xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคมสนองพระราชดำริในหลวง เร่งโครงข่ายรถไฟฟ้าแก้จราจรศิริราช

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“คมนาคม”รับสนองพระราชดำริในหลวง เร่งพัฒนาระบบรางเชื่อมโครงข่ายแก้ปัญหาจราจร และการเดินทางฝั่งธนบุรีและรอบรพ.ศิริราช ชูรถไฟฟ้า 3 สาย สีแดง-ส้ม-น้ำเงิน

นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมพร้อมที่จะให้การสนับสนุนโครงการแก้ปัญหาการจราจรบริเวณโดยรอบโรงพยาบาลศิริราชและการจราจรฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตามกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยจะจัดเตรียมพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) บริเวณตลาดศาลาน้ำร้อนและสถานีรถไฟธนบุรี สำหรับการขยายพื้นผิวจราจร และจะหารือกับผู้ประกอบการตลาดศาลาน้ำร้อนเพื่อปรับปรุงพื้นที่ใหม่ ซึ่งจะทำที่จอดรถใต้ดินและปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อให้เป็นที่พักผ่อนสำหรับประชาชนที่มาใช้บริการรพ.ศิริราช
ทั้งนี้ ได้กราบบังคมทูลรายงานถึงโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม ซึ่งเชื่อมโยงพื้นที่ฝั่งธนบุรีโดยรอบรพ.ศิริราช ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้า 3 สาย 1. รถไฟฟ้าสายสีแดง ส่วนต่อขยาย (ตลิ่งชัน-ศิริราช) ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 10,484 ล้านบาท ตามแผนจะเริ่มก่อสร้างในปี 2555 และเปิดให้บริการในปี 2558
2.รถไฟฟ้าสายสีส้ม (มีนบุรี-บางกะปิ-ศูนย์วัฒนธรรม-สนามหลวง-ธรรมศาสตร์-ศิริราช-ตลิ่งชัน) ระยะทาง 37 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 137,750 ล้านบาท ตามแผนจะเริ่มก่อสร้างในปี 2556 ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี แล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 2561
3.รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (บางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค) ระยะทาง 27 กิโลเมตร จะเปิดให้บริการในปี 2559
นายสุพจน์กล่าวว่า บริเวณหน้าสถาบันการแพทย์สยามมินทร์ จะเป็นสถานีร่วมของรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีส้ม โดยทางเข้าตัวสถานีจะเป็นทางเดินใต้ดิน และจะทำทางเชื่อมใต้ดินไปสู่อาคารของรพ.ศิริราช เพื่อความสะดวก และจะมีสถานีร่วมของรถไฟฟ้า 3 สาย คือ สายสีแดง สีส้มและสีน้ำเงิน ที่บางขุนนนท์ อีก 1 แห่ง ซึ่งจะทำให้สามารถเชื่อมโยงการเดินทางและมีความสะดวก ในส่วนของร.ฟ.ท.จะมีการพัฒนาสถานีรถไฟบางกอกน้อย (ธนบุรี) โดยเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงบริเวณหน้าวัดอัมรินทร์
นอกจากนี้ ทรงถามถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง และการพัฒนาขนส่งทางรถไฟ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้อนุมัติกรอบวงเงินในการปรับปรุงรถไฟรวม 1.76 แสนล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จในปี 2557 โดยในปี 2554 มีแผนปรับปรุงรวม 2.4 หมื่นล้านบาท เช่น
โครงการแก้ปัญหาจุดตัดรถไฟกับถนน เป็นต้น โดยในอีก 2 ปีข้างหน้าจะสามารถเพิ่มความเร็วในการเดินรถสินค้า จาก 40 กม./ชม.เป็น 60-80 กม./ชม.และรถโดยสารเพิ่มความเร็ว จาก 60 กม./ชม.เป็น 80-100 กม./ชม. เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลารอหลีก
ขณะเดียวกัน ร.ฟ.ท.ยังได้ปรับโครงสร้างแยกการบริหารงานออกเป็นหน่วยธุรกิจ (Business Unit: BU ) และบุคลากรได้ให้ความร่วมมือในการพัฒนาปรับปรุงองค์กร
"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้หลักการในการพัฒนาระบบขนส่งทางรางว่าจะต้องช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และต้องไม่ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนรวมถึงต้องมีกำหนดระยะเวลาในการทำงานที่ชัดเจนและแน่นอน"นายสุพจน์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น