xs
xsm
sm
md
lg

การรับรองการเลือกตั้งของกกต.ขัดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ

ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ

บทความนี้ผู้เขียนไม่ได้มีวัตถุประสงค์จะทำให้เกิดผลร้ายขึ้นในบ้านเมือง หรือมีอคติกับพรรคการเมืองใด แต่ต้องการให้เกิดความสงบตามวิถีทางกฎหมายมากกว่าการใช้วิถีทางการเมือง เพราะวิถีทางการเมืองไม่อาจเกิดความสงบเรียบร้อยได้แบบยั่งยืน

จากวันเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา ปรากฏข่าวเกี่ยวกับการคัดค้านการเลือกตั้งหลายกรณีและหลายประเด็น แต่ประเด็นการคัดค้านการเลือกตั้งที่น่าสนใจของสาธารณชนคือ การคัดค้านการจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าเป็นการจัดการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า การคัดค้านการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการคัดค้านการกระทำของ กกต. ซึ่งเป็นผู้ควบคุมกฎกติกาของการเลือกตั้ง แต่ผู้ควบคุมกฎทำผิดกฎกติกาของการเลือกตั้งเสียเอง

เมื่อกรณีเป็นเช่นนี้แล้ว ย่อมบังเกิดผลในทางกฎหมายไปในทางตรงกันข้ามกับที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ ได้บัญญัติไว้เกือบทั้งสิ้น ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ จะบัญญัติให้อำนาจ กกต.ดำเนินการจัดการกับผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง พรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการเลือกตั้ง (ยกเว้นคณะกรรมการการเลือกตั้ง) ที่ได้กระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้ทั้งหมดทั้งสิ้น แต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ แทบจะไม่มีบทบัญญัติกฎหมายบทใดที่บัญญัติให้มีการลงโทษคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งเสียเองได้เลย ทั้งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ ยังได้บัญญัติคุ้มครองคณะกรรมการการเลือกตั้งเสียอีก ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งทำผิดกฎหมายเลือกตั้งแต่ได้กระทำการไปโดยสุจริตนั้นไม่ต้องรับโทษทั้งทางแพ่ง อาญา หรือทางปกครองอีกด้วย ตามที่ได้บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ มาตรา 29

เหตุที่กฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้น ก็เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นองค์กรสูงสุดตามรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรที่ต้องมีหลักประกันในการปฏิบัติหน้าที่โดยให้มีอิสระไม่ต้องอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของหน่วยงานใด แต่ในขณะเดียวกันคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นองค์กรที่ต้องกระทำการให้เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน และต้องรักษาไว้ซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศของผู้สมัครรับเลือกตั้งให้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งการเลือกตั้งนั้นต้องสุจริตและเที่ยงธรรม โดยกฎหมายบัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายอื่น ซึ่งกฎหมายได้ให้อำนาจ กกต.แจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อดำเนินการสืบสวน (เมื่อรู้ว่ามีเบาะแสของการกระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้งเกิดขึ้น) หรือแจ้งพนักงานสอบสวนให้ดำเนินการการสอบสวน และดำเนินคดีแทนประชาชนและรัฐได้ทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครองได้ (เมื่อเห็นว่ามีการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งเกิดขึ้น) ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 21 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ

การที่กฎหมายได้บัญญัติให้ กกต.เป็นผู้เสียหาย กกต.จึงมีอำนาจให้เจ้าหน้าที่ในกระบวนการทางอาญาและทางปกครองทำหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีได้ในทุกกรณีที่เกิดการกระทำความผิดอันจะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรมได้ กกต.จึงมีหน้าที่โดยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวในการควบคุม ดูแล และเสาะแสวงหาข้อเท็จจริงเอง ในฐานะที่เป็นผู้เสียหายในการกระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งดังกล่าว โดยจะเห็นได้ว่า กฎหมายได้บัญญัติให้อำนาจ กกต.ไว้อย่างกว้างขวาง เพื่อให้ กกต.ใช้เป็นเครื่องมือที่จะดำเนินการให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามที่บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ มาตรา 10 มาตรา 11 และเมื่อมีการกล่าวหาหรือความปรากฏต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยมีเหตุอันสมควรว่ามีการกระทำใด อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ กฎหมายได้บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการสืบสวนหรือสอบสวนตามอำนาจหน้าที่โดยเร็ว ตามมาตรา 12 ซึ่งรัฐธรรมนูญก็ได้บัญญัติรับรองอำนาจดังกล่าวของกกต.ไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 236

