ASTVผู้จัดการรายวัน - เว็บเสื้อแดงโวยวายจะเอาค่าแรง 300 บาท โยงมั่วหอการค้า-สภาอุตฯ ค้านเพราะ “อำมาตย์” ไม่ให้ขึ้น แต่กลับไม่พูดกรณีเอไอเอสตั้ง “ดุสิต” เป็นบอร์ด ด้าน หอการค้าไทย ถล่มซ้ำ ย้ำขึ้นค่าแรงทำ SMEs เจ๊ง นักลงทุนหนีไปเพื่อนบ้าน สั่งสำรวจความคิดเห็นสมาชิกทั่วประเทศ ก่อนสรุปผลเสนอรัฐบาลใหม่ ส่วนประธานบอร์ดค่าจ้างชี้ พร้อมรับมาตรการยึดหลักจุดไหนปรับได้ปรับไปก่อน ด้านเอกชนจี้แจงมาตรการอุ้มธุรกิจให้ชัด เชื่อต่อไปคนหางานทำยาก
วานนี้ (13 ก.ค.) เว็บไซต์ไทยอีนิวส์ หนึ่งในเว็บไซต์เครือข่ายของกลุ่มคนเสื้อแดงและแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “เบื้องหลังการกวนตีนจากสภาหอการค้า-การต่อต้านค่าแรง300จากสภาอุตฯ องค์กรซ่อนเงื่อนของใคร…?” โดยกล่าวโจมตีการแสดงทัศนะต่อนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ชนะการเลือกตั้งของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะนายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าฯ
“กล่าวได้ว่านาทีพลิกผันที่ส่งอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯแบบ ‘ปล้นมา’ แลกกับความวิบัติของเศรษฐกิจบ้านเมืองก็เนื่องจากสภาหอการค้าไทยนั่นเอง เป็นคนทั้งผลักทั้งดัน และออกมาเล่นบทห้ามไม่ให้พรรคการเมืองที่ชนะเสียงข้างมากได้เป็นรัฐบาลต่อไป หลังเหตุการณ์ยึดสนามบินจบลงเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 แล้วตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตัดสินอย่างลุกลนยุบพรรคพลังประชาชนทิ้ง
“หอการค้าไทยยังคงอุ้มชูอภิสิทธิ์อย่างออกนอกหน้า ในเวลาต่อมา ที่สังคมต้องประหลาดใจมากก็คือการที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้นโยบายคลั่งชาติ ประกาศลดระดับความสัมพันธ์กับกัมพูชานั้นกระทบต่อมูลค่าการค้าระหว่าง 2 ประเทศซึ่งมีนับแสนล้านบาท แทนที่ประธานหอการค้าจะออกมาเรียกร้องสันติภาพจะได้ทำมาค้าขายกันต่อไป กลับออกมาสนับสนุนอย่างออกนอกหน้า
“และเมื่อพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งอย่างท่วมท้น แทนที่จะแสดงความยินดีตามมารยาท ก็กลับออกมา ‘กวนตีน’ว่าให้หารัฐมนตรีที่ฉลาดๆมาหน่อย เพราะทีมเศรษฐกิจมีแต่พวกโนเนม (ทั้งที่มีบิ๊กเนมอย่าง ดร.โอฬาร ไชยประวัติ กับมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ อยู่ในหัวแถวทีมเศรษฐกิจเพื่อไทยก็ตาม ...)” เว็บไซต์ของกลุ่มคนเสื้อแดงระบุ
นอกจากนี้เว็บไซต์ดังกล่าวยังพยายามวิเคราะห์โดยเชื่อมโยงว่า นายดุสิต นั้นเป็นพนักงานของเครือซิเมนต์ไทยมาอย่างยาวนานจนกระทั่งเกษียณในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ของเครือซิเมนต์ไทยก็คือ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
“เครือซิเมนต์ไทยถือหุ้นใหญ่ในโตโยต้าประเทศไทย 10% เช่นเดียวกับบริษัทจากต่างประเทศที่มาลงทุนในไทยโดยทั่วไปที่เครือสำนักงานทรัพย์สินฯ จะได้รับเกียรติให้เข้าไปร่วมถือหุ้นด้วยในฐานะเจ้าบ้านที่ดี รวมทั้งกรณีของรถไถนาคูโบต้า ที่มียอดขายสูงสุดในเมืองไทย ก็มีทรัพย์สินเข้าไปถือหุ้น 10 %
“เมื่อประมณฑ์ (สุธีวงศ์ อดีตประธานสภาหอการค้าฯ) หมดวาระลง แทนที่เก้าอี้ประธานหอการค้าจะตกเป็นของแคนดิเดตอันดับ1 กลับถูกผูกขาดจากคนที่เป็นลูกหม้อเครือทรัพย์สินฯ จากนั้นก็มีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองสอดคล้องกับรัฐบาลอภิสิทธิ์และเครือข่ายอำมาตย์อย่างเป็นจังหวะจะโคน ก็ทำให้ข้อสงสัยต่างๆคลี่คลายลงว่า เพราะเหตุใดนายดุสิต นนทนาคร จึงเหมาะสมกับตำแหน่งประธานหอการค้า” เว็บไซต์ไทยอีนิวส์ระบุ
