xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถอนมรดกโลก “มาร์ค” อย่าตีกิน ไม่ใช่ผลงาน ปชป. แต่เป็นชัยชนะของ “ประชาชน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุวิทย์ คุณกิตติขณะพบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายหลังประกาศถอนตัวจากการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลกและกรรมการมรดกโลกที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวชื่นชมกับการทำหน้าที่ของนายสุวิทย์ ว่า เยี่ยม ที่ดำเนินการถอนตัว
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - จากการที่ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนเจรจามรดกโลกฝ่ายไทย ประกาศถอนตัวจากการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลก และกรรมการมรดกโลก ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 35 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 25มิ.ย. ที่ผ่านมา จนสร้างความตกตะลึงไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้ เนื่องจากไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่ลาออกจากคณะกรรมการนี้ โดยฝ่ายไทยเห็นว่า คณะกรรมการมรดกโลกไม่ฟังข้อทักท้วงของไทย ในการปรับแก้ข้อความและถ้อยคำในร่างมติการประชุมล่วงหน้าเกี่ยวกับแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทเขาพระวิหาร ตามข้อเสนอของกัมพูชา ซึ่งอาจกระทบถึง “อธิปไตย” ของไทย

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจของนายสุวิทย์ ถือเป็นแนวทางที่ถูกต้องซึ่งเป็นไปตาม 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องของภาคประชาชน โดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย ที่ต้องการให้ไทยประกาศถอนตัวออกจากอนุสัญญานี้ เพื่อตัดโอกาสความเสี่ยงที่ต้องสูญเสียดินแดน 4.6 ตร.กม.รอบปราสาทพระวิหาร หากการประชุมครั้งนี้อนุมัติแผนบริหารจัดการทำให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกอย่างสมบูรณ์

โดยหลังจากนี้ ประเทศไทยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องยอมรับในมติของคณะกรรมการมรดกโลก แม้ว่าในท้ายที่สุดกรรมการมรดกโลกจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม แล้วมีมติอนุมัติออกมาก็ตาม ประเทศไทยก็ไม่จำเป็นต้องทำตาม และสามารถดำเนินการทุกวิถีทางในการปกปักษ์รักษาอธิปไตยของชาติเอาไว้

แม้กระทั่งใช้กำลังทหารตอบโต้ผู้ที่รุกรานเข้ามาในราชอาณาจักรไทย!

ปชป.โหนกระแสตีกิน
หลักฐานชัด ”มาร์ค” หวังแค่เลื่อน
ไม่ต้องการให้ถอน

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการถอนตัวจากการเป็นภาคีมรดกโลกของไทยในครั้งนี้ นั่นก็คือ ก่อนหน้าการถอนตัวของไทยไม่นาน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน โดยระบุว่า คณะกรรมการมรดกโลกเตรียมเลื่อนการพิจารณาแผนบริหารฯ ไปอีก 1 ปี ซึ่งถือว่าเป็นไปตาม “เป้าหมาย” ของไทย แต่จะต้องดูว่าถ้อยคำที่ระบุว่าจะมีการซ่อมแซมบูรณะตัวปราสาทเขาพระวิหารนั้นจะมีผลกระทบหรือไม่ พร้อมทั้งยังย้ำด้วยว่า “ต้องเคารพมติของที่ประชุม...”

เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ท่าทีของนายอภิสิทธิ์ตรงกันข้ามกับแนวทางที่นายสุวิทย์ตัดสินใจอย่างสิ้นเชิง โดยรายงานข่าวระบุว่าเบื้องหลังของเรื่องนี้ นายอภิสิทธิ์พยายาม “ขวาง” การถอนตัวจนนาทีสุดท้าย และในความเป็นจริง แนวทางการดำเนินการเรื่องมรดกโลกปราสาทพระวิหารระหว่างนายอภิสิทธิ์และนายสุวิทย์นั้นไม่ตรงกันมาตั้งแต่ต้น

อย่างเมื่อครั้งการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 34 ที่ประเทศบราซิล เดือน มิ.ย.ปีก่อน นายสุวิทย์ก็เตรียมที่จะประกาศถอนตัวมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่คราวนั้นถูกนายอภิสิทธิ์ยับยั้งไว้ และให้ลงนามในร่างข้อตกลงประนีประนอมชั่วคราวกับฝ่ายกัมพูชา โดยสาระสำคัญนอกจากจะเป็นการเลื่อนการพิจารณาแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารออกไปแล้ว ยังมีข้อผูกพันว่าฝ่ายไทยยอมรับมติที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกย้อนหลัง หรือหมายถึงการยอมรับมติการนำปราสาทพระวิหารเข้าบัญชีมรดกโลกนั่นเอง