การทำหน้าที่ของ กกต.ในการเลือกตั้ง จึงอยู่ใน 3 ฐานะคือ

1. กกต.เป็นผู้เสียหาย ในกรณีที่มีการกระทำความผิดตามตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาฯ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติหรือกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นฯ เกิดขึ้น การที่ กกต.เป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย อันเป็นการให้อำนาจ กกต.สืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงได้ด้วยตนเอง ด้วยการแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนและหน่วยงานอื่นให้ดำเนินการแทนให้ได้ในทุกกรณีที่ กกต.เห็นว่าผู้ใดกระทำความผิดตามกฎหมายดังกล่าว

2. ในฐานะที่ กกต.เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ในฐานะของ กกต.ที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว ในการใช้อำนาจของ กกต.จะใช้อำนาจโดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของประชาชนไม่ได้ หรือจะออกกฎหมายใช้บังคับกฎหมาย หรือตีความกฎหมายโดยละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง หรือโดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ การกระทำของ กกต.ที่ได้กระทำโดยฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้การกระทำนั้นไม่มีผลบังคับใช้และเป็นการกระทำที่ถือได้ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ (Unconstitution) ซึ่งผลของการกระทำนั้นอาจถูกเพิกถอนได้ (ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 26, 27, 28 และ 29 หมายเหตุท้าย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ)

3. ในฐานะเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ ซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และตามกฎหมายที่กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งกรรมการการเลือกตั้งจะกระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองใดในการเลือกตั้งไม่ได้ หรือจะกระทำการหรือละเว้นกระทำการโดยทุจริตหรือประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง หรือออกเสียงประชามติไม่ได้ การกระทำของ กกต.ดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดที่มีโทษทางอาญาตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งมาตรา 29 มาตรา 45 และหมายเหตุท้ายพ.ร.บ.ดังกล่าว

เมื่อ กกต.อยู่ในสถานะของความเป็นผู้เสียหายดังกล่าว กกต.เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายและตามรัฐธรรมนูญในการควบคุม สอดส่องดูแลการเลือกตั้งทั้งกระบวนการเลือกตั้ง และในฐานะของความเป็นผู้เสียหายโดย กกต.เป็นผู้เสียหาย อันเกิดจากการกระทำผิดกฎหมายของผู้สมัครรับเลือกตั้ง พรรคการเมือง ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ความเป็นผู้เสียหายในกรณีดังกล่าว ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ กกต.จะได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดกฎหมายดังกล่าวนั้นโดยตรงแต่เป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดให้ กกต.มีหน้าที่ที่ต้องกระทำในฐานะเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย

ดังนั้น เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาประกาศให้มีการเลือกตั้งแล้ว กกต.จะต้องทำหน้าที่ในฐานะเป็นผู้เสียหายทันที โดยต้องสอดส่อง ควบคุมดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับของ กกต.และของพรรคการเมือง โดย กกต.จะทำตัวเป็นแมวนอนหวด ไม่รู้ไม่เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างมีพระราชกฤษฎีกาประกาศเลือกตั้งไม่ได้ หรือจะกระทำใดๆ เพื่อไปให้พ้นจากที่เลือกตั้ง โดยไม่รับรู้รับเห็นในการเลือกตั้งนั้นก็ไม่อาจกระทำได้ เพราะการกระทำดังกล่าวเป็นการนอนหลับทับสิทธิของความเป็นผู้เสียหาย ซึ่งอยู่ในข่ายของการปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งดังกล่าว มิใช่เป็นความเสียหายส่วนตนของคณะกรรมการการเลือกตั้งคนใดคนหนึ่งแต่อย่างใดไม่ แต่เป็นความเสียหายของแผ่นดิน หรือของรัฐและของประชาชนทั้งประเทศ

การไม่สอดส่อง ควบคุมดูแลการเลือกตั้ง หรือไม่สอดส่อง ควบคุมดูแลการกระทำใดๆ ของผู้สมัครรับเลือกตั้ง กรรมการพรรค ย่อมเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ของความเป็นผู้เสียหายของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อให้เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองใดในการเลือกตั้งได้ หรืออาจจะเป็นการกระทำหรือละเว้นการกระทำโดยทุจริต หรือประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้ การนอนหลับทับสิทธิของความเป็นผู้เสียหาย จึงอยู่ในข่ายของการกระทำอันมีโทษทางอาญาตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ มาตรา 29 ได้

