xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปฏิญญาบรูไน วัฒนา-ประวิตร-สุรเกียรติ์ กับภารกิจลับช่วย “เจ้ามูลเมือง”?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวัฒนา เมืองสุข
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในขณะที่สองพี่น้องโคลนนิง “นช.ทักษิณ ชินวัตร” และ “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เชื่อมั่นอย่างถึงที่สุดว่า พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งและสามารถจัดตั้งรัฐบาลปกครองราชอาณาจักรไทยได้สำเร็จนั้น ยังคงมีสิ่งที่ถือเป็น “ก้อนกรวดในรองพระบาทของเจ้ามูลเมือง” ที่สำคัญยิ่งที่พวกเขาหวั่นวิตกเป็นที่สุด นั่นก็คือ “กองทัพ” เพราะเขารู้ดีว่า พลังแห่งสีเขียวนั้น ไม่ธรรมดา ดังเช่นที่เขาเคยประสบพบเจอกับตัวเองมาแล้ว

ดังนั้น ความพยายามในการเกี้ยเซี้ยะและเจรจาต่อรองผลประโยชน์กับกองทัพจึงดำรงอยู่มาโดยตลอด โดยสูตรล่าสุดที่สร้างความฮือฮา พร้อมทำให้ผู้ที่ปรากฏชื่อเป็นตัวละครอย่างนายวัฒนา เมืองสุข ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เต้นกันเป็นเจ้าเข้าก็คือ สูตรที่รู้จักในชื่อ “ปฏิญญาบรูไน” ที่มาจากบทวิเคราะห์ของ “ฌอน คริสเพน” ในเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ เอเชียไทมส์ เรื่อง “ข้อตกลงเบื้องหลังการเลือกตั้งของไทย”

ทั้งนี้ ไม่ว่าปฏิญญาบรูไนจะเป็นจริงหรือไม่ และตัวละครที่ปรากฏจะเป็น “ตัวจริง” หรือไม่ แต่เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ข่าวนี้มีมูล ไม่ใช่ข่าวโคมลอยที่หาสาระอะไรมิได้ เพราะท้ายที่สุดแล้ว ก็ต้องยอมรับความจริงกันว่า ทหารและพรรคสีเขียวคือกลุ่มอำนาจที่ทรงพลังที่สุดกลุ่มหนึ่งในประเทศนี้

บทวิเคราะห์ของฌอน คริสเพนระบุเอาไว้ชัดเจนว่า กองทัพและอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรได้เปิดการเจรจาลับกันมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งทำให้เกิดการคาดการณ์ว่า ทหารจะไม่เข้ายึดอำนาจ แต่จะเปิดทางให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล โดยแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ของแต่ละฝ่าย

ทั้งนี้ รายงานได้อ้างแหล่งข่าววงในระบุว่า นายวัฒนา เมืองสุข ในฐานะตัวแทนของ นช.ทักษิณ และ “บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พี่ใหญ่ของบูรพาพยัคฆ์ที่มีอำนาจคับกองทัพ ได้มีการเจรจาต่อรองกันที่ประเทศบรูไนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และได้หารือกันอีกหลายครั้ง รวมทั้งที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

สำหรับประเด็นสำคัญของปฏิญญาบรูไนที่เกิดขึ้นก็คือ กองทัพตกลงที่จะเปิดทางให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งแลกกับคำมั่นสัญญาของ นช.ทักษิณที่จะไม่แก้แค้นทางการเมือง หรือดำเนินคดีกับบรรดาผู้นำทหารที่อยู่เบื้องหลังการยึดอำนาจเมื่อปี 2549 และเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปีที่แล้ว

นอกจากนี้ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการของกองทัพ เช่น การตั้งแต่โยกย้ายประจำปี โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกจะต้องอยู่ในเก้าอี้ตัวเดิมต่อไปอีก 3 ปี รวมทั้งฝ่าย นช.ทักษิณจะต้องห้ามปรามพวกที่ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ด้วย โดยเฉพาะคนเสื้อแดงที่เคลื่อนไหวอยู่ต่างประเทศ

ขณะเดียวกันการเจรจาดังกล่าวยังได้หารือกันถึงการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระชุดใหม่ ซึ่งจะให้ข้อเสนอแนะในเรื่องการปรองดอง รวมถึงการนิรโทษกรรมแก่ นช.ทักษิณ รวมถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุมและกองทัพ โดยข้อเสนอแนะดังกล่าวจะถูกเสนอให้มีการลงประชามติ

สำหรับคณะกรรมการชุดดังกล่าว บทวิเคราะห์ดังกล่าวสรุปเอาไว้ชัดเจนว่า “ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในยุค นช.ทักษิณ ได้ตอบรับที่จะเป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้แล้ว