อีกทั้งท่าทีของนายอภิสิทธิ์ยังมุ่งถือหางแนวทางของข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ที่มีความพยายามให้มีการจัดทำแผนบริหารจัดการร่วมกันระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งต่างกับนายสุวิทย์ที่ต้องการให้มีการปักปันเขตแดนให้ชัดเจนเสียก่อน เนื่องจากเห็นว่าในแผนบริหารจัดการพื้นที่ของกัมพูชาที่เสนอเข้ามา ยังมีการรุกล้ำชายแดนไทยอยู่

จนเป็นเหตุให้นายสุวิทย์ตัดสินใจ “ลาออก” จากการทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้เจรจามรดกโลกฝ่ายไทย เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่าการทำงานไม่เป็นเอกภาพ และต้องการให้กระทรวงการต่างประเทศในฐานะผู้รับผิดชอบดำเนินการแต่ฝ่ายเดียว ก่อนที่นายอภิสิทธิ์จะนัดเจรจากับนายสุวิทย์นอกรอบ โดยครั้งนั้นนายสุวิทย์ได้ “ยื่นคำขาด” ให้มอบอำนาจสิทธิ์ขาดในการตัดสินใจให้แก่เขา โดยที่เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศเป็นเพียงคณะทำงานไม่มีสิทธิ์ในการตัดสินใจใดๆ

นายอภิสิทธิ์จึงจำใจรับปาก เพราะต้องการใช้นายสุวิทย์สานต่อภารกิจ

กระทั่งมาถึงการประชุมที่ประเทศฝรั่งเศสครั้งนี้ ความไม่เป็นเอกภาพก็เกิดขึ้นโดยตลอด เพราะฝ่ายนายสุวิทย์เตรียม “ทิ้งไพ่ใบสุดท้าย” โดยการถอนตัวจากภาคีอนุสัญญามรดกโลก ขณะที่นายอภิสิทธิ์ก็พยายามประคองไม่ให้นายสุวิทย์ประกาศถอนตัว เพราะหวังที่จะยื้อเรื่องต่อไปให้พ้นภาระหน้าที่ของรัฐบาลตัวเอง ทั้งนี้โดยมี “นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต” เลขาฯ ของ “นายกษิต ภิรมย์” รับหน้าที่สำคัญในการล็อบบี้นายสุวิทย์

แต่นายสุวิทย์ที่ผ่านการประชุมร่วมกับคณะกรรมการมรดกโลกทั้ง 21 ชาติมาหลายต่อหลายครั้ง ย่อมรู้ดีว่าท่าทีของคณะกรรมการนั้นเอนเอียงไปทางฝ่ายกัมพูชามากขนาดไหน โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจที่จ้อง “ฮุบ” ผลประโยชน์ด้านพลังงานผ่านทางกัมพูชา จนมีข่าวออกมาว่าคณะกรรมการ 14 ชาติให้การสนับสนุนกัมพูชา ขณะที่เสียงข้างน้อย 7 ชาติอยู่กับฝั่งไทย

เมื่อเป็นเช่นนี้ หากปล่อยให้เรื่องเข้าสู่วาระการลงมติ ก็มีแต่ “แพ้กับแพ้” เท่านั้น ซึ่งนายสุวิทย์ก็ “เก๋าเกม” พอที่จะเอาตัวรอดจากการเป็น “จำเลย” ในข้อหา “ขายชาติ” โดยการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายอภิสิทธิ์ ขณะที่นายอภิสิทธิ์ก็ยังมัวคิดว่าการเดินเกมของตัวเองเป็นสิ่งที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการยึดมั่นถือมั่นใน “เอ็มโอยู 43” ว่าจะเป็นเกราะป้องกัน และเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการปกป้องอธิปไตยของชาติ โดยหารู้ไม่ว่านานาชาติมอง “เอ็มโอยู 43” เป็นหนังสือรับรองแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน ซึ่งก็หมายความว่าฝ่ายไทยเป็นฝ่ายละเมิดดินแดนกัมพูชา หากยึดถือตามข้อตกลงฉบับนี้

อีกทั้งยังเห็นได้ชัดจากเวทีนานาชาติทุกเวที ไล่ตั้งแต่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เวทีอาเซียน ศาลโลก หรือแม้แต่คณะกรรมการมรดกโลก ที่ล้วนแล้วแต่มองว่าฝ่ายไทยรุกรานเพื่อนบ้าน โดยไม่สนใจคำโต้แย้งของฝ่ายไทย ซึ่งเรื่องของเรื่องก็มาจาก “เอ็มโอยู 43” นั่นเอง

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ก็ยังดื้อด้าน คิดว่าตัวเองคุมเกมได้ แต่ความเป็นจริงยังไล่ตาม “ก้น” นายฮุนเซนอยู่หลายช่วงตัว !

จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การถอนตัวออกจากภาคีมรดกโลกครั้งนี้ เป็นการตัดสินใจของนายสุวิทย์ โดยนายอภิสิทธิ์ไม่ได้เห็นด้วยเลยแม้แต่น้อย แต่อาศัยว่านายสุวิทย์มีมติคณะรัฐมนตรีที่ให้อำนาจเต็มในการตัดสินใจไปแล้ว โดยนายสุวิทย์ได้ให้สัมภาษณ์หลังเดินทางกลับจากการประชุมที่ประเทศฝรั่งเศส ถึงการตัดสินใจถอนตัวจากภาคีมรดกโลกว่า...

