xs
xsm
sm
md
lg

ปลุกคนไทยตื่นต้านโกง แฉใต้โต๊ะพุ่งสูงถึง50%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการออนไลน์ - การทุจริตคอร์รัปชั่นที่มีนักการเมืองเป็นตัวการใหญ่และมีข้าราชการคอยชี้ช่องชงเรื่อง บีบให้เอกชนจ่ายใต้โต๊ะที่พุ่งสูงถึง 50% คิดคำนวณเป็นตัวเลขไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี นับเป็นหายนะที่กำลังฉุดให้ประเทศชาติล่มสลาย กลุ่มภาคีเครือข่าย 21 องค์กรเอกชนนำโดยสภาหอการค้าไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ปลุกคนไทยตื่นต้านคอร์รัปชั่น เตือนนักการเมืองหยุดโกง

ค่านิยมของสังคมไทยที่ให้การยอมรับนักการเมืองโกงชาติ ทำให้สถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศไทยเลวร้ายถึงขั้นวิกฤต การออกมาแฉของหอการค้าไทยและภาคีเครือข่าย 21 องค์กรเอกชนว่ามีการบีบให้ภาคเอกชนจ่ายใต้โต๊ะสูงถึง 50% ถือเป็นการปล้นชาติ ปล้นเงินภาษีของประชาชนที่ถูกรัฐรีดไปจัดสรรเป็นงบประมาณแผ่นดินที่กำลังนำความหายนะมาสู่ประเทศ

ล่าสุด นายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชันในปัจจุบันเลวร้ายมากขึ้น มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับผู้มีอำนาจ เพื่อให้ได้งานหรือสิทธิประโยชน์มากถึง 50% เพิ่มจากอดีตในช่วง 20-30 ปีที่มีการจ่ายเงินโต้โต๊ะ 2-3% และเพิ่มมาเป็น 30-40% ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา กรณีดังกล่าวถือเป็นการปล้นชาติ เพราะงบประมาณทุกบาทที่ควรนำมาพัฒนาประเทศได้ถูกโกงกินจากโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) และที่น่าตกใจ คือ ค่านิยมของคนไทยปัจจุบันกลับมองการโกงกินเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ อันตรายมากกว่าการคอร์รัปชัน ถ้าปล่อยไว้อนาคตประเทศไทยคงล่มสลาย

ทั้งนี้ องค์กรภาคเอกชนถือว่าการคอร์รัปชันเป็นปัญหาระดับชาติ จึงได้ร่วมมือกัน 21 องค์กรไทย เช่น สภาหอการค้าไทย หอการค้าต่างประเทศ สมาคมธนาคาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียน สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เป็นภาคีเครือข่ายการป้องกันและต่อต้านคอร์รัปชัน โดยในวันที่ 1 มิถุนายน 2554 นี้ จะมีการประกาศจุดยืนของภาคเอกชนทุกคนที่อยู่ในภาคียุติการให้ เพราะการคอร์รัปชันมีทั้งผู้ให้และผู้รับ พร้อมกับจัดสัมมนา “ต่อต้านคอร์รัปชัน จุดเปลี่ยนประเทศไทย” ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงหาเสียงการเลือกตั้งและจะได้รัฐบาลใหม่ในอีกไม่นานนี้ ถือเป็นการเตือนนักการเมืองที่จะมาเป็นผู้แทนประชาชนให้หยุดพฤติกรรมดังกล่าว เพราะเอกชนจะเป็นผู้หยุดให้เช่นกัน

ขณะที่นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. ได้เน้นย้ำให้รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาเน้นการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นเช่นกัน

การออกมารณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชั่นของภาคธุรกิจเอกชนถือว่าเป็นเรื่องวิกฤตที่สุดทน เพราะจะว่าไปแล้ว ภาคธุรกิจหรือพ่อค้าถือเป็น 1 ใน 3 เส้า ที่มีนักการเมือง ข้าราชการ และพ่อค้า เป็นองค์ประกอบการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยนักการเมือง เป็นตัวการใหญ่ที่ก่อให้เกิดการทุจริตในฐานะผู้บงการหรือสั่งการและมีอำนาจอนุมัติโครงการ
 
