xs
xsm
sm
md
lg

เถ้าแก่โรงสีพิจิตรจี้รัฐบาลใหม่ รื้อระบบค้าข้าว-ปิดช่องทุจริต“ระบบจำนำ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แม้รัฐบาลใหม่ของพรรคเพื่อไทย ยังไม่ได้เข้ามาบริหาร แต่นโยบายจำนำราคาข้าว กำลังสร้างความปั่นป่วนให้แก่วงการค้าข้าวอย่างหนัก
พิจิตร - อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย แนะรัฐบาลใหม่วางตัวคนคุมนโยบายข้าว - สินค้าเกษตร พร้อมปรับระบบการค้าข้าวใหม่รับการคืนชีพ “จำนำข้าว” เผยจำนำข้าวในอดีต จ่ายเงินช้า เปิดช่อง จนท.หากิน ทั้งตัดน้ำหนัก สร้างข่าวทุบราคา ยื้อไม่รับข้าว ฯลฯ จนระบบจำนำฉาวโฉ่

นายบรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวแห่งประเทศไทย และประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตร ที่เป็นเจ้าของธุรกิจโรงสีใหญ่ 3 แห่ง ของจังหวัดพิจิตร ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาข้าวในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ว่า เรื่องธุรกิจการค้าข้าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ซึ่งตลาดค้าข้าวตอนนี้มีข่าวว่าประเทศอินเดียจะส่งออกข้าวที่มีอยู่ในสต๊อกออกมาเทขายจำนวน 1 ล้านตัน ส่งผลให้ราคาข้าวสารของไทยวันเดียวราคาตกต่ำลงถึงตันละ 1 พันบาท รวมถึงข้าวเปลือกก็ราคาดิ่งลงตามมาด้วย

นายบรรจง ยังได้กล่าวปฏิเสธถึงกรณีที่มีข่าวโรงสีเตรียมซื้อข้าวจากชาวนามาเก็บกักตุนเพื่อไว้รอสวมเข้าโครงการรับจำนำข้าว ว่า ไม่มีมูลความจริง เพราะแท้ที่จริงแล้วกลไกของธุรกิจค้าข้าวไม่ใช่ทำง่ายอย่างนั้น จึงอยากขอฝากเรื่องถึงรัฐบาลพรรคเพื่อไทยภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรี ว่า ทีมรองนายกรัฐมนตรี และกขช.กับทีมรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ต้องปรับระบบการค้าข้าวใหม่

ทั้งนี้ เพราะการทำธุรกิจค้าพืชผลทางการเกษตรปัจจุบัน เช่น อ้อย เจ้าของโรงน้ำตาลจะต้องเอาเงินไปวางมัดจำจองซื้ออ้อยที่เรียกว่า “เกี๊ยวอ้อย” ก่อนที่ชาวไร่อ้อยจะลงมือเพาะปลูกด้วยซ้ำ มันสำปะหลังเวลาซื้อ-ขาย ก็จ่ายสด หมูไปไก่มา แต่การขายข้าวสารในระบบรัฐบาล ยังไม่ได้แก้ระบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก ทุกวันนี้ขายข้าวสารให้ภาครัฐ ต้องรอเป็นเดือนจึงจะได้รับเงิน ผู้ส่งออกหลายคนก็มักโดนกล่าวหาเรื่องกักตุนข้าวสาร แต่แท้ที่จริงแล้วรัฐบาลควรย้อนดูตนเองก่อน

นายบรรจง บอกว่า รัฐต้องแก้ไขระบบการทุจริตกินน้ำหนักของผู้ค้าส่งออกให้ได้เสียก่อน เพราะถ้ายังเป็นอย่างนี้ต่อไปโรงสีก็จะไม่คบหรือไม่ยอมเป็นเบี้ยล่างในการทำธุรกิจกับภาครัฐอีกต่อไป รวมถึงเรื่องการจ่ายเงินล่าช้าเป็นเดือน ลดน้ำหนัก ตัดน้ำหนัก สารพัด ตลอดจนการสร้างระบบว่าราคาข้าวลงแล้วทำยึกยักไม่จ่ายเงินหรือไม่รับข้าว

