xs
xsm
sm
md
lg

อสังหาฯค้านประชานิยมปู ผวากระแสเก็งกำไร-ฟองสบู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - 3 สมาคมอสังหาฯ หารือนโยบายประชานิยมกระตุ้นอสังหาฯ รัฐบาล “ปู 1” ชี้ช่วยคนซื้อบ้านลดค่าใช้จ่ายครั้งใหญ่ หวั่นปลุกกระแสเก็งกำไรปั่นอสังหาฯ โตแบบไร้ทิศทาง ขู่ภาวะฟองสบู่ตามมาแน่ ลั่นจุดยืนภาคอสังหาฯ ต้องการเติบโตแต่ต้องเกิดจากความต้องการที่แท้จริง ถามการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท รัฐบาลเตรียมแผนรับมือแล้วหรือยัง

นโยบายประชานิยมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่นำโดยว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สร้างความหวาดหวั่นต่อภาคเอกชนอยู่ในขณะนี้ นั้นคือ “การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ, กำหนดเงินเดือนคนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีเริ่มทำงานใหม่ที่ 15,000 บาท/เดือน” เพราะการปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินงาน การผลิตในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นนี้

ในขณะที่ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก็มีนโยบายกระตุ้นให้ประชาชนซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น ด้วยการออกสินเชื่อดอกเบี้ย 0% นาน 5 ปี สำหรับผู้ที่ซื้อบ้านหลักแรกราคาไม่เกิน 4 ล้านบาท ปรีค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ ค่าจดจำนอง และลดภาษีธุรกิจเฉพาะเหลือ 1.65%

นายธำรง ปัญญาสกุลวงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวแสดงความเห็นว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในวงกว้าง เพราะปัจจุบันค่าแรงของแรงงานไร้ฝีมือเพียง 200-230 บาทเท่านั้น หากต้องปรับขึ้นเป็น 300 บาท/วัน แบบทันทีทันใดจะทำให้ธุรกิจปรับตัวไม่ทัน ซึ่งการขึ้นค่าแรงนั้นจะทำต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ส่วนการกำหนดค่าจ้างปริญญาตรีจบใหม่ 15,000 บาทนั้น จะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นเกือบ 50% เพราะบริษัทส่วนใหญ่ให้ค่าจ้างปริญญาตรีทำงานใหม่ไม่เกิน 10,000 บาท/เดือน ผลที่ตามมาคือบริษัทต่างๆจะจ้างพนักงานเท่าที่จำเป็น เพื่อลดค่าใช้จ่าย ประคับประครองธุรกิจ

ส่วนนโยบายดอกเบี้ย 0% นาน 5 ปี สำหรับผู้ที่ซื้อบ้านหลักแรกราคาไม่เกิน 4 ล้านบาท นั้น เมื่อคำนวณจากอัตราดอกเบี้ยทั่วไปประมาณ 5% ต่อปี จะพบว่าตลอดระยะเวลา 5 ปี ผู้บริโภคจะประหยัดไปได้ถึง 25% ซึ่งจะไปทำลายระบบธนาคารพาณิชย์ให้เกิดการแข็งขันแบบบิดเบี้ยว ประกอบกับนโยบายฟรีค่าธรรมเนียมการโอน ค่าจดจำนอง ส่วนลดภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ซื้อบ้านในยุคนี้ประหยัดไปได้อย่างมหาศาลมากกว่าทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา

**อัดนโยบายประชานิยมปั้นฟองสบู่**

ส่วนผลที่ตามมา จากนโยบายประชานิยมนี้ คือ จะก่อให้เกิดการซื้อบ้านไว้เก็งกำไรตามมา เพราะไม่มีต้นทุนดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านถือว่าถูกมาก คนก็จะแห่มาซื้อบ้านมากขึ้น เกิดการพัฒนามากขึ้นตาม ทำให้ภาคอสังหาฯ เฟื้องฟู เกิดการเติบโตแบบไร้ทิศทางและนำไปสู่ภาวะฟองสบู่ในที่สุด