“ก่อนหน้าตัดสินใจก็ถามนายกรัฐมนตรีก่อนหน้าแล้ว ท่านนายกรัฐมนตรีโทร.มาถามความคืบหน้า ผมก็รายงานไป บอกว่ามีอยู่ 2-3 ส่วน แต่ก็บอกว่าส่วนสุดท้ายผมอาจจะต้องดำเนินการอย่างนี้ ท่านก็บอกให้พยายามทำอย่างอื่นไปก่อน”

หมายความว่า ฯพณฯ อภิสิทธิ์ ให้เลื่อนไปก่อน อย่าเพิ่งไปถอนตัว !?

ขณะที่ นายเทพมนตรี ลิมปพยอม ตัวแทนคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย ที่ได้ร่วมเดินทางไปสังเกตการณ์การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในครั้งนี้ ก็ยืนยันว่า การลาออกครั้งนี้ นายสุวิทย์ตัดสินใจด้วยตัวเอง เนื่องจาก ครม. ได้มอบหมายให้นายสุวิทย์มีอำนาจเต็มในครั้งนี้

“ผมเชื่อว่าคุณสุวิทย์เองก็คงมีธงอยู่ในใจ อย่างเช่นแรกเริ่มมาก็ต้องการให้เลื่อนไปเป็นปีหน้า แล้วท่านนายกฯ เองก็มีลักษณะเป็นเช่นนั้น แต่พอมาถึงที่นี่ กัมพูชาก็ไม่ยอมเลื่อน อยากจะให้แผนปฏิบัติการ โหวตลงมติไปเลย ซึ่งเราก็ทราบอยู่แล้วว่า หากโหวตกันจริง เราก็ต้องแพ้ คุณสุวิทย์เองก็เลยพยายามจะล็อบบี้ประเทศที่น่าสนับสนุน รวมไปถึงฝรั่งในศูนย์มรดกโลก...” นายเทพมนตรีให้ข้อมูล

อย่างไรก็ตาม ผลของการตัดสินใจครั้งนี้ได้ส่งให้นายสุวิทย์ขึ้นแท่น “วีรบุรุษ” และเป็น “ฮีโร่” ในชั่วข้ามคืน ด้วยกระแสความชื่นชมจากผู้คนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยมีนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญให้การสนับสนุน และทันทีที่เห็นกระแสความชื่นชมมีมาอย่างล้นหลาม ถึงแม้ก่อนหน้านี้จะขวางการถอนตัวจากภาคีมรดกโลกอย่างสุดฤทธิ์ แต่ชายชื่อ “อภิสิทธิ์” ก็ไม่รีรอที่จะกระโจนออกมาโหนกระแส “ตีกิน” สถานการณ์ ถึงแม้งานนี้จะต้อง “กลืนน้ำลายตัวเอง” ไปเอื๊อกใหญ่ แต่กระทาชายนาย “มาร์ค” ก็ยอม เพราะถ้าคิดสะระตะแล้ว ช่วงนี้เป็นช่วงโค้งสุดท้ายของศึกเลือกตั้ง ถ้าโหนกระแสให้ดีๆ ประชาธิปัตย์ก็จะ “ยึดพื้นที่ข่าว” เขี่ยเพื่อไทยตกกระแส โกยคะแนนนิยมให้พรรคอีกเป็นกระบุงโกย!

มาตรการ “ส่งไม้ต่อ” ของปชป.
และ “เอ็มโอยู 2543” อันเป็นเท็จ

จากความพยายามของพรรคประชาธิปัตย์ โดยการนำของนายอภิสิทธิ์ ที่พยายาม ยึดการถอนตัวออกจากภาคีมรดกโลก มาเป็นยุทธศาสตร์ในการหาเสียงแบบเนียนๆ ทำนองว่า รัฐบาลชุดต่อไปจะปกป้องอธิปไตย หรือจะยกแผ่นดินให้กับกัมพูชาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการเลือกตั้งวันที่ 3 ก.ค. นี้

แต่ความจริงก็คือ กรณีดังกล่าวถือเป็นความบกพร่องของทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่กอด “เอ็มโอยู 43” มาตลอดและทำให้กัมพูชาเอาไปอ้างแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ในการขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหาร และรัฐบาลที่เป็นคนทำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาและสนับสนุนการขึ้นทะเบียนตัวปราสาทพระวิหาร

อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร “พรรคประชาธิปัตย์” ตอนเป็นฝ่ายค้านนั้น “คัดค้าน” แม้กระทั่งการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร โดยอ้างว่าแม้แต่ขอบตัวปราสาทนั้นก็เป็นสิ่งที่รับไม่ได้ แต่มาบัดนี้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ตลอด 2 ปีครึ่งที่ผ่านมากลับสู้แค่ “เลื่อนให้พ้นจากรัฐบาลตัวเอง” เท่านั้น โดยไม่ได้แก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้เลย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลาออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลก เมื่อตรวจสอบเอกสารแล้วอาศัยอนุสัญญามรดกโลกข้อ 35 ซึ่งถูกกำหนดไว้ว่า การลาออกของนายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าผู้แทนไทย จะมีผล 1 ปีข้างหน้า นั่นหมายถึงว่ารัฐบาลชุดหน้าจะเป็นผู้กำหนดว่าจะออกจริงหรือไม่ จะถอนตัวหรือไม่ นั่นหมายความว่ายังมี “ความเสี่ยง” อยู่ไม่น้อย

จึงถือว่ารัฐบาลมีข้อบกพร่องที่ทำให้เรื่องนี้ไม่ยุติในรัฐบาลของตัวเอง ด้วยการลาออกตั้งแต่ปีที่แล้ว เพราะถ้าหากลาออกตั้งแต่ปีที่แล้วทุกอย่างจะจบภายในปีนี้ ก็คือไทยถอนตัวออก ไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของมติคณะกรรมการมรดกโลก ดังนั้น การถอนตัวช้าจึงไม่อาจมองเป็นอื่นไปได้ นอกจากเป็นเพียงมาตรการ “ส่งไม้” ให้รัฐบาลชุดหน้าไปดำเนินการต่อ ทั้งๆ ตอนที่ตัวเองเป็นฝ่ายค้านไม่เคยเห็นด้วย

นี่จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนคนไทยไม่ควรไปหลงกลในมาตรการโฆษณาชวนเชื่อ ในช่วงระยะเวลาตอนนี้

นอกจากนี้ กรณี “เอ็มโอยู 43” หรือบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนไทย-กัมพูชา ปี 2543 ที่รัฐบาลเคยอ้างมาโดยตลอดว่าเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการขัดขวางมรดกโลก มาถึงวันนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งแล้วว่ามันเป็น “เรื่องเท็จ” ไม่ใช่เรื่องจริง และยังพิสูจน์ได้แล้วว่า การเลื่อนแผนบริหารจัดการปีที่แล้ว เกิดขึ้นเพราะมาตรการขู่ว่าจะลาออกจากมรดกโลก ไม่ใช่เอ็มโอยู 43 มาตรการปีนี้ก็เช่นเดียวกัน ไม่ได้เป็นผลงานของเอ็มโอยู 43 เลยแม้แต่น้อย ดังนั้น จึงสะท้อนถึงความล้มเหลวของเอ็มโอยู 43 โดยตรง

มาจนถึงวันนี้ ถ้านายอภิสิทธิ์ไม่โง่ หรือบ้า ก็คงทำเป็นไม่รู้ว่า “เอ็มโอยู 43” มันล้มเหลวในการขัดขวางในเวทีคณะกรรมการมรดกโลก ไม่มีชาติไหนเขาเชื่อถือเอ็ม โอยู 43 ของฝ่ายไทย ไม่มีใครเขาฟัง แสดงว่าอำนาจต่อรองเกิดขึ้นเพียงเพราะว่าไทยถอนตัวออกจากมรดกโลกเป็นสาเหตุสำคัญ นายอภิสิทธิ์จึงไม่มีสิทธิ์อ้างเรื่องเอ็มโอยู 43 อีกต่อไป และที่สำคัญเป็นสิ่งที่นายอภิสิทธิ์ จะต้องรับผิดชอบกับการยืนยันที่จะใช้เอ็มโอยู 43 แล้วล้มเหลวในเวทีมรดกโลก โดยต้องเปลี่ยนไปใช้มาตรการที่นายสุวิทย์ต้องถอนตัวออกจากมรดกโลกโดยทันที

“มาร์ค” กับลิเกเฟซบุ๊กตอน 8

นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ยังเขียนเฟซบุ๊กตอน “จากใจอภิสิทธิ์ถึงคนไทยทั้งประเทศ 8” โดยยกประเด็นเขาพระวิหารเพื่อต้องการช่วงชิงคะแนนเสียง ในช่วงโค้งสุดท้ายของศึกเลือกตั้ง โดยนายอภิสิทธิ์เขียนเรื่องเขาพระวิหารแบบขาดหายไปเป็นช่วงๆ โดยเฉพาะในช่วงที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง

ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์เขียนว่า “บอกตรงๆ ว่า ผมรู้สึกละอายใจแทนคุณนพดลที่จนถึงวันนี้ยังไม่ได้สำนึกเลยว่าต้นตอปัญหาที่รัฐบาลคุณสร้างขึ้นกำลังส่งผลร้ายแรง คุกคามชีวิตพี่น้องประชาชนตามแนวชายแดนอย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นเลย” เห็นได้ชัดว่าสิ่งที่นายอภิสิทธิ์เขียนเป็นการด่าแต่คนอื่นยกเว้นตัวเอง แต่ความจริงเรื่องนี้ “ประชาธิปัตย์” ต้องรับผิดด้วย เพราะเป็นคนริเริ่ม “เอ็มโอยู 43” และปล่อยให้มีการสร้างถนนถึงสองเส้นในบริเวณเขาพระวิหาร จนเขมรขนอาวุธเข้ามาได้

