xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค”ยี้เผาไทยป้อง“ห้อย”ช่วยชาติเบรกขั้วอำนาจพรรคเล็ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน- "มาร์ค" ร่ายยาวผ่านเฟซบุ๊ค ระบุหลังแพ้เลือกตั้งปี 50 ก็ตั้งใจเป็นฝ่ายค้าน ไม่เคยคิดเป็นนายกฯ ปัดสมคบกับพันธมิตรฯโค่นระบอบทักษิณ และไม่เคยไปซบทหารเพื่อเป็นนายกฯ ยอมรับความรู้สึกประชาชนที่ข้องใจภาพโอบกอดกับ"เนวิน" เชื่อ"เนวิน"บริสุทธิ์ใจหลังตัดสินใจย้ายขั้วเพื่อชาติ ลั่นทำงานการเมือง 20 ปี อุดมการณ์ไม่เคยเปลี่ยน คุยเป็นนายกฯคนเดียวที่"แม้ว" สั่งไม่ได้ ยันหลังเลือกตั้งไม่ร่วมสังฆกรรมกับเพื่อไทยตั้งรัฐบาล พร้อมเบรกพรรคเล็กที่จะรวมกลุ่มเป็นขั้วที่ 3 ต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชน ด้าน"บรรหาร"คุยจะเป็นโต้โผสร้างละคร"ปรองดองคล้องใจ" ให้"มาร์ค-ปู" เป็นคู่พระนาง ยันไม่ทอดทิ้ง "ห้อย"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.30 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้ส่งข้อความผ่านเว็บไซต์ เฟซบุ๊คส่วนตัว ถึงประชาชน ( Abhisit Vejjajiva) บรรยายความยาวเหยียด โดยใช้หัวข้อว่า " จากใจอภิสิทธิ์ ถึงคนไทยทั้งประเทศ" โดยข้อความระบุ ว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีกว่า ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้พยายามสื่อสารกับพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม และความเข้าใจในการทำงานของตน แต่ที่ผ่านมาตนหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเหตุการณ์ทางการเมืองที่มีความละเอียดอ่อน เพราะพยายามลดเงื่อนไขความขัดแย้ง แต่ขณะนี้สื่อมวลชนบางส่วนเสนอข้อมูล ข้อคิด ที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ตนจึงจำเป็นต้องทำบันทึกชุดนี้ เพื่อเป็นหลักฐาน และเพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจชี้ชะตาอนาคตของประเทศโดยพี่น้องทุกคนในเร็วๆ นี้

** การเมืองสลับขั้ว : สู่เส้นทางนายกฯ

หลังจากที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งปลายปี 2550 ผมตั้งใจทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่เคยคิดว่าจะมีโอกาสก้าวสู่ตำแหน่งนายกฯ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งกันใหม่ แต่เหตุการณ์บ้านเมืองก็ไม่ปกติ โดยเริ่มต้นจากความขัดแย้งที่เกิดจาก นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เปิดประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อล้างความผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้เกิดกระแสต่อต้านรุนแรงจากประชาชนที่ไม่ต้องการให้นักการเมืองกลายเป็นอาชีพเดียวที่อยู่เหนือกฎหมายได้ เพราะสามารถใช้เสียงข้างมากในสภา ออกกฎหมายล้างความผิดตัวเองได้ ในความผิด เช่น การทุจริต คอร์รัปชัน ซึ่งถือเป็นวิธีการที่สั่นคลอนความมั่นคงของกระบวนการยุติธรรม และระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นอย่างยิ่ง

**ปัดสมคบพันธมิตรฯ โค่น"แม้ว"

หลายคนมองว่า พรรคประชาธิปัตย์สมคบกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่ผมระมัดระวังที่จะแยกแยะบทบาทของพรรคการเมือง กับภาคประชาชนที่มีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ผมไม่ไปขึ้นเวที แต่ปกป้องสิทธิของพวกเขา เมื่อใดที่มีการทำผิดกฎหมาย เช่น การยึดทำเนียบฯ ยึดสนามบิน หรือขัดขวางการลงพื้นที่ของรัฐมนตรี ผมแสดงจุดยืนชัดเจนทุกครั้งว่า "ผมไม่เห็นด้วย"

