xs
xsm
sm
md
lg

“จำนำข้าว”สัญญา พท.อุ้มโรงสี-กดหัวชาวนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยังไม่ทันเข้ามาบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ แต่เวลานี้หลายนโยบายของเพื่อไทย กำลังเกิดปัญหามากมาย และหนึ่งในนั้น  คือ การรับจำนำข้าว แทนการประกันราคา
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่

“จำนำข้าว ตันละ 15,000 บาท เลิกระบบประกันราคา”1 ในนโยบายหาเสียงพรรคเพื่อไทย (พท.) ประกาศเป็นสัญญาประชาคมก่อนวันหย่อนบัตรเลือกตั้ง 3 ก.ค.54 จนชนะการเลือกตั้ง เปลี่ยนขั้วรัฐบาลจากประชาธิปัตย์ (ปชป.) มาอยู่ในมือเพื่อไทย นำ “ปู-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” กลายเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทยทันที (รวมถึงคำมั่นสัญญาปรับค่าแรงเป็น 300 บาท/วัน,ป.ตรี 15,000 บาท,แจกแท็บเล็ต นร.ฯลฯ)

และหลังเลือกตั้ง “เจ๊ปู-ว่าที่นายกฯ” ประกาศย้ำไว้ว่า จะนำระบบจำนำข้าวมาใช้ในเดือนพฤศจิกายน 2554 ซึ่งเป็นฤดูข้าวนาปี 2554/55

แต่โดยเนื้อแท้แล้ว นี่คือนโยบายผลักให้ชาวนาทั่วไทย กลับไปสู่ความเสี่ยงอีกครั้ง เพราะตลอดห้วงเวลาที่รัฐบาลไทย นำนโยบาย “จำนำข้าว” มาใช้ในระยะเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ทุกปี มักจะปรากฏข่าวตามสื่อมวลชนทุกแขนงถึงปมปัญหาการทุจริตกันตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง เป็นประจำ

ไม่ว่าจะเป็นการสวมสิทธิเกษตรกรนำข้าวเข้าร่วมโครงการจำนำของนายทุนโรงสี , การกว้านซื้อข้าวในราคาถูก ก่อนนำเข้าร่วมโครงการจำนำกินส่วนต่าง , การนำข้าวต้นทุนต่ำจากต่างพื้นที่ เข้ามาสวมสิทธิ, ชาวนาถูกโรงสีโกง , ข้าวโครงการรับจำนำหายยกโกดัง รวมไปถึงการฮั้วประมูลข้าวในสต๊อกรัฐบาล ฯลฯ

หากจำกันได้สิงหาคม 2550 เคยเกิดกรณีข้าวหายยกคลัง อคส. 54,675 กระสอบ มูลค่า 56 ล้านบาทมาแล้ว หรือแม้แต่จังหวะเวลาการประกาศโครงการรับจำนำ ที่ทุกครั้งมักจะออกมา “ช้า” กว่าที่ฤดูเก็บเกี่ยว ทำให้ผลผลิตข้าวส่วนใหญ่ เข้าไปอยู่ในมือของพ่อค้าคนกลาง - โรงสี จึงทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการเต็มเม็ดเต็มหน่วย ขณะที่พ่อค้าคนกลาง-โรงสี กลับนำข้าวที่รับซื้อในราคาต่ำช่วงเก็บเกี่ยว ผ่านกระบวนการสวมสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ กินส่วนต่างแทนได้อย่างเต็มคำ

เรียกว่า สารพัดรูปแบบที่โผล่มาให้เห็นในห้วงที่มีการจำนำข้าว

ไม่เพียงเท่านั้น คำประกาศจำนำข้าว 15,000 บาท/ตัน ยังหมายถึงข้าวแห้งเป็นหลัก แต่ถ้าข้าวที่มีความชื้นสูง ราคาก็จะยังคงอยู่ระดับ 11,000-12,000 บาท/ตันเช่นเดียวกับราคาประกันอีกด้วย

คนในแวดวงค้าข้าวหลายคนฟันธงว่า นโยบายจำนำข้าว คือ การแย่งเค้กจากปากชาวนารายย่อย ที่ได้รับการจัดสรรผ่านนโยบายประกันราคา ให้ไปอยู่ในมือกลุ่มทุน หรือเกษตรกรรายใหญ่แทน เพราะในระบบประกันราคาข้าวขณะนี้เกษตรกรชาวนา เมื่อขายข้าวที่มีความชื้นสูง ในราคาประมาณ 8,000-9,000 บาท/ตันในขณะนี้ ขณะที่รัฐบาลประกาศราคาประกันไว้ที่ 11,000-12,000 บาท/ตัน เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้ทั้ง 3 ล้านกว่าราย สามารถรับส่วนต่างรายละ 2-3 พันบาทโดยตรง ไม่ผ่านมือคนกลาง

เพียงแต่การประกันราคาข้าว หรือผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ ในห้วงที่ผ่านมา มักปรากฏช่องโหว่ในการแจ้งเท็จเป็นหลัก

ขณะที่ เจ๊หนิง หรือมิ่งขวัญ พุกเปี่ยม ประธานชมรมโรงสีข้าว จ.พิจิตร ให้สัมภาษณ์ ว่า ขณะนี้โรงสีข้าวในพิจิตร ได้เริ่มเตรียมการรองรับนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเปิดรับจำนำข้าวทันทีหลังจัดตั้งรัฐบาลแล้ว