ส่วนที่นายอภิสิทธิ์เขียนว่า “วันที่ 28 ก.ค. 2553 ครม.มีมติสนับสนุนการทำงานของคุณสุวิทย์ และมอบอำนาจให้ตัดสินใจในการวอล์กเอาต์จากที่ประชุมกรรมการมรดกโลก หากมีการดึงดันรับรองแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารของกัมพูชา และให้ออกแถลงการณ์ชี้แจงข้อทักท้วงของไทยอย่างชัดแจ้ง รวมทั้งทบทวนการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลก

“วันเดียวกัน ผมได้ประกาศจุดยืนรักษาอธิปไตยของชาติ รักษาสิทธิเหนือดินแดนไทย ไม่ให้ความร่วมมือในการบริหารจัดการพื้นที่ที่กระทบต่อดินแดนไทย และยืนยันความพร้อมของกองทัพไทยในการปกป้องอธิปไตยของชาติ”

คำถามก็คือ เป็นเพราะการขู่ลาออกไม่ใช่หรือ ที่ทำให้เลื่อนแผนบริหารออกไป1 ปี แล้วที่เคยบอกว่าเป็นเพราะเอ็มโอยู 43 ล่ะ? แสดงว่าเอ็มโอยู 43ใช้งานในเวทีมรดกโลกไม่ได้ตั้งแต่ปี 43 แล้วใช่หรือไม่ ในเมื่อเอ็มโอยู 43 ใช้ไม่ได้ในเวทีมรดกโลก แล้วนายอภิสิทธิ์จะเลิกใช้เมื่อไหร่

ส่วนข้อความของนายอภิสิทธิ์ที่เขียนว่า “วันที่ 29 ก.ค. 2553 คณะกรรมการมรดกโลกรับฟังข้อทักท้วงของรัฐบาลไทยมีมติเลื่อนการพิจารณาแผนการบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารของกัมพูชาออกไปตัดสินในการประชุมปีนี้” ความจริงไม่ใช่ฟังข้อทักท้วง แต่เป็นเพราะนายสุวิทย์ไปลงนามโดยคำสั่งของนายอภิสิทธิ์ในการรับมติประนีประนอม 5 ข้อ ทำให้ไทยถลำลึกยอมรับผลผูกพัน จนเริ่มจัดทำแผนบริหารจัดการได้หลังจากนั้น

อย่างนี้แล้วนายอภิสิทธิ์จะมาอ้างเป็นผลงานของตัวเองได้อย่างไร ในเมื่อการลาออกจากภาคีสมาชิก จะมีผลใน 1 ปีข้างหน้า หมายความว่าถ้าเปลี่ยนรัฐบาลก็เปลี่ยนนโยบายได้ เท่ากับเป็นการปล่อยความเสี่ยงถึงรัฐบาลหน้า ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจในการปกป้องอธิปไตยจริง ต้องลาออกจากภาคีสมาชิกตั้งแต่ปีที่แล้ว เพื่อให้มีผลในปีนี้ แล้วรัฐบาลชุดอื่นจะไม่มีสิทธิ์เอาไปต่อยอดได้เลย

อย่างไรก็ตาม การที่นายสุวิทย์ลาออกเป็นเพราะเขาเห็นมติที่กัมพูชาขอ 8 ข้อ โดยเฉพาะข้อ 5 “ให้กัมพูชาสามารถเข้าไปซ่อมแซมตัวเขาวิหารได้” นั่นจะมีประโยชน์อะไรแม้จะมีชาวไทยรวมซ่อมแซมอยู่ด้วย เมื่อประชาชนทั้งสองประเทศอยู่ปะปนกัน ไทยจะหมดสิทธิ์ผลักดันเขมรออกจากดินแดนไทย ประกอบกับยูเนสโกพยายามหมกเม็ดเอาแผนบริหารจัดการเข้าที่ประชุม ซึ่งนายสุวิทย์ได้ถามย้ำไปหลายครั้งก็บ่ายเบี่ยงไม่บอก พอถอนตัวออกจากการเป็นภาคีแล้วถึงได้มาบอกว่าไม่เคยมีวาระแผนบริหารจัดการ ทั้งนี้ ก็เพื่อต้องการให้รัฐบาลไทยกลับมติคณะรัฐมนตรีเข้าร่วมภาคีเหมือนเดิม เพื่อส่งไม้ต่อไปให้รัฐบาลชุดหน้า

ความจริงก็คือ นายอภิสิทธิ์ต้องการใช้ประเด็นถอนตัวจากภาคีมรดกโลก เพื่อช่วงชิงคะแนนเสียงเท่านั้น เพราะแท้ที่จริงแล้วนายอภิสิทธิ์ไม่ได้เห็นด้วยกับการถอนตัวจากภาคีมรดกโลก แต่ต้องการเลื่อนแผนบริหารจัดการแลกกับการให้เขมรเข้ามาบูรณะเขาวิหารโดยเลี่ยงคำว่า “บูรณะ” มาเป็นคำว่า “ป้องกันและอนุรักษ์” หากจำได้ก่อนถอนตัวมรดกโลก เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. นายอภิสิทธิ์พูดว่า...

