xs
xsm
sm
md
lg

ศาลโลกเดินหน้าตัดสินเขมรขอคุ้มครองเขาวิหาร 18 ก.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธานี ทองภักดี (แฟ้มภาพ)
โฆษก กต.ระบุทูตอินโดฯ ลงสำรวจพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา รวมถึงที่พักในอนาคต เช่นเดียวกับสำรวจพื้นที่เขมรเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ยันอินโดฯ เข้าใจสถานการณ์ดี หวังสองประเทศแก้ปัญหาโดยสันติวิธีและฉันมิตรภายในครอบครัวอาเซียน เผยศาลโลกนัดฟังคำวินิจฉัยเขมรขอคุ้มครองชั่วคราวให้ไทยถอนกำลังทหารออกจากเขาวิหาร 18 ก.ค.นี้

เมื่อวันที่ 7 ก.ค. นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการเดินทางไปในพื้นที่ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ของคณะเจ้าหน้าที่จากสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 6-7 กรกฎาคม 2554 ว่า ตามที่ได้มีการประสานงานระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกองทัพบก ก่อนหน้านี้คณะเจ้าหน้าที่จากสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียฯ รวม 3 คน ได้เดินทางไปในพื้นที่ดังกล่าว โดยมีเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมเดินทางและให้ข้อมูล โดยคณะทูตอินโดฯ ได้รับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาจากเจ้าหน้าที่กองกำลังสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 และได้ไปเยี่ยมพื้นที่ต่างๆ บริเวณชายแดน รวมถึงสถานที่ที่ทางการไทยได้จัดเตรียมไว้สำหรับผู้แทนของรัฐบาลอินโดนีเซียในอนาคต

การเดินทางไปพื้นที่ชายแดนของคณะเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทยครั้งนี้ เป็นการดำเนินการในลักษณะเดียวกับที่คณะเจ้าหน้าที่จากสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำกัมพูชาได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่ในฝั่งกัมพูชาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวด้วยว่า บรรยากาศการเดินทางเยือนพื้นที่ชายแดนของคณะเจ้าหน้าที่จากสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียฯ ครั้งนี้เป็นได้ด้วยดีและเป็นกันเอง ฝ่ายอินโดนีเซียมีความเข้าใจดีเกี่ยวกับสถานการณ์และตระหนักถึงความจริงจังและจริงใจของทางการไทยในการแก้ไขปัญหาชายแดนกับกัมพูชาโดยสันติวิธีและฉันมิตรภายในครอบครัวอาเซียน

ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า การเปิดโอกาสให้คณะทูตอินโดฯ เข้าสำรวจพื้นที่ในขณะที่ชาวเขมรยังอยู่ในแผ่นดินไทยเต็มไปหมด เราย่อมเสียเปรียบในน้ำหนักเหตุผลหากจะพูดว่าเป็นพื้นที่ของไทย เพราะคงหนีไม่พ้นกับคำถาม หากเป็นพื้นที่ของไทยจริงแล้วทำไมปล่อยให้เขมรยึดครองได้ หรือหากอินโดฯ จะเข้ามาในฐานะผู้สังเกตการณ์ เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการปะทะ เท่ากับปล่อยให้เขมรครอบครองแผ่นดินไทยต่อไปอย่างไม่มีกำหนด

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า แม้นายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าคณะเจรจาของฝ่ายไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก จะประกาศถอนตัวจากภาคีมรดกโลกแล้ว แต่จะมีผลบังคับได้หลังจากยื่นแล้ว 1 ปี ทำให้กรณีที่กัมพูชายื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว ให้ไทยถอนกำลังทหารออกจากบริเวณปราสาทเขาวิหารต่อศาลโลกยังดำเนินต่อไป โดยศาลโลกมีกำหนดนัดอ่านคำพิพากษาในวันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคมนี้ ทั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาได้จัดส่งข้อมูลเพิ่มเติมภายเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน และส่งคำชี้แจงของแต่ละประเทศให้อีกฝ่ายหนึ่งทำข้อมูลแย้งและส่งคืนศาลเมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ฝ่ายกัมพูชา ซึ่งเป็นผู้ยื่นคำตีความและคำขอคุ้มครองชั่วคราว กล่าวอ้างว่า คำตัดสินของศาลโลกเมื่อปี 2505 ตัดสินให้ตัวปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาไปแล้วตามแผนที่ 1 : 200,000 ที่กัมพูชายึดถือ ซึ่งรวมถึงบริเวณพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ด้วย ขณะที่ฝ่ายไทยโต้แย้งว่า คำตัดสินของศาลโลกครั้งนั้นตัดสินเฉพาะตัวปราสาท ไม่ได้ตัดสินเรื่องเส้นเขตแดน และไทยก็ปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลโลกครบถ้วนแล้ว มีการขีดเส้นรอบอาณาบริเวณตัวปราสาทให้แล้ว และกัมพูชาก็ยอมรับโดยมิได้ทักท้วงใดๆ จนกระทั่งเมื่อปี 2550 กัมพูชาเอาปราสาทพระวิหารไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว จึงอยากได้พื้นที่ 4.6 ตร.กม.รวมเข้าไปด้วย เพื่อให้แผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารมีความสมบูรณ์
กำลังโหลดความคิดเห็น