xs
xsm
sm
md
lg

สมุทัย?

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

สถานการณ์ทางการเมืองวันนี้แม้จะใกล้วันยุบสภาเต็มที แต่ดูเหมือนร้อนขึ้นทันตาเห็นจากประเด็นการปราศรัยของแกนนำ นปช.บางคนในการชุมนุม เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2554 เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์นองเลือดเมื่อปีที่แล้วที่สี่แยกคอกวัว เพราะเป็นการปราศรัยที่ฉวัดเฉวียนเฉียดกับการกระทบเบื้องสูง ทำให้ ผบ.ทบ.ตัดสินใจส่งนายทหารเข้าแจ้งความในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ทางคนเสื้อแดงบางส่วนรณรงค์ให้ยกเลิก และถูกตอบโต้จากแกนนำ นปช.โดยการเข้าแจ้งความกลับข้อหาแจ้งความเท็จ รวมทั้งจะเข้าแจ้งความ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์, พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา และคุณอานันท์ ปันยารชุน ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เช่นกันจากกรณีเอกสารที่วิกิลีกส์นำออกมาเผยแพร่

ปัญหาของประเทศไทยไม่อาจแก้ได้ด้วยการเลือกตั้ง
 

แต่จะต้องแก้ด้วยการปฏิรูปใหญ่เท่านั้น

การปฏิรูปใหญ่ไม่ได้หมายถึงแค่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญจากบุคคลหลากสาขาอาชีพมาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ วันนี้ผมเชื่อเต็ม 100 เสียแล้วว่ารัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเขียนให้ดีวิเศษวิเสโสแค่ไหนก็ไม่อาจแก้ไขวิกฤตการเมืองในระดับวิกฤตที่สุดในโลกหรือสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงขึ้นมาได้

จึงมิพักต้องพูดถึงรัฐธรรมนูญที่ปฏิเสธความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ของสังคมไทยที่เรามีมาโดยตลอดในชั้นหลัง!
มีความคิดหนึ่ง - ซึ่งผมเห็นด้วย - ที่อธิบายว่าการยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 เกิดขึ้นเพราะการขัดกันของรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ

ฉบับหนึ่ง - รัฐธรรมนูญ 2540

ฉบับหนึ่ง - รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม

คำว่า “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม” ถ้าผมจำไม่ผิดดูเหมือนเป็นศัพท์บัญญัติของดร.นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ ซึ่งถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ของสังคมไทยนั้นแหละ ไม่ใช่รัฐธรรมนงรัฐธรรมนูญอะไรหรอก ความหมายของความขัดแย้งตามความคิดนี้จึงเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐธรรมนูญ 2540 หรืออันที่จริงรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่มีลักษณะ “ประชาธิปไตยเต็มใบ” ที่คัดเลือกมาตรการดีๆ เด่นๆ มาจากประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก รวมทั้งรัฐธรรมนูญ 2550 ด้วย กับความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ของสังคมไทย

มาดูกันก่อนว่า แนวความคิดนี้มองความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ของสังคมไทยไว้อย่างไร?

หรือพูดให้เก๋ก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของสังคมไทยมีโครงสร้างอย่างไร?

แนวคิดนี้เขามองว่าองค์ประกอบของสังคมไทยมี 4 ส่วนหลัก สังคมจะราบรื่นสมานฉันท์ได้ก็ต่อเมื่อเกิดดุลยภาพอย่างลงตัวในองค์ประกอบทั้งสี่นี้ คือ

1. พระมหากษัตริย์ หรือสถาบันพระมหากษัตริย์ - สังคมไทยนับแต่อดีตจวบจนปัจจุบันมีแต่การเปลี่ยนแปลงจากเบื้องบน ไม่มีการลุกขึ้นสู้แล้วก่อการเปลี่ยนแปลงจากเบื้องล่าง หรือมีอยู่บ้างก็เล็กและพ่ายแพ้ พระมหากษัตริย์นับแต่ยุคสุโขทัยมา ทรงเป็นผู้นำ ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจ และเป็น Statesman หรือรัฐบุรุษในความหมายที่แท้จริง หลังปี 2475 มาจนถึงปัจจุบัน บทบาทนี้ยิ่งแจ่มชัด ยิ่งชัดเจน แต่โครงสร้างใหม่ในทางลายลักษณ์อักษรพระองค์จะไม่ทรงมีบทบาททางการเมืองในฐานะ “ประมุขของรัฐ” เลย ยกเว้นในยามวิกฤตนองเลือด หรือใกล้จะนองเลือด

2. รากหญ้า หรือประชาชนส่วนใหญ่ในชนบท - คนกลุ่มนี้เข้าถึงทรัพยากรได้ยาก เป็นผู้เสียเปรียบถาวรนับแต่เกิดแผนปฏิรูปทุนนิยมในปี 2504 พวกเขามีอำนาจต่อรองในระบบเศรษฐกิจและระบบตลาดน้อยมาก หรือไม่มีเลย ต้องพึ่งพิงคนอื่น มีจุดเด่นอยู่อย่างเดียวคือมีจำนวนมาก ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการเลือกตั้ง ...จึงเป็น “ฐานคะแนนเสียงของนักการเมือง” มาโดยตลอด