“ชัดเจน มติคณะกรรมการมรดกโลกให้เลื่อนแผนบริหารจัดการ ซึ่งถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายของไทย”

แล้วอย่างนี้จะมาอ้างเป็นเครดิตประชาธิปัตย์ เชิญชวนให้คนเลือกเพื่อจะได้มาปกป้องอธิปไตยได้อย่างไร ในขณะที่เขมรยังรุกล้ำอยู่ในดินแดนไทย ถนนที่เขมรสร้างขึ้นมาบนเขาวิหารในรัฐบาลชุดนี้ก็ยังอยู่ และที่สำคัญตอนเป็นฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยแม้กระทั่งขึ้นทะเบียนตัวปราสาทและพื้นที่ขอบๆ แต่วันนี้กลับมาสู้แค่ “ขอเลื่อนฯ” ให้พ้นๆ ไป

คำถามก็คือ นี่เป็นมาตรการ “ส่งของ” ให้รัฐบาลหน้าใช่หรือไม่ !?

ชัยชนะของประชาชน

สุดท้าย สิ่งสำคัญที่จะลืมมิได้ นั่นก็คือ การถอนตัวจากภาคีมรดกโลกครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่ภาคประชาชน โดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย ได้พร่ำเตือนมาตลอด และยืนหยัดต่อสู้มาอย่างยาวนาน ด้วยความอดทนอดกลั้นต่อคำหมิ่นแคลนของผู้ไม่เห็นด้วย และถูกใส่ร้ายป้ายสีต่างๆ นานาจากผู้ไม่หวังดี แต่มาถึงวันนี้ การยืนหยัดต่อสู้มาอย่างยาวนานด้วยความอดทนอดกลั้นของภาคประชาชน ได้เปิดเผยความจริงทุกประการ

เพราะการถอนตัวออกจากภาคีมรดกโลกครั้งนี้ เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งรู้มาตั้งนานแล้วว่าจะรักษาอธิปไตยเหนือดินแดนไว้ได้ ต้องถอนตัวจากภาคีสมาชิก ไม่ใช่เพิ่งมาตัดสินใจในช่วงนี้ การตัดสินใจช่วงนี้ เป็นเพราะจนแต้ม มาถึงทางตัน มากกว่า เพราะหากไม่ถอนตัวจะโดนกล่าวหาว่า “ขายชาติขายแผ่นดิน” ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นจึงถือเป็นความสำเร็จของประชาชนชาวไทยที่ได้ร่วมแรงร่วมใจปกป้อง “อธิปไตย” ของชาติเอาไว้

ไม่ใช่ผลงานของประชาธิปัตย์ และยิ่งไม่ใช่ผลงานของนายอภิสิทธิ์ แม้กระทั่งนายสุวิทย์ ที่ถึงแม้จะมีความดีความชอบอยู่บ้าง จากการตัดสินใจลาออกจากการเป็นภาคีมรดกโลก แต่ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมา นายสุวิทย์ก็ต้องเจอกับการ “โหวตโน” เหมือนกับนักการเมืองทุกคนและทุกพรรค โดยไม่มีข้อยกเว้น!

*******************************************

“เทพมนตรี” กับนาทีประวัติศาสตร์
“สุวิทย์” ตัดสินใจหัก “มาร์ค”

นายเทพมนตรี ลิมปพยอม ตัวแทนคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว ASTVผู้จัดการ ในฐานะที่ได้ร่วมเดินทางไปสังเกตการณ์การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในครั้งนี้ตั้งแต่ต้น ว่า...

“ผมไปสังเกตการณ์ว่า คณะกรรมการมรดกโลกและคณะผู้แทนไทยที่เดินทางไปว่าความเป็นอย่างไร และผลสรุปที่ได้เป็นอย่างไร ซึ่งคุณสุวิทย์ (คุณกิตติ - หัวหน้าคณะผู้แทนเจรจามรดกโลกฝ่ายไทย) เองก็เห็นด้วยที่มีผมเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ และอาจจะเข้ามาช่วยในเรื่องข้อมูลให้เขา คุณสุวิทย์ก็เลยอนุญาตให้ผมเข้าไปนั่งในห้องประชุมได้ แต่ผมกับกลุ่มพันธมิตรฯ เองก็มีเป้าหมายอยู่แล้วว่า อยากให้คุณสุวิทย์ลาออกจากภาคีของมรดกโลก”

