xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

บีโอไอ:โอกาสทองของอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรไทยในอินโดนีเซีย

เผยแพร่:   โดย: ฌานิศ พึ่งใจ

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีหมู่เกาะน้อยใหญ่รวมแล้วหลายพันเกาะ มีอาณาเขตพื้นที่กว้างขวางมากเป็นลำดับต้นๆ ของโลก และยังมีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลกอีกด้วย เมื่อมีประชากรจำนวนกว่า 234 ล้านคน จึงทำให้อินโดนีเซียให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมอาหาร โดยรัฐบาลอินโดนีเซียได้ส่งเสริมภาคการเกษตรในประเทศอย่างจริงจัง หลังจากที่เกิดความกังวลว่า ผลิตผลทางการเกษตรและอาหารในอินโดนีเซีย อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชากรในอนาคต

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการถือครองที่ดินเกษตรกรรมของเกษตรกร ที่มีสัดส่วนน้อย อาทิ ในบริเวณเกาะชวาเฉลี่ยเพียงประมาณ 3.5 ไร่ต่อครัวเรือน เกาะอื่นๆ ได้แก่ อิเรียนจายา สุลาเวสี สุมาตรา และกาลิมันตัน มีการถือครองที่ดินเกษตรกรรมเฉลี่ยประมาณ 10-12 ไร่

ในปี 2552 ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของอินโดนีเซีย (ไม่รวมน้ำมัน/ก๊าซ และเหมืองแร่) มีสัดส่วนถึงร้อยละ 27 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม โดยสาขาอาหาร/สินค้าเกษตร /เครื่องดื่ม/ยาสูบ มีสัดส่วนสูงสุดคือร้อยละ 33 อีกทั้งยังเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5.5 ต่อปี จึงเห็นได้ว่าอินโดนีเซียเน้นอุตสาหกรรมเกษตร และอาหารมากกว่าสาขาอื่นๆ

ข้าว เป็นสินค้าที่สำคัญที่สุดของอินโดนีเซีย รัฐบาลอินโดนีเซียวางแผนขยายเนื้อที่การผลิตและใช้ข้าวพันธุ์ดีเพื่อเพิ่มผลผลิตให้ได้ข้าวเปลือก 68.8 ล้านตันในปี 2011 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 จากปีที่ผ่านมา

ข้าวโพด ในอินโดนีเซียขยายตัวรวดเร็วในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จากการลงทุนของภาคเอกชน เนื่องจากราคาเอทานอลเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 19.2 บริษัทเอกชนจำนวนมาก ขยายเนื้อที่การผลิตข้าวโพดและโรงงานผลิตเอทานอลบนเกาะหลายแห่ง เช่น กาลิมันตัน และสุลาเวสี

การที่อินโดนีเซียจำเป็นต้องเน้นการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรมอาหาร จึงเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าไปขยายตลาดหรือลงทุนผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรในอินโดนีเซีย

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรของไทยมีความก้าวหน้ากว่าอินโดนีเซียอยู่มาก และอินโดนีเซียเองก็มีความต้องการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรของไทย ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นเรื่องความแข็งแรงทนทาน

แต่สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ เครื่องจักรกลการเกษตรของไทยที่อินโดนีเซียต้องการ ล้วนเป็นเครื่องจักรกลการเกษตรที่ไทยเลิกใช้ไปเกือบหมดแล้ว อาทิ รถไถเดินตาม เครื่องเกี่ยวข้าว เครื่องนวดข้าว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเครื่องจักรเหล่านี้ให้ผลผลิตต่ำกว่า เครื่องจักรรุ่นใหม่ๆ ที่กำลังออกสู่ตลาด ดังนั้นตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรในอินโดนีเซีย จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับเครื่องจักรกลแบบ Hand Tools มากกว่าไปลงทุนเครื่องจักรกลแบบไฮเทค

ที่สำคัญในปี 2553 อินโดนีเซียมีการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 39 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแผนพัฒนาเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ที่กำหนดว่าต้องแล้วเสร็จให้ได้ภายในปี 2557 คือ การเพิ่มผลผลิตภาคเกษตรรวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศ

ขณะนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียได้เปิดกว้างให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนอย่างเสรี โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนในกลุ่มที่ใช้แรงงานเป็นหลัก และยังช่วยเหลือเกษตรกรสนับสนุนดอกเบี้ยเงินกู้ในการซื้อเครื่องจักรถึงร้อยละ 8 จากดอกเบี้ยปกติร้อยละ 14 นอกจากนี้ ความตกลงทางการค้าระหว่างไทยกับอินโดนีเซีย ก็จะช่วยขยายฐานการค้าในกลุ่มต่างๆ รวมถึงเครื่องจักรกลการเกษตรของไทยด้วย

สำหรับสถิติการนำเข้าเครื่องจักรกลของไทยไปอินโดนีเซีย ในปี 2553 อันดับ 1 คือเครื่องอัดชนิดใช้ในเครื่องทำความเย็น มีมูลค่า 145.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 14.6 อันดับ 2 คือ ส่วนประกอบปั้นจั่น เครื่องเกรด เครื่องบดถนน และเครื่องผ่อนแรงอื่นๆ มีมูลค่าการนำเข้า 40.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 3 อันดับ 3 คือ เครื่องตัก ขุด ตักย้าย แบบหมุนได้ มีมูลค่าการนำเข้าจากไทย 31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 63.7

ส่วนเครื่องจักรกลการเกษตรที่มีความต้องการอย่างมากในอินโดนีเซีย และมีอัตราการขยายตัวในการนำเข้าเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ได้แก่ เครื่องสูบน้ำแบบหมุนเหวี่ยง ส่วนประกอบเครื่องฉีดพ่นในการเกษตร เครื่องฉีดพ่น เครื่องยกแบบสายพาน

อย่างไรก็ตาม หากสรุปโอกาสทองของอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรไทยในอินโดนีเซียอย่างสั้นๆ จะเห็นว่า อินโดนีเซียมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพสูง โครงสร้างพื้นฐานดี และอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรใกล้เคียงกับไทย

ที่สำคัญทั้งสองประเทศอาจเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายในด้านการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ และการประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออกไปยังตลาดโลก ผู้ประกอบการไทยจึงไม่ควรมองข้ามอุตสาหกรรม เครื่องจักรกลการเกษตร และแปรรูปเกษตรในอินโดนีเซีย เชื่อว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจได้แน่ เพราะเครื่องจักรและอุปกรณ์เป็นสินค้านำเข้าสำคัญอันดับต้นๆ ของอินโดนีเซียในปัจจุบัน

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2553-8111 หรือที่ head@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น