xs
xsm
sm
md
lg

ขออภัยในความไม่สะดวก ที่การเลือกตั้งอาจเป็นโมฆะ!?

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

อันที่จริงการโฆษณาประชาสัมพันธ์และการรณรงค์หาเสียงของพรรคเพื่อไทยนับว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะได้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ได้ทำให้พรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เรียกว่า “ประชานิยม”

รายการที่พรรคเพื่อไทยได้สัญญาว่าจะให้กับประชาชนมีมากมายตัวอย่างที่น่าสนใจได้แก่ 1. พักหนี้เกษตรกร ไม่เกิน 500,000 บาท 5 ปี และหนี้ไม่เกิน 5 ล้านบาทยืดหนี้ 10 ปี 2. ชลประทานระบบท่อ 25 ลุ่มน้ำ 3. เพิ่มกองทุนหมู่บ้านอีก 1 ล้านบาท 4. รีไฟแนนซ์ หนี้ส่วนบุคคลไม่เกิน 500,000 บาท นาน 3 ปี และหนี้เกิน 500,000-1 ล้านบาท ปรับโครงสร้างหนี้ 5. จบปริญญาตรีมีเงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาท 6. ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน 7. ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล จากปัจจุบัน 30% เหลือ 25% 8. ขจัดความยากจนต้องหมดไปภายใน 4 ปี 9. ออกบัตรเครดิตการ์ดสำหรับเกษตรกร 10. เบี้ยผู้สูงอายุ อายุ 60 ปี ได้ 600 บาท อายุ 70 ปี ได้ 700 บาท อายุ 80 ปี ได้ 800 บาท อายุ 90 ปี ขึ้นไปได้ 1,000 บาท 11. เลิกกองทุนน้ำมัน เพื่อทำให้ราคาเบนซิน 95 ลดลง 7.50 บาทต่อลิตร 91 ลด 6.70 ดีเซลลด 2.20 บาทต่อลิตร 12. แจก Tablet ให้เด็ก ป. 1 ทุกคน

ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นก็น่าสนใจมากแล้วเพราะเป็นการหาเสียงที่โดนใจประชาชนจำนวนมากสามารถวัดเป็นเม็ดเงินได้ชัดเจน ยังไม่นับการลงทุนอย่างมโหฬารที่ได้สัญญาเอาไว้ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า รถไฟ ระบบชลประทาน แลนด์บริดจ์ ฯลฯ เพราะสิ่งที่ตามมาก็คือการก่อหนี้สาธารณะครั้งใหญ่สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศที่ประมูลแข่งขันกันมาในการหาเสียงกับประชาชน และปัญหาอีกด้านหนึ่งก็คืออัตราเงินเฟ้อที่รัฐบาลก็จะต้องแก้ไขปัญหาต่อไป

แต่ทำอย่างไรได้เพราะเมื่อสัญญาประชาชนจนมีคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น ถ้าทำไม่ได้ก็คงถูกประชาชนทวงถามและจะทำให้การ “สัญญาว่าจะให้” จะกลับกลายเป็น “หลอกว่าจะให้” เมื่อไรก็คงจะก่อให้เกิดความเสียหายทางการเมือง แต่ก็หวังว่ารัฐบาลชุดนี้คงไม่โง่ทำทุกอย่างพร้อมๆ กันให้เศรษฐกิจโกลาหลเป็นแน่ และคงต้องมีการจัดลำดับโครงการที่ทำก่อนและทำหลัง อีกทั้งคงต้องมีหลายโครงการที่ทำไปในลักษณะหลบเลี่ยงโดยใช้เทคนิคการผ่อนทยอยทำให้ยืดเยื้อเวลาออกไป

และต่อไปนี้นโยบายธนาคารแห่งประเทศไทยที่บริหารนโยบายการเงินด้วย “เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ” (Inflation targeting) คงถูกรัฐบาลจัดระเบียบใหม่โดยรัฐบาลโดยใช้นโยบายทางการเงินบริหารโดยนำ “เป้าหมายทางการเมือง” (Politic targeting) เป็นตัวตั้งแทน

คำถามที่สำคัญในช่วงสั้นๆ ในเวลานี้จากนักการเมือง นักวิชาการ และประชาชนจำนวนไม่น้อยไม่ใช่สงสัยเพียงแค่ว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทย “จะทำได้หรือเปล่า?”

แต่ยังมีคำถามด้วยว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทย “จะได้ทำหรือเปล่า?”

เพราะความจริงแล้วจะต้องพิจารณาความเสี่ยงว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะหรือไม่ประการหนึ่ง? และพรรคไทยรักไทยทำผิดกฎหมายการเลือกตั้งจนถึงขั้นยุบพรรค ด้วยหรือไม่เป็นอีกประการหนึ่ง!?