นอกจากนี้สื่อของคนเสื้อแดงยังกล่าวโจมตี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ออกมาต้านนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทของพรรคเพื่อไทยอีกด้วย โดยพยายามโยงว่า นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. คนปัจจุบันก็เป็นลูกหม้อของเครือซิเมนต์ไทยเช่นกัน
“บางทีก็ต้องถาม ‘คนที่อยู่หลังม่าน’ เรื่องนี้ให้บ้างว่า จะปล่อยให้เละเทะไปทุกวงการ ผลาญชาติบ้านเมืองไปอีกขนาดไหน จึงจะหนำใจของท่าน”
อย่างไรก็ตาม ไทยอีนิวส์ กลับไม่กล่าวถึงกรณีเมื่อวันที่ 21 ก.พ.2554 บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอสแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติการแต่งตั้ง นายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าไทย ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัทแทนนายศุภเดช พูนพิพัฒน์ ซึ่งได้ขอลาออก โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2554 เป็นต้นไป แต่อย่างใด
****หอการค้าไทยออกโรงถล่มซ้ำค่าแรง300บาท
นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยเป็นห่ว'นโยบายพรรคเพื่อไทยในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็นวันละ 300 บาท เพราะภาคเอกชนในประเทศ และนักลงทุนต่างประเทศจำนวนมาก วิตกกังวลว่าจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น และทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs)ที่จะได้รับผลกระทบหนัก จนอาจต้องลดแรงงาน และล้มเลิกกิจการ
“เท่าที่คุยกับหอการค้าญี่ปุ่น บอกเลยว่า บริษัทรถยนต์จากญี่ปุ่น จ่ายค่าแรงขั้นต่ำมากกว่า 300 บาทอยู่แล้ว แต่เขาเกรงว่า ถ้าขึ้นค่าแรงทันที 300 บาทจะกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งส่วนมากเป็น SMEs และอาจทำให้กลุ่มนี้ต้องล้มหายตายจาก และบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นอาจต้องนำเข้าชิ้นส่วนจากแหล่งอื่นแทน รวมทั้งอาจย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น เช่น อินโดนีเซีย เพราะมีค่าแรงถูกกว่าไทยมาก”นายพงษ์ศักดิ์กล่าว
ทั้งนี้ นอกจากจะทำให้ผู้ประกอบการในประเทศได้รับผลกระทบแล้ว ยังทำให้การลงทุนใหม่ๆ จากต่างประเทศไม่เข้ามาลงทุนในไทย เพราะไม่มีความคุ้มค่า 07'ได้มอบหมายให้ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ดำเนินการสำรวจสมาชิกหอการค้าไทย ทั้งบริษัทขนาดใหญ่ และ SMEs ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมถึงแนวทางที่จะให้รัฐบาลช่วยเหลือ เพื่อจะได้นำข้อมูลที่ได้ไปหารือกับรัฐบาลใหม่
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรง 300 บาททันที จะกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างมาก โดยประเมินว่า ผู้ประกอบการจะต้องใช้เงินสูงถึงปีละ 140,000 ล้านบาทในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งจำนวนนี้ยังไม่รวมจำนวนเงินที่ผู้ประกอบการจะต้องขึ้นให้กับผู้จบปริญญาตรี 15,000 บาทอีก ทำให้ขีดความสามารถแข่งขันลดลง ขณะเดียวกัน การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จะลดลง มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมแน่นอน