ส่วนข้าราชการทำหน้าที่เป็นผู้ชี้ช่อง ชงเรื่อง สุดท้าย พ่อค้า นักธุรกิจ จะเป็นทั้งผู้ชี้ช่อง วิ่งเต้นเสนอโครงการ พร้อมกับจ่ายค่าคอมมิชชั่น เพื่อให้ตัวเองได้งาน กระทั่งการทุจริตคอร์รัปชั่นเบ่งบานขึ้นทุกวัน โดยที่ผู้คนในสังคมไม่ได้วิตกทุกข์ร้อน แถมการสำรวจความเห็นหรือโพลทุกสำนักยังออกมาในทำนองยอมรับนักการเมืองโกงหากมีผลงาน ทั้งที่ความจริงแล้วการสร้างผลงานหรือโครงการก็เพื่อสร้างช่องทางโกงกินไปในตัว

ประเด็นความเลวร้ายของการคอร์รัปชั่น ก่อนหน้านี้ นางสาวรสนา โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เปิดเผยในการแถลงผลงานในรอบ 3 ปีในการศึกษาและตรวจสอบการทุจริตของคณะกรรมาธิการฯ ว่า ผลงานขบวนการโกงกินทำให้ประเทศไทยติดอันดับต้นๆ ของประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นสูงสุด ทั้งนี้องค์กรความโปร่งใสสากล ได้จัดอันดับความโปร่งใสของประเทศไทยมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2538 จนถึงปัจจุบัน ปรากฏว่า ไม่เคยมีปีใดที่ประเทศไทยได้คะแนนเกินครึ่งจากคะแนนเต็ม 10 โดยปีที่ได้รับคะแนนสูงสุดก็เพียงแค่ 3.8 เท่านั้น กล่าวเฉพาะในกลุ่มอาเซียนประเทศไทยติดอันดับ 2 ของประเทศที่มีคอร์รัปชั่นสูงที่สุด

คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ยังได้รายงานว่า มีการคำนวณมูลค่าความเสียหายจากการทุจริตคอร์รัปชั่นออกมาเป็นตัวเลขถึงประมาณ 169,100 - 202,920 ล้านบาทต่อปี ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 25 - 30 ของงบประมาณแผ่นดิน หรือประมาณร้อยละ 1.6 - 2 ของจีดีพี

ขณะที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ข้อมูลว่า การจัดซื้อจัดจ้างโครงการจากภาครัฐพบว่ามีตัวเลขการทุจริตกว่า 1 แสนล้านต่อปี

ป.ป.ช. ยังสรุปผลการดำเนินการเรื่องการกล่าวหานายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดต่างๆ ที่มีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลแต่ละชุด โดยช่วงรัฐบาลทักษิณ มีเรื่องที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีถูกกล่าวหา จำนวน 45 เรื่อง ส่วนรัฐบาลอภิสิทธิ์ มีเรื่องที่ถูกกล่าวหา 73 เรื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า นักการเมืองเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่นมากขึ้นเป็นลำดับ

ส่วนสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รายงานเช่นเดียวกันว่า มีการทุจริตคอร์รัปชั่นเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในส่วนขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีเม็ดเงินกว่าแสนล้านบาท

ปัญหาการคอร์รัปชั่นที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ ทำให้เกิดการตื่นตัว รณรงค์หยุดคอร์รัปชั่น ทั้งภาครัฐและเอกชน กรณีตัวอย่างบางประเทศ เช่น ประเทศเกาหลีใต้ ที่คณะกรรมาธิการศึกษา และตรวจสอบทุจริตฯ ไปดูงาน อาจเป็นตัวอย่างการร่วมรณรงค์ปราบโกงให้ได้ผล
 
เกาหลีใต้มีขบวนการธรรมาภิบาลภาคประชาชนที่ทำงานตรวจสอบภาครัฐอย่างเข้มข้น โดยจัดทำประวัติพฤติกรรมของนักการเมืองทุกคน หากพบหลักฐานว่านักการเมืองคนใดมีพฤติกรรมส่อแววทุจริตก็จะขึ้นบัญชีดำ และทำการรณรงค์ไม่ให้ประชาชนเลือกนักการเมืองบัญชีดำเหล่านั้นเข้าสภา ผลปรากฏว่า นักการเมืองในบัญชีดำไม่ได้รับเลือกตั้งร้อยละ 90 ส่วนอีกร้อยละ 10 ที่หลุดรอดเข้าสภาไปได้ก็จะถูกองค์กรธรรมาภิบาลภาคประชาชนเฝ้าระวังจับตาทุกฝีเก้า

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย คงต้องรณรงค์เปลี่ยนค่านิยมไม่ยอมรับนักการเมืองโกงก่อนรณรงค์ไม่เลือกนักการเมืองโกงเข้าสภา
กำลังโหลดความคิดเห็น