เมื่อสถานการณ์ลุกลาม การบริหารบ้านเมืองแทบเดินไม่ได้ ประเทศชาติเสียหายยับเยินขาดความเชื่อมั่นในสายตานานาชาติ ในช่วงวิกฤตินั้น ผมในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน เป็นคนเสนอนายกฯสมัคร กลางสภาให้แก้ปัญหาด้วยการยุบสภา ทั้งๆที่รู้ว่า ยุบสภาในขณะนั้นพรรคประชาธิปัตย์ ก็แพ้เลือกตั้ง แต่ผมต้องการให้ประเทศมีทางออกตามระบบ ผมไม่เคยเสนอให้นายกฯสมัคร ลาออกจากตำแหน่ง เพราะนั่นเป็นข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม การลาออกจะกลายเป็นการยอมจำนนต่อการใช้มวลชนกดดัน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาระยะยาวต่อการบริหารประเทศ จึงเห็นว่าการยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน เป็นทางออกที่ดีที่สุด โดยไม่ได้คำนึงถึงว่า พรรคจะแพ้การเลือกตั้ง เพราะการแก้ปัญหาเพื่อชาติ ต้องอยู่เหนือประโยชน์ของพรรคตัวเอง นี่คือจุดยืนของผม และพรรคประชาธิปัตย์

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ทวีความตึงเครียดให้กับประเทศไทยมากขึ้น คดีของพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ก็อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ในเรื่องการยุบพรรค เพราะนายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ทุจริตเลือกตั้ง กกต.ให้ใบแดงนายยงยุทธ จากนั้นศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง มีคำพิพากษายืนให้ใบแดงกับนายยงยุทธ ซึ่งกติกาที่ทุกพรรคก็รับทราบมาตั้งแต่ต้น คือ หากผู้บริหารพรรคได้ใบแดง พรรคการเมืองนั้นต้องถูกยุบ ดังนั้น คดีนี้จึงชัดเจนอย่างยิ่ง ชนิดที่เรียกว่าปิดไว้ข้างฝาได้เลยว่า จะมีปัญหาแน่ สำหรับรัฐบาลนายสมัคร กับนายสมชาย (วงศ์สวัสดิ์) แต่ผมไม่เคยคิด และไม่เคยดิ้นรนว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วจะเป็นโอกาสของผม

**เผยรู้เรื่องยุบพลังประชาชนล่วงหน้า

ช่วงเวลานั้น นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ ติดต่อผ่าน ส.ส.คนหนึ่งเพื่อขอพบผม เพราะมีธุระอยากพูดคุยด้วย เราก็ได้พบกันที่ร้านอาหารใกล้พรรคประชาธิปัตย์ โดยนายพสิษฐ์ บอกผมว่า พรรคพลังประชาชนจะถูกยุบนะ ผมก็เพียงแต่รับฟัง นายพสิษฐ์บอกกับผมว่า ที่เล่าให้ฟังเพราะคิดว่าจะเป็นประโยชน์กับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งผมตอบกลับไปว่า การยุบพรรคพลังประชาชนหรือไม่ เป็นเรื่องของเนื้อคดี และดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ แม้แต่วันนั้น ผมก็ยังบอกเขาเลยว่า หากยุบพรรคพลังประชาชน ผมก็คิดว่าไม่ได้เป็นประโยชน์ หรือเกี่ยวข้องกับประชาธิปัตย์ เพราะผมเชื่อว่า พรรคร่วมรัฐบาลเดิมก็คงจับมือกันเป็นรัฐบาลต่อ

แต่ถามว่า หากพรรคการเมืองอื่นเขาตัดสินใจย้ายมาร่วมตั้งรัฐบาลกับประชาธิปัตย์ แปลกไหม ก็ต้องบอกว่า ไม่แปลก เพราะบ้านเมืองเดินไม่ได้จริงๆ กับปัญหาที่สะสมมาตั้งแต่ความพยายามแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเองจน ถึงเรื่อง 7 ตุลาฯ ใครจะคุยกับทหารอย่างไร ผมไม่ทราบ เพราะผมไม่เคยติดต่อกับทหารท่านใดเลย แต่ผมเชื่อว่าไม่มีใครบังคับส.ส.ได้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งประสานงานกับพรรคการเมืองต่างๆ มาถามจุดยืนผม ผมก็บอกว่ามันเป็นเรื่องของสภา และผมก็คิดอยู่ในใจว่า หากเราจะปัดว่าไม่ใช่เรื่องของเราก็ได้ แต่คนเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ต้องมีความรับผิดชอบ

**ยันไม่ได้ปล้นอำนาจใครมา

เราไม่ได้เป็นคนไปแย่ง ไปปล้นอำนาจใครมา และถ้ามีโอกาสเป็นนายกฯ ก็ไม่คิดทำอะไรเพื่อตัวเอง ทุกอย่างเป็นกระบวนการตามระบบ ตามกฎหมาย ผมถือว่าถ้าเสียงในสภายอมรับก็ยอมรับ และการลงคะแนนก็เปิดเผย การสลับขั้วในระบบรัฐสภาเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในทุกประเทศที่ใช้ระบบนี้ พรรคเพื่อไทยเองพยายามรักษาอำนาจทุกวิถีทาง ถึงขั้นยกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ซึ่งเป็นส.ส.พรรคเล็กด้วยซ้ำ ทำให้พล.ต.อ.ประชา ซึ่งพาผมไปเลี้ยงข้าวที่บ้าน บอกจะสนับสนุนผม แต่อีกสองวันกลับประกาศว่า จะแข่งกับผม ก็ไม่มีปัญหาแข่งกันไป ถ้าทหารมีอำนาจบีบบังคับให้พรรคการเมืองต้องทำตามที่ตัวเองต้องการได้จริง ทำไมจึงมีการแข่งขันอย่างเข้มข้นในสภา

