xs
xsm
sm
md
lg

"สดศรี" ชี้กกต.ไม่ใช่ผู้ผลิตนักการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (9 มิ.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) คณะอนุกรรมการสื่อสารสาธารณะเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้จัดสัมมนา เรื่อง “มีสิทธิ…ทำไมไม่ใช้สิทธิ” ซึ่งมี น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง และ นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เข้าร่วมบรรยาย นางรสนา กล่าวตอนตอนหนึ่งว่า การเมืองถือว่าเป็นการลงทุนที่ดีที่สุดในบรรดาการลงทุนทุกประเภท เพราะเป็นเรื่องของอำนาจเงิน ทำให้เป็นที่สนใจของนักการเมือง ทั้งนี้การเมืองไทยอยู่ในช่วงพัฒนา ที่อาจจะต้องมีการเลือกตั้งบ่อย แต่จะทำอย่างไรให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจควบคู่ไปกับการตรวจสอบ อีกทั้งเราต้องช่วยกัน ว่าจะทำอย่างไรให้นักการเมืองได้ยินความต้องการของประชาชน รวมถึงตนต้องการให้ กกต.ช่วยผลักดันการทำโพรไฟล์ ประวัติการทำงาน ของนักการเมือง เพื่อตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองในสภาฯ เช่น การเข้าประชุม การโหวตกฎหมายต่างๆ การอภิปรายต่างๆ นั้นมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน อย่างไร รวมทั้งมีการขึ้นเงินเดือนและหักเงินเดือนตามคุณภาพของงาน โดยเผยแพร่ทางโซเซียลมีเดีย ให้ประชาชนได้รับทราบ เพราะถือว่าเราจ้างนักการเมืองมาทำงาน และเป็นสิทธิของประชาชน ที่สามารถตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองได้
ด้านนางสดศรี กล่าวว่า กกต.ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งตามกรอบรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง สำหรับสาเหตุที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งนั้น หากตรวจสอบจากข้อมูลที่กกต.จัดทำไว้ พบว่า ประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งในระบบต่างๆ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 50 ได้กำหนดว่า การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของประชาชน แต่ประชาชนก็ยังไม่เข้าใจ สิทธิ และหน้าที่ แม้จะมีการโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์จูงใจในสิทธิที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งพึงมีแล้ว ประชาชนก็ยังเกิดความเบื่อหน่าย เพราะในประเทศไทย มีทั้งการเลือกตั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่นอีก ทำให้ประชาชนคิดว่า การเลือกตั้งบ่อยนนั้นเสียทั้งเงิน และเสียเวลา
" กกต.ไม่ใช่ผู้ผลิตนักการเมือง แต่จะทำอย่างไรให้ประชาชนไม่เบื่อหน่ายการเลือกตั้ง และจะทำอย่างไรให้นักการเมืองเป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษ ทำงานเพื่อประเทศชาติจริงๆ รวมทั้งต้องปลูกฝังเยาวชนที่เป็นเด็กเล็กๆ ให้รักประเทศ หากสามารถเพาะพันธ์เด็กเล็กๆเหล่านั้นได้ ก็อาจจะทำให้การไม่มาใช้สิทธิอาจจะน้อยลง" นางสดศรี กล่าว
นอกจากนี้ การเมืองบ้านเราในขณะนี้ต้องยอมรับว่าเป็นระบบอุปถัมภ์ ระหว่างญาติพี่น้อง ที่กลายเป็นมรดกตกทอดทางการเมือง เหมือนกรณีห้างร้านบริษัทต่างๆ ที่ไม่ไว้ใจคนอื่นบริหารงานเท่ากับญาติพี่น้องของตนเอง ซึ่งจะเห็นได้จากนอมินี ที่ลงแข่งขันการเลือกตั้ง ก็คือญาติพี่น้องที่ไว้ใจได้ หากโชคดีได้เป็นรัฐมนตรี พี่น้องจะสั่งการได้ง่ายกว่าคนอื่น อย่างไรก็ตาม ในภายภาคหน้าเราจะมีกฎหมายห้าม หรือไม่ว่า การเป็นนักการเมืองนั้นต้องไม่ให้ผู้สืบสันดานเจ็ดชั่วโคตรลงเลือกตั้ง เพราะสิ่งเหล่านี้ จะทำให้การเมืองกลายเป็นระบบครอบครัว
ขณะที่ นายวุฒิสาร กล่าวว่า การเลือกตั้งที่มีคุณภาพ อยู่บนพื้นฐานการสำรวจติดตามนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง และตัวบุคคลที่มีพฤติกรรม คุณสมบัติ ความรู้ความสามารถมากน้อยแค่ไหน หากประชาชนใช้ดุลพินิจเลือก ก็จะทำให้การใช้สิทธิเลือกตั้งมีคุณภาพมากขึ้น รวมทั้งต้องมีการเฝ้าติดตามพรรคการเมืองว่า ทำงานด้วยความสุจริตหรือไม่
ทั้งนี้เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้วประชาชนต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยก วันนี้สังคมไทยยิ่งเลือกตั้งยิ่งแตกแยก อย่างไรก็ตาม การมีสิทธิไม่ใช่เฉพาะสิทธิเลือกตั้ง แต่ต้องเป็นสิทธิในการตรวจสอบการกระทำของผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งด้วย โดยเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ระบบการเมืองที่ดีขึ้น ไม่ใช่เพราะนักการเมือง หรือพรรคการเมือง แต่เพราะสังคมพัฒนาขึ้น มีการเรียนรู้ทางการเมืองมากขึ้น และมีกลุ่มองค์กร ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบมากขึ้น ทำให้มีการควบคุมทางสังคมที่มีคุณภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น