xs
xsm
sm
md
lg

เล็งยื่นปปช. ฟันคนออกคำสั่ง ปล่อยอินโดฯจุ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการายวัน - ปานเทพ” ย้ำเตือนให้อินโดฯ เข้าสังเกตการณ์ ยิ่งถลำลึกไทยเสียเปรียบทุกประตู เล็งยื่น ป.ป.ช.เอาผิดคนออกคำสั่ง เผยศาลโลกนัดตัดสิน 18 พ.ค.นี้ ไทยส่ง “กษิต-วีรชัย” ร่วมฟังคำตัดสิน คน ปชป.ฝัน รมว.บัวแก้วคนใหม่ แนวทางไม่แตกต่างจากเดิม ส่วนเขมรถอนอาวุธ จัดงานฉลองเล็กๆ

วานนี้ (8 ก.ค.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ให้สัมภาษณ์สดทางโทรศัพท์ผ่านรายการ “ยามเช้าริมเจ้าพระยา” ออกอากาศทางสถานีเอเอสทีวี ทีวีเพื่อประชาชน ถึงกรณีทูตอินโดนีเซียเข้ามาสำรวจพื้นที่ชายแดนไทย-เขมร อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ว่าสุ่มเสี่ยงอย่างมากที่ไทยถลำลึกไปอีกขั้น การกระทำเช่นนี้จะกลายเป็นเป็นโล่กำบังไม่ให้ทหารไทยผลักดันชาวเขมรออกไป ส่งผลถึงอนาคตเกิดประชุมจีบีซีต่อไป จากนั้นจะมีผู้สังเกตการณ์เต็มทีมเข้ามา แล้วไทยจะเสียอธิปไตยบริเวณนั้นอย่างไม่มีกำหนดเวลา จนกว่าการปักเขตแดนจะเป็นที่พอใจของเขมร

ทั้งนี้ ไม่ว่าศาลโลกจะมีคำสั่งออกมาอย่างไร ไทยก็เสียเปรียบอยู่ดี หากออกมาตรการคุ้มครองให้กัมพูชา ไทยจะต้องถอนกำลังทหารทั้งหมดออกจากเขาวิหาร ย่อมเสียเปรียบในเวทีการเมือง และศาลโลก แต่หากศาลโลกมีมติไม่คุ้มครองให้กัมพูชา ศาลโลกจะถือว่าฝ่ายไทยยอมรับอำนาจศาลโลกไปโดยปริยาย แล้วหลังจากนั้นศาลโลกจะไปตีความพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรเป็นของกัมพูชาหรือไม่

อย่างไรก็ดี เรื่องนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังมีหน้าที่รักษาการนายกฯ ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หาก พล.อ.ประวิตร เชิญทูตอินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์โดยปราศจากความเห็นชอบจากมติคณะรัฐมนตรี หรือไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ในท้ายที่สุด พล.อ.ประวิตรต้องถูกดำเนินคดีอาญาอย่างแน่นอน หากได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล นั่นหมายความว่ารัฐบาลเลือกที่จะตัดสินใจด้วยตัวเอง ทำให้ไทยเสียเปรียบก่อนหมดวาระตัวเอง

“การกระทำเช่นนี้มองได้สองทาง คือ พล.อ.ประวิตรจับมือกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อให้ได้นั่งเก้าอี้ รมว.กลาโหมต่อไป อีกทางอาจเป็นการวางยาของรัฐบาลรักษาการทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เผชิญกับปัญหาอธิปไตยของชาติ ตอนนี้ต้องรอดูให้ชัดอีกทีว่าใครเป็นคนออกคำสั่งให้ทูตอินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์ หากทราบตัวแน่ชัดแล้ว เราจะยื่นต่อ ป.ป.ช.เอาผิดออกคำสั่ง ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ”