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2554 มาตรา 53 (1) บัญญัติเอาไว้ว่า:

มาตรา 53 ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเอง หรือผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมืองใด หรือให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

“(1) จัดทำให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด”

ดังนั้นกรณีการประชาสัมพันธ์และการโฆษณาหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่คำนวณเป็นเงินได้นั้นอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดในกฎหมายเลือกตั้งได้ ซึ่งเรื่องนี้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ยื่นคำร้องขอให้ กกต.ได้ยุบพรรคไม่ใช่เฉพาะพรรคเพื่อไทยเท่านั้น แต่ยังได้ยื่นคำร้องให้ยุบพรรคการเมืองที่ทำสำคัญอีก 4 พรรคด้วย

นอกจากนั้นพรรคการเมืองหลายพรรค โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ได้มีหลักฐานปรากฏหลายครั้งว่ามี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นนักโทษหนีอาญาแผ่นดิน ถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งห้ามเกี่ยวข้องกับการเมืองและ (ซึ่งปัจจุบันถือสัญชาติมอนเตเนโกร) เป็นผู้ทรงอิทธิพลในพรรคและช่วยหาเสียงให้กับพรรคเพื่อไทยอย่างเปิดเผย ในขณะที่คนในพรรคเพื่อไทยก็แสดงความเห็นทางสาธารณะหลายครั้งยอมรับการอยู่เบื้องหลังพรรคเพื่อไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างชัดเจน โดยปรากฏเป็นการโฆษณาหาเสียงอย่างโจ่งแจ้งว่า “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” และ “ยิ่งลักษณ์คือโคลนิ่งของทักษิณ” เป็นต้น กรณีนี้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไยก็ได้ร้องต่อ กกต. ให้ยุบพรรคเพื่อไทยแล้วเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีการจัดการเลือกตั้งของ กกต. อีก 2 กรณี ซึ่งพล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ไปยื่นคำร้องขอให้ กกต. เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 อย่าได้รับรองผลการเลือกตั้งและประกาศให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ให้เป็นโมฆะและจัดการเลือกตั้งใหม่ คือ

กรณีแรก คือ มีผู้เสียสิทธิการเลือกตั้งไปถึง 2 ล้านกว่าคน เพราะไม่สามารถใช้สิทธิการเลือกตั้งเพราะรายชื่อค้างอยู่ในทะเบียนการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554 โดย กกต. อ้าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.มาตรา 97 วรรคสองว่า ผู้ที่ได้ลงทะเบียนการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตให้หมดสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งเดิมที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งนี้จนกว่าจะมีการลงทะเบียนเปลี่ยนแปลง

ซึ่งกรณีนี้นักกฎหมายและนักวิชาการจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า กกต.ตีความกฎหมายผิดคิดว่าจะทำให้ประชาชนต้องถูกบังคับใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตตลอดไป จนกว่าจะไปแจ้งเปลี่ยนแปลง แต่คำว่าจนกว่าการลงทะเบียนเปลี่ยนแปลงต้องหมายถึงการเลือกตั้งเฉพาะคราวนั้นเท่านั้น

แต่บังเอิญว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยเปลี่ยนแปลงระบบ ส.ส.สัดส่วนมาเป็นระบบบัญชีรายชื่อ และเปลี่ยนการเลือกตั้ง 1 เขตมี ส.ส.ได้หลายคน มาเป็นลดจำนวนเขตให้เล็กลงและมี ส.ส.ได้เพียง 1 คน ต่อ 1 เขต

ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนเขตเลือกตั้งใหม่ ทุกคนในประเทศไทยจึงย่อมถูกเปลี่ยนทะเบียนอยู่ในเขตเลือกตั้งใหม่หมดโดยอัตโนมัติ ดังนั้นการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจึงต้องเริ่มใหม่ด้วยเช่นกัน เพราะเป็นไปไม่ได้ที่บัญชีการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจะยังคงใช้ได้เหมือนเดิม เพราะการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตในแต่ละคนต้องแจ้งว่าผู้ที่ต้องการใช้สิทธิล่วงหน้านอกเขตนั้นลงคะแนนอยู่ในเขตใด ดังนั้นบัญชีการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ถูกบันทึกเอาไว้ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 จึงย่อมใช้ไม่ได้

ตัวอย่างที่มีความผิดพลาดที่เห็นชัดที่สุดก็คือ มีประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยที่เคยใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตได้ย้ายทะเบียนบ้านหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 แต่ปรากฏว่ากลับมีรายชื่ออยู่ในทะเบียนว่าเป็นผู้ที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเพื่อลงคะแนนในเขตเดิมทั้งๆ ที่ได้ย้ายทะเบียนบ้านออกมานานหลายปีแล้ว

