xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ศึกแย่งชามข้าวครม.ปู1 “ทรงกิตติ-สมทัต-สุเมธ” 3 ตัวเต็งรมว.กลาโหม

เผยแพร่:

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เรียกว่า ไม่มีพลิกโผตั้งแต่ต้นจนจบสำหรับชัยชนะของ “พรรคเพื่อไทย” ในศึกเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 54 และก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า เก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ตกเป็นของ “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” พร้อมสร้างประวัติศาสตร์เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทยไปครอง

และก็เป็นที่แน่ชัดแล้วเช่นกันว่า รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ประกอบไปด้วยการผสมพันธุ์ของ 6 พรรคด้วยกันคือ นอกจากพรรคเพื่อไทยแล้วก็จะมี “พรรคใบเฟิร์น” มาประดับอีก 5 พรรค ได้แก่ พรรคชาติไทยพัฒนาของนายบรรหาร ศิลปอาชา พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ พรรคพลังชลของนายสนธยา คุณปลื้ม พรรคมหาชน และพรรคประชาธิปไตยใหม่ โดยทั้ง 6 พรรคมี ส.ส.รวมกันทั้งหมด 300 คน ประกอบไปด้วย พรรคเพื่อไทย 265 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 19 คน พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 7 คน พรรคพลังชล 7 คน พรรคมหาชน 1 คนและพรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 คน

เรียกว่า “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ปิดดีลตามคำสั่งของ “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” ชื่อ “นช.ทักษิณ ชินวัตร” ทุกประการ ยกเว้นพรรคมหาชนและพรรคประชาธิปไตยใหม่ที่ปรากฏรายชื่อเพิ่มเติมในภายหลัง

จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็เปิดโต๊ะแถลงข่าวการผสมพันธุ์อย่างเป็นทางการทันทีในวันที่ 4 กรกฎาคมที่โรงแรมเอสซีปาร์ค

และเมื่อการผสมพันธุ์ทางการเมืองเสร็จสิ้น สิ่งที่จะต้องจับตามองกันต่อไปว่า นอกจากตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว “คณะรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ 1” จะปรากฏรายชื่อใครเป็นรัฐมนตรีนั่งบริหารราชการแผ่นดินบ้าง ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่กำลังสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับผู้นำตัวจริงอย่าง นช.ทักษิณเป็นอย่างมาก จนถึงขนาดบ่นกับคนใกล้ชิดว่า “พอถึงเวลานี้ ผมหล่อขึ้นมาในข้ามคืน มีคนโทรศัพท์มาหาทั้งวันไม่ได้หยุดได้หย่อน ทั้งคนที่เคยโทร.เป็นประจำอยู่แล้ว และบางคนก็ไม่เคยโทร.หากัน ก็โทร.มา จนเหนื่อยมากที่ต้องมารับโทรศัพท์เพื่อนที่มีมากขึ้นเหล่านี้”

**3 นายพลเต็งหาม รมว.กลาโหม “ทรงกิตติ-สมทัต-สุเมธ”

ทั้งนี้ ในบรรดาคณะรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1 นั้น แม้ทุกตำแหน่งจะมีความหมายและมีนัยทางการเมือง แต่ตำแหน่งที่สำคัญที่สุดและมีผลต่อความมั่นคงของรัฐบาลมากที่สุด เห็นจะหนีไม่พ้น “เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม” เนื่องเพราะเป็น “พรรคสีเขียว” ที่มีกำลังอาวุธอยู่ในมือ

ดังนั้น บุคคลที่จะมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมย่อมไม่ธรรมดา เพราะนอกจากจะต้องเป็นที่ไว้วางใจของ “นายใหญ่” แล้ว ยังจะต้องเป็นที่ยอมรับของกองทัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชายที่ชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผู้บัญชาการทหารบก อีกด้วย

ทั้งนี้ จากรายชื่อที่ถูก “โยน” ออกมาอย่างเป็นทางการมีอยู่ด้วยกัน 4-5 คน คือ

หนึ่ง-พล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 10(ตท.10) ที่มีความสนิท สนมกับ นช.ทักษิณ จนถูกวางตัวให้เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ ทว่า ภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พล.อ.อ.สุเมธซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการหน่วยอากาศโยธินในยศ พล.อ.ท.ได้ถูกคณะรัฐประหารควบคุมตัวเอาไว้ถึง 11 วัน ก่อนที่จะถูกเด้งเข้ากรุและเกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