**ยอมรับแก้ระบบเลือกตั้งเพื่อ"เนวิน"

ส่วนการจัดตั้งรัฐบาล ที่วิจารณ์กันมากว่ายอมทุกอย่างให้นายเนวิน ชิดชอบ ขี่คอได้กระทรวงหลักไปดูแล ความจริงก็คือ ในสถานการณ์นั้นง่ายที่สุดคือ ใครเคยดูแลกระทรวงไหน ก็ดูแลกระทรวงนั้นเหมือนเดิมทั้งหมด หลักสำคัญคือ พูดกันชัดเจนว่าเรามาแก้วิกฤติให้มันจบ ไม่เคยมีสัญญาว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 ตามที่นายบรรหาร ศิลปอาชา กล่าวอ้าง และวันที่นายเนวิน คุยกับผม ก็พูดเรื่องรัฐธรรมนูญ ผมพูดชัด 3 เรื่อง คือ เรื่องไหนที่เป็นปัญหาเชิงเทคนิคของรัฐธรรมนูญ ผมยินดีแก้ เพราะผมเป็นคนแรกที่พูดตอนการทำประชามติว่า รัฐธรรมนูญบางมาตรา อาจต้องแก้ไข แต่เรื่องประเภทนิรโทษกรรม ไม่เอานะ เพราะบ้านเมืองมันวุ่นมามากแล้ว และนายเนวิน ก็บอกกับผมว่า เรื่องนิรโทษกรรมไม่ต้องพูดถึง เขาไม่สนใจ เขาไม่เอา เขาขอเรื่องเขตเล็ก ผมก็บอกนายเนวินว่า เรื่องเขตเล็กนั้น ผมเป็นคนเสนอเขตใหญ่ เพราะฉะนั้นการปรับปรุงตรงนี้พักไว้ก่อน แล้วค่อยมาคุยกันว่าจะทำอย่างไร

เมื่อสภาให้โอกาสผมเป็นนายกรัฐมนตรี ผมก็มีหน้าที่แก้ไขปัญหา และตั้งใจตั้งแต่ต้นว่าจะไม่อยู่ครบวาระ ถ้าคลี่คลายวิกฤติได้ ก็จะยุบสภา เพราะตอนนั้นเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก และวิกฤติการเมือง เรียกว่า เป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติ บนสถานการณ์ที่ประเทศชาติไม่อยู่ในภาวะปกติ มีคนบอกผมว่า อย่าไปเป็นนายกรัฐมนตรีเลย เพราะมีแต่เจ๊า กับเจ๊ง และจะเปลืองตัว ความดีจะถูกทำลายโดยองค์ประกอบรอบข้าง เพราะต้องยอมรับความจริงว่า ประชาชนส่วนหนึ่งไม่ไว้วางใจพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ที่เคยอยู่กับพรรคพลังประชาชน ก็จะทำให้ผมได้รับแรงเสียดทานไปด้วย ว่า " อยากเป็นนายกรัฐมนตรี จนสามารถร่วมงานกับพรรคอะไรก็ได้ " และเดี๋ยวนี้ข้อหาพัฒนาไปไกล ถึงขั้นหาว่า "ผมพายเรือให้โจรนั่ง"

**ยกย่อง"เนวิน"ย้ายขั้วเพื่อชาติ

ผมเข้าใจดีถึงความรู้สึกของพี่น้องจำนวนไม่น้อย ที่แสลงใจกับภาพที่ นายเนวิน ชิดชอบ เข้ามาโอบกอดผม ผมมองอย่างให้ความเป็นธรรมกับนายเนวินว่า การตัดสินใจย้ายขั้วทิ้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ที่นายเนวิน เรียกว่า "นาย" ย่อมเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากไม่น้อย คำพูดที่นายเนวินฝากไปถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ว่า "มันจบแล้วครับนาย" ด้วยเสียงสั่นเครือ น้ำตาคลอเบ้า คงจะยังเป็นบาดแผลในใจนายเนวิน มาจนถึงวันนี้ ไม่ว่าคนจะมองนายเนวิน ในภาพอย่างไร แต่ในวันนั้นผมเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่านายเนวิน ได้ตัดสินใจทางการเมือง เพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้

