ็นต์ ส่วนภาคที่อยู่อาศัยครัวเรือน ใช้ไฟทั้งประเทศเพียงร้อยละ 21.17 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น” นายสันติ กล่าวและว่า

จากข้อเท็จจริง พลังงานไฟฟ้าที่ซื้อเข้ามา มุ่งรองรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในประเทศทั้งสิ้น จึงเกิดคำถามสำคัญขึ้น ว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่กำลังที่จะเกิดขึ้นในประเทศ ผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ หรือเพื่อรองรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นมากกว่า ซึ่งภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการใช้ไฟฟ้าในการผลิตค่อนข้างสูง

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหมืองแร่โปแตสที่กำลังจะเกิดขึ้น ในพื้นที่ จ.อุดรธานีเอง และมีแนวโน้มว่าเหมืองแร่โปแตสที่จะเกิดขึ้นแห่งนี้ จะเป็นแหล่งกักเก็บกากนิวเคลียร์ที่จะเกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วยเช่นกัน

นายสันติ ยังได้ยกตัวอย่างผลกระทบจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กรณีการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี ของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น และการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีจากกากนิวเคลียร์ที่เก็บไว้ ใต้เหมืองแร่โปแตสอัซเซ ประเทศเยอรมันนีนั้น ทั้งสองกรณีได้ส่งผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อมและชุมชน ที่อยู่โดยรอบรัศมีแพร่กระจายอย่างกว้างขวาง

โดยปัญหาที่เกิดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งสองประเทศดังกล่าว ซึ่งถือว่าประเทศที่เจริญแล้ว มีมาตรการเตรียมรับมือกับปัญหาอย่างเป็นระบบ ผู้คนมีระเบียบวินัย และกฎหมายที่มีธรรมาภิบาล แต่ก็ยังพบว่าไม่สามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ และยังมีการปกปิดข้อมูล ข่าวสาร และหากกรณีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นกับประเทศไทย สถานการณ์จะเป็นอย่างไร

ด้าน นายบุญเลี้ยง โยทะกา ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงน้ำพอง 2-อุดรธานี 3 สะท้อนความเห็นว่าโดยแท้จริงแล้วชาวบ้านเองไม่ได้ต้องการโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ไม่ว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เขื่อน เหมืองแร่ หรือแม้แต่แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งทั้งหมดต่างเอื้อประโยชน์ให้กับภาคอุตสาหกรรม แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกลับตกอยู่กับชุมชนและสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น รัฐบาลควรส่งเสริมพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล ที่มีความยั่งยืน สะอาดปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนมากกว่า ซึ่งปัจจุบันในหลายประเทศก็มีการสนับสนุนอย่างจริงจัง และเห็นผลแล้ว

กำลังโหลดความคิดเห็น