ปัจจุบัน พล.อ.อ.สุเมธ ดำรงตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและมีหน้าพิเศษในช่วงศึกเลือกตั้งคือ ทำหน้าที่ในการดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ในการออกปราศรัยหาเสียง

ทั้งนี้คุณสมบัติพิเศษที่อาจทำให้เข้าตานายใหญ่ได้ นอกจากจะเป็นเพื่อน ตท.10 แล้ว พล.อ.อ.สุเมธยังมีสายสัมพันธ์ในระดับที่ไม่ธรรมดากับ “พล.อ.ดาวพงษ์ รัตนสุวรรณ” เสนาธิการทหารบก หนึ่งเดียวจาก “วงศ์เทวัญ” ที่ติดอยู่ในไลน์ของ “5 เสือ ทบ.” อีกด้วย

สอง- พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งในช่วงแรกกระแสข่าวการนั่งเก้าอี้ตัวนี้มีต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการปรากฏของ “ปฏิญญาบรูไน” ที่มีการต่อสายเคลียร์ระหว่างกองทัพกับนายใหญ่โดยมีนายวัฒนา เมืองสุขเป็นคนประสานงาน

ทว่า ทำไปทำมาชื่อของ พล.อ.ประวิตรดูเหมือนจะหล่นหายไปจากโผ เนื่องด้วยเป็นชื่อที่ไม่ใคร่จะเป็นที่พอใจของมวลชนคนเสื้อแดงเท่าใดนัก เพราะร่วมอยู่ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ รวมทั้งภาพลักษณ์ของบิ๊กป้อมยังมีความแนบแน่นกับศัตรูชั่วนิรันดร์ของนายใหญ่อย่าง “นายเนวิน ชิดชอบ” อีกต่างหาก

สาม- บิ๊กเกาะ-“พล.อ.สมทัต อัตตะนันทน์” อดีตผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 12 ที่ นช.ทักษิณตั้งมากับมือพร้อมกับการเตะโด่ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ให้ขยับไปเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด

สำหรับชื่อชั้นของบิ๊กเกาะนั้น ต้องบอกว่าไม่ธรรมดาเช่นกัน เพราะนอกจากจะเป็นบุตรเขยจอมพลประภาส จารุเสถียร และคู่เขยกับพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา อดีตรมช.กลาโหม แต่สำคัญที่สุดเห็นจะเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ธรรมดากับตระกูลชินวัตร-ดามาพงศ์ เพราะมีข่าววงในว่า นอกจากบุตรสาวของบิ๊กเกาะจะนั่งทำงานที่บริษัทเอไอเอส แล้วยังสมรสกับหลานชายของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร โดยมีคุณหญิงพจมานเป็นประธานงานในพิธีอีกด้วย

นอกจากนั้น นายพลทหารอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นที่รับรู้กันภายในพอสมควรว่า ได้รับการต่อสายจาก “นายใหญ่” เพื่อให้มารับเก้าอี้สำคัญตัวนี้มาระยะหนึ่งแล้ว นั่นก็คือ “พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์” ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่นอกจากนายทหารม้าลูกป๋าแล้ว ยังเป็นเพื่อนเตรียมทหาร 10(ตท.10) รุ่นเดียวกับ นช.ทักษิณ ชินวัตรอีกด้วย

ทั้งนี้ คุณสมบัติพิเศษของ พล.อ.ทรงกิตตินอกเหนือจากเป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.10 แล้ว พล.อ.ทรงกิตติ ยังนับได้ว่าเป็นนายทหารคนหนึ่งที่ใกล้ชิดกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นทหารม้าที่เคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชามาก่อน

ที่สำคัญคือมีข้อมูลยืนยันแล้วว่า เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ทรงกิตติได้เดินทางไปยังเมืองดูไบเรียบร้อยแล้ว

