xs
xsm
sm
md
lg

เวทีเมืองคอนไขก๊อกพลังงานน้ำผลิตไฟฟ้า จี้ล้มโรงไฟฟ้าถ่านหิน-นิวเคลียร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - นักวิชาการรั้ว มอ.แนะทางออก “วิกฤตพลังงานชาติ!! นครศรีธรรมราชจะเอาอย่างไร??” ในเวทีเวิร์กชอปที่ มรภ.นครศรีธรรมราช หนุนศักยภาพโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำชุมชนขนาดเล็ก 215 แห่ง ซึ่งอาศัยแหล่งน้ำที่มาจากเขาหลวงในการผลิตไฟฟ้า ทำให้ประชาชนหวนมารักษาป่าได้อีกทาง เพื่อเป็นทางออกของการพึ่งพิงพลังงานไฟฟ้าที่ยังอิงอยู่กับก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ด้านนักศึกษา ชาวบ้าน มั่นใจแผนจังหวัดหนุนพลังงานทดแทน จวก กฟผ.เลิกทู่ซี้ดันโรงไฟฟ้าถ่านหินและนิวเคลียร์เสียที

วันนี้ (13 ก.ย.) ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช สำนักงานพลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราช กระทรวงพลังงาน จัดเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการสถานการณ์พลังงาน..ประเทศ..นครศรีธรรมราช เรื่อง “วิกฤตพลังงานชาติ!! นครศรีธรรมราชจะเอาอย่างไร??” เพื่อระดมการมีส่วนร่วมในการจัดการด้านพลังงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เน้นส่งเสริมประสิทธิภาพและส่งเสริมพลังงานทดแทนด้วยการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย นักวิชาการจากสถาบันศึกษา, นักเรียน นักศึกษา, ผู้นำท้องถิ่น, หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัด, ภาคเอกชน, ชมรม สมาคม รัฐวิสาหกิจชุมชน และอาสาสมัครพลังงานชุมชน ประมาณ 500 คน พร้อมกับมีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (สวท.) FM 93.5 MHz

นายเมตตา บันเทิงสุข รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงวิกฤตพลังงานของประเทศไทยที่มีความต้องการใช้ ทั้งน้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้น แต่แหล่งพลังงานฟอสซิลมีน้อยจนต้องมีการสั่งซื้อจากต่างประเทศมาใช้ และสำรองอย่างเพียงพอ ขณะเดียวกันต้องวางแผนด้านพลังงานภายในประเทศและหาแนวทางดูแลสิ่งแวดล้อมในการผลิตพลังงานนั้นด้วย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทน ทำให้มีการจัดเวทีครั้งนี้ขึ้นเพื่อนำเสนอข้อเท็จจริง ความคิดเห็นภาคสังคมในการสร้างความเข้าใจ แนวทางบริหารจัดการด้านพลังงานที่เหมาะสม และพึงพอใจระหว่างทุกฝ่าย

ต่อมามีการเสวนาเรื่อง “วิกฤตพลังงานชาติ!! นครศรีธรรมราชจะเอาอย่างไร??” โดยมีนายประพันธ์ สุวรรณ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ดร.ศราวุธ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักประสานการมีส่วนร่วมภาคประชาชน กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตพลังงาน ต้องนำเข้าน้ำมัน 85% ส่วนพลังงานไฟฟ้ากว่า 70% ผลิตมาจากก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยและสหภาพพม่า แต่เชื้อเพลิงในการผลิตนั้นสำรองไม่ยากไม่เหมือนถ่านหิน อีกทั้งทางเลือกในการแก้ไขปัญหานี้ยังมีอยู่อย่างจำกัด ไม่ว่าจะเป็นการพลิตไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์ ลม อย่างไรก็ตาม อนาคตของพลังงานทดแทนที่จะนำมาใช้นั้นควรเชื้อเพลิงไม่แพง ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และประชาชนยอมรับ เพราะบริบทของสังคมเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่ภาครัฐจะมีอำนาจสั่งอนุมัติแล้วทำได้ทั้งหมด

