xs
xsm
sm
md
lg

Analysis: สื่อนอกจับตา “ทักษิโณมิกส์” หวนคืนสู่ประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม
เอเอฟพี - ท่ามกลางกระแสความนิยมจากมหาชนคนรากหญ้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรี เตรียมออกนโยบายประชานิยมหลากรูปแบบเพื่อลดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย ซึ่งอาจต้องแลกมาด้วยภาวะเงินเฟ้อและหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น

แผนปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ, เพิ่มราคาข้าว และนโยบายแจกคอมพิวเตอร์แท็ปเล็ตแก่นักเรียนชั้นประถมศึกษา คือหนึ่งในสัญญาใจที่เป็นพลังขับเคลื่อนให้พรรคเพื่อไทยของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร กุมชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

แม้จะถูกรัฐประหารไปเมื่อปี 2006 ทว่า อดีตมหาเศรษฐีโทรคมนาคมรายนี้ ยังสามารถครองใจชนชั้นล่าง ที่ติดอกติดใจนโยบายรักษาพยาบาลราคาถูก และการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในรัฐบาลของเขา ซึ่งวันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก ก็กำลังเดินตามรอยเท้าพี่ชายด้วยการนำนโยบายเศรษฐกิจที่มีกลุ่มคนจนเป็นเป้าหมาย หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ทักษิโณมิกส์” กลับมาใช้ใหม่

“แนวคิดของระบบเศรษฐกิจแบบนี้ก็ถือว่าดี เพราะมุ่งความสำคัญไปที่การแก้วัฏจักรความยากจน” ดร.ธนวัฒน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าว

“แต่พรรคเพื่อไทยต้องใช้นโยบายเหล่านี้อย่างระมัดระวัง” ดร.ธนวัฒน์ เตือน

มาตรการแก้ไขความยากจนของไทย นับว่าก้าวหน้าไปมาก โดยในปี 2009 มีประชาชนเพียง 8.1 เปอร์เซ็นต์ ที่ยังมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ซึ่งจัดอยู่ในระดับต่ำสุดของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ตามข้อมูลจากธนาคารโลก

อย่างไรก็ดี การกระจายรายได้ยังคงมีความเหลื่อมล้ำสูงระหว่างคนในกรุงเทพฯ และคนชนบททางภาคอีสาน ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของทักษิณ

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ระบุว่า รายได้เกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ของไทย ตกอยู่ในมือกลุ่มคนร่ำรวย ซึ่งคิดเป็นประชากรเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศ

“เมื่อคนมีรายได้มากขึ้นก็จะใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เฟื่องฟูขึ้นด้วย แต่ก็มีความเสี่ยงเหมือนกัน เพราะนโยบายประชานิยมของพรรคเพื่อไทยอาจทำให้ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงขึ้น” ดร.ธนวัฒน์ กล่าว

ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ที่ราวๆ 4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่ำกว่าหลายประเทศในเอเชีย แต่นักวิเคราะห์มองว่า ราคาสินค้าที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะดึงดูดเม็ดเงินกลับสู่สถาบันการเงินและทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น จนส่งผลกระทบไปถึงภาคการส่งออก

การปรับราคาข้าวจาก 10,000 บาท เป็น 15,000 บาทต่อตัน ก็นับว่าสูงขึ้นมากจนน่าตกใจ ทำให้นโยบายของ ยิ่งลักษณ์ อาจไม่เพียงกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกเท่านั้น

“นี่จะเป็นราคาข้าวที่สูงที่สุดในโลก” กอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุ

“นโยบายนี้จะกระทบต่อการส่งออกข้าวแน่นอน เพราะถ้าตั้งราคาขนาดนี้ เราจะขายข้าวสารได้ก็ต่อเมื่อเวียดนามขายข้าวทุกชนิดหมดแล้ว”

นอกจากนี้ แผนปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก 40 เปอร์เซ็นต์ เป็น 300 บาทต่อวัน ก็สร้างความวิตกกังวลแก่บริษัทห้างร้านต่างๆ แม้นโยบายลดภาษีนิติบุคคลจะช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวได้บ้างก็ตาม

มาร์ก มอนสัน ผู้จัดการฝ่ายเงินทุนจาก ไรฟ์ไฟเซน แคพพิเทิล แมเนจเมนต์ ในกรุงเวียนนา เตือนว่า กลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งเป็นรากฐานของเศรษฐกิจไทย

“บริษัทเหล่านี้กำไรน้อยมากอยู่แล้ว เขาจะต้องปลดพนักงานออกหรือเปล่า? นโยบายเช่นนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของตลาดอาชีพและแรงงานแน่นอน” มอนสัน กล่าว

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนดูจะยังไม่วิตกทุกข์ร้อนมากนัก เมื่อดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มถึง 4.5 เปอร์เซ็นต์ในสัปดาห์นี้ หลังพรรคเพื่อไทยได้ชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างเด็ดขาด ซึ่งทำให้หลายฝ่ายคาดหวังว่า เสถียรภาพจะกลับคืนสู่การเมืองไทยอีกครั้งหลังต้องเผชิญเหตุวุ่นวายมานานหลายปี ขณะที่เงินบาทก็ปรับตัวแข็งขึ้นทันทีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประกาศว่า จะปล่อยค่าเงินให้เป็นไปตามกลไกของตลาด

เศรษฐกิจไทยซึ่งพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักเติบโตขึ้นราว 7.8 เปอร์เซ็นต์ในปี 2010 และมีความหวังว่า รายได้ที่เพิ่มขึ้นบวกกับอำนาจจับจ่ายใช้สอย จะทำให้รัฐบาลสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น และช่วยลดแรงกดดันที่มีต่อการคลังสาธารณะลง

นักวิเคราะห์ประเมินว่า โครงการต่างๆ ของพรรคเพื่อไทย รวมถึงการสร้างเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงและบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงฟรี จะต้องใช้งบประมาณถึง 1.81 ล้านล้านบาท ในระยะ 5 ปีข้างหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น