xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ดรีมทีม”ยิ่งลักษณ์”

เผยแพร่:

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ผลการเลือกตั้งส.ส.เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 54 ได้บ่งบอกอนาคตรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และทักษิณ หลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผู้บริหารประเทศในฝัน” ของคนไทย

ทบทวนข้อมูลการเลือกตั้งอีกครั้ง ปรากฏว่า การลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อนั้น มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 35,203,107 คน คิดเป็น 75.03 % จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 46,921,682 คน

บัตรเสีย 1,726,051 ใบ คิดเป็น 4.9 % บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน หรือ โหวตโน มีจำนวน 958,052 ใบ คิดเป็น 2.72 %

สำหรับการลงคะแนนเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวน 35,119,885 คน คิดเป็น 74.85 % บัตรเสีย 2,039,694 ใบ คิดเป็น 5.79 % บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนนหรือโหวตโน 1,419,088 คิดเป็น 4.03 % 

พิจารณาจำนวนคะแนนรายพรรค ปรากฏว่า พรรคที่ได้รับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อมากที่สุดคือ พรรคเพื่อไทย 15,744,190 คะแนน

รองลงมาคือ พรรคประชาธิปัตย์ 11,433,501 คะแนน พรรคภูมิใจไทย 1,281,522 คะแนน

พรรครักประเทศไทย 998,527 คะแนน พรรคชาติไทยพัฒนา 906,644 คะแนน พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 494,894 คะแนน

พรรครักษ์สันติ 284,112 คะแนน พรรคมาตุภูมิ 251,581 คะแนน พรรคพลังชล 178,106 คะแนน พรรคมหาชน 133,767 คะแนน พรรคประชาธิปไตยใหม่ 125,781 คะแนน

นั่นหมายความว่า หากคิดจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด 46.9 ล้านคน

ยังมีคนไทยไม่เลือกพรรคเพื่อไทย อีก 31.2 ล้านคน

ดังนั้น ยังมีคนอีกกว่าครึ่งของประเทศ “ไม่เอายิ่งลักษณ์ ไม่เอาทักษิณ”

แม้ว่า พรรคเพื่อไทยจะได้ส.ส.มากที่สุด 265 คน แบ่งเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 61 คน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 204 คน รองลงคือ พรรคประชาธิปัตย์ 159 คน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 44 คน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 115 คน

พรรคภูมิใจไทย 34 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 5 คน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 29 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 19 คน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 4 คน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 15 คน พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 7 คน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 2 คน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 5 คน

ดังนั้น การจัดตั้งคณะรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นผู้บริหารสูงสุดของประเทศ ควรคำนึงความคิด ความรู้สึกของคนอีก 31.2 ล้านคน เช่นกัน

นี่คือ หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย

แม้ว่า ยิ่งลักษณ์ จะไม่จัดตั้งคณะรัฐมนตรีตามความคิดเห็นความรู้สึกของคนส่วนใหญ่
แต่แต่งตั้งตาม “ความอยาก” ส่วนตัวของครอบครัวชินวัตร
หลายคนก็เชื่อว่า คณะรัฐมนตรีในฝันของพวกเขา ควรประกอบด้วย

1. ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี-ทักษิณ ชินวัตร เพื่อให้สามารถเดินทางเข้าสหรัฐฯ อังกฤษ ได้สะดวก

2. นายกรัฐมนตรี-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อทำหน้าที่ปรองดอง บนเงื่อนไขคืนเงิน 4.6 หมื่นล้านบาท

3. รองนายกรัฐมนตรี- เสนาะ เทียนทอง ทำหน้าที่ดูแล ส.ส.ลูกหลานนักการเมืองอีกทอดหนึ่ง

4. รองนายกรัฐมนตรี-เฉลิม อยุ่บำรุง เพื่อทำหน้าที่วางแผนยุทธศาสตร์ให้ลูกวัน เดินเข้าสภาให้ได้

5. รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล แกนนำกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 หรือกลุ่มคนเสื้อแดงในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อดูแลสื่อของรัฐโดยตรง รวมทั้งวิทยุชุมชนที่มีความชำนาญ