ขณะเดียวกันก็มีบุคคลอื่นๆ ที่มีรายชื่อติดโผเข้ามาด้วย ได้แก่ พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ ซึ่งมีคุณสมบัติใกล้เคียงกันคือ เป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.10 ของ นช.ทักษิณ รวมถึง “บิ๊กหมง-พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดซึ่งเป็นหนึ่งในนายทหารกลุ่มลูกป๋าและเคยมีข่าวก่อนหน้านี้ว่า นช.ทักษิณเคยทาบทามให้เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน แต่ พล.อ.มงคลปฏิเสธ นอกจากนี้ ที่ผ่านมาก็เคยเดินทางไปพบ นช.ทักษิณในต่างประเทศมาเรียบร้อยแล้ว

แต่จะอย่างไรก็ตาม ในบรรดารายชื่อที่ติดโผทั้งหมด เมื่อคัดกรองแล้ว เห็นจะมีเพียง 3 นายพลเท่านั้นที่มีสิทธิมากที่สุดในการนั่งเก้าอี้ตัวนี้นั่นคือ พล.อ.ทรงกิตตติ จักกาบาตร์ พล.อ.สมทัต อัตตะนันทน์ และพล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี

และว่ากันว่า งานนี้ปิดดีลกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รอแต่เพียงแค่การตัดสินใจในขั้นสุดท้ายว่าจะหยิบมาใช้หรือไม่

**มหาดไทย-รองนายกฯ มั่นคง ประชา-ชัจจ์-ยงยุทธ

นอกจากนั้น เก้าอี้สำคัญอีก 2 เก้าอี้ที่สำคัญยิ่งและเป็นที่หมายปองของใครหลายคนก็คือ “เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย” และ “เก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง”

สำหรับเก้าอี้ มท.1นั้น “เต็ง 1” ตกเป็นของ “พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก” ส่วน “เต็ง 2” ตกเป็นของ “พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก” และตามมาติดๆ กับ “เต็ง3” ที่ชื่อ “นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ” หัวหน้าพรรคไทยรักไทยคนปัจจุบันที่มีผลงานเลอเลิศในการจับฉลากให้พรรคเพื่อไทยได้หมายเลข 1

ส่วนอีกบุรุษหนึ่งที่ดูเหมือนว่าจะกระสันอยากมากกว่าคนอื่นๆ เขาก็คือ “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” ที่หมายมั่นปั้นมือที่จะทำหน้าที่ มท.1อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก

ทั้งนี้ เก้าอี้ มท.1 มีความผันแปรโดยตรงกับเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เก้าอี้ที่จะได้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนั้น ถ้าหากใครคนใดคนหนึ่งเข้าป้าย มท.1 คนที่เหลือก็จำต้องย้ายก้นไปนั่งเก้าอี้อันทรงเกียรติตัวนี้ได้เช่นกัน

“กระทรวงมหาดไทยตอนนี้มีคนอยากเป็นกันเยอะ ก็เลยมีการวิ่งเต้นกันหลายคน ทั้ง พล.ต.อ. พล.ต.ท. ร.ต.อ.รวมถึงนายอีกคนหนึ่งด้วย แต่ตอนนี้ยังไม่รู้จะให้ใครเลย เพราะมีคนอยากเป็นเยอะจริง” แหล่งข่าวอ้างคำพูดของ นช.ทักษิณ

แต่ท้ายที่สุดแล้ว เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า เก้าอี้ มท.1น่าจะตกเป็นของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เพื่อประโยชน์สำคัญยิ่งในการจัดวางเก้าอี้ผู้ว่าราชการจังหวัดและตำแหน่งสำคัญในกระทรวงมหาดไทย ส่วน พล.ต.อ.ประชา น่าจะเข้าป้ายเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ยความมั่นคง

**ขุนค้อน-เป็ดเหลิมเต็งประธานสภา โอฬาร-มิ่งขวัญคุมเศรษฐกิจ

สำหรับเก้าอี้สำคัญๆ ของคณะรัฐมนตรีปูจ๋า 1 ในตำแหน่งอื่นๆ นั้น ในช่วงแรกของการจัดตั้งรัฐบาลก็มีรายชื่อปรากฏออกมาเป็น “โผ” ต่างๆ โดยเปลี่ยนแปลงไปไม่เว้นแต่ละวัน

เริ่มจากเก้าอี้ “ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ” ที่มีรายชื่อติดโผสำคัญทั้งหมด 4 คนด้วยกันคือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย นายวิทยา บุรณศิริ และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์

แต่สุดท้ายแล้วดูเหมือนว่า “ขุนค้อน” นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์จะดูมีภาษีมากที่สุดจากประสบการณ์การทำงานในช่วงที่ผ่านมา