ถ้าคิดในทางกลับกัน ผมไม่ยอมร่วมรัฐบาลกับนายเนวิน และพรรคอื่นๆ เพียงเพราะกลัวเปลืองตัว ปล่อยให้บ้านเมืองวุ่นวาย เดินหน้าไม่ได้ ผมก็ลอยตัว ไม่ต้องมาอยู่ในฐานะเป็นคู่ขัดแย้งกับใคร ชีวิตก็ไม่ต้องเสี่ยงจากความรุนแรงที่เริ่มปรากฏให้เห็นในการแข่งขันทางการเมือง แต่ถ้าผมทำอย่างนั้น ก็เท่ากับเป็นการปัดความรับผิดชอบในฐานะนักการเมือง ที่ต้องแก้ปัญหาให้ประชาชน

วันนั้นผมอาจจะคิดผิดก็ได้ เพราะผมคิดว่าถ้าเราซื่อสัตย์ ทำงานด้วยความอดทน อดกลั้น ไม่ทำตัวเป็นชนวน หรือเงื่อนไขของความขัดแย้ง พยายามรับฟังทุกฝ่าย ทุกสิ่งทุกอย่างจะเดินไปได้ แต่มันก็ไม่เป็นอย่างนั้น ตั้งแต่วันแรกที่ผมชนะในสภา ก็มีการใช้มวลชนเสื้อแดงพยายามทำร้าย ส.ส. ที่สนับสนุนผม แม้แต่ผมเองก็ยังต้องอาศัยรถตู้ของนายเทพไท เสนพงศ์ ออกมา เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง

ผมบอกกับตัวเองตั้งแต่วันนั้นว่า ชีวิตผมกำลังเปลี่ยนแปลง และอาจสุ่มเสี่ยงต่อการที่จะมีชีวิตสั้นกว่าวัยอันควร เพราะมีคนใช้ความรุนแรงข่มขู่ทางการเมือง แต่ผมก็ยังเลือกที่จะทำหน้าที่เดินหน้าประเทศไทย เพื่อรักษาสัญญา ที่ให้กับพี่น้องประชาชนที่ให้โอกาสผมเป็น ส.ส.คนเดียวของพรรคประชาธิปัตย์ในกรุงเทพมหานคร ว่า

"ถ้ามีโอกาสผมจะสร้างรากฐาน เปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ประชาชนมีความมั่นคงในชีวิต" และผมก็ดำเนินการทันที ท่ามกลางวิกฤติซ้อนวิกฤติ ผมยังเดินหน้าสร้างระบบสวัสดิการ ให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ประชานิยม แต่เป็นประชายั่งยืน และไม่ได้เสียสมาธิกับปัญหาทางการเมืองจนเป็นอุปสรรค ต่อการแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน

**คุยเป็นนายกฯที่"แม้ว"สั่งไม่ได้

ผมยืนยันได้ครับว่า ตลอดการทำงานการเมืองเกือบ 20 ปี อุดมการณ์ในการเข้าสู่การเมืองเป็นอย่างไร ไม่เคยเปลี่ยนแปลง และทุกการตัดสินใจล้วนแต่ยึดประโยชน์ประชาชนทั้งสิ้น ผมทราบว่า หลายคนได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เพื่อปั่นกระแสให้ไม่เชื่อมั่นในตัวผม แต่ผมหวังว่าความจริงที่ผมเล่าให้ฟังนี้ จะทำให้ประชาชนได้เห็นว่า ยังเชื่อมั่นผมได้ เพราะผมไม่เคยเปลี่ยนอุดมการณ์ และ พร้อมร่วมทุกข์ร่วมสุขเคียงข้างกับคนไทยเพื่อเดินหน้าประเทศต่อไป

ผมมาทบทวนดูว่า การเข้าสู่ตำแหน่ง และการดำรงตำแหน่งของผม ขัดกับหลักประชาธิปไตยไหม ผมว่ามันไม่ใช่ ผมได้รับการยืนยัน การสนับสนุนจากสภา ตลอด 2 ปี แม้แต่คนเสื้อแดง ก็ไม่ได้หยิบยกเรื่องนี้มาเป็นเงื่อนไขการชุมนุม จนเวลาผ่านไปเป็นปี

ถ้าผมจะมีความผิด ก็คงมีแค่ประการเดียว คือ ผมเป็นนายกฯ ในระบบสภาคนแรกหลังปี 2550 ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ สั่งไม่ได้