จากการสังเกตการณ์ บรรยากาศภายในห้องประชุม นายเทพมนตรีบอกว่า ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะการประชุมหลายอย่าง อย่างครั้งนี้ก็จะมี 40 ประเทศเสนอแหล่งมรดกโลก 42 แห่งเพื่อขึ้นทะเบียนมรดกโลก ก็จะมีการต่อรองกัน ล็อบบี้กัน และก็มีหลายประเทศที่เข้ามาล็อบบี้ฝ่ายไทยให้ช่วยสนับสนุน อีกส่วนหนึ่งเป็นการอนุมัติวงเงินสำหรับการดูแลรักษา บูรณะปฏิสังขรณ์หรือนำเงินไปเพื่อพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ของมรดกโลก นอกจากนี้ก็มีเรื่องของมรดกโลกที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว แต่มีลักษณะเป็นอันตรายหรือสมควรที่จะถูกลบชื่อออกไป ก็จะเกิดขึ้นในเวทีนี้

“แต่สำหรับของคนไทย คุณสุวิทย์เองก็ต่อสู้อย่างแข็งขัน ส่วนผมก็อย่างที่ทราบกันว่า คนในคณะก็มีหลายคนที่ไม่ชอบผม ก็ถูกกีดกันบ้างเป็นเรื่องปกติ แต่ผมก็พยายามคุยกับคุณสุวิทย์และผู้ใหญ่ในทีมที่มาว่า ทำไมเราถึงจำเป็นต้องลาออก เพราะแผนบริหารจัดการที่เขมรเสนอกับที่ประชุม มันรุกล้ำอธิปไตย เราจะยอมเสียดินแดนไปแบบนี้ไม่ได้”

อย่างไรก็ตาม เท่าที่สังเกตมา นายเทพมนตรีให้ความเห็นว่า ทีมนี้ส่วนหนึ่งก็คงไม่อยากให้ลาออก บางคนไม่พอใจมากที่นายสุวิทย์จะลาออก แต่เนื่องจากเขาเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยทำให้ไม่สามารถแสดงออกได้

“ความขัดแย้งของเขาเป็นการขัดแย้งในที เพราะไม่กล้าแสดงออก และคุณสุวิทย์เองก็เป็นหัวหน้าคณะ เป็นรัฐมนตรีที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้มา แต่ที่ขัดแย้งหนักน่าจะเป็นขัดแย้งกับผม (หัวเราะ) ...แต่ผมเชื่อว่า คุณสุวิทย์เองก็คงมีธงอยู่ในใจ อย่างเช่นแรกเริ่มมาก็ต้องการให้เลื่อนไปเป็นปีหน้า แล้วท่านนายกฯ เองก็มีลักษณะเป็นเช่นนั้น แต่พอมาถึงที่นี่ กัมพูชาก็ไม่ยอมเลื่อน อยากจะให้แผนปฏิบัติการ โหวตลงมติไปเลย ซึ่งเราก็ทราบอยู่แล้วว่า หากโหวตกันจริง เราก็ต้องแพ้ คุณสุวิทย์เองก็เลยพยายามจะล็อบบี้ประเทศที่น่าสนับสนุน รวมไปถึงฝรั่งในศูนย์มรดกโลก”

นายเทพมนตรีบอกว่ามีหลายประเทศที่สนับสนุนไทย แต่ประเทศที่ไม่สนับสนุนตอนนี้ก็คือ บาห์เรน ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

“คือเดิมเขาสนับสนุนไทย แต่ตอนนี้รู้สึกจะเฉยเมยมาก เราก็เลยขาดผู้สนับสนุนหลักไป ประกอบกับเขมรเองก็เป็นรองประธานในที่ประชุมด้วย มันก็เลยทำให้หลายๆ ประเทศที่เขาเสนอมรดกโลกเข้ามาเลยเกรงใจ เนื่องจากต้องยอมรับว่าการเสนอมรดกโลกเข้ามาต้องมีเสียงสนับสนุนจาก 24 ประเทศ อย่างประเทศเราก็มีหลายๆ ประเทศที่เข้ามาล็อบบี้ เพราะแม้แต่วินาทีสุดท้ายก่อนที่คุณสุวิทย์จะลาออก ผมก็ยังเห็นประเทศออสเตรเลีย บราซิล และฝรั่งเศสเองก็เข้ามาคุยกับคุณสุวิทย์”

ส่วนประเด็นที่ถือว่าเป็นจุดแตกหักของเรื่องนี้ นายเทพมนตรีบอกว่า... “คงเป็นเรื่องการบูรณะ กับการเข้าไปยอมรับว่าจะต้องอนุรักษ์จะต้องดูแล ซึ่งพอถึงเวลากลายเป็นว่า เขมรไม่ยอมทั้งหมด ไม่ใช่ไทยไม่ยอม ของเราก็แค่เอาไปปรับเปลี่ยนข้อความให้เรายอมรับได้ แต่เขมรมาตู้มเดียว ไม่ยอมเลย เพราะเขามีธงอยู่แล้วว่าจะเอาเข้าที่ประชุมให้โหวต”