คำถามที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ภายหลังอ่านบทวิเคราะห์ดังกล่าวก็คือ ใครคือแหล่งข่าวของฌอน คริสเพน? ใช่พลพรรคแมลงสาบที่ต้องการตีกันการพลิกเกมทางการเมืองและส่งผลให้พวกเขาต้องกลับไปอดอยากปากแห้งอีกครั้งหรือไม่? หรือเป็นการปล่อยข่าวของพลพรรคปูแดงเพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่า พวกเขาสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้โดยไม่มีอุปสรรคจากทหาร

และคำถามที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ด้วยเหตุอันใดฌอน คริสเพนถึงได้นำเสนอบทความดังกล่าวในช่วงนี้ ทั้งๆ ที่การเจรจาเกิดขึ้นมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วก็เป็นห้วงเวลาที่เร็วเกินไปสำหรับการเจรจา เพราะขณะนั้นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะยังไม่ได้ประกาศยุบสภา และพรรคเพื่อไทยก็ยังไม่สะเด็ดน้ำว่าใครจะมาเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี

กระนั้นก็ดี แม้จะยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับปฏิญญาบรูไน และทั้งนายวัฒนา เมืองสุข ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณต่างพร้อมใจกันออกมาปฏิเสธ แต่หลายคนก็ยังคงไม่เชื่อคำปฏิเสธนั้น เพราะคงไม่มีใครกล้าและบ้าพอที่จะยอมรับความจริงในห้วงเวลานี้

แต่จะอย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์กันตามร่องรอยจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ผนวกรวมกับปฏิญญาบรูไนที่เกิดขึ้นล่าสุดแล้ว จะเห็นได้ว่า มีเค้าลางและเปอร์เซ็นต์ที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงอยู่ไม่น้อย เพียงแต่การเจรจาในครั้งนั้นอาจเป็นแค่การเจรจาในขั้นต้นเท่านั้น ยังไม่ใช่บทสรุปขั้นสุดท้าย

เพราะเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า คนที่จะตัดสินใจได้ย่อมมิใช่นายวัฒนา แต่อย่างน้อยก็น่าจะเป็น น.ส.ยิ่งลักษณ์หรือไม่ก็ตัว นช.ทักษิณเอง

จากการตรวจสอบความเคลื่อนไหวของนายใหญ่ในการประสานรอยร้าวกับกองทัพในช่วงที่ผ่านมา ก็จะเห็นได้ว่า นช.ทักษิณมีความพยายามในเรื่องนี้มาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากตรวจสอบความเคลื่อนไหวและความพยายามในการประสานรอยร้าวกับกองทัพของ นช.ทักษิณก่อนหน้าที่จะมาจบที่ปฏิญญาบรูไนก็จะเห็นร่องรอยและยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไปของ “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่มีต่อผู้บัญชาการทหารบกชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

สอดคล้องกับแหล่งข่าวในพรรคเพื่อไทยที่ให้ข้อมูลว่า นช.ทักษิณ ชินวัตรมีคำสั่งไม่ให้ตอบโต้ พล.อ.ประยุทธ์เหมือนเช่นที่ผ่านมา ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่น้ำเสียงของน้องปูจะออกมาในลักษณะนี้

ในห้วงเวลาดังกล่าว มีชุดข้อมูลที่ยืนยันได้ว่า ขณะนี้ “นายใหญ่” ได้ยื่นเงื่อนไขต่อกองทัพต่อการกลับคืนสู่อำนาจเอาไว้เรียบร้อยแล้ว

เงื่อนไขที่หนึ่ง-พรรคเพื่อไทยจะไม่แตะต้องเก้าอี้ผู้บัญชาการกองทัพบกและผู้บัญชาการเหล่าทัพ ทั้งนี้ เพื่อขจัดจุดอ่อนในการทำรัฐประหารให้หมดสิ้น

และเงื่อนไขที่สอง-พรรคเพื่อไทยพร้อมส่งรายชื่อคนที่เหมาะสมจะนั่งเก้าอี้ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม” มาให้กองทัพพิจารณาคัดเลือกได้ตามใจชอบ และถ้าไม่พอใจก็พร้อมที่จะให้กองทัพคัดเลือก “คนที่ตัวเองไว้ใจ” มานั่งในเก้าอี้สำคัญตัวนี้ได้เต็มที่

สอดคล้องและสมดุลกับปฏิญญาบรูไนจนเป็นเนื้อเดียวกันเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างที่ชัดเจนก่อนที่จะบรรลุข้อตกลงในปฏิญญาบรูไนก็คือ ก่อนหน้านี้ นช.ทักษิณมีเงื่อนไขสำคัญคือ คนที่จะมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมขอยกเว้นคนชื่อ พล.อ.ประวิตร พี่ใหญ่ของบูรพาพยัคฆ์ เพราะถือเป็นศัตรูที่ไม่สามารถร่วมงานกันได้ เพราะทางนายใหญ่เองก็รู้ข่าววงในมาเช่นกันว่า เวลานี้ความสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.ประวิตรและพล.อ.ประยุทธ์ดูจะไม่ราบรื่นเท่าใดนัก เพราะพล.อ.ประยุทธ์ต้องการดำรงตนเป็นทหารอาชีพ ขณะที่พี่ใหญ่ของเขานำความเป็นบูรพาพยัคฆ์ไปผูกติดกับ “ขั้วอำนาจใหม่” ของ “นายเนวิน ชิดชอบ”