**ขวางพรรคเล็กจับกลุ่มเป็นขั้วที่ 3

ในวันเดียวกันนี้ นายอภิสิทธิ์ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ออกมาเสนอแนวทาง ให้ 2 พรรคใหญ่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล พร้อมกันนี้ ยังพูดถึงการจัดตั้งรัฐบาล ขั้วที่ 3 ที่มาจากพรรคเล็กรวมตัวกันว่า เวลานี้ทุกอย่างรอการตัดสินใจของประชาชนจะดีกว่า อย่าเพิ่งไปพูดล่วงหน้า แต่ละคนก็แสดงจุดยืนกันไปว่าแต่ละประเด็นในเรื่อง ของนโยบาย เรื่องของปัญหา เศรษฐกิจ การเมืองจะคิดกันอย่างไร เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจก่อน

" ถ้าบอกว่า ทุกพรรคจะมาเป็นรัฐบาลด้วยกัน เดี๋ยวประชาชนก็ถามว่า จะเลือกตั้งไปทำไม ใช่ไหมครับ เราต้องชัดเจน และผมคิดว่า สิ่งสำคัญเป็นเรื่องของนโยบายที่เป็นตัวตั้ง ประชาธิปัตย์ อยากมาเป็นรัฐบาลภายใต้แนวคิด และนโยบายของพรรค เช่น ถ้ามาบอกว่า ไปร่วมรัฐบาลด้วยกัน และมายกเลิกโครงการประกันรายได้ ผมก็ไม่ยอม หรือไปร่วมรัฐบาล แล้วจะไปออกกฎหมายในลักษณะ ซึ่งขัดกับหลักนิติรัฐ ผมก็ไม่ยอม ถ้าอย่างนั้นก็ยอมเป็นฝ่ายค้าน แต่ถ้าหากเอาเรื่องของการเป็นรัฐบาลเป็นตัวตั้ง ในที่สุดการเมือง ก็จะไม่มีหลักการ เอาเรื่องของนโยบาย ความถูกต้อง ความมั่นใจ ของแต่ละพรรคว่าตัวเองมีจุดยืนอย่างไร เป็นตัวตั้งเสียก่อน" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

**ยันไม่ร่วมตั้งรัฐบาลกับ"เพื่อแม้ว"

เมื่อถามว่า พรรคประชาธิปัตย์ สามารถทำงานร่วมกับพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าพรรคเพื่อไทย เสนอหลายอย่างอยู่ในขณะนี้ ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะนโยบายแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ส่วนกรณีพรรคภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา เกาะกลุ่มกัน และบอกว่าน่าจะได้เสียงประมาณ 100 เสียง และหากพรรคใหญ่ไม่สามารถจัดตั้งได้ และก็จะตั้งรัฐบาล โดยมีจุดยืนร่วมกันคือ นิรโทษกรรมมาตรา 237 นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังไม่ทราบ ยังไม่ได้ยินว่าเขาบอกอย่างนั้น เห็นแต่ตอนที่มีการมาประกาศของพรรคเพื่อไทย และภูมิใจไทย ว่าจะไม่ร่วมกัน และชาติไทยพัฒนา ก็บอกว่าไม่เกี่ยวกับเขา ตนได้ยินเพียงเท่านี้ และยังไม่เข้าใจว่า จะจับกันอย่างไร

เมื่อถามว่า นาย สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ระบุว่า การจับมือของ ชทพ. และ ภท. มีจุดยืนร่วมกันคือ นิรโทษกรรม มีความเห็นอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าพรรคชาติไทยพัฒนา จับกับพรรคภูมิใจไทย และ พรรคภูมิใจไทยร่วมกับพรรคเพื่อไทยไม่ได้ ก็ต้องแปลว่า พรรคชาติไทยพัฒนา กับพรรคภูมิใจไทย ต้องไม่ร่วมกับพรรคเพื่อไทย แต่ตนไม่ได้ยินอย่างนั้น ได้ยินแต่ว่า พรรคชาติไทยพัฒนา พร้อมจะร่วมกับทุกฝ่าย

เมื่อถามย้ำว่า พรรคใหญ่อาจจะจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ขณะที่พรรคเล็ก มีอำนาจการต่อรอง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ โดยหลักถ้าใครได้เสียงข้างมากเด็ดขาด ตรงนั้นชัดเจนอยู่แล้ว ถ้าไม่มีใครได้เสียงข้างมาก ใครรวบรวมเสียงข้างมากได้ ก็ได้เป็นรัฐบาล โดยมารยาทคนมาอันดับ 1 จะมีโอกาสก่อน แต่การที่พรรคอันดับหนึ่ง หรือ พรรคอันดับสอง มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล ตนติดว่าพรรคการเมืองที่มาในลำดับ ลดลงไป จะต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชนเหมือนกัน อย่าไปคิดว่าจะยื่นเงื่อนไขเรียกร้องอะไรเสียทุกอย่าง คิดว่าจะดูกระไรอยู่ และจะกลายเป็นว่า คนได้คะแนนน้อย มีความหมายมากกว่าคนได้คะแนนมาก คงจะเป็นอย่างนั้นไม่ได้

