xs
xsm
sm
md
lg

คำตัดสินโทษ"พลพรรคแม้ว" คนไทยต้องไม่ลืม!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฤดูกาลเลือกตั้ง ที่นับวันเข้มข้นมากขึ้น และเพื่อย้ำเตือนความทรงจำของประชาชนคนไทย จึงขอนำเสนอคำพิพากษาของศาลในคดีสำคัญๆที่ได้เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยในคำพิพากษาศาลได้ย้ำเตือนสติของจำเลย เพื่อไม่ให้ไปกระทำความผิดซ้ำ รวมทั้งเพื่อเตือนสติประชาชน และผู้มีอำนาจทั้งหลายในบ้านเมือง ให้ปฎิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะหากท่านคือผู้มีอำนาจ แต่กลับไปกระทำความผิดเสียเอง จึงเป็นการยากที่จะได้รับความปรานีจากศาล

นอกจากนั้น ที่สำคัญ จำเลยในคดีบางคน มาวันนี้ เขาคือ ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ของบางพรรคการเมือง

เริ่มจาก "คดีละเมิดอำนาจศาล" ซึ่งถือเป็นการกระทำความผิดที่ท้าทายกระบวนการยุติธรรม เป็นอย่างสูง

กรณี ความแพ่ง ระหว่าง นายอนันต์ วงษ์ประภารัตน์ ผู้กล่าวหา นายพิชิต หรือพิชิฏ ชื่นบาน ที่ 1 นางสาวศุภศรี ศรีสวัสดิ์ ที่ 2 นายธนา ตันศิริ ที่ 3 ผู้ถูกกล่าวหา

***เรื่อง ละเมิดอำนาจศาล***

คดีนี้ศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2551 กรณี นายอนันต์ วงษ์ประภารัตน์ เลขานุการศาลฎีกา ได้ทำบันทึกลงวันที่ 10 มิ.ย.2551 รายงานต่อนายวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา(ขณะนั้น)ว่าเมื่อเวลาประมาณ 9.30 น. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะมารายงานตัวที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายอนันต์ ไปตรวจดูความเรียบร้อยที่แผนกดังกล่าว เมื่อนายอนันต์ เข้าไปในห้องได้มีเจ้าหน้าที่ถือถุงกระดาษ ซึ่งมีสกอตเทปปิดไว้มิดชิด มาถามว่า ทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้มา จะรับไว้ได้หรือไม่ นายอนันต์ จึงสั่งให้เปิดถุงกระดาษออกดูที่โต๊ะของ นางพรทิพย์ ศรีนวล หัวหน้าแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา พบว่าเป็นธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 2 ตั้ง ดูคร่าวๆเห็นตั้งละ 10 มัด จำนวนเงินทั้งหมดน่าจะประมาณ 2,000,000 บาท

โดยคำพิพากษา ศาลย้ำว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม เป็นการกระทำที่อุกอาจ ท้าทายและเกิดขึ้นที่ศาลฎีกา ซึ่งเป็นศาลยุติธรรมชั้นสูงสุดของประเทศ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม ประกอบอาชีพทนายความ และที่ปรึกษากฏหมาย ย่อมตระหนักดีว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สถาบันศาล ยุติธรรมและจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือและความศรัทธาในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในอำนาจตุลาการ จึงเห็นสมควรลงโทษในสถานหนักเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างอีกต่อไป ให้จำคุกผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามคนละ 6 เดือน ส่วนความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 หรือความผิดอื่นต่อเจ้าหน้าที่พนักงาน นั้น ให้ผู้กล่าวหาไปดำเนินการตามกฎหมายแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ปัจจุบัน นายพิชิต หรือพิชิฏ ชื่นบาน อดีตจำเลยในคดี เขาคือผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 53 ของพรรคเพื่อไทย

ถัดมา "คดีหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรโดยความเท็จ โดยฉ้อโกง โดยอุบาย และร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ โดยจงใจหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร"

คดีนี้ระหว่าง อัยการสูงสุด โจทก์

นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ที่ 1 คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ที่ 2 นางกาญจนาภา หงษ์เหิน ที่ 3