“พฤติกรรมลักษณะนี้ต้องกำจัดให้หมดไปจากตัวเจ้าพนักงานของรัฐที่เป็นผู้ปฏิบัติกล้าสวนนโยบาย เรื่องทั้งหมดนี้ต้องฝากนโยบายถึงรัฐบาลเพื่อไทยต้องแก้ให้ได้”

อุปนายกสมาคมโรงสีฯ กล่าวอีกว่า การขายข้าวกับต่างประเทศต้องมี การชำระค่าสินค้าผ่านธนาคาร( LC)
ที่แข็งแรงมั่นคง การซื้อข้าวจากโรงสีต้องจ่ายเงินสดยื่นหมูยื่นแมวกันเลย เพราะโรงสี ก็ต้องจ่ายเงินให้แก่ชาวนาแบบวันต่อวันห้ามข้ามคืน สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นระบบที่รัฐบาลจะต้องเร่งสร้างเสถียรภาพความแข็งแรงในภาคธุรกิจค้าข้าวให้เกิดขึ้นให้ได้

นายบรรจง บอกว่า นโยบายรับจำนำข้าวตันละ 15,000 บาทนั้น เป็นสิ่งที่ดีและถูกต้องแล้ว ชาวนาจะได้อยู่ได้ เพราะการปลูกพืชอย่างอื่นล้วนมีรายได้ที่ดีกว่าทั้งสิ้น เช่น การปลูกอ้อยชาวไร่มีรายได้ไร่ละ 20,000 บาท หักแล้วก็คงเหลือกำไรไร่ละ 1หมื่นบาทเศษ มันสำปะหลัง ได้ราคา กก.ละ 2-3 บาท ชาวไร่ก็จะได้ค่าตอบแทนไร่หนึ่งเกือบ 1 หมื่นบาทด้วยเช่นกัน ข้าวโพดได้ราคา กก.ละ 9 บาท ก็จะได้รับประโยชน์ไร่ละเกือบ 5-6 พันบาท จะเห็นได้ว่าชาวนาเป็นอาชีพที่ผลผลิตขายได้ถูกต่ำสุด ดังนั้น ข้อมูลเช่นนี้ กขช. (Rice Board )ต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ได้แล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยและช่วยเหลือชาวนาไทยได้อย่างจริงจัง รวมถึงสร้างอำนาจในการต่อรองการขายข้าวกับนานาประเทศอีกด้วย

นายบรรจง มองว่า การดำเนินนโยบายเกี่ยวกับสินค้าเกษตรของรัฐบาลระยะที่ผ่านมานั้น ขาดทุนเพราะข้อมูลที่ไม่ชัดเจนทั้งสิ้น ซึ่งควรจะต้องแก้ที่คน โดยเฉพาะหัวหน้าคลังสินค้า ต้องเป็นคนมีคุณภาพ รวมถึง ผู้ตรวจสอบคุณภาพสินค้า (Surveyor ) ก็ต้องเป็นคนมีคุณภาพเชื่อถือได้ด้วยเช่นกันเงินและการค้ำประกัน สมาคมโรงสีต้องเข้ามามีบทบาทในการคัดสรรโรงสีเข้าร่วมโครงการฯ รวมถึงการระบายขายข้าว ซึ่งถ้าทำได้ทั้งหมดนี้ข้าวไทยก็จะได้ขึ้นสู่ระดับแชมป์การส่งออกอย่างที่ตั้งเป้าและหวังเอาไว้ด้วยการบริหารการจำนำข้าวตันละ 15,000 บาทแล้วมีกำไร

“อย่างการตรวจโกดัง ที่ผ่านมาให้คนที่มีเงินเดือน 1-2 หมื่นบาท มารับผิดชอบโกดังข้าวที่มีมูลค่านับพันล้านบาท ย่อมมีโอกาสเกิดการทุจริตได้ง่าย เหมือนส่งแมวมาเฝ้าปลาย่าง ดังนั้นต้องเพิ่มค่าตอบแทนที่คุ้มค่า เพิ่มบทลงโทษ-เอาผิดอย่างจริงจัง ไม่ให้การรับจำนำรอบใหม่เกิดทุจริตขึ้นอีก”
กำลังโหลดความคิดเห็น