ดังนั้น เมื่อปรากฏว่ามีผู้ร้องคัดค้านการเลือกตั้ง โดยอ้างถึงการกระทำของผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือการกระทำของพรรคการเมือง เช่น การโฆษณาหาเสียงของพรรคการเมืองได้กระทำโดยผิดกฎหมาย เพราะมีการโฆษณาโดยสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สิน เงินทอง หรือประโยชน์อื่นใด อันจะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม โดยกระทำกันหลายพรรคการเมืองแล้ว กกต.จะต้องทำการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงโดยเร็วเสียก่อน (ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ มาตรา 12) ก่อนประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง เพราะมิฉะนั้น กกต.จะอ้างว่ากระทำหน้าที่โดยสุจริตเพื่อให้พ้นจากความรับผิด ตามมาตรา 29 วรรคสองไม่ได้เลย เพราะเหตุที่เกิดขึ้นนั้นได้เกิดขึ้นปรากฏเป็นสาธารณะ ซึ่งถ้าเป็นการกระทำความผิดก็ถือได้ว่าเป็นความผิดที่เกิดซึ่งหน้าของ กกต.เอง และกกต.เป็นผู้เสียหายในการกระทำความผิดดังกล่าว

แต่เมื่อ กกต.ไม่ได้ทำหน้าที่ของความเป็นผู้เสียหายก่อนวันลงคะแนนเลือกตั้ง โดยถ้า กกต.เห็นว่าการโฆษณาหาเสียงของพรรคการเมืองดังกล่าวไม่เป็นความผิดตามกฎหมายและเป็นการโฆษณาหาเสียงโดยสุจริตและเที่ยงธรรมแล้ว แต่เมื่อมีผู้ร้องคัดค้านมา กกต.ก็จะต้องวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นเสียก่อน จึงจะรับรองผลการเลือกตั้งได้ เพราะมิฉะนั้นแล้วการรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ของ กกต.ก็จะเป็นการรับรองผลโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญเพราะการเลือกตั้งดังกล่าวไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ส.ส.ที่ กกต.รับรองผลการเลือกตั้งไปนั้น ก็จะไม่ใช่เป็น ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ การเป็น ส.ส.ของบุคคลเหล่านั้นอาจถูกเพิกถอนได้ในภายหลัง

ส่วนประเด็นการร้องคัดค้านการเลือกตั้งเพราะไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งตามที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เนื่องจากได้เคยขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตที่มีทะเบียนบ้านไว้ในการเลือกตั้งครั้งก่อน โดย กกต.ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตจังหวัดที่ได้ขอลงทะเบียนไว้ โดยตามข่าวอ้างว่า เมื่อได้ลงทะเบียนขอเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งไว้แล้ว ผู้ขอลงทะเบียนหมดสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งจนกว่าจะมีการลงทะเบียนเปลี่ยนแปลงนั้น ลักษณะของการร้องคัดค้านการเลือกตั้งเป็นการร้องคัดค้านการทำหน้าที่ของ กกต.ซึ่งมีนัยอยู่ 2 นัยคือ

กกต.ใช้บังคับกฎหมายหรือตีความกฎหมายตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาฯ มาตรา 97 โดยไม่ชอบหรือไม่ หรือการใช้อำนาจหน้าที่ของ กกต.เป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยขัดต่อรัฐธรรมนูญไม่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ปัญหาดังกล่าวจึงมิใช่เป็นเรื่องการตีความการใช้บังคับกฎหมายตามมาตรา 97 เท่านั้น แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาการใช้อำนาจของ กกต.ในการตัดสิทธิเลือกตั้งของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งด้วย เมื่อมีการร้องคัดค้านการใช้อำนาจของ กกต.ที่ตัดสิทธิการลงคะแนนเลือกตั้งของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรมแล้ว โดย กกต.เป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่โดยขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแล้ว กกต.ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญจะต้องแสดงความสุจริตของตนโดย กกต.จะต้องดำเนินการสืบสวนหรือสอบสวนตามอำนาจหน้าที่โดยพลัน ทั้งนี้ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ มาตรา 12 ประกอบกับมาตรา 24 และหมายเหตุท้ายพ.ร.บ.ดังกล่าว

เมื่อรัฐธรรมนูญได้แก้ไขใหม่ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ได้บัญญัติให้การใช้สิทธิเลือกตั้งที่ต้องเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งตามชื่อที่มีอยู่ในทะเบียนบ้านนั้น เป็นหน้าที่ต้องใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 72 และตามนัยรัฐธรรมนูญมาตรา 94, 95 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2554 มาตรา 3 ส่วนการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตนั้น ขึ้นอยู่กับการแสดงเจตนาของผู้ใช้สิทธิที่จะใช้สิทธินอกเขตโดยต้องแสดงเจตนาและกำหนดระยะเวลาให้ไปลงทะเบียนไว้ก่อนวันเลือกตั้ง 30 วัน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา มาตรา 97 โดยบุคคลนั้นจะใช้สิทธิเลือกลงคะแนนเลือกตั้งในจังหวัดที่ตนลงทะเบียนไว้และให้หมดสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งเดิมที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งนี้จนกว่าจะมีการลงทะเบียนเปลี่ยนแปลง โดยกฎหมายบัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งบันทึกการลงทะเบียนขอใช้สิทธิดังกล่าวไว้ในทะเบียนรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อใช้ในการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และให้หมายเหตุสถานที่ที่ไปใช้สิทธิไว้ในประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วยนั้น