**14 ก.ค. “กษิต” นำทีมฟังคำตัดสินศาลโลก

เวลา 10.00 น. นายกษิต ภิรมย์ รักษาการรมว.การต่างประเทศ และนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต รักษาการเลขานุการรัฐมนตรีฯ เดินทางเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รักษาการนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล

นายชวนนท์ กล่าว ได้เข้ามารายงานนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(ศาลโลก) จะมีการตัดสินมาตรการคุ้มครองชั่วคราวให้กับกัมพูชาหรือไม่ในวันที่ 18 ก.ค.นี้หรือไม่ โดยคณะของกระทรวงการต่างประเทศ จะเดินทางไปในวันที่ 14 ก.ค.นี้ จากกรณีที่ศาลโลกจะมีคำวินิจฉัยคำร้องของรัฐบาลกัมพูชาในเรื่องการขอให้ออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวใน 3 ประเด็น คือ 1.ขอให้ประเทศไทยนั้นได้ถอนกำลังทหารออกจากรอบปราสาทพระวิหาร 2.หยุดกระทำกิจการทหารที่จะกระทบสิทธิและอธิปไตยของกัมพูชา และ 3.หยุดสร้างการสู้รบเขตแดนระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งข้อต่อสู้ของเราได้มีการชี้แจงไปแล้ว ว่าศาลโลกไม่มีอำนาจตัดสินเรื่องนี้ และประเทศไทยตั้งแต่ปี 2505 ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลโลกไปครบถ้วนทุกประเด็นแล้ว และขณะนี้ไม่มีความขัดแย้งในพื้นที่ไม่มีการตีความที่แตกต่างกันระหว่างไทยกับกัมพูชา ฉะนั้นคิดว่าประเด็นที่เราชี้แจงกับศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไปเมื่อ 2 เดือนที่แล้วน่าจะทำความเข้าใจ หวังว่าคำตัดสินคดีนี้จะออกเป็นประโยชน์กับประเทศไทย

ทั้งนี้หวังว่ารัฐบาลใหม่ที่เข้ามาคงมีแนวทางไม่แตกต่างกับเรา สิ่งที่เราดำเนินการมา2 ปีที่ผ่านมายืนยันว่าไม่มีนโยบายอะไรที่จะรุกรานประเทศเพื่อนบ้าน แต่เป็นเรื่องรักษาอธิปไตย รักษาประโยชน์ที่มีอยู่ของประเทศ ฉะนั้นเราหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะทำในแนวทางเดียวกัน

ทั้งนี้ถ้าแนวทางแตกต่างกันออกมาแนวทางที่ทำมาจะสูญเปล่าหรือไม่ นายชวนนท์ กล่าวว่า ถ้าคำตัดสินมาตรการชั่วคราวออกมาเรียบร้อย จะมีทางไหนทางหนึ่ง ก็อาจจะส่งผลไปถึงคำร้องการตัดสินพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร ซึ่งต้องใช้เวลา 6 เดือนในการพิจารณา ถึงตรงนั้นเรื่องคำร้องการตัดสินพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารสิ่งที่รัฐบาลนี้ได้วางแนวทางไว้ ได้ปรึกษากับที่ปรึกษากฎหมายชาวต่างชาติ และผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงการต่างประเทศ หวังว่ารัฐบาลใหม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ จะดำเนินทิศทางที่สอดคล้องกัน

ส่วนกรณีมรดกโลกเรื่องถอนตัวยังไม่สมบูรณ์คิดว่ารัฐบาลใหม่ต้องเดินตามแนวทางหรือไม่ นายชวนนท์ กล่าวว่า เรื่องมรดกโลกมันอยู่ที่ว่าสาเหตุที่เราถอนตัว เราถอนตัวเพราะความคลุมเครือในเรื่องของการที่จะเข้ามาบูรณะซ่อมแซม ถ้ารัฐบาลใหม่สามารถไปทำความเข้าใจกับมรดกโลกได้ ทำความเข้าใจกับกัมพูชาได้ว่าความชัดเจนคืออะไร ตนก็คิดว่ามีเหตุผลที่เขาจะตัดสินใจทางใดทางหนึ่ง แต่ขอให้ชัดเจนเรื่องรักษาอธิปไตยเท่านั้นเอง
ทั้งนี้ถ้ากลับไปเหมือนตอนที่นายนพดล ปัทมะ อดีตรมว.ต่างประเทศลง

