xs
xsm
sm
md
lg

ประชานิยม : ให้สุขวันนี้ ให้ทุกข์วันหน้า

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

“การสมาทานธรรมะ (รับธรรมมาประพฤติปฏิบัติ) มี 4 ประการคือ

1. การสมาทานธรรมะที่มีสุขในปัจจุบัน มีทุกข์เป็นวิบากต่อไป

2. การสมาทานธรรมะที่มีทุกข์ในปัจจุบัน มีทุกข์เป็นวิบากต่อไป

3. การสมาทานธรรมะที่มีทุกข์ในปัจจุบัน มีสุขเป็นวิบากต่อไป

4. การสมาทานธรรมะที่มีสุขในปัจจุบัน มีสุขเป็นวิบากต่อไป”

ทั้ง 4 ประการดังกล่าวข้างต้น คือพุทธพจน์ที่ปรากฏในจูฬธัมมสมาทานสูตร ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 12 มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์

โดยนัยแห่งธรรม 4 ประการนี้ พระพุทธองค์ได้ทรงอธิบายขยายความให้ภิกษุทั้งหลายฟัง ซึ่งปรากฏในพระสูตรเดียวกันว่า

ข้อที่ 1 การสมาทานธรรมะที่มีสุขในปัจจุบัน มีทุกข์เป็นวิบากต่อไป คือ สมณพราหมณ์บางพวกมีวาทะ มีความเห็นว่าโทษในกามทั้งหลายไม่มี จึงดื่มด่ำในกามทั้งหลาย เมื่อตายไปก็เข้าถึงทุคคติ วินิบาต นรกได้รับทุกขเวทนา

ข้อ 2 การสมาทานธรรมะที่มีทุกข์ในปัจจุบัน มีทุกข์เป็นวิบากต่อไป คือ สมณพราหมณ์บางพวกที่ประพฤติพรตทรมานกายต่างๆ เช่นเปลือยกายเป็นต้นไป จนถึงลงอาบน้ำวันละ 3 ครั้ง (มีเวลาเย็นเป็นครั้งที่ 3) เมื่อตายไปก็เข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก

ข้อที่ 3 การสมาทานธรรมะที่มีทุกข์ในปัจจุบัน มีสุขเป็นวิบากต่อไป คือ บุคคลบางคนเป็นคนมีราคะกล้า เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดแต่โทสะเนืองๆ เป็นคนมีโมหะกล้า เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดแต่โมหะเนืองๆ ผู้นั้นอันความทุกข์โทมนัสถูกต้อง มีน้ำตานองหน้า ร้องไห้ ประพฤติพรหมจรรย์ เมื่อตายไปก็เข้าถึงสุคคติ โลกสวรรค์

ข้อ 4 การสมาทานธรรมะที่มีสุขในปัจจุบัน มีสุขเป็นวิบากต่อไป คือ บุคคลบางคนเป็นคนไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ไม่ได้เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดแต่ราคะ โทสะ โมหะเนืองๆ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมเข้าฌานที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 เมื่อตายไปก็เข้าถึงสุคคติ โลกสวรรค์”

โดยนัยแห่งพุทธาธิบายข้างต้น จะเห็นได้ว่าเป็นคำสอนที่เน้นคนเข้าถึงธรรมะ โดยการนำมาปฏิบัติเพื่อลด ละ อกุศล และมุ่งผลคือการเข้าถึงสุคคติ โลกสวรรค์หลังตายจากโลกนี้ไปแล้ว หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การสอนให้คนละชั่ว ทำดีเพื่อความสุขในโลกหน้า

แต่ถ้ามองในแง่ประโยชน์ในปัจจุบัน คำสอนที่ว่านี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้สอนให้คนละชั่ว ทำดีเพื่อความสุขในชาตินี้ โดยไม่ต้องให้ตายไปเกิดใหม่ตามนัยแห่งคำพังเพยที่ว่า สวรรค์ในอก นรกในใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อที่ 1 และข้อที่ 3 ที่ปรากฏให้เห็นอย่างดาษดื่นในทุกวงการโดยไม่จำกัดกาลเวลา และที่ชัดที่สุดในขณะนี้คงหนีไม่พ้นวงการการเมือง โดยผ่านทางกิจกรรมหาเสียงด้วยนโยบายประชานิยม

อะไรคือเหตุบ่งชี้ให้เห็นว่า นโยบายประชานิยมเป็นการสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบัน มีทุกข์เป็นวิบาก และคือข้อบ่งชี้ให้เห็นว่าเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับข้อที่ 3 คือ การสมาทานธรรมะที่มีทุกข์ในปัจจุบัน มีสุขเป็นวิบากต่อไป

เพื่อให้ท่านผู้อ่านมองเห็นประเด็นแห่งปัญหาทั้ง 4 ประการที่ยกขึ้นมาเป็นปุจฉาหรือข้อปริศนา ผู้เขียนขอให้ท่านผู้อ่านย้อนไปดูที่มาของนโยบายประชานิยม และกลุ่มเป้าหมายที่นโยบายนี้ต้องการเข้าถึงเพื่อหวังผลทางการเมือง รวมไปถึงแนวทางที่สอดคล้องกับข้อที่ 3 ก็จะอนุมานได้ที่มาและแนวทางที่ว่านี้ได้ดังนี้

1. ประชากรของประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอยู่ในภาคเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ คนเหล่านี้นอกจากจะเป็นเกษตรกรแล้ว ในเวลาที่เก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรแล้วจะออกไปทำงานนอกพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่เช่นกรุงเทพมหานคร เป็นต้น จึงพูดได้ว่าคนในภาคนี้เป็นทั้งเกษตรกร และผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมไปพร้อมๆ กัน

