xs
xsm
sm
md
lg

โหวตโนกับการปฏิรูปการเมืองไทย (ตอน 2)

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์

ผมได้ยินได้ฟังการประชาสัมพันธ์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) แทบทุกเรื่อง มักจะลงท้ายไว้เสมอว่า “กกต.สุจริต โปร่งใสและเที่ยงธรรม” เสมอๆ

แต่ฟังแล้วก็อดสลดใจไม่ได้ว่า กกต.ที่ผ่านมาหลายปีทำอะไรกันอยู่จนมาถึงวันที่จะมีการเลือกตั้ง ที่ปล่อยให้การเลือกตั้งมีแต่การทุจริต ซื้อสิทธิขายเสียง ขาดความยุติธรรม และละเมิดกฎหมายบ้านเมืองกันเป็นว่าเล่น

การที่ กกต.โฆษณาประชาสัมพันธ์ดังกล่าว ก็ไม่แตกต่างอะไรจากบรรดาพรรคการเมืองที่โฆษณาขายฝันกันในช่วงเลือกตั้ง เพราะไปๆ มาๆ กกต.กลายเป็น “ตัวปัญหา”เสียเอง

นอกจากนั้น วิจารณญาณในการตีความกฎหมายของ กกต. ก็ผิดทิศผิดทาง ขาดหลักวิชาจนแทบไม่น่าเชื่อถือ

กรณีที่จะยกมาเป็นตัวอย่าง คือ กรณีที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบแบ่งเขตเลือกตั้งจะได้รับการเลือกตั้งก็ต่อเมื่อได้ผ่านหลักเกณฑ์เงื่อนไขสำคัญอย่างน้อย 2 ประการ ประการแรก ผู้สมัครจะได้รับเลือกตั้งต่อเมื่อได้รับคะแนนเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น ตัวอย่างเช่น ในเขตเลือกตั้ง (ก) มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนหนึ่งแสนคน ผู้สมัครจะต้องได้รับคะแนนเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20,000 คะแนนหรือไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบ

ประการที่สอง ผู้สมัครจะต้องได้รับคะแนนเลือกตั้งมากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้งหรือโหวตโน(Vote no) ตัวอย่างเช่น ในเขตเลือกตั้ง (ก)ไม่ว่าจะมีผู้สมัครรับเลือกตั้งคนเดียวหรือหลายคนก็ตาม ผู้สมัครที่จะได้รับเลือกตั้งจะต้องมีคะแนนเลือกตั้งมากกว่าคะแนนของผู้ที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครคนใดหรือโหวตโนด้วย

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา(ฉบับที่ 2)พ.ศ.2554 มาตรา 27 และมาตรา 28 ที่แก้ไขมาตรา 88 และมาตรา 89 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 จึงได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจน โดยมาตรา 88 ใหม่ บัญญัติไว้สำหรับกรณีที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งคนเดียวต้องเข้าหลักเกณฑ์เงื่อนไขทั้งสองประการข้างต้น และหากไม่เข้าหลักเกณฑ์เงื่อนไขดังกล่าวก็จะต้องมีการเลือกตั้งรอบสอง และหากการเลือกตั้งรอบสองยังไม่ผ่านหลักเกณฑ์เงื่อนไขทั้งสองประการข้างต้นอีก ก็จะต้องมีการเลือกตั้งรอบสาม และการเลือกตั้งรอบสามนี่เองที่ไม่ต้องอาศัยหลักเกณฑ์เงื่อนไขทั้งสองประการ ผู้สมัครได้รับคะแนนจำนวนเท่าใดก็ตามขอให้มีเพียงคะแนนเดียวก็ถือว่าได้รับเลือกตั้ง

สำหรับมาตรา 89 ใหม่ ก็บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 88 “ ซึ่งก็หมายความว่าให้ใช้หลักเกณฑ์เช่นเดียวกันกับมาตรา 88 มาใช้กับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในกรณีที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งหลายคนด้วย มาตรา 89 เพียงต้องการระบุให้ผู้สมัครซึ่งได้คะแนนเลือกตั้งมากที่สุดในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้ง และในกรณีที่มีผู้สมัครได้รับคะแนนเลือกตั้งมากที่สุดเท่ากันหลายคน ให้ใช้วิธีการจับสลากเท่านั้น

เหตุผลในการที่บัญญัติหลักเกณฑ์เงื่อนไขของการได้รับการเลือกตั้งทั้งสองประการเอาไว้ ถือว่าได้สะท้อนหลักปรัชญาของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างน้อย 2 ประการ ประการแรก หลักการปกครองโดยเสียงข้างมาก (Majority rule) กล่าวคือ ในกรณีที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งคนเดียวหรือหลายคนก็ตาม ผู้สมัครจะได้รับการเลือกตั้งก็จะต้องมีคะแนนสูงสุดมากกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ และจะต้องมากกว่าคะแนนโหวตโนด้วย เพราะมิเช่นนั้นจะถือว่าได้คะแนนเสียงข้างมากไม่ได้