ด้านทีมเศรษฐกิจที่ถือเป็นหัวใจสำคัญยิ่งมีรายชื่อผู้ผ่านเข้ามาในรอบคัดเลือกหลายคนด้วยกัน แต่คนที่มาแรงที่สุดเห็นจะเป็น “นายโอฬาร ไชยประวัติ” หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยที่กำลังคั่ว 2 เก้าอี้คือเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ทั้งนี้ คู่แข่งสำคัญของนายโอฬารในเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็คือ “นายศุภวุฒิ สายเชื้อ” ผู้บริหารบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เมอร์ริลลินซ์ ภัทร จำกัด บุตรของนายเชาว์ สายเชื้อ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญที่มีความสนิทสนมกับ นช.ทักษิณ

นอกจากนั้นก็ยังมีอีก 3 คนที่เข้ารอบชิงเก้าอี้ รมว.คลังเช่นกันคือ นายวีรพงษ์ รามางกูร นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง และนายสุชาติ ธำรงธาดาเวช

ทั้งนี้ ในกลุ่มนี้ก็ยังมีโอกาสที่คนใดคนหนึ่งขยับขึ้นไปเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ซึ่ง 2 ตัวเต็งที่มีลุ้นมากที่สุดเห็นจะเป็นนายโอฬาร ไชยประวัติและนายวีรพงษ์ รามางกูร

ขณะที่เก้าอี้ตัวอื่นๆ ที่น่าสนใจก็เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ปรากฏชื่อของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ เป็นเต็ง 1 ส่วนอีก 2 คนที่มีชื่อติดโผนี้กับเขาด้วยก็คือ นายวัฒนา เมืองสุขและนายปลอดประสพ สุรัสวดี เพราะทั้งสองคนเคยทำงานด้านต่างประเทศมาก่อน โดยเฉพาะนายปลอดประสพที่เคยเป็นอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ซึ่ง ว่ากันว่า นช.ทักษิณเห็นว่าน่าจะมีบารมีพอที่จะไปทำงานร่วมกับข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ และอีกชื่อหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือนายปานปรีย์ พหิทธานุกร

นายสันติ พร้อมพัฒน์ ติดโผรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ส่วนรัฐมนตรีช่วยคมนาคมน่าจะเป็นนายประภัสร์ จงสงวน นายวัฒนา เมืองสุข ติดโผเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิชาญ มีนชัยนันท์ติดโผเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

ส่วนเก้าอี้สำคัญของชาติอย่างกระทรวงศึกษาธิการนั้นมีผู้ติดโผ 3 คนคือ นายภาวิช ทองโรจน์ ผู้ร่างนโยบายการศึกษา นายคณวัฒน์ วศินสังวรและนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล โดยนายวรวัจน์นอกจากเก้าอี้เสมา 1 แล้วเขายังติดโผเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมด้วย

แต่ที่ติดโผมาตั้งแต่ต้นจนจบและไม่มีเปลี่ยนแปลงก็คือ นายปลอดประสพ สุรัสวดีที่จะคว้าตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปครองอย่างไร้คู่แข่งขัน

ขณะที่กระทรวงไอซีทีมีตัวเต็งอยู่ 2 คน คือ นายคณวัฒน์ วศินสังวรและ นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล เช่นเดียวกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ถูกจับจองโดยโควตา ส.ส.สายนางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 2 คนคือ นายอุดมเดช รัตนเสถียรและ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

**นิวัฒน์ธำรงค์คุมสื่อ-เลขาฯครม.

นอกจากนี้ เก้าอี้อีกตัวที่เป็นจับตามองไม่แพ้กันคือ เก้าอี้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่จะกำกับองค์กรทางด้านสื่อของรัฐ ซึ่งว่ากันว่า เก้าอี้ตัวนี้ตกเป็นของ “นายนิวัฒน์ธำรงค์ บุญทรงไพศาล” อดีตผู้บริหารไอทีวี ที่นายใหญ่วางตัวมาตั้งแต่เริ่มต้น แต่ถ้าหากพลาดจากเก้าอี้ตัวนี้ นายนิวัฒน์ธำรงค์ก็จะย้ายไปรับตำแหน่งสำคัญอีกตัวหนึ่งคือ “เลขาธิการคณะรัฐมนตรี” ทั้งนี้ เพื่อทำหน้าที่ในการกลั่นกรองเรื่องสำคัญๆ ให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ รวมทั้งเป็น “พี่เลี้ยง” ในการประคับประคอง น.ส.ยิ่งลักษณ์บนเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