3. ชนชั้นกลาง ทั้งในกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ - คนกลุ่มนี้มีความสามารถต่อรองได้ในระบบเศรษฐกิจและระบบตลาด รวมทั้งสามารถเข้าถึงทรัพยากร จึงเป็น “ฐานนโยบายของนักการเมือง” มาโดยตลอดเช่นกัน

4. ทหาร และข้าราชการพลเรือน - เป็นผู้กุมอำนาจรัฐตัวจริงมายาวนานนับแต่ปี 2475 และอันที่จริงก่อนหน้านั้นเสียอีกในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ในทางลายลักษณ์อักษรกลับไม่มีอำนาจทางการเมือง และถูกกีดกันออกจากการเมือง
นี่เป็นความสัมพันธ์ในวิถีและในสำนึกคนไทยโดยไม่รู้ตัวตั้งแต่ปี 2475 - 2550

สังคมไทยจะสมานฉันท์ได้อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อเกิดดุลยภาพในบทบาทขององค์ประกอบทั้ง 4 นี้

สาเหตุความล้มเหลวของรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรทุกฉบับ และวิกฤตทางการเมือง ก็เพราะไม่มีดุลยภาพระหว่างองค์ประกอบหลัก หรือนับหนึ่งที่พูดได้ว่า รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม

รัฐธรรมนูญ 2540 ล้มเหลวเพราะเหตุนี้

เพราะแม้จะออกแบบให้มี ส.ส.2 ระบบ คือ ส.ส.เขต กับส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ประเภทบัญชีเดียว 100 คน ก็เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างมาให้ชนชั้นกลางเป็นฐานคะแนนเสียงด้วยในส่วนของปาร์ตี้ลิสต์ แต่ก็กลับไปออกแบบให้มี ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง โดยตัดสินใจกันในสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดนั้นอย่างกะทันหัน และอย่างยอมจำนนต่อมายาภาพที่ว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง ข้อเสนอให้ ส.ว.ทั้งสภามาจากการสรรหาหรือการเลือกตั้งทางอ้อมเพื่อให้เป็นตัวแทนขององค์ประกอบอื่นในสังคมไทยจึงตกไป

ยิ่งเป็นการกีดกันบทบาทขององค์ประกอบที่ 1 และที่ 4 ออกห่างไปจากการเมือง

เสียงข้างมากเด็ดขาดของพรรคการเมืองที่ครองอำนาจเด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น กลับไปกดบทบาทขององค์ประกอบที่ 1 และที่ 4 หนักขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

แนวคิดนี้เชื่อว่า “วิกฤตที่สุดในโลก” เกิดขึ้นเพราะเหตุนี้
แนวคิดนี้มองในเชิงบวกว่า ส.ว.ไม่ควรจะมาจากการเลือกตั้ง แต่ควรออกแบบให้ ส.ว.เป็นตัวแทนขององค์ประกอบที่ 1 และที่ 4 ให้มากที่สุด!

รัฐธรรมนูญ 2550 โดยรวมแล้วยอมรับความจริงมากขึ้น ในสภาผู้แทนฯ ไม่มีปัญหา รากหญ้ายังเป็นฐานคะแนนเสียง ขณะที่ชนชั้นกลางก็ยังคงเป็นฐานคะแนนด้วยเหมือนเดิม เพราะยังมีปาร์ตี้ลิสต์ แม้จะจำแนกเป็นกลุ่มๆ และในขณะนี้ก็เพิ่มบทบาทมากขึ้นเมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุดเพิ่มให้ปาร์ตี้ลิสต์มีมากขึ้นถึง 125 คน ขณะที่ลดจำนวน ส.ส.เขตลงไปเหลือเพียง 375 คน

แต่ที่เพิ่มฐานคะแนนเสียงให้ชนชั้นกลาง (และ/หรือรากหญ้า?) มากขึ้น ก็คือให้มีส.ว.ระบบเลือกตั้งจาก 76 จังหวัด ซึ่งผู้ชนะแต่ละคนจะมีฐานคะแนนนิยมสูงมาก และอยู่ได้ยาวถึง 6 ปี

ในขณะที่บทบาทขององค์ประกอบที่ 1 และที่ 4 ยังพอจะแสดงได้ทาง ส.ว. ระบบสรรหา 74 คน - ซึ่งตอนนี้เหลืออยู่เพียง 73 คน - บ้างเล็กน้อยพอเป็นสัญลักษณ์ และระบบคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระที่องค์ประกอบที่ 4 มีบทบาทสูงผ่านทางตุลาการที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น

แต่ก็ไม่มีผลอะไรมากนักเพราะการจัดตั้งรัฐบาลเป็นเรื่องของ ส.ส. นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.ที่ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนในสาระสำคัญ ยังคงบังคับสังกัดพรรค และจะจัดตั้งพรรคต้องจดทะเบียน และ ฯลฯ
 
การปฏิรูปใหญ่ที่แท้จริงยังไม่มีวี่แววจะเกิดขึ้น....วิกฤตที่สุดในโลกยังคงมีเชื้อไฟรองรับอยู่เต็มที่เหมือนเดิม...

กำลังโหลดความคิดเห็น