6. รมว.มหาดไทย- จตุพร พรหมพันธุ์ เพื่อดูแลผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ให้ยอมรับกลุ่ม นปช. จะได้ไม่ต้องเผาศาลากลางจังหวัด และที่สำคัญจะได้ล้างบางเครือข่ายพรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น เพราะมีความชำนาญด้านการบริหารบุคคลมาก ๆ

7. รมช. มหาดไทย- พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการทำหน้าที่ไอ้ตู่ อย่างเต็มที่

8. รมว. ยุติธรรม- ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เพื่อดูแลคดีแกนนำนปช.ทั้งหมด ให้ได้ความยุติธรรม เพราะคนเหล่านี้ไม่มีความผิดอะไรทั้งสิ้น สิ่งที่ทำมาทั้งหมดเป็นสิ่งประเสริฐสุดตั้งแต่ก่อตั้งประเทศไทยเป็นต้นมา

9. รมว.กลาโหม - พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย อดีตนายทหารที่เคยติดตาม พล.อ.ชวลิต น่าจะทำหน้าที่แต่งตั้งโยกย้าย ผู้บัญชาการทหารบกได้ดี เพื่อไม่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คิดปฏิวัติ

10. โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี- นพ.เหวง โตจิราการ เพราะเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในการสื่อสารกับภายนอก พูดแล้วคนเข้าใจได้ดี ไม่ต้องมีการแปลไทยเป็นไทยอีกครั้ง ที่สำคัญยังเป็นการตอบแทนการทำคุณประโยชน์ของ “โหวงเหวง” มาชั่วชีวิต

11. รมว.วัฒนธรรม-รพิพรรณ พงษ์เรืองรอง ภรรยาของ ไอ้กี้ร์-อริสมันต์ เพื่อดูแลศิลปิน และการขับร้องเพลงของค่ายเพลงต่างๆ ให้เป็นไปตามแนวที่สามีเคยวางไว้ให้กับคนเสื้อแดง

12. รมว.ต่างประเทศ- ขัตติยา สวัสดิผล เพราะร่ำเรียนมาด้านกฎหมาย ทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากกฎหมาย ในเจรจาเกี่ยวกับมรดกโลกได้ดี

13.รมว.แรงงาน และสวัสดิการสังคม- วิภูแถลง พัฒนภูมิไท อดีตเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ และแนวร่วมกับกลุ่มวิทยุชุมชน คนรักทักษิณ คนนนี้เป็นความหวังของแรงงาน ทั้งคนขับแท็กซี่ และผู้ใช้แรงงาน ซึ่งจะเป็นคนผลักดันให้นโยบายค่าแรงวันละ 300 บาท ปรากฏผล ในทางปฏิบัติ

14. รมว.สาธารณสุข- พายัพ ปั้นเกตุ แกนนำคนเสื้อแดง คนนี้สร้างวรีกรรมการบุกโรงพยาบาลจุฬาฯ จึงมีความเหมาะสม สำหรับดูแล หมอ พยาบาล ไม่ให้ได้รับความกระทบกระเทือนจิตใจ ด้านหนึ่งก็เป็นการล้างบาป อีกด้านหนึ่งก็จะได้เดินเข้าโรงพยาบาลอย่างมีเกียรติ แทนที่จะใช้กองกำลังบุกค้นเหมือนปฏิบัติมา และที่สำคัญ ยังต้องผลักดันให้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค กลับมาใช้อีก

15. รมว.พาณิชย์ - ก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำ นปช. คนนี้ค่อนข้างถ้อยทีถ้อยอาศัยกับคนอื่น ก็ควรเหมาะสำหรับดูแลงานที่ต้องใช้การเจรจา และความนิ่ง ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาข้าวของแพง จึงเหมาะกับแกนนำนปช. คนนี้ เพื่อดำเนินการเจรจากับพ่อค้า และนักธุรกิจ

16. รมว.คมนาคม- วิเชียร ขาวขำ คนเสื้อแดงที่อุดรฯ คนนี้ เหมาะสำหรับดูแลกระทรวงคมนาคม เพื่อดูแลเส้นทางการเดินทางของแกนนำ นปช. และผลักดันหมู่บ้านคนเสื้อแดง ตำบลคนเสื้อแดง อำเภอคนเสื้อแดง และจังหวัดคนเสื้อแดง ให้เกิดตามเป้าหมายให้ได้