แต่ภายหลังการเจรจาต่อรอง นช.ทักษิณก็จำต้องยอมกลืนเลือด เพราะสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นในบูรพาพยัคฆ์ ทำให้เงื่อนไขดังกล่าวของนายใหญ่ต้องตกไปโดยปริยาย

แน่นอน หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่า การออกมาประกาศด้วยถ้อยคำที่ดุดันอย่าง “ถ้าท่าน(พรรคเพื่อไทย) มาเป็นรัฐบาล ท่านก็ต้องถูกแย่งชิงไปเหมือนกัน เพราะต้องมีคนออกมาต่อต้าน เนื่องจากท่านมาด้วยวิธีการที่ใช้คนหมู่มาก ใช้การละเมิดกฎหมายตลอด” หรือการออกมาปรากฏตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านช่อง 5 และช่อง 7 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนส่งสัญญาณแรงๆ ว่า ต้องการให้เลือกใครกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศอีกครั้ง อาจเป็นส่วนหนึ่งของเกมต่อรองเพื่อ “ป๋าป้อม” ก็เป็นได้

เพราะหลังจากนั้น น้องปูก็หยอดคำหวานเข้าใส่อีกคำรบด้วยการ “ขอเข้าพบ” ซึ่งก็เล่นเอาหัวใจของชายชาติทหารอ่อนระทวยไปไม่น้อยเช่นกัน

“ต้องขอขอบคุณที่ท่านให้เกียรติกองทัพ ซึ่งไม่ได้ให้เกียรติผม ผมถือว่าท่านให้เกียรติกองทัพ ทุกคน ทุกพรรคการเมือง เขาก็ให้เกียรติกองทัพมาโดยตลอด แต่ผมคิดว่าช่วงเวลาต่างๆ น่าจะดูความเหมาะสม เพราะช่วงนี้เป็นช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งคิดว่าท่านก็เข้าใจ แต่ผมก็ขอขอบคุณที่ให้เกียรติ แต่เวลาเช่นนี้ขอให้ผ่านไปก่อน คือให้ผ่านช่วงเวลาที่สำคัญ ผมคุยได้ทุกคน แต่อย่าเอาเวลาไปคุยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่ เราต้องปฏิบัติตามกฎหมายรวมทั้งรักษาระบอบประชาธิปไตยที่เรามีอยู่”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่จะมีข่าวปฏิญญาบรูไน กระแสข่าวเรื่องความพยายามของ นช.ทักษิณเพื่อขอเปิดเจรจากับกองทัพสดๆ ร้อนๆ คือ ข่าวที่พรรคเพื่อไทยเสนอให้ พล.อ.ประวิตรนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต่อ ซึ่งแม้ พล.อ.ประวิตรจะปฏิเสธ แต่ถ้อยคำที่ออกมาก็มิได้ดำเนินไปอย่างเข้มแข็ง

“ยังไม่ถึงเวลาที่จะพูดในเรื่องนี้ ให้รอการเลือกตั้งเสร็จก่อน”

ซ้ำร้ายยังมีท่วงทำนองที่แฝงนัยบางอย่างเอาไว้เช่นกัน

กล่าวสำหรับนายวัฒนานั้น หลายคนคงไม่แปลกใจนักในการที่เขารับหน้าที่นี้ เพราะหากยังจำกันได้ เขาเคยรับบทบาทในทำนองเดียวกันมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง เช่น เป็นหนึ่งในทีมเจรจาปรองดองของนายใหญ่กับพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ หรือเป็นตัวกลางสำคัญในการนัดพบกันระหว่างธิดาแดง-นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ นายวีระ มุสิกพงศ์กับนายอภิสิทธิ์ก่อนที่แกนนำแดงก่อการร้ายจะได้รับการประกันตัวออกมา เป็นต้น

ว่ากันว่านายวัฒนาเป็นบุคคลหนึ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ไว้ใจและใช้บริการในงานสำคัญ ๆ อยู่เสมอ

และว่ากันว่า ความสัมพันธ์ระหว่างนายวัฒนากับดร.สุรเกียรติ์ในระยะหลังก็เป็นไปอย่างใกล้ชิด
เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่าง ดร.สุรเกียรติ์กับ พล.อ.ประวิตรและ พล.อ.ประยุทธ์ที่ว่ากันว่า ระยะหลังมีการพบปะกันบ่อยครั้งขึ้น

ดังนั้น เรื่องนี้จึงไม่ใช่ข่าวโคมลอย หากแต่มีร่องรอยที่น่าสนใจและติดตามหาข้อสรุป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการเลือกตั้ง 3 ก.ค.ผ่านพ้นไปก็จะเป็นบทพิสูจน์ถึงการดำรงอยู่จริงของ “ปฏิญญาบรูไน” ได้เป็นอย่างดี
ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
กำลังโหลดความคิดเห็น