*** "มาร์ค"ติงขึ้นเงินเดือนกระทบโครงสร้างขรก.
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงนโยบายให้เงินเดือนเริ่มต้นกับผู้ที่จบปริญญาตรี 15,000 บาท ของพรรคเพื่อไทย ว่า รัฐบาลชุดใหม่ต้องดูผลกระทบให้รอบด้าน ซึ่งจากการหารือกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. จะทำให้เกิดปัญหาในระบบราชการ ซึ่งต้องมีการปรับโครงสร้างเงินเดือนทั้งระบบ และงบประมาณอาจจะมีไม่เพียงพอ ขณะที่ภาคเอกชนก็จะทำให้มีคนตกงานมากขึ้น และไม่มีประโยชน์หากมีเงินเดือนสูง แต่กลับมีคนตกงานเพิ่ม
พร้อมกันนี้ ไม่เห็นด้วยกับนโยบายถมทะเลภายในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ เพราะจะมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งหากไม่ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ก็จะขัดต่อกฎหมายมาตรา 67 วรรค 2 ทั้งนี้ ในช่วงที่ยังไม่มีการเปิดสภา มองว่า พรรคเพื่อไทยควรจะศึกษานโยบายต่างๆ เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ
**"หนุนกนง.ขึ้นดอกเบี้ยรับนโยบาย"พท."
นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นโยบาย 0.25% จาก 3% เป็น 3.25% ต่อปีว่า เข้าใจว่ากนง.เป็นห่วงเรื่องเงินเฟ้อ เพราะโดยธรรมชาติต้นทุนขณะนี้สูงขึ้น อยู่แล้ว และกังวลว่านโยบายของรัฐบาลใหม่จะต้องใช้เงินจำนวนมากที่จะเป็นตัวแปร ทำให้มีแรงกดดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะการส่งสัญญาณในเรื่องเงินเฟ้อ และเป็นการขึ้นดอกเบี้ยค่อนข้างที่จะต่อเนื่อง และต้องระมัดระวัง เพราะขณะนี้เศรษฐกิจยุโรปยังมีความเสี่ยงอยู่ หากมีปัญหาขึ้นอาจจะกระทบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ทั้งนี้คิดว่าเป็นแนวทางดังกล่าวเหมาะสม และเป็นเรื่องที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งทำแต่ต้น
ผู้สื่อข่าวถามถึงความเป็นไปได้จริงของนโยบายพรรคเพื่อไทย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องขอดูนโยบายในขั้นสุดท้ายของรัฐบาลเพราะข่าวแต่ละวันทั้งเรื่องค่าแรง 300 บาทต่อวัน เงินเดือนข้าราชการปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือน ยังไม่ตรงกัน อาทิ ในบางวันบอกว่าจะทำได้ทันที บางวันบอกต้องรอเวลาจะมีเงื่อนไข ดังนั้นอยากให้เร่งหาข้อยุติเรื่องเหล่านี้ก่อน และสิ่งที่เป็นนโยบายหาเสียงไปแล้ว ต้องพยายามทำให้ได้ ไม่เช่นนั้นเท่ากับว่านโยบายหาเสียงพูดไปเฉยๆ ไม่มีความหมายคงไม่ได้ แต่ต้องมาดูว่าทำแล้วผลกระทบมีอะไรบ้าง หารือเตรียมมาตรการรองรับเตรียมเป็นขั้นตอน และอธิบายให้ทุกฝ่ายเข้าใจ
*** ก.แรงวอนเริ่มปรับทีละจังหวัด
วานนี้ (14 ก.ค.) ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย (พท.) ออกมาสนับสนุนข้อเสนอแนวทางการปรับค่าจ้างขึ้นต่ำวันละ 300 บาท โดยเริ่มต้นในจังหวัดที่มีอัตราค่าจ้างสูงก่อนคือ กรุงเทพฯ ปริมณฑลและภูเก็ต ว่าการปรับค่าจ้างบางจังหวัดหรือบางจุดก่อนทำให้การทำงานง่ายขึ้น เพราะหากให้ดูแลทั้งประเทศไปพร้อมๆกัน กระทรวงแรงงานอาจจะดูแลไม่ทั่วถึง
ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้สังคมกำลังสับสนเกี่ยวกับตัวเลขที่เหมาะสมของอัตราค่าจ้างเพราะเกิดความขัดแย้งกัน ในส่วนของคณะกรรมการค่าจ้างจะดำเนินบทบาทอย่างไรเพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าวว่า การพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้างจะดูจากข้อมูลและข้อเท็จจริงเป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องภาวะเศรษฐกิจ แต่การทำงานบางครั้งก็ต้องดูเรื่องการสนับสนุนจากรัฐบาลด้วยว่ามีมาตรการช่วยสนับสนุนบางประการอย่างไร ทื่จะช่วยนายจ้างและลูกจ้าง
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากนโยบายรัฐบาลมีเป้าหมายปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทโดยมีมาตรการต่างๆสนับสนุน คณะกรรมการค่าจ้างก็สามารถดำเนินการให้ได้ใช่หรือไม่ นายสมเกียรติกล่าวว่าใช่ เพราะตอนนี้ทุกฝ่ายกำลังช่วยแก้ปัญหาอยู่ เช่นเดียวกับที่สภาอุตสาหกรรมออกมาก็เป็นการช่วยหาทางออก ไม่ใช่บอกเพียงว่าทำไม่ได้อย่างเดียว ซึ่งคณะกรรมการค่าจ้างอยากเชิญชวนทุกฝ่ายออกมาให้ข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาร่วมกัน
เมื่อถามว่าจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมเลี่ยงไปใช้แรงงานต่างด้าวมากขึ้นหรือไม่ ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าวว่า ตนยังคิดว่าแรงงานไทยยังมีข้อดีกว่าหลายด้าน แต่ยังต้องรอการประเมิน โดยทั่วไปก็ใช้แรงงานต่างด้าวแค่ความจำเป็น แต่เนื่องจากมีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งกระทรวงแรงงานกำลังเข้าไปช่วยเหลือเติมกำลังแรงงานในภาคส่วนที่ขาดแคลน
**เอกชนโวย!รัฐโยนระเบิดถามทาง
นายถาวร ชลัษเฐียร อุปนายกฝ่ายบริหารสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ กล่าวว่า นโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของ พท.เป็นการเปลี่ยนประเทศอย่างรุนแรง ไม่ใช่แค่โยนหินถามทาง แต่เป็นการโยนระเบิดถามทาง ทำให้ช็อกถึงขั้นตายได้ อย่างไรก็ตามภาคเอกชนไม่ได้คัดค้านนโยบายเรื่องนี้ แต่อยากให้รัฐบาลออกมาชี้แจงมาตรการรองรับนโยบายนี้ให้ชัดเจนว่ามีวิธีช่วยเหลือภาคเอกชนอย่างไร เพราะภาคเอกชนต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และต้องแข่งขันกับประเทศอื่น อย่างประเทศจีน อินเดีย ซึ่งค่าแรงถูกไทย
ส่วนนโยบายการปรับเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีรุ่นใหม่เป็น 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน ขณะนี้ภาคเอกชนต้องการคนที่มีคุณภาพเข้ามาทำงานด้วย เช่น ผู้จบวิศวะ ถ้ามีคุณภาพ ให้จ่ายถึง 2 หมื่นบาทต่อเดือนก็ยอม ดังนั้นเชื่อว่าหากปรับเงินเดือนเป็น 1.5 หมื่นบาท ภาคเอกชนจะมีการคัดคนเข้าทำงานเข้มข้นขึ้นมาก เพื่อให้ได้ผู้ที่มีคุณภาพจริงๆ ซึ่งปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนประมาณ 140 แห่งทั่วประเทศ จะมีมหาวิทยาลัยที่ภาคเอกชนเชื่อถือในคุณภาพการผลิตบัณฑิตและยอมรับเข้าทำงานประมาณ 20 แห่งเท่านั้น