xs
xsm
sm
md
lg

โหวตโนกับการปฏิรูปการเมือง

เผยแพร่:   โดย: ศาสตราจารย์ ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์

การเลือกตั้งเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ เพราะเป็นกลไกสำคัญสำหรับพลเมืองที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองโดยตรง และสามารถกำหนดได้ว่าใครจะเข้ามาทำหน้าที่ในการปกครองในระยะเวลาจำกัดซึ่งโดยปกติอยู่ในระยะเวลา 4 ปี หรือ 5 ปี หรืออาจกล่าวได้ว่า การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยเป็นกระบวนการทางการเมืองที่สำคัญยิ่งในการถ่ายโอนอำนาจอธิปไตยของประชาชนไปให้ตัวแทนทำหน้าที่ใช้แทนประชาชน

อย่างไรก็ตาม จะต้องพิจารณาด้วยว่าการเลือกตั้งดังกล่าวนั้นเป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้อย่างแท้จริงมากน้อยเพียงไร หากสิทธิและเสรีภาพในการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งเป็นเครื่องกำหนดที่มาของขอบเขตและอำนาจขององค์การทางการเมืองได้อย่างแท้จริงแล้ว สิทธิและเสรีภาพนั้นก็มีความสำคัญทางการเมือง ตรงข้ามถ้าการเลือกตั้งเป็นไปในทิศทางของการผูกขาด เอารัดเอาเปรียบ หลอกลวงหรืออยุติธรรมแล้ว ความสำคัญของสิทธิและเสรีภาพของการเลือกตั้งก็จะหมดไป

การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยในทรรศนะของนักวิชาการมีความหมายไม่แตกต่างกันมากนัก ส่วนใหญ่มองว่าการเลือกตั้งเป็นการต่อสู้แข่งขันในการรณรงค์เพื่อชัยชนะในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้เกิดตามความคาดหวังอันเป็นที่พึงพอใจ หรือ การเลือกตั้ง หมายถึง กระบวนการทางการเมืองรูปแบบหนึ่งที่แสดงถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย โดยการใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนของตนเข้าไปทำหน้าที่ในการปกครองประเทศและตัดสินใจในนโยบายสาธารณะที่มีผลกระทบต่อประชาชน

จากความหมายดังกล่าวข้างต้น การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยที่พึงปรารถนาจึงจำเป็นต้องมีลักษณะที่สำคัญอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องมีหลายคนหรือมีบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งหลายบัญชี (ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้เลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อ) หากมีผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียงคนเดียว หรือมีบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียงบัญชีเดียว ย่อมไม่ถือว่าเป็นการเลือกตั้งที่พึงปรารถนา ประการที่สอง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีเสรีภาพบริบูรณ์ที่จะเลือกหรือไม่เลือกผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง หรือบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งบัญชีใดบัญชีหนึ่ง ฉะนั้น หากมีการบังคับให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงให้ผู้สมัครคนใดคนหนึ่งหรือบัญชีรายชื่อบัญชีใดบัญชีหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการบังคับโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม ย่อมถือว่าไม่ใช่การเลือกตั้งที่พึงปรารถนา และ ประการที่สาม ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิและเสรีภาพที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบุคคลอื่น และมีโอกาสที่จะทราบความคิดเห็นรวมทั้งข้อมูลข่าวสารของผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ ก่อนการตัดสินใจเลือก ทั้งนี้ เพื่อให้การเลือกตั้งถูกต้องตามความเป็นจริงที่แต่ละคนชอบ ฉะนั้น การเลือกตั้งที่ขาดเสรีภาพในการรับฟังความคิดเห็น จึงย่อมไม่ใช่การเลือกตั้งที่พึงปรารถนา

การออกเสียงเลือกตั้งจึงเป็นสิทธิขั้นมูลฐานของมนุษย์ โดยเฉพาะในสังคมประชาธิปไตย ดังปรากฎในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 21(1) ความว่า “เจตจำนงของประชาชนย่อมเป็นมูลฐานแห่งอำนาจของรัฐบาล ของผู้ปกครอง เจตจำนงดังกล่าวต้องแสดงออกโดยการเลือกตั้งอันสุจริต ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งคราวตามกำหนดเวลา ด้วยการลงคะแนนเสียงอย่างทั่วถึง โดยถือหลักคนละหนึ่งเสียงเท่านั้น และโดยกระทำเป็นการลับด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อที่จะประกันให้การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นไปโดยเสรี”

การเลือกตั้งยังมีนัยสำคัญในสองแง่มุม กล่าวคือ ส่วนแรก การเลือกตั้งในแง่มุมของปรัชญา และส่วนที่สอง การเลือกตั้งในแง่มุมของกฎหมาย