นายธำรง กล่าวต่อว่า ภายในสัปดาห์ทั้ง 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์จะร่วมหารือกัน ถึงมาตรการต่างๆที่รัฐบาลออกมา ถึงผลดี และผลกระทบที่จะตามมา พร้อมเตรียมการรับมือ และเพื่อเป็นการแสดงจุดยืนของภาคธุรกิจอสังหาฯ ด้วย ส่วนจะทำหนังสือไปยังรัฐบาลหรือไม่นั้นจะต้องร่วมหารือกันอีกครั้ง เพราะแม้ว่าผู้ประกอบการทุกรายจะต้องการให้ธุรกิจมีการเติบโต แต่ต้องเกิดจากความต้องการที่อยู่อาศัยอย่างแท้จริง เป็นตามภาวะของเศรษฐกิจที่แท้จริง ไม่ใช่เกิดจากการใช้นโยบายปั่นให้ธุรกิจเฟื่องฟู เพราะการเติบโตแบบนี้จะอยู่ได้ไม่นาน สุดท้ายต้องเกิดฟองสบู่แตกในที่สุดหรือเกิดภาวะถดถอยอย่างรวดเร็ว

“การที่รัฐบาลจะออกนโยบายอะไรมานั้น ต้องมองถึงความเป็นจริงของภาคธุรกิจด้วยว่าส่งผลกระทบมากน้อยเพียงใด สามารถทำใด้จริงหรือไม่ ไม่ใช่คิดแค่ว่านโยบายประชานิยมเพื่อสร้างคะแนนเสียงเพียงอย่างเดียว หากพิจารณาจากเม็ดเงิน 2 ล้านล้านบาท ที่ต้องใช้ตามนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ เชื่อว่าหลังจากนี้จะเกิดการถอนขนห่านครั้งมโหฬารเกิดขึ้น ซึ่งห่านที่ว่านี้คือภาคธุรกิจ แต่สุดท้ายผลทุกอย่างก็จะตกไปสู่ผู้บริโภค เพราะเมื่อต้นทุนของผู้ประกอบการขึ้นเค้าก็ต้องขึ้นราคาสินค้า สุดท้ายผู้บริโภคจะต้องซื้อของแพงขึ้น เราไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวย รัฐบาลต้องปลูกฝั่งให้ประชาชนรู้จักทำมาหากิน ควรให้คันเบ็ดเพื่อไปตกปลา แต่ไม่ใช่ให้ปลาไปกินเลย และสุดท้ายประชาชนรากหญ้าก็ไม่รู้จักทำมาหากินรอประชานิยม รอรัฐบาลมาแจกของให้เท่านั้น ” นายธำรงกล่าว

ด้านนายอิสระ บุญยัง นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องการให้รัฐบาลทบทวนการปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าว แต่หากรัฐบาลยังยืนยันที่จะเดินหน้านโยบายนี้ก็ไม่ได้ขัดข้อง เพราะการขึ้นค่าแรงมีทั้งผลดีและผลเสีย ผลดีคือ เป็นการเพิ่มกำลังซื้อแก่ผู้บริโภค แต่ผลเสียคือ เพิ่มต้นทุนประกอบการทำให้ต้องขายสินค้าราคาแพงขึ้น ซึ่งรัฐบาล

นอกจากนี้ ยังมีคำถามตามมาว่า รัฐบาลมีแผนหรือมาตรการรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นภายหลังปรับขึ้นค่าแรงไปแล้วหรือไม่ ประเด็นแรก การที่จะปรับขึ้นค่าแรงนั้นจะต้องเข้าสู่กระบวนการของระบบไตรภาคี หากเอกชนไม่เห็นด้วย รัฐบาลจะต้องรือนโยบายของระบบไตรภาคีหรือไม่ 2 ค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไม่เท่ากัน ซึ่งปัจจุบันมี 22 ระดับ โดยภูเก็ตมีค่าจ้างขึ้นต่ำสูงสุด 221 บาท/วัน รองลงมากรุงเทพมหานครและปริมณฑล 215 บาท ส่วนต่ำสุดอยู่ที่พะเยา 159 บาท รองลงมาน่าน 161 บาท ซึ่งแบ่งตามค่าครองชีพ เขตในเมือง นอกเมือง

“การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท จะทำให้ในบางพื้นที่ต้องปรับค่าแรงขึ้นเกือบ 100% สิ่งที่น่าเป็นห่วงตามมาคือ ธุรกิจเอสเอ็มอี ที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการเกษตรจะอยู่ได้หรือไม่ เพราะธุรกิจเหล่านี้มีต้นทุนน้อยหากต้องขึ้นค่ารแรงถึง 100% จะส่งผลกระทบอย่างมาก และหากไม่มีธุรกิจเหล่านี้ภาคการเกษตรของไทยก็จะแย่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานเป็นหลัก เช่นธุรกิจสิ่งทอ อาจต้องย้านฐานการผลิต หรือถึงขั้นปิดกิจการไปเลยเพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว” นายอิสระกล่าว

ปัจจุบันรัฐบาลยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการขึ้นค่าแรง ซึ่งหากเตรียมแผนรับมือไว้อย่างดีแล้ว และทำให้ภาคเอกชนเชื่อว่าแผนดังกล่าวสามารถแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาได้ก็ยินดีที่จะยอมรับ ส่วนแผนชดเชยรายได้ให้แก่ภาคธุรกิจนั้นเชื่อว่าไม่ได้ผล เพราะผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์มากที่สุดคือ บริษัทขนาดใหญ่ที่มีรายได้มากก็จะได้รับการชดเชยมากตามไปด้วยในขณะที่ในทางปฏิบัติเพราะบริษัทเหล่านี้เทคโนโลยีขั้นสูง ใช้แรงงานน้อย ซึ่งปัจจุบันจ่ายค่าแรงขั้นต่ำเกินกว่า 250 บาท/วันอยู่แล้ว หากปรับขึ้นเป็น 300 บาท/วัน ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ในขณะที่บริษัทขนาดเล็ก ธุรกิจเอสเอ็มอี ไม่มีเทคโนโลยีขั้นสูงเพราะต้องลงทุนมาก จึงใช้แรงงานแทนทำให้ต้นทุนแรงงานสูงกว่าบริษัทขนาดใหญ่ แต่เมื่อรัฐบาลจ่ายค่าชดเชยให้ก็จะได้รับในจำนวนที่น้อยมากซึ่งไม่เพียงพอต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

นายอิสระกล่าวต่อว่า หากรัฐบาลเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ก็ต้องแก้ปัญหาแรงงานทั้งระบบ เพราะปัจจุบัจธุรกิจของไทยขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานในกลุ่ม 3D ซึ่งได้แก่ งานสกปรก (Dirty) งานยากลำบาก (difficult) งานเสี่ยงอันตราย (dangerous) ซึ่งงานเหล่านี้คนไทยไม่ทำ ที่ผ่านมาต้องจ้างแรงงานต่างด้าวแทน ดังนั้นรัฐบาลควรทำข้อตกลงกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา เพื่อนำเข้าแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ส่วนการปรับเงินเดือนเริ่มต้นของผู้ที่จบปริญญาตรี 15,000 บาทนั้นเห็นด้วย แต่รัฐบาลจะต้องปรับระบบหลักสูตรการศึกษาใหม่ให้ตรงกับความต้องการของตลาด เพราะอาชีพในบางประเภทมีความต้องการพนักงานจำนวนมาก แต่กลับมีนักศึกษาจบออกมาน้อยมาก ในขณะที่บางหลักสูตรแทบจะไม่มีงานรองรับ นอกจากนี้สิ่งที่จำเป็นมากคือ ต้องมีมาตรฐานแรงงาน

“อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลยืนยันที่จะปรับขึ้นค่าแรง ก็ยินดีที่จะดำเนินตาม แต่ต้องการเสนอแนะให้รัฐบาลวางนโยบายดังต่อไปนี้ 1.แผนช่วยเหลือภาคธุรกิจเมื่อต้นทุนปรับขึ้นและการปรับตัวเพื่อรองรับกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 2.พิจารณาการนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ 3.แก้ไขระบบการศึกษาใหม่ ผลิตนักศึกษาให้ตรงกับความต้องการของตลาด และ 4.ต้องสร้างมาตรฐานแรงงาน” นายอิสระกล่าว

**ค่าแรงดันราคาบ้านพุ่งฉุดยอดขายหด**

นายไพโรจน์ สุขจั่น ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท บัวทอง พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด และนายกสมาคมการขายและการตลาดอสังาหริมทรัพย์ กล่าวว่า สำหรับภาคธุรกิจอสังหาฯ ผลกระทบที่ตามมาหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท คือ ต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะต้นทุนแรงงานคิดเป็น 30% ของต้นทุนค่าก่อสร้างทั้งหมด หากมีการปรับขึ้นก็จะไปซ้ำเติมกับต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่ขึ้นมาแล้วกว่า 5-7% ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ต้องปรับขึ้นราคาบ้าน โดยเฉพาะในภาวะที่ตลาดชะลอตัว การแข่งขันสูง การขายทำได้ยาก

“เดิมขายบ้านได้ยากอยู่แล้ว เพราะเศรษฐกิจไม่ดี ที่ผ่านมายอดขายของผู้ประกอบการลดลงมากว่า 30-60% หากต้องขึ้นราคาบ้านในภาวะเช่นนี้ก็คงขายยากเข้าไปอีก หากไม่ขึ้นราคาก็จะต้องขายทุนในที่สุด.
กำลังโหลดความคิดเห็น