ดังนั้น นโยบายประชานิยมที่มุ่งเน้นช่วยเหลือเกษตรกรในรูปแบบต่างๆ ทั้งในส่วนของการเพิ่มรายได้จากการขายพืชผลทางการเกษตร และเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำให้แก่ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งล้วนแล้วแต่มุ่งไปที่คนกลุ่มนี้ และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นสำคัญ นัยที่มุ่งไปที่คนกลุ่มนี้ และในภาคนี้ก็คือ จำนวนที่นั่ง ส.ส. 122 คนนั่นเอง

ส่วนคนกลุ่มอื่น และในภาคอื่น เช่นกรุงเทพมหานครเป็นต้น ถึงแม้จะมีที่นั่ง ส.ส. 30 กว่าคนก็จริง แต่ก็มีความสำคัญในแง่ของกลุ่มคนมีคุณภาพ และเป็นเครื่องบ่งชี้ทางการเมืองในแง่ของการเป็นรัฐบาล กล่าวคือ ถ้าพรรคใดได้เสียงใน กทม. มากก็มักจะได้เป็นแกนนำรัฐบาล และอยู่ได้นานกว่าผู้ที่ได้เสียงข้างมากแต่เป็นเสียงจากชนบทเพราะปัจจัยเกื้อหนุนทางการเมืองน้อยกว่า ดังนั้นนโยบายประชานิยมจึงไม่ค่อยมีผลมากนักต่อผู้คนในสังคมเมืองใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงเทพมหานคร

ยิ่งกว่านี้ ในสังคมเมืองซึ่งผู้คนส่วนใหญ่จะมีรายได้ค่อนข้างสูง และการศึกษา การเข้าถึงข้อมูลมากกว่าสังคมชนบท ยังมีความคิดเห็นในเชิงต่อต้านนโยบายประชานิยมด้วยซ้ำไป

2. เนื่องจากรายได้เปรียบเทียบกับรายจ่ายอันเกิดจากนโยบายประชานิยมแล้ว เชื่อได้ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลก็หนีการกู้ไม่พ้น ส่วนว่าใครจะกู้มากหรือกู้น้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้

การจัดเก็บรายได้เพิ่มทำได้มากน้อยแค่ไหน ด้วยวิธีใด และวิธีที่ว่านี้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน

แต่เท่าที่ฟังจากนโยบายของทุกพรรคการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2 พรรคใหญ่ที่คาดว่าจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล คือ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทยแล้ว ยังมองไม่ชัดเจนว่าจะมีมาตรการอะไรในการหารายได้ให้สมดุลกับรายจ่ายที่เกิดขึ้น ทั้งในส่วนของงบทำการ และงบลงทุนอันเกิดจากนโยบายในแต่ละด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายประชานิยมประเภท ลด แลก แจก แถม

เมื่อเป็นเช่นนี้ อนุมานได้ว่าการดำเนินงานตามนโยบายประชานิยม ไม่ว่าจะในส่วนของการประกันราคาพืชผล หรือจะเรียกว่าประกันรายได้เกษตรกร และในส่วนของการเพิ่มค่าเงินเดือน ค่าจ้างในภาครัฐ หรือแม้กระทั่งการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในภาคเอกชน ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ และผลักดันให้ราคาสินค้าแพงขึ้นทั้งสิ้น

ในส่วนรายจ่ายของภาครัฐ รัฐบาลอาจแก้ได้ด้วยการกู้ และในขณะเดียวกันขึ้นภาษีในบางหมวด เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมไปถึงภาษีสรรพสามิต โดยให้กระทบประชาชนน้อยที่สุดดังในปัจจุบันที่รัฐบาลกำลังบริหารประเทศอยู่ ในระยะสั้นๆ ย่อมทำได้ แต่ในระยะยาวการเงินการคลังของประเทศไม่มั่นคงแน่นอน ในเมื่อประเทศมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นถึงระดับที่แบกรับไม่ไหว ก็จะส่งผลถึงความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม และเมื่อถึงเวลานั้นค่าเงินบาทคงหดหาย ข้าวของแพง ภาวะเงินเฟ้อสูง ไปซื้อของต้องหอบธนบัตรใบละพันไปแทนใบละร้อยก็เป็นไปได้

แต่ที่น่าสนใจและน่าจะกังวลมากกว่านี้ก็คือ การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำขึ้นไปทำให้ต้นทุนการดำเนินงานของผู้ประกอบการภาคเอกชนสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อราคาขายสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าส่งออกเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง และถ้าสูงกว่าคู่แข่งมากจะทำให้ขายไม่ได้ และจะกระทบการผลิตอาจทำให้ผู้ประกอบการหยุดกิจการ จนนำไปสู่การเลิกจ้างแรงงานตามมา และนี่คือประชานิยมที่ให้สุขในปัจจุบัน ให้ทุกข์ในอนาคต

ส่วนข้อที่ว่าแนวทางที่สอดคล้องกับคำสอนข้อที่ 3 คือ การสมาทานธรรมะที่มีทุกข์ในปัจจุบัน มีสุขเป็นวิบากต่อไป ได้แก่ เศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแนะนำ ซึ่งมุ่งเน้นให้พึ่งตัวเอง ไม่มุ่งเน้นการก่อหนี้ แต่จะต้องทำงานหนักในระยะแรกก่อนที่จะได้รับผลอันถือได้ว่าทุกข์ในปัจจุบัน แต่เมื่อได้รับผลแล้วก็มีความสุขตามอัตภาพ และไม่เป็นทุกข์เพราะมีหนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น