การเลือกตั้งใน แง่มุมของปรัชญา สามารถพิจารณาได้เป็น 3 ประการ ได้แก่

ประการแรก การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมีสภาพเป็น สิทธิตามธรรมชาติ มาจากแนวคิดที่ว่า สิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิตามธรรมชาติที่ติดตัวมากับบุคคลในฐานะที่บุคคลเป็นหน่วยหนึ่งของรัฐ เพราะบุคคลย่อมเสมอภาคกัน อันเป็นลักษณะตามธรรมชาติของมนุษย์ หากบุคคลเป็นผู้บรรลุนิติภาวะ มีวุฒิภาวะ และไม่มีลักษณะต้องห้ามแล้ว ก็ย่อมจะมีสิทธิในการลงคะแนนเลือกตั้ง

ประการที่สอง การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมีสภาพเป็น ภารกิจสาธารณะ มาจากแนวคิดที่ว่าความก้าวหน้าของสังคมย่อมขึ้นอยู่กับการปฏิบัติการของบุคคลให้เป็นไปตามหน้าที่อย่างชาญฉลาด ดังนั้น การให้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแก่บุคคล จึงจำกัดเฉพาะบุคคลที่มีความเหมาะสมและสามารถปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีเท่านั้น การดำเนินการตามแนวคิดนี้ บุคคลอาจถูกจำกัดสิทธิในการลงคะแนนได้เสมอ หากเมื่อปรากฎว่าบุคคลนั้นเข้าลักษณะที่ไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้อย่างถูกต้อง

ประการที่สาม การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมีสภาพเป็น สิทธิคัดค้านการกระทำ มาจากแนวคิดที่ว่า ผู้ออกเสียงเลือกตั้งที่ลงคะแนนเพื่อคัดค้านการกระทำหรือนโยบายของรัฐบาลรวมทั้ง เจ้าหน้าที่ทางราชการผู้ใด ก็จะไม่ลงคะแนนสนับสนุนพรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ทางราชการนั้นๆ ตรงข้ามผู้ออกเสียงเลือกตั้งก็จะลงคะแนนให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือพรรคการเมืองที่ตรงกันข้ามกับผู้สมัครรับเลือกตั้งที่สังกัดพรรครัฐบาลหรือพรรคร่วมรัฐบาล

สำหรับ การเลือกตั้งใน แง่มุมของกฎหมาย ก็สามารถพิจารณาออกได้เป็น 3 ประการเช่นเดียวกัน ได้แก่

ประการแรก การเลือกตั้งในฐานะที่เป็น สิทธิ (rights) หมายความว่า ความสามารถที่แต่ละบุคคลกระทำได้ภายใต้การยอมรับของกฎหมาย สิทธิจึงเป็นสิ่งที่มีอยู่ในปัจเจกบุคคลแต่ละคน และกฎหมายให้การรับรอง หากถูกละเมิด กฎหมายจะให้การคุ้มครอง การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งถือเป็นสิทธิที่สำคัญประการหนึ่งที่รัฐจะให้การคุ้มครอง

ประการที่สอง การเลือกตั้งในฐานะที่เป็น เอกสิทธิ์ (privilege) หมายความว่า การที่บุคคลได้มาซึ่งเสรีภาพที่จะไม่ให้บุคคลอื่นแทรกสอดเข้ามาเกี่ยวข้องได้ การออกเสียงลงคะแนนจึงถือเป็นเอกสิทธิ์ที่ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมีความเป็นอิสระที่จะเลือกกระทำการอย่างใดก็ได้ที่ได้รับการยอมรับจากกฎหมาย ปราศจากการแทรกแซงหรือเกี่ยวข้องของบุคคลอื่นเป็นสำคัญ

ประการที่สาม การเลือกตั้งในฐานะที่เป็น หน้าที่ (duty) หมายความว่า การที่บุคคลจำเป็นต้องกระทำหรืองดเว้นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมีสภาพเป็นหน้าที่ก็ต่อเมื่อกฎหมายได้ระบุหรือบังคับให้ผู้ออกเสียงลงคะแนนไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง กฎหมายได้ระบุหรือบังคับว่าการใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งถือเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งที่ต้องกระทำ การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจึงเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งในทางการเมืองที่บังคับโดยกฎหมาย