บทบัญญัติของมาตรา 97 วรรคสองดังกล่าว จึงมิใช่เป็นบทบัญญัติให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเสียสิทธิในการเลือกตั้งในเขตที่ตนมีทะเบียนบ้านเป็นการถาวรแต่อย่างใด แต่เป็นบทบัญญัติให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งมีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใหม่ที่ไปขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง ตามเจตนาของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเท่านั้น การมีสิทธิและหน้าที่เลือกตั้งของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งเดิมตามที่มีทะเบียนบ้านนั้นมิได้หมดสิทธิไปแต่อย่างใด (เพียงแต่เปลี่ยนสถานที่การใช้สิทธิเลือกตั้ง เฉพาะที่ได้แสดงเจตนาก่อนวันเลือกตั้ง 30 วันเท่านั้น)

แม้มาตรา 97 จะบัญญัติให้หมดสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งเดิมที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งนี้จนกว่าจะมีการลงทะเบียนเปลี่ยนแปลงนั้น ก็ไม่ทำให้สิทธิและหน้าที่ในการลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งเดิมนั้นสูญสิ้นไปไม่ เพราะการลงทะเบียนเปลี่ยนแปลงการใช้สิทธินอกเขตของผู้เลือกตั้ง เป็นอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง การที่ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตและเมื่อใช้สิทธินอกเขตตามเจตนาที่ได้แจ้งไปแล้ว ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งไปแจ้ง หรือให้ต้องไปยกเลิกการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตแต่อย่างใดเลย

หาก กกต.ประสงค์จะให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตต้องแจ้งหรือบอกยกเลิกการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขต กกต.จะต้องออกกฎหมายโดยออกเป็นประกาศ หรือออกระเบียบให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งต้องกระทำการดังกล่าวไว้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 236 เมื่อ กกต.ไม่ได้ออกกฎหมายมาใช้บังคับกับผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งแล้ว กกต.จะตีความกฎหมายเพื่อตัดสิทธิการลงคะแนนเลือกตั้งของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง หาได้ไม่ และเมื่อ กกต.เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญได้บัญญัติบังคับให้บุคคลต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา72 แล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 มาตรา 27 และมาตรา 29

เมื่อรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียลงคะแนน โดยให้ผู้มีชื่อในทะเบียนในเขตเลือกตั้งมีสิทธิลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 94, 95 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2554 มาตรา 3 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งวุฒิสภาฯ มาตรา 96 แล้ว สิทธิในการออกเสียงลงคะแนนโดยผู้มีชื่อในทะเบียนในเขตเลือกตั้ง จึงเป็นสิทธิที่ได้รับรองไว้โดยชัดแจ้งในรัฐธรรมนูญ ในการใช้อำนาจในการตีความมาตรา 97 ของ กกต.จะตีความให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งต้องเสียสิทธิในการเลือกตั้งตามทะเบียนบ้านที่อยู่ในเขตเลือกตั้งไม่ได้ เพราะเป็นการใช้อำนาจโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26, 27 และ 29 ดังกล่าว และเป็นการใช้อำนาจโดยไม่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 26, 27, 29 อันเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง และอาจเป็นการกระทำที่เข้าข่ายของการกระทำที่มีโทษทางอาญาได้

เมื่อมีการร้องคัดค้านถึงการเสียสิทธิในการลงคะแนนของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง อันเกิดจากการกระทำของ กกต.ที่ไปตัดสิทธิการลงคะแนนเลือกตั้งของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งทำให้การเลือกตั้งนั้นไม่สุจริตและเที่ยงธรรม โดย กกต.ไม่ได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนโดยเร็วหรือไม่ดำเนินการโดยพลัน และวินิจฉัยปัญหาในประเด็นนี้เสียก่อน แต่ไปรับรองการเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้ง จึงเป็นการรับรองการเลือกตั้งที่ขัดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญ การรับรองการเลือกตั้งดังกล่าวไม่มีผลทำให้ผู้ที่ได้รับการรับรองเป็น ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญได้แต่อย่างใดไม่ (Unconstitution) ซึ่งการเป็น ส.ส.ที่ได้รับรองไปแล้วนั้น ก็อาจถูกเพิกถอนได้

หาก กกต.ไม่ยึดมั่นในหลักกฎหมายให้ถ่องแท้ การปฏิบัติงานของ กกต.มิใช่จะนำพาชาติไปสู่ความหายนะ เพราะประเทศชาติจะไม่เป็นนิติรัฐ ไม่มีนิติธรรมเท่านั้น แต่อาจจะนำพาตนเองไปสู่ความวิบัติด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น