ตอนหนึ่งท้ายคำพิพากษาศาลได้ย้ำว่า จำเลยทั้งสามเป็นผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะกระทำผิดฐานให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอากร จำเลยที่ 2 เป็นภริยาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับผู้บริหารประเทศ จำเลยทั้งสามจึงนอกจากมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตนเยี่ยงพลเมืองดีทั่วๆ ไปแล้ว ยังควรดำรงตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีสมฐานะทางเศรษฐกิจ และสังคมด้วย แต่จำเลยทั้งสามกลับร่วมกันกระทำการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ไม่เป็นธรรมต่อสังคมและระบบภาษี ทั้งๆ ที่จำนวนภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระตามกฎหมาย และจำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ชำระแทนในที่สุดนั้น เทียบไม่ได้กับจำนวนทรัพย์สินที่จำเลยที่ 2 และครอบครัวมีอยู่ในขณะนั้น การที่จำเลยที่ 1 จะชำระภาษีอากรไปตามกฎหมายเช่นพลเมืองดีทุกคน จึงมิได้มีผลกระทำต่อฐานะของจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามจึงร้ายแรง

พิพากษาว่า จำเลยทั้งสาม มีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (1) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 38 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานร่วมกันโดยความเท็จ โดยฉ้อโกง หรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 2 ปี ฐานโดยรู้อยู่แล้วหรือโดยจงใจ ร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 1 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 3 ปี

***ปัจจุบันคดีนี้อยู่ระหว่างการต่อสู้ในชั้นศาลอุทธรณ์ มากว่า 3 ปี และมีข่าวแว่วว่า...คดีนี้ใกล้ถึงวันที่ศาลอุทธรณ์ จะมีคำพิพากษาออกมาแล้ว***

ยังไม่เพียงแค่นั้น ผลคำพิพากษา "คดีที่ดินรัชดา" ถือเป็นคำพิพากษาเตือนสติผู้มีอำนาจได้เป็นอย่างดี

เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดย นายทองหล่อ โฉมงาม ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา พร้อมองค์คณะ อ่านคำพิพากษาคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษกจำนวน 33 ไร่ มูลค่า 772 ล้านบาทเศษ ที่ อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร่วมกันเป็นคู่สัญญา หรือมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดีและเป็นเจ้าพนักงาน และผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นฯ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 ม.4, 100 และ 122 ประมวลกฎหมายอาญา ม.33, 83, 86, 91, 152 และ 157 ซึ่งท้ายคำฟ้อง อัยการสูงสุด ขอศาลมีคำสั่งให้ยึดที่ดินและเงินที่ซื้อที่ดิน อันเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิดให้ตกเป็นของแผ่นดินด้วย

คดีนี้ศาลชี้ชัดว่า...เมื่อปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ได้ให้บัตรประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีลงนามยินยอมให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินย่อมถือได้ว่าเป็นการเข้าทำสัญญาด้วยตัวเอง ตาม พ.ร.บ.ปปช.2542 ม.100(1) วรรคสาม ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าการลงชื่อยินยอมเป็นเพียงทำตามระเบียบราชการ แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีหลักฐานมาแสดงให้เห็นได้ว่าไม่มีส่วนรู้เห็นต่อการซื้อขาย องค์คณะจึงมีมติ 5 ต่อ 4 เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ปปช.ม.100 (1) วรรคสาม และต้องรับโทษตาม ม.122 ขอต่อสู้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายให้บริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ทางราชการและประชาชน แต่จำเลยที่ 1 กลับฝ่าฝืนกฎหมายทั้งที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล ต้องกระทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ประพฤติตนในสิ่งที่ดีงามตามจริยธรรมของนักการเมืองให้เหมาะสมกับที่ได้รับความไว้วางใจในตำแหน่งหน้าที่อันสำคัญยิ่งจึงไม่สมควรรอการลงโทษ

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ปปช.ม.100 (1) วรรคสาม และ ม.122 วรรคหนึ่งให้ลงโทษจำคุก 2 ปี

ปัจจุบัน จำเลยในคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังไม่ได้รับโทษ และหลบหนีคดีไปต่างประเทศ ที่ซ้ำร้าย ยังมีแผนที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรม หากพรรคเพื่อไทย ได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง

ปิดท้ายที่ "การกระทำผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112"

คดีนี้เมื่อวันที่ 28 ส.ค.2552 ศาลอาญา มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.3959/2551 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด อายุ 51 ปี แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลย

โดยศาลชี้ว่า ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวบนเวที พบว่า แม้จะไม่ระบุตัวบุคคลที่ถูกกล่าวถึงอย่างชัดแจ้ง แต่ถ้อยคำที่กล่าวถึง เช่น สัญลักษณ์สีเหลือง สีฟ้า ในการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นสีประจำวันประสูติของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทำให้เห็นว่าจำเลยกระทำการจาบจ้วงล่วงเกิน โดยทำให้ประชาชนเข้าใจว่าทั้งสองพระองค์สนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ทำให้ทั้งสองพระองค์ต้องเสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียง

รวมทั้งการกล่าวถึงการรัฐประหาร โดยกล่าวถ้อยคำถึงมือที่มองไม่เห็นหลังสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งประชาชนรับรู้อยู่แล้วว่าสี่เสาเทเวศร์ คือ สถานที่ที่เป็นบ้านพักของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี โดยการแต่งตั้งองคมนตรี นั้น ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นอำนาจพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้ง ถ้อยคำของจำเลยจึงทำให้ประชาชนเข้าใจว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สนับสนุน พล.อ.เปรม ในการยึดอำนาจจากประชาชน ซึ่งล้วนเป็นเท็จ

และแม้ว่าคำพูดของจำเลยไม่บังเกิดผลเพราะไม่มีใครเชื่อ แต่จำเลยก็ไม่อาจพ้นผิด พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังได้ว่าจำเลยกล่าวคำพูดจาบจ้วง ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ บรมราชินีนาถ

พิพากษาว่า จำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งกระทำผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษทุกรรม ให้จำคุก 3 กระทงๆ 6 ปี รวมจำคุก 18 ปี ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์

***อีกคดี นายวราวุธ ฐานังกรณ์ หรือ นายสุชาติ นาคบางไทร แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)หลังจากเมื่อวันที่ 14 ต.ค.51 เวลาประมาณ 18.05-18.15 น.จำเลยได้ขึ้นกล่าวปราศรัยบนเวที นปช.ท้องสนามหลวง ด้วยการกระจายเสียงทางเครื่องขยายเสียง ท่ามกลางประชาชนที่มาฟังการปราศรัยจำนวนหลายคน ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม จำเลยพูดจาบจ้วง พูดเปรียบเทียบและเปรียบเปรย ล่วงเกิน ด้วยถ้อยคำหยาบคาย พูดใส่ความหมิ่นประมาท โดยกล่าวหาสมเด็จพระบรมราชินีนาถ องค์ปัจจุบัน ทำให้พระองค์ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ โดยเจตนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพสักการะ และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสมเด็จพระบรมราชินีนาถ องค์ปัจจุบัน เหตุเกิดที่ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กทม.จำเลยให้การรับสารภาพ***

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้จำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยเป็นเวลา 3 ปี

สำหรับขบวนการล้มเจ้า ยังคงมีคนเสื้อแดงพลพรรคแม้ว ถูกดำเนินคดีหมิ่นเบื้องสูง ที่อยู่ในชั้นพนักงานสอบสวนและชั้นศาลอีก คือ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และพวกรวม 19 คน ซึ่งส่วนใหญ่คือผู้มัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างดีเอสไอออกหมายเรียกตัวเพื่อให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา โดยมี นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์เสื้อแดง ก็คืออีกผู้หนึ่ง ที่ถูกดำเนินคดีหมิ่นเบื้องสูง และได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้งไปแล้ว

ส่วน นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อายุ 50 ปี แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และ นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือ แซ่ด่าน อายุ 68 ปี แกนนำเสื้อแดงอีกคน ขณะนี้อยู่ระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำ เพื่อรอศาลพิพากษาโทษ ฐานหมิ่นเบื้องสูง เป็นรายต่อไป

***ดังนั้น จากคำพิพากษาในคดีสำคัญๆที่กล่าวข้างต้น ประชาชนคนไทยต้องไม่ลืม!***
กำลังโหลดความคิดเห็น