ถามว่าที่ผ่านมาพอเห็นท่าทีของนายสุวิทย์บ้างไหมว่า จะตัดสินใจลาออก นายเทพมนตรีบอกว่า ก็พอเห็น เพราะคุยกันตลอด ตั้งแต่ก่อนเดินทาง

“ตอนนั้นเราพบกันอย่างน้อย 2 ครั้ง ซึ่งผมก็บอกว่าในบั้นปลายของเรื่องนี้ คุณสุวิทย์ต้องลาออก เพราะอย่างน้อยๆ เราก็ไม่อยากเสียดินแดนไป โดยเฉพาะในปีนี้ซึ่งเป็นปีมหามงคลด้วย หากเราทำอะไรไปก็ต้องทำภายใต้พระปรมาภิไธยของในหลวง ดังนั้นเราจึงไม่ควรทำอะไรที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ยิ่งถ้าเห็นว่าเสียดินแดนจริง ก็ไม่เห็นจำเป็นจะต้องอยู่ต่อ เพราะถึงเราจะลาออกไป แต่พอเราจัดการเรื่องเขตแดนกับเขมรได้ ก็สามารถกลับมาเป็นสมาชิกได้

“และอย่างเมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา ผมก็เอาจดหมายลาออกที่ผมร่างแล้วก็แปลเป็นภาษาอังกฤษให้คุณสุวิทย์ถือเอาไว้ ถ้าคุณสุวิทย์เห็นด้วยกับจดหมายนี้ก็ดำเนินการได้ เขายังมีแซวผมเลยว่า จดหมายฉบับนี้มันแรงไป แล้วเขากำลังร่างใหม่กับทีมงาน ซึ่งแสดงว่าเขามีแนวโน้มที่จะลาออก พูดง่ายๆ คือจะเลื่อนนั้นแหละ แต่พอเลื่อนไม่ได้ก็เลยลาออก”
ทั้งนี้ นายเทพมนตรีบอกว่า กลุ่มที่ไม่อยากให้ลาออกก็เช่นส่วนที่เป็นคณะกรรมการมรดกโลก เพราะการลาออกก็คือ การเสียผลประโยชน์ขององค์กร

“ผมเข้าใจว่า เขาคงคิดถึงหน้าตาประเทศ กลัวต่างชาติจะว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ของคนไทย คือกลัวเสียหน้า แต่ผมคิดว่า เสียแผ่นดินมันหนักกว่าเสียหน้า ดังนั้น เสียหน้าไปเถอะ แต่ก็มีบางส่วนเหมือนกันที่สนับสนุน โดยเฉพาะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หรือกลุ่มที่เห็นแล้วว่าร่างมติมันแย่มาก

“ซึ่งพอลาออกแล้วก็ถือว่ามีผลมากๆ เพราะตอนที่คุณสุวิทย์ประกาศ วงแตกเลย! ฝรั่งเดินออกมา แล้วตอนหลังเขาก็พยายามจะล็อบบี้ให้เรากลับไป แต่คุณสุวิทย์ไม่ยอม... คือผมว่าตอนนี้เหมือนเป็นการแสดงละคร พยายามตะล่อมให้เรากลับไป แต่เอาจริงๆ แล้วก็ยังเข้าข้างเขมรเหมือนเดิม คือพยายามให้เราไปยอมรับเขมรให้ได้”

ถามว่าถึงตอนนี้ มีแผนจะทำอะไรต่อไป นายเทพมนตรีให้ความเห็นว่า...

“ผมว่าเราต้องจัดการเรื่องยูเนสโกด้วย เพราะตัวผู้อำนวยการใหญ่ (อิรินา โบโกวา) ก็ลำเอียงเข้าข้างกัมพูชา เพราะฉะนั้นเราจะต้องกดดันยูเนสโกเมืองไทย เพราะถือเป็นสาขาในภูมิภาคแปซิฟิกที่ใหญ่ที่สุด และมีความสำคัญกับยูเนสโก ดังนั้นเราต้องประท้วง กดดันให้อิรินาพ้นจากตำแหน่ง เพราะเขาเป็นคนสนับสนุนให้กัมพูชามารุกล้ำดินแดนของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มากตามกฎบัตรสหประชาชาติที่ไม่อนุญาตให้ยูเนสโกยกดินแดนให้ใคร...” นายเทพมนตรีกล่าว
ประชาชนเดินทางมาให้กำลังใจนายสุวิทย์
จากที่ตั้งธงแค่เลื่อน ภายหลังจากกระแสสังคมให้การสนับสนุนการถอนตัวจากภาคีมรดกโลก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีก็ตีกินด้วยการเออออห่อหมกกับนายสุวิทย์ คุณกิตติ เพื่อหวังคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น