ประการที่สอง หลักการของการเป็นตัวแทน(Representation) กล่าวคือ ผู้สมัครจะได้รับการเลือกตั้งและถือได้ว่าเป็นตัวแทนของประชาชนในเขตเลือกตั้งนั้นได้ ก็ต่อเมื่อได้รับคะแนนในระดับหนึ่ง มิเช่นนั้นก็ไม่อาจถือเป็นตัวแทนได้ ตัวอย่างเช่น ในประเทศฝรั่งเศสใช้ระบบการเลือกตั้งแบบสองรอบ กล่าวคือ การเลือกตั้งรอบแรก ผู้สมัครจะต้องได้คะแนนสูงสุดมากกว่าผู้สมัครคนอื่นๆและจะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งด้วย หากคะแนนที่ได้รับในรอบแรกไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ถึงแม้ว่าจะได้คะแนนมากกว่าผู้สมัครรายอื่น ก็จะต้องมีการเลือกตั้งรอบสอง แต่เป็นการแข่งขันระหว่างผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดสองอันดับแรกเท่านั้น และการเลือกตั้งรอบสอง ผู้สมัครคนใดได้คะแนนมากกว่าก็จะเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง

อีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น เขตเลือกตั้ง (ก)มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 100,000 คน มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง 5 คน ผู้สมัครคนแรกได้คะแนนเสียง 5,000 คะแนน ผู้สมัครคนที่สองได้ 4,000 คะแนน ผู้สมัครคนที่สามได้ 3,000 คะแนน ผู้สมัครคนที่สี่ได้ 2,000 คะแนน และผู้สมัครคนที่ห้าได้ 1,000 คะแนน รวมคะแนนที่ผู้สมัครทุกคนได้รับ คือ 15,000 คะแนน และมีผู้ไปโหวตโน 6,000 คะแนน คำถามก็คือว่าผู้สมัครคนแรกสมควรได้เป็น “ตัวแทน”ของเขตเลือกตั้งที่มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งถึง 100,000 คนหรือไม่

คำตอบก็คือว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีเสียงเพียง 5,000 คะแนนไม่ถึงร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือ 20,000 คะแนนและยังมีคะแนนน้อยกว่าโหวตโนซึ่งมีอยู่ 6,000 คะแนนนั้น หลักของการเป็น “ตัวแทน”ย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หรือขาดความชอบธรรมที่จะเป็น “ตัวแทน”ของประชาชนในเขตเลือกตั้งนั้นได้

ด้วยเหตุนี้ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายด้วยการตีความลายลักษณ์อักษรเพียงประการเดียว โดยขาดองค์ความรู้ในหลักปรัชญาของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่จะรองรับการวินิจฉัยดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและอาจกล่าวได้ว่าเป็นความผิดพลาดโดยสิ้นเชิง

กกต.จึงควรทบทวนความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวนี้เสียใหม่ เหมือนในหลายๆ เรื่องที่เคยผิดพลาดมาแล้ว

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า คะแนนโหวตโนมีผลทางกฎหมายในระดับหนึ่ง เพราะอย่างน้อยหากคะแนนโหวตโนมีจำนวนมากกว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ก็จะต้องนำไปสู่การเลือกตั้งในรอบที่สองและ/หรือรอบที่สามต่อไป และคะแนนโหวตโนยังสะท้อนถึงหลักปรัชญาของการปกครองโดยหลักเสียงข้างมากและการปกครองในระบบตัวแทนอีกด้วย

นอกจากนั้น คะแนนโหวตโนยังสะท้อนถึงความไม่พึงพอใจต่อระบบการเมือง พรรคการเมืองและตัวนักการเมือง ซึ่งจะเป็นหนทางของการนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่

และหากมีการปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ ก็คงจะต้องทบทวนปัญหาขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทั้งหลายที่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้สนองตอบต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปการเมืองที่ผ่านๆมาได้

โดยเฉพาะคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ตัวบุคคล(บางคน)อาจสุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม แต่อีกหลายๆคนหรือแทบทุกคนขาดประสิทธิภาพประสิทธิผล ไร้ความสามารถ ซึ่งประเด็นหลังนี้จะนำไปสู่ความไม่สุจริต ไม่โปร่งใสและไม่ยุติธรรมในที่สุด

ศาสตราจารย์ ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์
30 มิถุนายน 2554

กำลังโหลดความคิดเห็น