เมื่อถามว่า ทำให้เสียสมาธิในการหาเสียงหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ เวลานี้ตนเองไม่ได้ติดตามเรื่องนี้มากเท่าไร นอกจากเปิดหนังสือพิมพ์ตอนเช้าดูข่าวเท่านั้นเอง แต่สิ่งสำคัญคือการเดินหน้า เรื่องการสื่อสารกับประชาชนมากว่า เพราะตอนนี้ที่ต้องการคือ ต้องการให้การเลือกตั้งเป็นของประชาชน และทำให้เรามาพูดคุยกับเขาในเรื่องที่อยู่ใสนความสนใจ และเป็นปัญหาของเขาจริง ๆ

เมื่อถามว่า การที่ล็อกเรื่องนิรโทษกรรม และแก้ มาตรา 237 ซึ่งเป็นจุดยืนที่ตรงข้ามกับพรรคประชาธิปัตย์ จะเป็นอุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นความเห็นของนายสมศักดิ์ หรือเปล่า เพราะจริงๆแล้ว มีอีกหลายเรื่องซึ่งเหลืออีกหลายกลุ่ม และพรรคการเมืองยังไม่ได้พูดชัดขนาดนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่เราระมัดระวังคือ ทำอย่างไรไม่ให้เกิดการมองว่า นักการเมือง สุดท้ายก็พยายามกลับไปมีอำนาจ เพื่อแก้ไขปัญหาของนักการเมืองด้วยกันเองมากว่าการแก้ไขปัญหาของประชาชน

เมื่อถามว่า ถ้าจำเป็นต้องเป็นรัฐบาลผสมร่วมกัน ห่วงหรือไม่จะเกิดการกดดันเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเหมือนที่เคยเกิดขึ้น ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ ยอมรับว่าที่ผ่านมามีความเห็นที่ไม่ตรงกันบ้าง มีแรงกดดันอยู่บ้าง แต่ในที่สุดแล้วก็มีการหาข้อยุติร่วมกัน ที่เราคิดว่าเหมาะสมเหมือนกับที่ผ่านมา มาตรา 237 พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้แก้ เพราะเห็นว่าตอนนั้นคดี ของพรรคยังมีอยู่ ซึ่งจะเป็นปัญหาว่ากลายเป็นทำเพื่อตัวเอง

เมื่อถามว่า นายกฯพูดผ่าน เฟชบุ๊ค ชัดเจนว่า จะมีการทำบันทึกจากใจอภิสิทธิ์ ถึงคนไทยทั้งประเทศ ที่เกี่ยวกับเหตุผลการตัดสินใจในเหตุการณ์สำคัญๆ ที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า วันนี้น่าจะเรียบร้อยแล้ว แต่ตนยังไม่ได้ตรวจสอบให้ทีมงานทำอยู่ ซึ่งเป็นการย้ำช่วงที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรีได้พยายามสื่อสารกับประชาชนในเรื่องนโยบายเป็นหลัก ไม่ค่อยอยากพูดเรื่องการเมือง ไม่อยากเป็นเงื่อนไขความขัดแย้ง แต่ตั้งแต่มีการยุบสภาหาเสียงกันมา มีการไปพูดจาถึงเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งตนเห็นว่าไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

ดังนั้นต้องการที่จะมีบันทึกเอาไว้เป็นหลักฐานว่า ความจริงที่เกิดขึ้น การตัดสินใจของตน ในแต่ละครั้งในเรื่องสำคัญๆ เป็นอย่างไร ฉะนั้นบันทึกนี้ จะได้เป็นสิ่งที่ทำให้พี่น้องประชาชนรับทราบว่า เวลาตนตัดสินใจในเหตุการณ์สำคัญๆ ที่มาที่ไปของมัน คืออะไร

เมื่อถามว่า แสดงว่าการหาเสียงโค้งสุดท้าย จะเน้นเรื่องการเมืองมากขึ้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เราสื่อสารทุกเรื่องและคิดว่าประชาชนอาจจะมีคำถามเรื่องการเมืองมากขึ้น แต่ช่วงนี้ยังเป็นช่วงที่เราอยากมุ่งเน้นเรื่องของนโยบายที่เป็นปัญหาของประชาชน นั่นคือ สิ่งที่อยู่ในใจมากที่สุด