ด้าน ผศ.พยอม รัตนมณี อาจารย์ประจำภาควิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงหลักการเลือกพลังงานที่จะมาทดแทนการนำเข้าว่า ต้องสอดคล้องวิถีชีวิตชุมชนนครศรีธรรมราช ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และมีผลตอบแทนทางการเงินที่อยู่ได้ในระยะยาว สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ และจากการศึกษาพบว่าพลังน้ำมีความเป็นไปได้ เนื่องจาก จ.นครศรีธรรมราชมีเขาหลวงเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญ มีน้ำตกกว่า 80 แห่ง สามารถนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้ สามารถสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชนได้ 215 แห่ง เช่นเดียวกับทุกจังหวัดในภาคใต้ล้วนแต่มีน้ำตกกระจัดกระจาย และมีถนนที่รถสามารถเดินทางเข้าถึงได้ โดยมีจุดเด่นคือกระบวนการผลิตง่ายที่สุด ราคาถูกที่สุด ต้นทุนต่อหน่วย 0.87 สตางค์ มีผลกระทบน้อยแต่มีความยั่งยืนตราบเท่าที่ป่ายังอยู่

ด้านนายประยงค์ รณรงค์ เจ้าของรางวัลแมกไซไซ สาขาผู้นำชุมชน กล่าวเสริมว่า การใช้พลังงานน้ำก็จะส่งผลดีให้ประชาชนหวนไปรักษาป่ามากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องหันมาใช้พลังงานทดแทนอื่นควบคู่กันด้วย เช่น พลังไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งมาจากเศษของเหลือใช้ต่างๆ ที่เป็นขยะในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ทุกคนพึ่งพาตนเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเชื่อว่าหากมีการเริ่มต้นแล้ว คนอื่นๆ ที่เห็นชอบด้วยก็จะนำไปทำต่อตามพฤติกรรมเลียนแบบ

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เข้าร่วมประชุมได้ร่วมแสดงความคิดเห็นว่า ในเมื่อแผนพัฒนาจังหวัดมีความชัดเจนว่าจะสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือก จึงควรที่จะให้กระทรวงพลังงานเป็นเจ้าภาพในการสนับสนุนการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม และขอให้ยุติความเคลื่อนไหวโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและนิวเคลียร์ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช เพราะนอกจากประชาชนไม่ต้องการแล้ว ยังไม่สอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัดอีกด้วย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายภานุวัฒน์ ลังเมือง นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีความตื่นตัวในเรื่องพลังงานมากนัก ทั้งนี้ โดยส่วนตัวก็ไม่เห็นด้วยกับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้ง 2 แห่งใน จ.นครศรีธรรมราช และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีแผนจะเกิดขึ้นในประเทศไทยไม่เฉพาะในภาคใต้ เนื่องจากมองว่าเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมและแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ แม้ขณะนี้ตนไม่ได้เข้าร่วมกับกลุ่มผู้คัดค้านอย่างชัดเจน แต่กำลังศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องอยู่เรื่อยๆ เพื่อเตรียมการสนับสนุนการคัดค้านร่วมกับภาคสังคม หากการเคลื่อนไหวต่างๆ เข้มข้นโดยไม่สนใจเสียงต่อต้านของประชาชนในพื้นที่

ด้านกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และการพัฒนาภาคใต้รองรับอุตสาหกรรมเฟส 4 ต่อจากมาบตาพุด กล่าวว่า ในกรณีของโรงไฟฟ้าถ่านหินใน จ.นครศรีธรรมราชนี้ ทางกลุ่มฯ มองว่าไม่เพียงแต่จะทำลายสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นถิ่นเท่านั้น แต่เป็นการทำลายแหล่งทรัพยากรอาหารที่สำคัญของประเทศด้วย ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงก็จะมีปัญหามลพิษ ปัญหาสุขภาพ ปัญหาอาชญากรรมอื่นๆ ตามมาอีก

แม้ จ.นครศรีธรรมราช มีทรัพยากรอื่นๆ ที่สามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้ เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ แต่ภาครัฐไม่ได้สนับสนุนอย่างจริงจัง กลับคิดแต่จะนำโรงไฟฟ้าถ่านหินมายัดเยียดให้ประชาชน ซึ่งถ่านหินนั้นไม่ใช่ทรัพยากรที่ จ.นครศรีธรรมราช มี จะต้องนำเข้ามาจากพื้นที่อื่นอีกต่อหนึ่ง