นอกจากนั้น การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยยังมีหลักเกณฑ์ที่เป็นแกนกลางที่ประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกยอมรับกันโดยทั่วไป ได้แก่ ประการแรก หลักอิสระแห่งการเลือกตั้ง (freedom of election) หมายถึง การให้ความเป็นอิสระต่อการออกเสียงเลือกตั้ง โดยมิให้มีการขู่บังคับให้การเลือกตั้งถูกบิดเบือนไปจากเจตจำนงอันแท้จริงของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนยังเป็นเอกสิทธิ์ของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งโดยเด็ดขาด ดังนั้นจึงต้องมีการกำหนดให้มีการลงคะแนนที่เป็นความลับ เพื่อให้ประชาชนสามารถลงคะแนนได้อย่างอิสระ ปราศจากอิทธิพล อามิสสินจ้างหรือการข่มขู่ใดๆอีกด้วย ประการที่สอง หลักการเลือกตั้งตามกำหนดเวลา(periodic election) หมายความว่า การเลือกตั้งจะต้องมีการกำหนดเวลาไว้อย่างชัดเจนแน่นอน อาทิ การกำหนดให้มีการเลือกตั้งโดยปกติทุก 4 ปีหรือทุก 5 ปี เป็นต้น ประการที่สาม หลักการเลือกตั้งอย่างแท้จริง (genuine election) หมายถึง การดำเนินการให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม รัฐบาลจะต้องถือเป็นหน้าที่สำคัญที่จะต้องป้องกันมิให้มีการคดโกงในการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้ รวมทั้งอาจให้องค์กรที่เป็นกลางทำหน้าที่เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง โดยเปิดโอกาสให้มีการคัดค้านการเลือกตั้งได้เมื่อเห็นว่าการเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างแท้จริง ประการที่สี่ หลักการออกเสียงทั่วถึง (universal suffrage) หมายถึง การเปิดโอกาสให้มีการออกเสียงเลือกตั้งอย่างทั่วถึงแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า เว้นแต่ในกรณีที่มีข้อจำกัดอันเป็นที่รับรองหรือยอมรับกันโดยทั่วไป อาทิ การไม่อนุญาตสิทธิเลือกตั้งให้แก่เด็ก ภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวช บุคคลวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือ ผู้ที่ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาล เป็นต้น และ ประการที่ห้า หลักการเลือกตั้งอย่างเสมอภาค (equal suffrage) หมายความว่า บุคคลผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งย่อมมีสิทธิคนละหนึ่งเสียงเท่าเทียมกัน และคะแนนเสียงทุกคะแนนมีน้ำหนักเท่ากัน

ดังนั้น อาจกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำได้ว่า การเลือกตั้งเป็นการเลือกรัฐบาลที่จะมาทำการปกครอง ขณะเดียวกัน การเลือกตั้งก็อาจเป็นเสมือน”ห้ามล้อ”ของการปกครองได้เช่นเดียวกัน เพราะผู้เลือกตั้งอาจจะไม่เลือกผู้ที่เคยเป็นรัฐบาล กระบวนการเลือกตั้งจึงเป็นทั้งการนำมาซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลและจำกัดการกระทำของรัฐบาลไปด้วยในขณะเดียวกัน

สำหรับการเลือกตั้งในประเทศไทยขอกล่าวโดยสรุปในบางประเด็นในช่วงหลังการปฏิรูปการเมืองเมื่อ พ.ศ. 2540ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นต้นมาถือได้ว่ามีทั้งความก้าวหน้าและความล้าหลังไปในขณะเดียวกัน กล่าวคือ ประการแรก การมีคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ขึ้นมาทำหน้าที่บริหารจัดการเลือกตั้งให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรมถือเป็นความก้าวหน้าของการปฏิรูปการเมือง แต่ขณะเดียวกันก็เกิดความล้าหลัง ได้แก่ ความไร้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรมได้ มิหนำซ้ำยังมีปรากฎการณ์ของการทุจริตในการเลือกตั้ง การซื้อสิทธิขายเสียงที่แพร่ระบาดมากขึ้นประกอบกับการขาดความสามารถในการควบคุมการใช้จ่ายเงินในการหาเสียงเลือกตั้งให้เป็นไปตามที่กำหนด ได้นำไปสู่ความไม่เสมอภาคในการเลือกตั้งและเปิดโอกาสให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งบางคนหรือพรรคการเมืองบางพรรคได้เปรียบในการแข่งขันในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

ประการที่สอง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งที่สะท้อนหลักปรัชญาของการเลือกตั้ง คือ เมื่อมีการกำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีหน้าที่ต้องไปเลือกตั้งแล้ว ก็ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิที่จะปฏิเสธผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคนหรือพรรคการเมืองทุกพรรคที่เขาไม่ชอบได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นในบัตรเลือกตั้งที่มีการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถกาเครื่องหมายในช่องที่ไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และในช่องที่ไม่ลงคะแนนให้แก่พรรคการเมืองใดเลยในระบบบัญชีรายชื่อหรือเรียกกันสั้นๆ ว่าเป็นการ “Vote No” จึงเป็นการสะท้อนหลักปรัชญาของการเลือกตั้งที่แสดงถึงสิทธิในการคัดค้านการกระทำของนักการเมืองและพรรคการเมืองต่างๆได้เป็นอย่างดี ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าของกฎหมายเลือกตั้ง

