xs
xsm
sm
md
lg

"ปู"ทำคะแนนไล่เบียด"มาร์ค" ดุสิตโพลกังวลทุจริตเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนพดล กรรณิกา ผอ.สำนักวิจัยเอแบคโพล มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สำรวจภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำระหว่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ครั้งที่ 3 กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ระหว่าง วันที่ 30 พ.ค. – 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ผลวิจัยพบว่า แนวโน้มฐานสนับสนุนของประชาชนต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพิ่มสูงขึ้นจากการศึกษาครั้งแรกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติหลายตัว เช่น ความอดทนอดกลั้น ควบคุมอารมณ์จาก ร้อยละ 9.7 ในครั้งแรกมาอยู่ที่ร้อยละ 31.6 ในครั้งล่าสุด ความสุภาพอ่อนโยน จากร้อยละ 13.0 มาอยู่ที่ร้อยละ 37.4 การยอมรับจากภายในประเทศและต่างประเทศ จากร้อยละ 11.3 มาอยู่ที่ร้อยละ 29.3 การประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี เพิ่มจากร้อยละ 9.8 มาอยู่ที่ร้อยละ 32.4 ความโอบอ้อมอารีเพิ่มจากร้อยละ 13.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 34.2 ความเป็นผู้นำเพิ่มจากร้อยละ 12.9 มาอยู่ที่ร้อยละ 32.5
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายตัวชี้วัด ที่เพิ่มขึ้น เช่น ความรู้ความสามารถ มีจริยธรรมทางการเมือง มีวิสัยทัศน์ เสียสละ ซื่อสัตย์สุจริต ความเป็นคนรุ่นใหม่ ความคิดสร้างสรรค์ ความยุติธรรม กล้าคิดกล้าตัดสินใจ แก้ปัญหาความขัดแย้งได้ดี และรวดเร็วฉับไวในการแก้ปัญหา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในการศึกษาครั้งนี้ พบว่า ฐานสนับสนุนของประชาชนที่มีต่อ นายอภิสิทธิ์ ยังคงสูงกว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในหลายตัว เช่น ความเป็นผู้นำนายอภิสิทธิ์ ได้ร้อยละ 47.7 นางสาวยิ่งลักษณ์ได้ ร้อยละ 32.5 จริยธรรมทางการเมือง นายอภิสิทธิ์ ได้ร้อยละ 43.3 นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้ร้อยละ 29.5
ที่น่าสนใจคือ ความมีเสน่ห์น่าเลื่อมใสศรัทธาที่เพิ่มขึ้นมาอีกตัวชี้วัดหนึ่งในครั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ ได้ร้อยละ 43.1 นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้ร้อยละ 34.3 แต่หากเปรียบเทียบผลการศึกษาครั้งแรกกับครั้งที่ 3 นี้ จะพบว่า ตัวเลขที่ นายอภิสิทธิ์ ได้รับค่อนข้างนิ่ง และมีแนวโน้มลดลงหลายตัว
นายนพดล กล่าวว่า ผลการศึกษาครั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า ฐานสนับสนุนของสาธารณชนต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติมาโดยตลอด จนกระทั่งมาถึงจุดที่ไม่แตกต่างกันกับฐานสนับสนุนของประชาชนต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในการสำรวจครั้งนี้ เนื่องจากตัวเลขที่เห็นต่างกันนั้น อยู่ในช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบ ร้อยละ 7 แนวทางที่จะเพิ่มฐานสนับสนุนของประชาชนต่อแกนนำพรรคการเมืองขนาดใหญ่ทั้งสองท่านไม่น่าจะได้มาจากการ ดีเบต แต่ความนิยมศรัทธาที่จะทำให้ชนะการเลือกตั้งน่าจะได้มาจากการ ลงมือทำจริง ให้ชาวบ้านเห็น
สำหรับการสำรวจครั้งนี้ได้สำรวจประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี พะเยา เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ นครพนม สกลนคร สุรินทร์ บุรีรัมย์ ขอนแก่น นครราชสีมา กระบี่ นราธิวาส และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,210 ตัวอย่าง
ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 48.1 เป็นหญิง ร้อยละ 51.9 เป็นชาย ตัวอย่างร้อยละ 4.0 อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 19.4 อายุ 20 – 29 ปี ร้อยละ 20.3 อายุ 30 – 39 ปี ร้อยละ 20.7 อายุ 40 – 49 ปี และร้อยละ 35.6 อายุ 50 ปีขึ้นไป
กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.9 มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 22.6 มีการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 5.5 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีขึ้นไป นอกจากนี้ ตัวอย่างร้อยละ 26.6 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 30.3 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 8.5 ระบุอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 13.1 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 10.9 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 7.9 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ในขณะที่ร้อยละ 2.7 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ

**ดุสิตโพลชี้คนกังวลทุจริตเลือกตั้ง
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนจำนวน 2,219 คน จากทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1-4 มิ.ย. 54 เรื่องความกังวล ความหนักใจของประชาชนกับการเลือกตั้ง ส.ส. พบว่าสิ่งที่ประชาชนและหนักใจเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.วันที่ 3 ก.ค. มากที่สุด อันดับ 1 คือกังวลการทุจริตการเลือกตั้ง การซื้อเสียง 30.43 %
อันดับ 2 กังวลในเรื่องของการใช้ความรุนแรง ใส่ร้ายป้ายสี โจมตีคู่แข่งขัน และการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม 26.08 % อันดับ 3 กลัวว่าจะได้ ส.ส. ที่ไม่ดี เข้ามาเหมือนเดิม และมีการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้น 21.74 %
ขณะที่เมื่อสอบถามเกี่ยวกับความคิดเห็นเรื่องการหาเสียงของ ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคการเมืองต่างๆ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 33.18 % กังวลว่า ผู้สมัครส.ส. จะกล่าวหาใส่ร้ายโจมตีคู่แข่งขัน เพื่อต้องการหาเสียงจากประชาชน อันดับ 2 กังวลว่านโยบายที่ผู้สมัครสัญญาไว้ จะทำไม่ได้อย่างที่พูด 23.80 %
อย่างไรก็ตามประชาชน 19.5 % มองว่า ภาพรวมในการหาเสียงของผู้สมัคร ส.ส.ยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่อาจจะมีบ้างบางพื้นที่ ที่มีการหาเสียง หรือ แข่งขันกันอย่างรุนแรง
กำลังโหลดความคิดเห็น