xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีคอร์รัปชันไทยยังรุนแรง คาดใช้เวลานับ 10 ปี กำจัดได้สิ้นซาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน 23 องค์กร ลงมติแต่งตั้ง “ดุสิต นนทะนาคร” นั่งเก้าอี้ประธานคนแรก เจ้าตัวเผย งานแรกต้องสร้างความเข้มแข็งให้องค์กร พร้อมเดินหน้าแก้ปัญหาคอร์รัปชันจากต้นเหตุ ยอมรับ ไม่สามารถทำให้หมดไปได้ในทันที เรียกร้อง รบ.ใหม่-ฝ่ายค้าน ทำพันธะสัญญาร่วมกัน ขณะที่ผลสำรวจ ม.หอการค้าฯ ชี้ ความรุนแรงของปัญหาคอร์รัปชันยังไม่ลดลง เดือน มิ.ย.ยังอยู่ในขั้นรุนแรงระดับ 3.4 คะแนน “ปชช.-ขรก.-นักธุรกิจ” ส่วนใหญ่ มองปัญหาทุจริตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น “ธนวรรธน์” คาดใช้เวลา 10 ปี กำจัดสิ้นซาก

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงผลการประชุมภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น (ภคต.) 23 องค์กร โดยระบุว่า ที่ประชุมมีมติเลือก นายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน

“ภาคีเริ่มโครงการนำร่องเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นจากงบประมาณของภาครัฐมากที่สุด โดยได้รับความร่วมมือกับกรมบัญชีกลางและกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ คาดหวังว่า โครงการนำร่องนี้จะประสบผลสำเร็จและเป็นต้นแบบต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันได้ในอนาคต”

นายดุสิต กล่าวเปิดใจภายหลังได้รับเลือกเป็นประธาน ภคต.คนแรก โดยยืนยันว่า ภคต. จะะเดินหน้าอย่างจริง โดยเริ่มจากรัฐบาลชุดแรก พร้อมยอมรับว่า องค์ประกอบในการคอร์รัปชั่นของประเทศไทยในปัจจุบันเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ มีทั้งการคอร์รัปชันในเชิงนโยบายและการคอร์รัปชันในด้านการปฏิบัติ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าการคอร์รัปชันนั้นเกิดจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่าย ทั้งจากภาคธุรกิจเอกชน ภาคราชการ และนักการเมือง

ทั้งนี้ ในส่วนของภาคธุรกิจเอกชน และภาคราชการได้มีองค์กรหรือหน่วยงานตัวแทนเข้ามามีส่วนในการแก้ไขปัญหาร่วมกับ ภคต.แล้ว ซึ่งจะได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของประเทศร่วมกัน แต่ในส่วนของนักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารราชการแผ่นดิน และเป็นผู้กำหนดนโยบาย รวมทั้งใช้งบประมาณในการดำเนินงาน และฝ่ายค้านซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบการทำงานและการใช้งบประมาณของรัฐบาลที่เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งของการคอร์รัปชันนั้นยังไม่ได้มีส่วนร่วมหรือแสดงเจตนารมณ์ในการต่อต้านคอร์รัปชัน

ภาคีเครือข่ายฯ เล็งเห็นถึงการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ต้องทำให้ครบวงจร โดยเรียกร้องนักการเมืองในรัฐบาลใหม่ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านร่วมกันตัดวงจรของการคอร์รัปชั่น ซึ่งพรรคการเมืองทุกพรรคได้ตอบรับให้คำมั่นสัญญาที่จะลดคอร์รัปชันแล้ว ในเรื่องนี้ภาคีเครือข่ายฯ หวังที่จะเห็นการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม และจะขอความร่วมมือภาคีสื่อมวลชนร่วมตรวจสอบอย่างเปิดเผยและเข้มแข็งต่อไป

ขณะนี้ ภคต.ได้เริ่มดำเนินโครงการนำร่องเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันจากงบประมาณของภาครัฐได้มากที่สุด โดยได้รับความร่วมมือจากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง มาเป็นแนวร่วมในการต่อต้านการคอร์รัปชั่นในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐในครั้งนี้ด้วย พร้อมคาดหวังว่าการจัดทำโครงการนำร่องดังกล่าวจะประสบผลสำเร็จและเป็นต้นแบบการดำเนินการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันได้ต่อไปในอนาคต

สำหรับการประชุม ภคต.ครั้งที่ 2 ในวันนี้ได้นำแผนแม่บทการดำเนินการ (Master Plan) มาจัดทำแผนปฎิบัติการ (Action Plan) เพื่อให้บรรลุผลในทางปฏิบัติ และกระจายงานให้กับหน่วยงาน ภคต.โดยพิจารณาจากบทบาทและหน้าที่หลักของแต่ละองค์กรหรือหน่วยงาน เช่น กลุ่มธุรกิจภาคเอกชน ซึ่งได้มีการกำหนดภารกิจว่าจะออกมาต่อต้านด้วยการยกเลิกการจ่ายเงินใต้โต๊ะ

สำหรับหน่วยงานที่เข้าร่วมในภารกิจนี้ คือ หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาคมธนาคารไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ต้องมาเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงาน หรือกลุ่มภาครัฐ ซึ่งกำหนดเป็นภารกิจว่าจะต้องเปิดเผยข้อมูล และจัดทำฐานข้อมูลการทุจริตของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ซึ่งอยู่ในภาคีเครือข่ายฯ ก็จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงาน เป็นต้น