**"มาร์ค"คุยจะพาประเทศก้าวข้าม"ทักษิณ"

นายอภิสิทธิ์ ยังได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวต่างประเทศ ระหว่างลงพื้นที่หาเสียงย่านดอนเมือง ว่า จากการลงพื้นที่ที่ผ่านมาเสียงเสียงตอบรับค่อนข้างดี ในส่วนนโยบายของพรรคนั้น คิดว่านโยบายเรื่องการประกันรายได้เกษตรกรนั้นตรงใจกับประชาชน และยืนยันว่า นโยบายของพรรค มุ่งเดินหน้าแก้ไขปัญหาของประเทศ ทำให้ประเทศเดินหน้า และก้าวข้ามความขัดแย้ง และคนชื่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไปให้ได้

**"ลิ่วล้อแม้ว"ให้"มาร์ค"ก้าวพ้นเรื่องเก่า

นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กล่าวถึงกรณีนายอภิสิทธิ์ ได้กล่าวถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ วางแผนบันได 4 ขั้น ในเรื่องการนิรโทษกรรมว่า ตนรู้สึดผิดหวังที่นายอภิสิทธิ์ ตอบคำถามโดยไม่ใช้วิจารณญาญ และพรรคเพื่อไทย ก็ไม่ได้มีนโยบายบันได 4 ขั้นแต่อย่างใด ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์พยายามที่จะพูดเพื่อให้เกิดกระแสทางการเมืองรายวัน โดยไม่มีการตรวจสอบข้อมูลก่อนที่จะออกมาพูด เหมือนการนำเอาเรื่องกลุ่มคนเสื้อแดงมาพูด เพราะฉะนั้น ตนมั่นใจว่าเรื่องดังกล่าวถูกกุข่าวขึ้นมา เพื่อป้ายสีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เนื่องจากพรรคเพื่อไทย กำลังได้รับกระแสที่ดีจากประชาชน

นายนพดล กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยจะตรวจสอบดูว่า ภายหลังจากการออกมาให้สัมภาษณ์เช่นนี้ ของนายอภิสิทธิ์ ทำให้เกิดผลกระทบต่อพรรคเพื่อไทย หรือไม่ ซึ่งทีมกฎหมายของพรรคเพื่อไทย ก็อาจจะยื่นดำเนินการฟ้องร้อง โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้เสียหายและเป็นโจทก์ แต่ก็อาจจะใช้เวลาสักช่วงหนึ่ง เนื่องจากในขณะนี้พรรคเพื่อไทยอยากที่จะรณรงค์หาเสียงกับประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยให้ได้มากที่สุด

ผู้สื่อข่าวถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ทราบเรื่องบันได 4 ขั้นหรือไม่ นายนพดล กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ไกล ซึ่งตอนนี้น่าจะอยู่ในแถบตะวันออกกลาง แต่ก็ทราบเรื่องนี้ดี ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณ ก็เรียกร้องให้ นายอภิสิทธิ์ มีความเป็นผู้ใหญ่ และให้มาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งครั้งนี้ และนำมาต่อสู้กันมากกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ กำลังก้าวพ้นในเรื่องเก่าๆ แต่นายอภิสิทธิ์ กับพรรคประชาธิปัตย์ ยังมีความพยายามที่จะเอาเรื่องเก่าๆมาโจมตี

**"เติ้ง" จะปั้น"มาร์ค-ปู" เล่นละคร

นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ช่วงนี้ นักการเมืองจะทะเลาะกันบนหน้าสื่อ เช่น จะมีข่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ บนหน้าหนังสือพิมพ์ทุกวัน เมื่อสองวันก่อน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไปไถนา ดูแล้วไม่เลว วันถัดมา นายอภิสิทธิ์ ไปดำนา ตนเลยคิดจะสร้างละครเรื่อง"ปรองดองคล้องใจ" ให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นนางเอก และนายอภิสิทธิ์ เป็นพระเอก ผู้หญิงก็สวย ผู้ชายก็หล่อ เหมาะสมกันดี ประพันธ์บทโดยตน โดยจะเป็นพ่อสื่อ เป็นเรื่องละคร แต่เรื่องการเมืองคงเป็นไปไม่ได้ คงตีกันยับ และหลังเลือกตั้ง จะสร้างจริงๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าจับคู่กันได้จริง แล้วจะทำอย่างไร นายบรรหาร กล่าวว่า ไม่เป็นไร ถ้าปรองดองกันได้ พรรคชาติไทยพัฒนาเป็นฝ่ายค้านก็ได้ ไม่ขัดข้อง แต่ในทางการเมืองเป็นไปไม่ได้หรอก