นอกจากนั้นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 และ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2554 ยังได้บัญญัติถึงเงื่อนไขของการได้รับการเลือกตั้งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบแบ่งเขตเลือกตั้งคนเดียวว่าจะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ประการ ประการแรก ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะได้รับเลือกตั้งต่อเมื่อได้รับคะแนนเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น และมากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้ง ประการที่สอง ในกรณีที่ผู้สมัครได้รับคะแนนเลือกตั้งน้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นหรือไม่มากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งนั้น โดยให้มีการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ หรือกล่าวได้ว่าเป็นการเลือกตั้งใหม่รอบที่สอง ประการที่สาม หากการเลือกตั้งใหม่รอบที่สองยังไม่ผ่านเงื่อนไขเช่นเดิม คณะกรรมการการเลือกตั้งก็จะต้องประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่เป็นรอบที่สาม ซึ่งการเลือกตั้งใหม่ในรอบที่สามนี้ ถ้ามีผู้สมัครคนเดียวก็ให้ผู้สมัครซึ่งได้คะแนนเลือกตั้งเท่าใดก็ตามเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง (พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2554 มาตรา 27) และในกรณีที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งหลายคน ก็ให้ผู้สมัครซึ่งได้รับคะแนนเลือกตั้งมากที่สุดในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้ง แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่จะต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น และมากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้งด้วย และในกรณีที่มีผู้ได้รับคะแนนเลือกตั้งมากที่สุดเท่ากันหลายคน ให้ใช้วิธีจับสลาก (พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2554 มาตรา 28)

อย่างไรก็ตาม ทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2554 ไม่ได้มีการบัญญัติเงื่อนไขสำหรับการเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ เช่นเดียวกับการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตเลือกตั้งหรือเงื่อนไขอื่นๆไว้แต่ประการใด โดยเฉพาะในกรณีที่มีบัตรเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกพรรคการเมืองใดเลยในระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งก็อาจถือได้ว่าเป็นข้อด้อยหรือความล้าหลังได้เช่นเดียวกัน

อาจกล่าวได้ว่า การ “Vote No” ที่แสดงถึงการไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครรายใดเลยหรือพรรคการเมืองใดเลยนั้น ผลลัพธ์ในทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นและสมควรจะต้องนำไปพิจารณาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คือ

ประการแรก เป็นการสะท้อนสิทธิของการคัดค้านของประชาชน ซึ่งหมายถึงการสะท้อนถึงหลักปรัชญาของการเลือกตั้งอันจะมีผลต่อความชอบธรรมของระบบการเมือง พรรคการเมืองหรือนักการเมืองได้เป็นอย่างดี

ประการที่สอง ในกรณีที่เสียง “Vote No” มีจำนวนมากที่สุดหรือเป็นเสียงข้างมาก ย่อมสะท้อนถึงหลักการปกครองโดยเสียงข้างมากที่เป็นหลักการสำคัญของการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ได้เป็นอย่างดี ซึ่งในหลักปรัชญาของระบอบประชาธิปไตยแล้ว รัฐบาลหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะเกิดขึ้นจากเสียงข้างน้อยย่อมขาดความชอบธรรมในการปกครองโดยทันที

ประการที่สาม ในกรณีที่เสียง “Vote No” มีจำนวนน้อยโดยจะมีจำนวนคะแนนเสียงเท่าใดก็ตาม หลักการของระบอบประชาธิปไตย สิทธิของเสียงข้างน้อยย่อมจะต้องได้รับการพิทักษ์คุ้มครองหรือให้ความเคารพ เสียงส่วนใหญ่ย่อมต้องรับฟังเสียงข้างน้อยด้วยเช่นกัน

กล่าวโดยสรุป เสียง “Vote No” เป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง เป็นสิ่งที่อาจจะนำไปสู่แรงผลักดันในการปฏิรูปการเมืองไทยครั้งใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาการเมือง “น้ำเน่า” ที่ยังหมักหมมอยู่ในระบบสังคมการเมืองไทย

และหากไม่รีบดำเนินการตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องดังกล่าวนี้ การเมืองไทยจะนำบ้านเมืองเข้าสู่กลียุคและการแก้ไขปัญหาด้วยความรุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

ศาสตราจารย์ ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์
ศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

กำลังโหลดความคิดเห็น