เบื้องต้นมีโรงสีข้าวของพิจิตร มีคุณสมบัติผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการข้าวแล้ว 32 โรง ซึ่งทั้งหมดมีความพร้อมเรื่องโกดังจัดเก็บ การแปรรูปข้าว และความพร้อมด้านเครื่องจักรกล และเงินค้ำประกัน ดังนั้นจึงมั่นใจว่าทันทีที่รัฐบาลประกาศใช้มาตรการรับจำนำข้าว โรงสีของจังหวัดพิจิตรก็พร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการได้ทันที

บรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล หรือเฮียเซียะ อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทยและเป็นเจ้าของกิจการโรงสีข้าว 3 แห่งใหญ่ของจังหวัดพิจิตร เปิดเผยว่า นโยบายรับจำนำข้าวเปลือกตันละ 15,000 บาท มีการตอบรับในเชิงบวกจากผู้ประกอบการค้าข้าวเพื่อส่งออก และโรงสีในส่วนภูมิภาคมั่นใจว่าราคารับซื้อข้าวจากชาวนาจะขยับตัวสูงขึ้น และถือเป็นธรรมชาติห่วงโซ่ธุรกิจ เมื่อราคาข้าวเปลือกจะต้องสูงขึ้นราคาข้าวสารก็จะต้องขยับราคาสูงขึ้นตามไปด้วย จนไปติดเพดานราคาข้าวสารที่จะต้องขึ้นราคาสูงขึ้นอีกถึง 40% ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมของปีนี้ เพราะช่วงเดือนสิงหาคมข้าวนาปรังของ จ.พิจิตร และหลายจังหวัดในภาคกลางจะเริ่มเก็บเกี่ยว

สำหรับราคาข้าวสารวันนี้ “เฮียเซียะ” ให้ข้อมูลว่า ข้าวสารซื้อขายกันอยู่ที่ราคา 500 เหรียญ แต่ถ้าข้าวเปลือกตันละ 15,000 บาท ข้าวสารก็จะต้องขยับราคาไปจนถึง 800 เหรียญ (ส่งออก) ซึ่งคงจะเป็นราคาในช่วงข้าวนาปี ที่สำคัญรัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะต้องเฟ้นหา รมต.พาณิชย์ และ ทีมรองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลเรื่องราคาข้าวให้ดี ต้องเป็นผู้มีคุณภาพรู้จริงทำเป็นมิเช่นนั้นอาจเป็นโครงการ “พับเพียบไทยแลนด์” ที่จะส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล เพราะชาวนาตั้งความหวังเอาไว้มากกับโครงการรับจำนำข้าว

“เฮียเซียะ” ยืนยันแบบชอบอกชอบใจว่า โครงการรับจำนำข้าวเป็นการซื้อก่อนแล้วขายทีหลัง รัฐบาลอาจต้องจ่ายบ้าง แต่ก็ยังมีข้าวสารอยู่ในโกดัง แต่ที่ผ่านมาโครงการประกันรายได้เกษตรกร โรงสีต้องขายข้าวสารได้ก่อนจึงจะซื้อข้าวเปลือก เพราะรัฐบาลที่ผ่านมาทำตัวเป็นเจ้ามือใหญ่ยอมขาดทุนจ่ายเงินถึงมือชาวนาแต่ไม่มีข้าวสารเก็บไว้ในสต๊อกให้ตามทุน อีกทั้งการขึ้นทะเบียนชาวนาก็มีมากเกินความเป็นจริง จึงทำให้ต้องหมดเงินไปถึง 7 หมื่นล้านบาท แล้วก็ไม่เหลือข้าวสารไว้ให้ตามทุนคืนได้อีกด้วย แต่โครงการจำนำจะตรงกันข้าม

นอกจากนี้ เพียงแค่ผ่านการประกาศผลคะแนนการเลือกตั้งไปแค่วันเดียว “เฮียเซียะ” ก็เปิดเผยว่า มีคำสั่งซื้อข้าวสารมายังโรงสีในส่วนภูมิภาคเป็นออเดอร์แล้วหลายหมื่นตัน จึงทำให้มั่นใจว่าราคาข้าวเปลือกและราคาข้าวสารจะขึ้นราคาทุกวันนับจากวันนี้เป็นต้นไป

พรรัตน์ บุญเล้า เจ้าของธุรกิจร้านขายข้าวสาร “เล่ากิมเฮง” ซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณศูนย์การค้าพิจิตรพลาซ่า ยอมรับว่าช่วงนี้ชาวบ้านเริ่มตื่นตัวซื้อข้าวสารกันคราวละมากๆ อีกทั้งแม่ค้าขายข้าวแกง หรือร้านอาหาร จากที่เคยซื้อครั้งละ 1 ถุง ก็มาซื้อข้าวสารที่บรรจุถุงกันคราวละมากขึ้น อาจเป็นเพราะรู้ถึงกระแสข้าวเปลือกจะขึ้นราคาแล้วข้าวสารก็จะขึ้นราคาตามไปด้วย**ซึ่งผู้บริโภคก็ต้องยอมรับกับภาระค่าใช้จ่าย - ค่าข้าวสาร ที่จะต้องกินทุกวันว่าขึ้นราคาอย่างแน่นอนด้วยเช่นกัน

จับตาดูให้ดีว่า “โครงการรับจำนำข้าว” เอาเข้าจริงจะไปไกลแค่ไหน และใครที่ได้รับผลประโยชน์เต็มๆถ้าไม่ใช่เจ้าของโรงสีข้าว
กำลังโหลดความคิดเห็น