นายดุสิต กล่าวเสริมว่า ภคต.ที่ตั้งขึ้นไม่ได้หวังว่าปัญหาหนี้หมดลงไปในเวลาอันสั้น อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่า จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในอนาคต โดยประเด็นสำคัญ คือ ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น และติดตามการแก้ปัญหาให้มีความคืบหน้ามากขึ้น ทั้งนี้หลังการเลือกตั้งได้รัฐบาลใหม่ หากไม่ทำตามไม่ให้ความสำคัญในการลดปัญหาการคอร์รัปชั่น ก็สามารถติดตามได้จากผลงานของรัฐบาลใหม่ ซึ่งจะบ่งชี้ให้เห็นว่า ได้ทำตามที่รับปากไว้หรือไม่เพียงใด หากไม่ก็ไม่อาจยอมรับการบริหารงานรัฐบาลนี้ได้

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวว่า ผลสำรวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่น (CSI) ในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2554 ปีนี้ พบว่า สถานการณ์คอรัปชั่นในภาพรวมของประเทศไทยในเดือนมิถุนายน 2554 อยู่ที่ระดับ 3.4 แย่ลงจากเดือนธันวาคม 2553 ที่อยู่ในระดับ 3.5 แต่มีความหวังในอนาคตว่าสถานการณ์จะดีขึ้น เนื่องจากมีภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น ในขณะที่การป้องกันการคอร์รัปชันยังคงทรงตัว

สำหรับผลการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,133 ตัวอย่าง ใน 3 ประเด็น คือ ความรุนแรงของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 75 ระบุว่า เดือนมิถุนายน 2554 รุนแรงมากขึ้นกว่าธันวาคม 2553 และร้อยละ 70 เห็นว่า ปัญหานี้จะรุนแรงต่อเนื่องไปในปีหน้า อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มที่ดีว่า สัดส่วนผู้ที่เห็นว่า ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องไกลตัวไม่เกี่ยวกับตัวเองโดยตรงมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 31 ในเดือนธันวาคม 2553 เหลือร้อยละ 16 ในเดือนมิถุนายน 2554

ส่วนประเด็น ทัศนคติและจิตสำนึกต่อการทุจริตคอร์รัปชัน ประชาชนร้อยละ 61ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่น แต่มีผลงานและทำประโยชน์ให้สังคมเป็นเรื่องที่รับได้ ประชาชนร้อยละ 59 ไม่เห็นด้วยกับการให้สินน้ำใจ (เงินพิเศษ) เล็กๆ น้อยแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเรื่องไม่เสียหาย เป็นต้น

ด้านประสิทธิภาพการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ประชาชนร้อยละ 70 พร้อมที่จะแจ้งและรายงานเบาะแสเมื่อมีการทุจริตคอร์รัปชัน และร้อยละ 43 เห็นว่า รัฐบาลปัจจุบันไม่มีประสิทธิภาพในการต่อต้านคอร์รัปชัน ส่วนร้อยละ 44 เห็นว่า มีประสิทธิภาพปานกลาง

สำหรับความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของ ป.ป.ช.และองค์กรอิสระอื่นๆ ที่ทำหน้าที่ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ได้คะแนนสอบผ่านที่ 5.77 จากคะแนนเต็ม 10 ส่วนความเชื่อมั่นต่อสมาคมภาคธุรกิจ เช่น หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น ได้คะแนน 5.67 ด้านความเชื่อมั่นต่อสื่อมวลชนได้คะแนน 5.75 ความเชื่อมั่นต่อผู้ประกอบการได้คะแนน 5.40 ในขณะที่ความเชื่อมั่นภาคประชาชนได้คะแนน 5.81

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะผู้จัดทำผลสำรวจค่าดัชนีคอร์รัปชันครั้งนี้ กล่าวว่า ความรุนแรงของปัญหาคอร์รัปชั่นไทย ยังไม่ลดลง แต่ประชาชนและภาคธุรกิจยังมีความหวังว่าจะปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่มีภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น เชื่อว่า จะช่วยให้ระดับความรุนแรงของปัญหานี้ลดลงได้ในที่สุด

“ค่าดัชนีคอร์รัปชันที่ออกมาจะอยู่ในระดับที่แย่ ซึ่งตัวเลขที่เคยประเมินคาดการณ์เอาไว้มูลค่าการทุจริตคอร์รัปชั่นยังอยู่ในวงเงิน 2-3 แสนล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วน 25-30% ของวงเงินงบประมาณในการจัดซื้อจ้างของภาคครัฐ แต่จะเพิ่มขึ้นหรือไม่ คงต้องขึ้นอยู่กับงบประมาณของภาครัฐที่จะนำมาใช้กับนโยบายประชานิยมจะมากขึ้นแค่ไหน เพราะมีส่วนทำให้เกิดช่องในการทุจริตได้ โดยคาดว่า ถ้ามีการเพิ่มวงเงินในส่วนนี้อีก 5 ปีข้างหน้า มูลค่าการทุจริตอาจสูงถึง 5 แสนล้านบาทต่อปี ดังนั้น จะต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้ในอนาคต และต้องอาศัยเวลาในการกำจัดปัญหาทุริต อย่างน้อย 10 ปี ถึงจะหมดไปได้” นายธนวรรธน์ กล่าวสรุปทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น