17. รมว.ศึกษาธิการ- ธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เพื่อให้ผลักดันหลักสูตรโรงเรียนนปช. ให้เป็นหลักสูตรมาตรฐานในโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทั่วประเทศ ประกอบกับการเป็น อาจารย์มหาวิทยาลัยมาก่อน สามารถดูแลการดำเนินของมหาวิทยาลัย ให้ไปในทิศทางที่สอดคล้องกับพรรคเพื่อไทย และกลุ่ม นปช. ต้องการ ในยามที่ต้องการความเห็น หรือผลการสำรวจคะแนนนิยมนี่คือ รัฐบาลชุดที่ดีที่สุด ตั้งแต่ก่อตั้งประเทศไทยมา

ประเด็นสำคัญที่สุดคือ คณะรัฐมนตรีชุดนี้ จะต้องผลักดันให้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ที่มี นางอมรา พงศาพิชญ์ เป็นประธาน ชะลอการเปิดเผยผลการสอบสวนเหตุการณ์ความรุนแรงในการชุมนุมของคนเสื้อแดง ช่วงมีนาคม-พฤษภาคม ปี 2553 โดยมีผู้เสียชีวิต 91 ศพ

ทั้งนี้เพราะไม่แน่ใจว่า ผลการสอบสวนอาจจะทำให้คณะรัฐมนตรีชุดนี้หมดสภาพไปเลยหรือเปล่า

ทั้งนี้ ผลสรุปจะแบ่งออกเป็น 9 เหตุการณ์ ที่จะมีการรายงานข้อเท็จจริง ใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบ ใครเป็นฝ่ายกระทำผิด และใช้ความรุนแรง จากนั้นจะตามมาด้วยข้อเสนอแนะทั้งระยะสั้น และระยะยาวของกรรมการสิทธิฯ

ผลสรุป 9 เรื่อง จะแบ่งออกเป็นหัวข้อหลักๆ ดังนี้

1.เหตุการณ์เมื่อ 10 เมษายน 2553 ที่สี่แยกคอกวัว และตามจุดต่างๆ ซึ่งเป็นวันแรกที่ ศอฉ. เข้ากระชับพื้นที่

2. เหตุการณ์การเผชิญหน้ากันของคนเสื้อแดง และคนเสื้อหลากสี ที่มีการยิงเอ็ม 79 ใส่กลุ่มคนเสื้อหลากสี ที่แยกศาลาแดง จนทำให้มีผู้เสียชีวิต

3. การเสียชีวิตของทหาร และการปะทะกันในวันที่คนเสื้อแดงเคลื่อนตัวไปยังบริเวณอนุสรณ์สถาน

4. การบุกเข้าค้นโรงพยาบาลจุฬาฯ และสภากาชาดไทย ของคนเสื้อแดง

5. การจลาจล วางเพลิงตามจุดต่างๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร เน้นที่เซ็นทรัลเวิลด์ และการเผาศาลากลางจังหวัดใน 4 จังหวัดภาคอีสาน เช่น มุกดาหาร อุดรธานี

6. การเสียชีวิตปริศนา 6 ศพที่วัดปทุมวนารามฯ

7. การเข้าสลายการชุมนุมในวันที่ 19 พ.ค.53 ตามจุดต่างๆ ที่มีผู้เสียชีวิต เช่น แยกวิทยุ และถนนสารสิน รวมถึงการระงับการจลาจล ของเจ้าหน้าที่รัฐตามจุดต่างๆ

8. ข้อสรุปการเสียชีวิตของประชาชน และสื่อมวลชนต่างชาติ เช่น ช่างภาพรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่น-ช่างภาพอิสระชาวอิตาลี และสุดท้าย

9. การสรุปภาพรวมการชุมนุมทั้งหมดของคนเสื้อแดง ตั้งแต่วันแรกคือ 12 มี.ค. จนถึงวันสุดท้าย 20 พ.ค. 53

ว่ากันว่า ผลการสอบดังกล่าว อาจจะทำให้ ดรีมทีมของคณะรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ เป็นที่ชื่นชอบของคนที่ไม่เลือกอีก 31.2 ล้านคน มากยิ่งขึ้น ชนิดที่ข้าราชการจะต้อง ไหว้" ร็อตไวเลอร์" ที่บ้าน ก่อนไปทำงานทุกเช้าวันจันทร์-ศุกร์ !!
กำลังโหลดความคิดเห็น