xs
xsm
sm
md
lg

สร้างวัฒนธรรมทางการเมือง ด้วยการป้องกันคนไม่ดีอย่าให้มีอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: รองศาสตราจารย์ ดร.ไพศาล สุริยะมงคล

ใครก็ตามที่สังเกตและติดตามพัฒนาการทางการเมืองไทย ก็จะพบความจริงว่า คนไทยมักมองการเมืองเป็นเรื่องสนุก ที่เป็นเช่นนี้ ไม่ใช่เพราะคนไทยเป็นคนรักความสนุกเท่านั้น หากแต่เพราะคนไทยยังมองการเมืองเป็นเกมกีฬาหรือการแสดงอย่างหนึ่ง ดังนั้นใครก็ตามที่ก้าวสู่เวทีการเมือง จึงต้องพร้อมเป็นผู้เล่นหรือผู้แสดง โดยเน้นคำกริยา “เล่น” หรือ “แสดง” เป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม การเมืองไทยก็คล้ายๆ กับการเมืองของประเทศอื่นๆ ที่มักเกี่ยวข้องกับอำนาจ การแข่งขัน ผลประโยชน์ เซ็กซ์ และลับลมคมใน ด้วยเหตุนี้ การเมืองไทยจึงไม่เพียงแต่สนุก ตื่นเต้น เร้าใจเท่านั้น หากแต่ยังเต็มไปด้วยเล่ห์เพทุบาย คอร์รัปชัน การใช้ความรุนแรง และความยุ่งเหยิงสับสนอลหม่าน

ภาพข้างต้น เป็นภาพการเมืองไทยที่เราท่านส่วนใหญ่รู้จักและคุ้นเคย แต่สำหรับการเมืองในอีกหลายประเทศ นักการเมืองของเขาหาได้มองการเมืองเป็นเรื่องสนุกเหมือนเช่นคนไทยแต่อย่างใด ตัวอย่างเช่น การทำการเมืองของสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ชาวจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มองและคาดหวังการเข้าไปทำหน้าที่ทางการเมืองของนักการเมืองของเขาว่า ต้องเป็นคนดี มีคุณธรรม และมีความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองและประชาชน หากมีการดำเนินนโยบายหรือบริหารงานผิดพลาด หรือถูกเปิดโปงว่าได้กระทำการทุจริตคอร์รัปชัน หรือบางกรณีแค่ถูกจับได้ว่าเป็นคนพูดปดโกหกมดเท็จ เขาก็ไม่หน้าด้านพอที่จะทนให้สื่อมวลชนหรือประชาชนวิพากษ์วิจารณ์แล้ว เขามักลาออกโดยดุษณีภาพ เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและประชาชน ยิ่งในกรณีของนักการเมืองเกาหลีใต้ด้วยแล้ว ก็ยิ่งมีความอับอายและรับผิดชอบต่อบ้านเมืองอย่างสูงยิ่ง ถึงขั้นฆ่าตัวตายเพื่อหนีอาย ทั้งๆ ที่บางคนเพียงแค่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในสื่อหนังสือพิมพ์เท่านั้น

ความรับผิดชอบต่อสังคมของนักการเมืองในประเทศที่กล่าวข้างต้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมทางการเมืองของสังคมเหล่านั้นด้วย ซึ่งเป็นเสมือน “ข้อห้าม” (Taboo) ที่นักการเมืองหรือผู้ที่เข้าไปทำการเมือง หรือรับผิดชอบต่อบ้านเมือง (ไม่ใช่เข้าไปเล่นการเมือง) จักต้องยึดเป็นแนวทางปฏิบัติซึ่งเห็นได้ชัดว่าผิดกับนักการเมืองไทยอย่างสิ้นเชิง เพราะประการแรกทีเดียว แม้สังคมไทยจะมีผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองตลอดจนผู้นำทางสังคมหรือนักวิชาการจำนวนไม่น้อยที่พยายามปลูกฝังตักเตือนให้นักการเมืองต้องประพฤติปฎิบัติตนอยู่ในครรลองคลองธรรม ทำงานเพื่อส่วนรวม มีความรับผิดชอบต่อสังคมและประชาชนแล้วก็ตาม แต่ก็หามีผลไม่

ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะสังคมไทยยังขาดวัฒนธรรมทางการเมืองซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ทำหน้าที่ทางสังคมกรณ์ (Socialization) ในการปลูกฝังจิตสำนึกผู้คนในสังคมอย่างแข็งขัน เป็นระบบ และต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับนักการเมืองให้รู้จักอับอายต่อการทำชั่วทำบาป รู้รับผิดชอบต่อสังคมและประชาชน และอุทิศตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริง ยิ่งเป็นเรื่องคอร์รัปชันแล้ว จะเห็นได้ว่าเรายังขาดวัฒนธรรมทางการเมืองและสังคมที่ต่อต้านคอร์รัปชันอย่างมีพลัง อีกทั้งยังขาดองค์กรหรือกลไกที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบ ลงโทษอย่างเข้มแข็งโดยไม่เห็นแก่หน้าอินทร์หน้าพรหม

ด้วยเหตุที่คนไทยยังขาดวัฒนธรรมทางการเมืองและสังคมดังกล่าว ซึ่งต่อต้านคัดค้านนักการเมืองที่ขาดความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ทุจริตคอร์รัปชัน อะไรทำนองนี้ ในทางตรงกันข้ามคนไทยกลับให้ความเคารพนับถือหรือให้เกียรติแก่ผู้มีอำนาจหรือคนร่ำรวย โดยไม่วิเคราะห์แยกแยะว่าคนเหล่านั้นได้อำนาจหรือร่ำรวยมาอย่างไร ไปวิ่งเต้น ซื้อสิทธิ์ ซื้อเสียง หรือทุจริตคดโกงเขามาหรือไม่ อย่างไร

ดังนั้น การเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 นี้ จึงขอเสนอให้คนไทยโปรดช่วยกันสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่พึงปรารถนาขึ้นมา ด้วยการรณรงค์ต่อต้านและเอาผิดนักการเมืองหรือพรรคการเมืองที่ทำผิดกฎหมาย ซึ่งถือเป็นการตัดไฟต้นลม และถือเป็นการเริ่มกระบวนการปลูกฝังวัฒนธรรมการเมือง เพื่อป้องกันไม่ให้นักการเมืองที่ทำผิดกฎหมายเข้าไปมีอำนาจ อันเป็นการสนองพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงให้คนไทยช่วยกันป้องกัน คนไม่ดีอย่าให้มีอำนาจ ไปสร้างความเสียหายให้แก่บ้านเมือง

จึงขอเรียกร้องให้องค์กรที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และพลังภาคประชาชน โปรดช่วยกันตรวจสอบ เป็นหูเป็นตา และเอาผิดอย่างเต็มที่กับนักการเมืองหรือพรรคการเมืองที่ทำผิดกฎหมายแต่นี้เป็นต้นไป

pisan suriyamongkol@hotmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น