กล่าวสำหรับนายนิวัฒน์ธำรงค์นั้น คนรุ่นเก่าน่าจะคุ้นกับชื่อเก่าของเขาคือ นายนิวัฒน์ นามสกุลบุญทรงเสียมากกว่าชื่อปัจจุบันที่ผ่านการต่อเติมจนยาวเหยียดสุดลูกหูลูกตา เขาเคยเป็นอดีตประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) และรองประธานกรรมการบริหารบริษัทในเครือชิน คอร์ปอเรชั่น(ชินคอร์ป) ที่รับผิดชอบด้านภาพลักษณ์และกิจกรรมสัมพันธ์ ถือเป็นข้าเก่าเต่าเลี้ยงของตระกูลชินวัตรที่ได้รับความไว้วางใจจาก นช.ทักษิณเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ บทบาทที่สำคัญยิ่งของนายนิวัฒน์ธำรงค์ในช่วงการเลือกตั้งก็คือ การสร้างภาพลักษณ์และการสร้างอิมเมจให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในการเคลื่อนไหวทุกย่างก้าว เรียกว่าจะพูดจะจา จะชูไม้ชูมือหรือย่างก้าวไปในแห่งหนตำบลไหน ต้องผ่านการกำกับจากนายนิวัฒน์ธำรงทั้งสิ้น

คนที่ขีดเส้นให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ปฏิเสธการขึ้นเวทีดีเบตกับนายอภิสิทธิ์ก็คือนายนิวัฒน์ธำรงค์

คนที่ขีดเส้นให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ตอบโต้นักเลงจากค่ายลูกพระธรณีบีบมวยผมที่ท้าตีท้าต่อยด้วยการขุดทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องเสื้อแดงเผาบ้านเผาเมืองก็คือ นายนิวัฒน์ธำรงค์ผู้นี้

ทั้งนี้ ถ้าหากวิเคราะห์จากความเคลื่อนไหวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ในการเรียกประชุมทีมเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น ก็พอจะเห็นเค้าลางของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคนสำคัญของ ครม.ยิ่งลักษณ์ 1ได้เป็นอย่างดี โดยแกนนำพรรคและทีมเศรษฐกิจที่เข้าประชุมในวันนั้นประกอบไปด้วยนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ นายนิวัฒน์ธำรงค์ บุญทรงไพศาล นายโอฬาร ไชยประวัติ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ นายพิชัย นริพทะพันธ์ นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช นายวิชาญ มีนชัยนันท์ นายสันติ พร้อมพัฒน์ นายปลอดประสพ สุรัสวดี นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล เป็นต้น

**ใบเฟิร์นแย่งชามข้าวจ้าละหวั่น จับตา “มัชฌิมา” เสียบ

ส่วนบรรดาพรรค “ใบเฟิร์น” ที่กำลังฝันอร่อยและแลบลิ้นเลียปากอยู่ในขณะนี้ก็กำลังต่อรองเพื่อขอเก้าอี้สำคัญกันอย่างเมามัน

โดยพรรคปูไหลของนายบรรหารเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ยื่นความจำนงขอเก้าอี้ไปทั้งหมด 5 ที่นั่งได้แต่ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

โดยคาดว่าบุคคลที่จะมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีสังกัดพรรคชาติไทยพัฒนาก็คือ นายชุมพล ศิลปอาชา ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ขณะที่พรรคพลังชลยื่นข้อเสนอไป 2 ตำแหน่งคือ 1 รัฐมนตรีว่าการและ 1 รัฐมนตรีช่วยว่าการ โดยมีเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นเป้าหมายแรกเนื่องเพราะพรรคใช้เป็นนโยบายในการหาเสียง โดยจะส่งนายวิทยา คุณปลื้มหรือไม่ก็นางกุศุมล คุณปลื้มมานั่งเก้าอี้ตัวนี้