ความผิดพลาดที่สำคัญประการต่อมา คือ เมื่อ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ไปแสดงตนที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 กลับถูกปฏิเสธห้ามใช้สิทธิ ทั้งๆที่ รัฐธรรมนูญมาตรา 72 ที่ให้ประชาชนชาวไทยมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ได้มีการบันทึกเจตนารมณ์เอาไว้ความตอนหนึ่งว่า:

“เจตนารมณ์ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยมีส่วนร่วมในการเลือกตัวแทนของตนเข้าสู่ระบบการปกครอง กำหนดให้บุคคลที่มีสิทธิเลือกตั้งมีหน้าที่ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ดังนั้นรัฐต้องมีหน้าที่โดยตรงในการอำนวยความสะดวกและจัดให้สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้โดยง่าย”

กรณีที่สองคือ ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งแบบระบบบัญชีรายชื่อ (บัตรเลือกพรรค + บัตรเสีย + บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน) กลับมีบัตรมากกว่าผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งในระบบเขต (บัตรเลือกตั้งคน + บัตรเสีย + บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน) สูงถึง 83,222 บัตร ซึ่งยังหาคำตอบไม่ได้ว่าทำไมบัตรที่แจก 2 ใบให้กับผู้ใช้สิทธิเฉพาะตอนเข้าคูหาจึงมีความแตกต่างกันได้มากขนาดนี้ ซึ่งหากยังหาคำตอบไม่ได้ก็ย่อมถูกสงสัยได้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีความสุจริตเที่ยงธรรม และอาจถึงขั้นมีบัตรปลอมหรือบัตรพิมพ์เกินจำนวนผสมด้วยหรือไม่?

ด้วยเหตุผลนี้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงได้ยื่นหนังสือถึง กกต.ไม่ให้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง และให้ดำเนินการยุบหลายพรรคการเมือง ตลอดจนให้ประกาศการเลือกตั้งครั้งนี้ให้เป็นโมฆะ แล้วให้จัดการเลือกตั้งใหม่

ซึ่งแน่นอนว่าหาก กกต.ได้ดำเนินการรับรองผลการเลือกตั้งต่อไป โดยไม่สนใจข้อเรียกร้องของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และคณะ ก็เชื่อได้ว่าคงจะต้องมีการพิสูจน์ความจริงกันในศาลอาญา และศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งต่อไปในเร็ววันนี้

เพียงแต่จะทบทวนความทรงจำเมื่อครั้งที่อดีต กกต. 3 ท่าน พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ, นายปริญญา นาคฉัตรีย์ และนายวีระชัย แนวบุญเนียร ถูกศาลอาญาให้จำคุก 4 ปี โดยไม่รอลงอาญาและไม่ให้ประกันตัว กรณีการจัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 ผิดกฎหมายแล้วฝืนจัดการเลือกตั้งต่อไปทั้งๆ ที่มีปัญหาหลายประการ เพิกเฉยต่อการทำผิดกฎหมายนั้น ศาลอาญาได้พิพากษาให้เหตุผลเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 ความตอนหนึ่งว่า:

“จำเลยทั้งสามเป็นผู้มีวัยวุฒิและคุณวุฒิเคยดำรงตำแหน่งระดับสูงมาก่อน ย่อมตระหนักดีว่า กกต.เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเมือง การปกครองในระบอบประชาธิปไตย เมื่อประชาชนจำนวนมาก รวมทั้งพรรคการเมืองไม่ไว้วางใจในความเป็นกลาง ความสุจริตและเที่ยงธรรมของจำเลยทั้งสามแล้ว ย่อมกระทบกระเทือนถึงการจัดการเลือกตั้งทุกระดับ การที่จำเลยทั้งสามยังคงปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งต่อไปโดยไม่ไยดีต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา และไม่ตระหนักถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในภายหน้า จึงส่อพิรุธและชี้ให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ

ด้วยเหตุดังกล่าวเป็นที่ประจักษ์และเชื่อได้ว่า หากศาลอาญาสั่งอนุญาตให้ปล่อยจำเลยทั้งสามระหว่างอุทธรณ์ เพื่อให้โอกาสจำเลยกลับไปปฏิบัติหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ส.ส.อีก ก็น่าจะเกิดความไม่เรียบร้อย สุจริต และเที่ยงธรรมเหมือนการเลือกตั้งที่ผ่านมา”

สังหรณ์ใจว่า พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และ กกต.ทั้ง 5 คน ต่อไปอาจเจอกันที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง หรือศาลอาญา และน่าติดตามว่าประวัติศาสตร์ในคดีความอาจซ้ำรอยเดิมคล้ายๆ กับปี 2549 อีกหรือไม่!?
กำลังโหลดความคิดเห็น