ด้าน นายสวาท เอียดตน อายุ 59 ปี และนางสาคร กลับ อายุ 58 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ หมู่ 8 ต.เกาะเพชร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เล็งจะเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงแรกขึ้นให้ได้ภายในเร็ววันนี้ เปิดเผยว่า ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใน อ.หัวไทร เนื่องจากเห็นตัวอย่างปัญหาผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่มาบตาพุด และรอบๆ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง แล้วว่าจะมีปัญหาสุขภาพ ปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมามากมาย

ทั้งนี้ ชาวบ้านไม่ได้ต่อต้านคัดค้านการหาแหล่งผลิตไฟฟ้าเพิ่มแต่อย่างใด เนื่องจากเข้าใจดีว่าอัตราประชากรของประเทศไทยก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การใช้พลังงานก็ต้องเพิ่มขึ้นด้วย แต่อยากให้ภาครัฐพัฒนาการใช้พลังงานทดแทนชนิดอื่นมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้ามากกว่าการใช้ถ่านหิน และข้อมูลความเป็นจริงนั้นภาคครัวเรือนใช้ไฟน้อยมาก ดังนั้น การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นในพื้นที่ก็ย่อมเป็นไป เพื่อเอื้อต่อโครงการอุตสาหกรรมหนักต่างๆ ในภาคใต้ ซึ่งเชื่อมโยงกับท่าเรือน้ำลึกสงขลา-สตูล และโครงการอื่นๆ ตามที่ระบุไว้ในแผนของรัฐบาลอย่างแน่นอน

สำหรับในส่วนของการรับทราบข้อมูล ผู้ดำเนินโครงการไม่เคยให้ข้อมูลกับชาวบ้านในพื้นที่อย่างตรงไฟตรงมาเลย ทราบแต่เพียงว่าจะก่อสร้างขึ้นใน ต.เกาะเพชร หรือ ต.นาสตน ตำบลใดตำบลหนึ่ง และมีแต่การประชาสัมพันธ์ข้อดีว่า จะเกิดการจ้างงาน จะมีการก่อสร้างโรงพยาบาล และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ตามมา แต่ไม่เคยบอกชาวบ้านว่าโรงไฟฟ้าที่จะสร้างขึ้นนั้นผลิตไฟฟ้ากำลังเท่าใด ต้องใช้ไฟใช้น้ำในการผลิตเท่าไหร่ และมีสิ่งปฏิกูล ของเสียอะไรปล่อยออกมาบ้าง นอกจากนี้ ก็ยังมีการซื้อใจชาวบ้านโดยใช้แกนนำซึ่งเป็นคนในพื้นที่มาพูดจากเกลี่ยกล่อมหว่านล้อม ทำทีเจรจาซื้อที่ดินเพื่อใช้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในราคาสูง ชาวบ้านบางส่วนที่อยากขายที่ดินก็คล้อยตามไปได้ง่าย

นายสวาท และนางกลับ มองว่าในแง่ของการได้รับผลประโยชน์นั้น ชาวบ้านแทบจะไม่ได้รับผลประโยชน์ใดใดเลย เพราะเทคโนโลยีในปัจจุบันรุดหน้าไปมากแล้ว หากมีการจ้างงานจริงจะให้ชาวบ้านเข้าไปทำตรงนั้นสักที่คน และมลพิษต่างๆ ที่จะออกมาจากโรงไฟฟ้านั้นก็ไม่มั่นใจว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชนในบริเวณใกล้เคียง

นายภานุวัฒน์ ลังเมือง นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช

นายเมตตา บันเทิงสุข

นายประยงค์ รณรงค์
ผศ.พยอม รัตนมณี
ดร.ศราวุธ แก้วตาทิพย์
ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายนักศึกษา จ.นครศรีธรรมราช
นายสวาท เอียดตน และนางสาคร กลับ ชาวบ้านในพื้นที่ ต.เกาะเพชร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช
กำลังโหลดความคิดเห็น