แถลงการณ์ร่วมจะเกิดอะไรขึ้น นายชวนนท์ กล่าวว่า ต้องพิจารณาดู เพราะการมีแถลงการณ์ร่วมก็ทำให้กัมพูชาไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้ฝ่ายเดียว และขณะนี้แผนบริหารจัดการของกัมพูชายังใช้แผนที่ 1 ต่อ 2 แสน ซึ่งทำให้ไทยเสียเปรียบอยู่ที่ส่งไปให้กับมรดกโลก ฝากรัฐบาลชุดใหม่ว่าต้องยืนยันแนวของเราว่าสันปันน้ำเท่านั้นที่เป็นเส้นแบ่งเขตแดนไทยกัมพูชาบริเวณตัวปราสาทพระวิหาร

ขณะเดียวกันเห็นว่า เท่าที่ปรึกษากับที่ปรึกษาทางกฎหมายเห็นว่าศาลมีคำร้องไป 3 ข้อ ฉะนั้นศาลคงจะพิจารณาได้เพียงว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องแต่ละข้อไม่มีระดับคำตัดสิน มีเพียงรับหรือไม่รับ หรือให้หรือไม่ให้ตามที่กัมพูชาร้องไปกี่ข้อเท่านั้น

**เขมรถอนอาวุธ-จัดงานฉลองเล็กๆ

รายงานแจ้งว่า สำหรับชายแดนไทย - กัมพูชา ด้าน จ.สุรินทร์ หลังจากที่กัมพูชาเคยนำยุทโธปกรณ์ มาตรึงกำลังไว้ที่ชายแดน เพื่อแสดงถึงความพร้อมในการที่จะเผชิญหน้ากับไทย แต่ภายหลังจากที่สถานการณ์ทางการเมืองในไทย เปลี่ยนไปล่าสุดก็มีการนำถอยออกไปตั้งห่างชายแดนอีกมากพอสมควร ส่วนรถถัง จำนวน 4 คัน ยังคงไว้ที่ฐานโอทะมอร์ ฝั่งตรงข้ามตลาดช่องสะงำห่างออกไปประมาณ 3-4 กิโลเมตร ขณะที่นายทหารระดับผู้คุมกองพัน กองร้อยที่อยู่แนวชายแดนช่องสะงำยาวถึงอำเภอขุนหาญ ก็ข้ามพรมแดนมาฝั่งไทย

ส่วนขกระแสข่าว จัดพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 3 ปีปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนมรดกโลกขึ้นที่หมู่บ้านธรรมชาติสมเด็จเดโชฮุน เซน ซึ่งหมู่บ้านที่สร้างขึ้นให้กับครอบครัวทหาร ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดนเขาพระวิหารห่างปราสาทฯประมาณ 10 กม. โดยงานฉลองดังกล่าวจัดขึ้นไม่ได้ใหญ่โต แต่เป็นการจัดงานเลี้ยงฉลองขนาดเล็ก และไม่มีผู้นำสำคัญ ๆเดินทางมาร่วม

ทั้งนี้สาเหตุที่กัมพูชาปรับเปลี่ยนสถานที่จัดงานจากเดิมว่าจะจัดอย่างยิ่งใหญ่ที่ปราสาทพระวิหาร แต่กลับไปจัดที่หมู่บ้านธรรมชาติเดโช แทน เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้ประเทศไทยกำลังจะมีรัฐบาลใหม่.
กำลังโหลดความคิดเห็น