เมื่อถามย้ำว่า ถ้า 2 พรรครวมกันได้ จะทำอย่างไร นายบรรหาร กล่าวว่า เป็นไปได้หรือ ถ้าละครเป็นไปได้ แต่การเมืองคงจะยาก เมื่อถามว่าจะเอาอะไรไปมัดใจทั้งสองคน นายบรรหาร กล่าวว่า ถ้าให้ตนเป็นพ่อสื่อ หรือ สินสอดเรื่องเล็ก เท่าไรก็เท่ากัน พ่อสื่อจะดูแลให้ เพราะตนเห็นในหน้าสื่อทะเลาะกันทุกวัน โต้กันไปมา จะให้ทำอย่างไรกว่าจะถึงวันเลือกตั้ง ประชาชนคงจะเบื่อเสียก่อน

เมื่อถามว่าก่อนหน้านี้ก็มีสูตรอยากให้พรรคเพื่อไทย กับประชาธิปัตย์ จัดตั้งรัฐบาล นายบรรหาร กล่าวว่า ไม่ใช่คนละสูตรกับละครที่ตนจะสร้าง คนละแบบ สูตรของตนเป็นสูตรสำเร็จรูป

**ยันไม่ทอดทิ้ง"ภูมิใจห้อย"

นายบรรหาร ยังกล่าวถึงการเป็นพันธมิตร ร่วมกับพรรคภูมิใจไทย ว่า ที่เราคุยกันในการทำเอ็มโอยู ยังเป็นสัญญากันอยู่ พรรคภูมิใจไทยทุกคนอย่าตื่นเต้นไปเลย เพราะการไปตื่นเต้นตรงนี้ มันเป็นเรื่องของกระแส ที่พรรคเพื่อไทยไปบอกว่า จะจัดตั้งรัฐบาลโดยมีพรรคชทพ. และพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน โดยไม่มี ภูมิใจไทย สื่อก็ไปเขียนเป็นข่าว ทางภูมิใจไทย ก็เลยพูดดักทางไว้ก่อนว่า จะไปคนเดียวหรือ เราเองไม่ได้พูดซักคำว่าจะไป หรือไม่ไป ต้องดูคะแนนเสียงของการเลือกตั้งก่อน เราทำอะไรต้องหารือกันทั้ง 2 ฝ่าย ตนเรียนไว้แค่นี้

เมื่อถามว่าจะเป็นได้ทั้งรัฐบาล และฝ่ายค้านหรือไม่ นายบรรหาร กล่าวว่า ก็ได้ อย่างนี้ต้องหารือกัน ถ้าจะเป็นฝ่ายค้านก็เป็น จะเป็นฝ่ายรัฐบาลก็เป็น แต่ต้องดูเหตุผลด้วยว่า ถ้าเป็นฝ่ายค้านบ้านเมืองไปได้หรือไม่ ถ้าบ้านเมืองไปไม่ได้ ต้องทำความเข้าใจกัน ต้องหารือกันว่า หากบ้านเมืองไปไม่ได้ ก็ต้องหารือกัน อย่างคราวที่แล้วพรรคประชาธิปัตย์ ชทพ. และพรรคเพื่อแผ่นกินประมาณไว้ 290 แต่ออกมาแค่ 210 เสียงไปไม่ได้ แล้วจะทำอย่างไร

เมื่อถามว่าแต่สถานการณ์ ก็ทำให้พรรคภูมิใจไทยหวั่นไหว กลัวพรรค ชทพ. จะทอดทิ้ง นายบรรหาร กล่าวว่า ไม่มีหรอก ไปบอกนายเนวิน ชิดชอบ ได้เลยว่า ไม่มีอะไร เติ้งพูด อย่างไงก็พูดอย่างงั้น อาพูดอะไรก็บอกกับหลานแบบนี้ แต่หลานจะมีมุกอะไร ต้องบอกกันก่อน อย่างคราวก่อน ออกมุกมาตกใจเลย ที่บอกว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ และ นายอภิสิทธิ์ จะไม่ได้เป็นนายกฯ มีมุกอะไร ก็น่าจะบอกกันก่อน จะได้รับมุกกันได้ ซึ่งตนและนายเนวิน มีการพูดคุยกันตลอด โดยผ่านทางนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีการนิรโทษกรรม กลายเป็นประเด็นที่พรรคร่วมรัฐบาล ต้องการที่จะให้เกิดขึ้น เพื่อช่วยเหลือให้กับผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง นายบรรหาร กล่าวว่า บอกเลยว่าอะไรที่ไม่ยุติธรรม อย่างกรณีของพรรคชาติไทย ถูกยุบเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง มาตรา 237 ตนแก้แน่ๆ ตนจะพูดเฉพาะตรงนี้มาตรา 237 และมาตรา 68 พรรคต้องไปมีความผิดด้วยนั้นไม่ถูกต้อง ตรงนี้แก้แน่นนอน ส่วนเรื่องอื่นค่อยมาว่าอีกที
กำลังโหลดความคิดเห็น