xs
xsm
sm
md
lg

นักรัฐศาสตร์แย้ง กกต.ชี้ “โหวตโน” มีผลทาง กม.อัดตีความตามตัวหนังสืออย่างเดียวไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อดีตนายกสมาคมรัฐศาสตร์แห่งประเทศไทย และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มสธ.สับ กกต.ตีความกฎหมายผิดที่ผิดทาง ไร้ความน่าเชื่อถือ เอาแต่ตีความลายลักษณ์อักษรอย่างเดียว วอนทบทวนเสียใหม่ ชี้ นักเลือกตั้งเข้าสภาได้ต้องเจอทั้งคะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และต้องมากกว่าคะแนนโหวตโน มาตรา 89 ใหม่บัญญัติชัดผู้สมัครหลายคนใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน ถือเป็นหลักปกครองเสียงข้างมาก

วันนี้ (30 มิ.ย.) ศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และอดีตนายกสมาคมรัฐศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้ออกมาเขียนบทความโต้แย้งกรณีที่ นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกต.ได้มีการหารือและมีความเห็นตรงกันถึงมาตรา 88 และมาตรา 89 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. และการได้มาซึ่ง สว. พ.ศ.2550 (พ.ร.บ.เลือกตั้ง) ระบุว่า คะแนนในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน หรือโหวตโนไม่มีผลทางกฎหมาย โดยเห็นว่าวิจารณญาณในการตีความกฎหมายของ กกต.ผิดทิศทาง ขาดหลักวิชา

ศ.ดร.ธีรภัทร์ ระบุว่า กรณีที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบแบ่งเขตเลือกตั้งจะได้รับการเลือกตั้งก็ต่อเมื่อได้ผ่านหลักเกณฑ์เงื่อนไขสำคัญอย่างน้อย 2 ประการ คือ ผู้สมัครจะได้รับเลือกตั้งต่อเมื่อได้รับคะแนนเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น และผู้สมัครจะต้องได้รับคะแนนเลือกตั้งมากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้งหรือโหวตโน ซึ่ง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ฉบับที่ 2 ปี 2554 มาตรา 27 และ 28 ที่แก้ไขมาตรา 88 และ 89 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้งปี 2550 ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจน

โดยมาตรา 88 ใหม่ บัญญัติไว้สำหรับกรณีที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งคนเดียวต้องเข้าหลักเกณฑ์เงื่อนไขทั้งสองประการข้างต้น และหากไม่เข้าหลักเกณฑ์เงื่อนไขดังกล่าวก็จะต้องมีการเลือกตั้งรอบสอง และหากการเลือกตั้งรอบสองยังไม่ผ่านหลักเกณฑ์เงื่อนไขทั้งสองประการข้างต้นอีก ก็จะต้องมีการเลือกตั้งรอบสาม และการเลือกตั้งรอบสามนี่เองที่ไม่ต้องอาศัยหลักเกณฑ์เงื่อนไขทั้งสองประการ ผู้สมัครได้รับคะแนนจำนวนเท่าใดก็ตามขอให้มีเพียงคะแนนเดียวก็ถือว่าได้รับเลือกตั้ง

สำหรับมาตรา 89 ใหม่ ก็บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 88” ซึ่งก็หมายความว่า ให้ใช้หลักเกณฑ์เช่นเดียวกันกับมาตรา 88 มาใช้กับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในกรณีที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งหลายคนด้วย มาตรา 89 เพียงต้องการระบุให้ผู้สมัครซึ่งได้คะแนนเลือกตั้งมากที่สุดในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้ง และในกรณีที่มีผู้สมัครได้รับคะแนนเลือกตั้งมากที่สุดเท่ากันหลายคน ให้ใช้วิธีการจับสลากเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เหตุผลในการที่บัญญัติหลักเกณฑ์เงื่อนไขของการได้รับการเลือกตั้งทั้งสองประการเอาไว้ สะท้อนหลักปรัชญาของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างน้อย 2 ประการ คือ หลักการปกครองโดยเสียงข้างมาก ผู้สมัครจะได้รับการเลือกตั้งก็จะต้องมีคะแนนสูงสุดมากกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ และจะต้องมากกว่าคะแนนโหวตโนด้วย เพราะมิเช่นนั้นจะถือว่าได้คะแนนเสียงข้างมากไม่ได้ และหลักการของการเป็นตัวแทน ผู้สมัครจะได้รับการเลือกตั้งก็ต่อเมื่อได้รับคะแนนในระดับหนึ่ง มิเช่นนั้นก็ไม่อาจถือเป็นตัวแทนได้

“ด้วยเหตุนี้ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายด้วยการตีความลายลักษณ์อักษรเพียงประการเดียว โดยขาดองค์ความรู้ในหลักปรัชญาของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่จะรองรับการวินิจฉัยดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและอาจกล่าวได้ว่าเป็นความผิดพลาดโดยสิ้นเชิง กกต.จึงควรทบทวนความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวนี้เสียใหม่ เหมือนในหลายๆ เรื่องที่เคยผิดพลาดมาแล้ว”
ศ.ดร.ธีรภัทร์ กล่าว

นักรัฐศาสตร์คนเดิมยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า คะแนนโหวตโนมีผลทางกฎหมายในระดับหนึ่ง หากคะแนนโหวตโนมีจำนวนมากกว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ก็จะต้องนำไปสู่การเลือกตั้งในรอบที่สองและรอบที่สามต่อไป และยังสะท้อนถึงหลักปรัชญาของการปกครองโดยหลักเสียงข้างมากและการปกครองในระบบตัวแทน นอกจากนั้น ยังสะท้อนถึงความไม่พึงพอใจต่อระบบการเมือง พรรคการเมืองและตัวนักการเมือง ซึ่งจะเป็นหนทางของการนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ ซึ่งจะต้องทบทวนปัญหาขององค์กรอิสระที่ไม่สามารถสนองตอบต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปการเมืองที่ผ่านๆ มาได้

อ่านรายละเอียดบทความ
โหวตโนกับการปฏิรูปการเมือง
โหวตโนกับการปฏิรูปการเมืองไทย (ตอน 2)

กำลังโหลดความคิดเห็น