ดังนั้น จะเห็นว่า เก้าอี้ที่แย่งชิงกันอย่างหนักคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพราะทั้งพรรคชาติไทยพัฒนาของนายบรรหาร ศิลปอาชาและพรรคพลังชลของนายสนธยา คุณปลื้ม ต่างก็หมายปองเก้าอี้ตัวนี้

ส่วนพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินก็ขอจองเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานตัวเก่าเอาไว้โดยส่ง นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูลเข้าประกวด ส่วนจะได้รับตามที่ปรารถนาหรือไม่ ก็สุดแต่จะคาดเดา เพราะแว่วว่า เก้าอี้ตัวนี้พรรคเพื่อไทยต้องการเอาไว้บริหารงานเองเช่นกัน

แน่นอน ในระหว่างนี้เกมต่อรองจะยังคงดำเนินไปอย่างดุเด็ดเผ็ดมัด กลุ่มก๊วนภายในพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาลก็วิ่งสู้ฟัดกันจนฝุ่นตลบ แต่เชื่ออย่างยิ่งว่า การต่อรองจะไม่สามารถบรรลุผลได้ตามที่ใจใบเฟิร์นปรารถนา เพราะต้องไม่ลืมว่า เงื่อนไขการเข้าร่วมรัฐบาลแตกต่างจากสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่จำต้องอาศัยพรรคร่วมรัฐบาลในการค้ำยันเก้าอี้นายกรัฐมนตรี หากพรรคร่วมรัฐบาลในครม.ยิ่งลักษณ์ 1 นั้นถือเป็นเพียงใบเฟิร์นหรือไม้ประดับที่แทบไม่มีราคาค่างวดในทางการเมืองเท่าใดนัก

เสียงอันจิ๊บจ๊อยของพรรคชาติไทยพัฒนา 19 เสียง พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 7 เสียง พรรคพลังชล 7 เสียง และพรรคมหาชนอีก 1 เสียงมิได้มีความหมายอะไรในสายตาของ นช.ทักษิณเท่าใดนัก เพราะเขารู้ดีว่าพรรคใบเฟิร์นเหล่านี้ไม่ยินยอมที่จะอดอยากปากแห้งเป็นฝ่ายค้านอย่างแน่นอน

ดังนั้น บรรดาพรรคใบเฟิร์นจึงจำต้องรอเศษเนื้อที่นายใหญ่จะยินยอมพร้อมใจป้อนใส่ปากโดยไม่มีทางเลือกเท่าใดนัก

อย่างไรก็ตาม เก้าอี้รัฐมนตรีทั้งหมดก็มีความผันแปรเป็นอย่างยิ่ง เพราะขึ้นอยู่กับว่า นช.ทักษิณจะตัดสินใจถึง “ก๊วนนายสมศักดิ์ เทพสุทิน” แกนนำกลุ่มมัชฌิมา จากพรรคภูมิใจไทยเข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วยหรือไม่ ซึ่งโอกาสที่จะเกิดงูเห่าในพรรคภูมิใจไทยนั้นมีค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากการประชุมแกนนำพรรคเมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่บรรดาแกนนำมุ้งต่างๆ เดินทางมาร่วมครบถ้วน ยกเว้นนายสมศักดิ์เพียงคนเดียว รวมถึงกระแสข่าวก่อนหน้านี้ว่า มีการเจรจาระหว่างนายสมศักดิ์กับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจเพื่อร่วมผสมพันธุ์กับพรรคเพื่อไทยเรียบร้อยแล้ว

ที่สำคัญคือ กลุ่มก๊วนต่างๆ ยืนยันที่จะร่วมหัวจมท้ายกับนายเนวิน ชิดชอบไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ยกเว้นกลุ่มนายสมศักดิ์ที่ยังมีท่าทีไม่ชัดเจน

“ถ้าผมสามารถบอก ส.ส.กลุ่มมัชฌิมาหรือ ส.ส.พรรคภูมิใจไทยได้ ผมอยากให้ ส.ส.ยกเมือสนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นกำลังใจให้นำพาประเทศสู่ความก้าวหน้า”

คำกล่าวของนายสมศักดิ์ เทพสุทินน่าจะทำให้คาดการณ์อนาคตของกลุ่มมัชฌิมาฯ พรรคภูมิใจไทยและพรรคเพื่อไทยได้เป็นอย่างดีว่า ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นไร
กำลังโหลดความคิดเห็น