xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

ประเทศไทยได้รับอะไรจากมาตรการพิเศษของบีโอไอ

เผยแพร่:   โดย: สุทธิเกตติ์ ทัดพิทักษ์กุล

ใครที่ติดตามข่าวของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ คงจะพอทราบว่า ตั้งแต่ปี 2552 ถึงปัจจุบัน บีโอไอมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการที่ดำเนินกิจการเดิมอยู่แล้ว มายื่นขอรับการส่งเสริมฯ ได้ ซึ่งแตกต่างจากการขอรับการส่งเสริมฯ ปกติทั่วไปที่จะต้องมีการลงทุนใหม่

แต่มาตรการพิเศษข้างต้นมีข้อกำหนดคือ ผู้ประกอบการที่สนใจขอรับการส่งเสริมฯ จะต้องมีการลงทุน เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักรในด้านการประหยัดพลังงาน หรือการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในกิจการ หรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยสิทธิประโยชน์หลักๆ ที่ให้ตามมาตรการพิเศษนี้คือ การได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นเวลา 3 ปี มูลค่าไม่เกินร้อยละ 70 ของมูลค่าการลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน โดยจะต้องยื่นการขอรับการส่งเสริมฯ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2555

หรือกล่าวง่ายๆ ว่า มาตรการพิเศษนี้ บีโอไอช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการเป็นกรณีพิเศษ สำหรับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อประหยัดพลังงานหรือลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะเรียกว่า เป็นมาตรการพิเศษเพื่อโลกสีเขียวก็ว่าได้

มีคำถามว่า มาตรการพิเศษที่ออกมานี้ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในเมืองไทยมากน้อยแค่ไหน และมีมูลค่าการลงทุนประมาณเท่าไหร่

จากการประกาศใช้มาตรการการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อการประหยัดพลังงาน หรือการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในกิจการ หรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผลปรากฏว่า ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2552 ซึ่งเป็นวันที่มีผลบังคับใช้สำหรับมาตรการพิเศษนี้ ต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2554 ที่เพิ่งผ่านไป ปรากฏว่ามีผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมฯ จำนวนรวมทั้งสิ้น 77 โครงการ โดยมีเงินลงทุนรวมที่แจ้งในเบื้องต้นจำนวนประมาณ 18,675 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าดังกล่าวนับว่าไม่น้อยเลย เมื่อมองว่าเป็นมูลค่าเงินลงทุนที่ต้องการทำให้โลกสดใสและน่าอยู่ขึ้น

ถึงตรงนี้ หลายๆ คนก็คงอยากจะรู้ต่อไปว่า ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมอะไรที่ให้ความสนใจในการลงทุนเพื่อประหยัดพลังงานหรือลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมนี้

อุตสาหกรรมที่ให้ความสนใจในมาตรการประหยัดพลังงานหรือลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมนี้มากที่สุดคือ กลุ่มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ มีโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมฯ รวม 30 โครงการ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานปิโตรเคมี โรงงานกระดาษ เป็นต้น มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 7,800 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42 ของมูลค่าการลงทุนรวมในมาตรการพิเศษนี้

ผู้เขียนได้มีโอกาสคุยกับผู้บริหารในกลุ่มอุตสาหกรรมประเภทนี้หลายๆ ท่าน ซึ่งส่วนใหญ่ให้ข้อมูลในแนวทางเดียวกันคือ โรงงานที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่มีมาตรการภายในบริษัทเองที่จะรณรงค์ให้พนักงานช่วยกันประหยัดพลังงาน ส่วนของเสียที่อาจจะมีการระบายออกสู่ภายนอกนั้น ก็ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง

เมื่อบีโอไอ มีมาตรการพิเศษนี้ออกมา ได้ช่วยเร่งให้บริษัทตัดสินใจลงทุนเปลี่ยนเครื่องจักรรุ่นใหม่ที่ประหยัดพลังงานเร็วขึ้น รวมทั้งเร่งการออกแบบและติดตั้งเครื่องจักรใหม่เพื่อลดการระบายของเสียออกสู่ภายนอก เพื่อให้ทันต่อระยะเวลาที่บีโอไอกำหนดคือ จะต้องยื่นขอภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 และจะต้องดำเนินการให้เสร็จสมบูรณ์ภายใน 3 ปี นับจากวันออกบัตรส่งเสริม ซึ่งแต่เดิมบริษัทอาจจะไม่มีแผนการลงทุน หรือถ้ามีอาจจะลงทุนในอีก 3- 5 ปีข้างหน้า

สำหรับรายละเอียดของโครงการที่ได้รับอนุมัติไปแล้ว มีทั้งหมด 58 แผนงาน จาก 43 โครงการ มีตัวเลขที่ออกมาคือ จะสามารถประหยัดพลังงานลงได้สูงถึง 1,200 ล้านบาทต่อปี มีการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น เช่น พลังงานชีวมวล ในหลายๆ โครงการ

และสุดท้ายช่วยลดการระบายของเสียออกสู่สิ่งแวดล้อมได้แก่ ลดปริมาณการระบายน้ำทิ้งลง 3.5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และลดการระบายของเสียทางอากาศ เช่น ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่มีผลต่อระบบการหายใจของมนุษย์

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบีโอไออยู่ในระหว่างการพิจารณาโครงการที่เหลือและยังรับการขอรับการส่งเสริมฯ ในมาตรการพิเศษนี้อยู่ ซึ่งคาดว่าหากพิจารณาอนุมัติโครงการที่ยื่นขอมาภายในสิ้นปี 2555 ได้หมด ตัวเลขต่างๆ ข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน และการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็จะสูงกว่านี้อย่างแน่นอน

สำหรับสิ่งที่ประเทศไทยจะได้รับจากการออกมาตรการพิเศษนี้ของบีโอไอ จะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้อีกอย่างหนึ่งว่า บีโอไอตระหนักและให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ไม่ยิ่งหย่อนกว่าการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2553-8111 หรือที่ head@boi.go.th
 
กำลังโหลดความคิดเห็น