xs
xsm
sm
md
lg

เอแบคโพลล์สำรวจพบจุดแข็ง พท.ชนะ ปชป.ทุกด้าน ยกเว้นซื่อสัตย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพดล กรรนิกา  (แฟ้มภาพ)
เอแบคโพลล์ สำรวจพบจุดแข็ง พท.มากกว่า ปชป.ทุกด้าน ยกเว้นเรื่อง “ความโปร่งใส ซื่อสัตย์สุจริต” ขณะเดียวกัน ยังพบว่า เก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์ ปชป.ลดลงด้วย แต่เสียงโหวตยังสูสี แนะ พท.อยากชนะเลือกตั้งต้องสร้างความน่าเชื่อมั่นด้านโปร่งใส ส่วน ปชป.ต้องทำงานหนัก สร้างผลงานที่เป็นรูปธรรมที่สัมผัสได้จริง

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง เปรียบเทียบจุดแข็งของพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค และความนิยมของสาธารณชนต่อพรรคการเมือง ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง จากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ตราด สระแก้ว พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี พิจิตร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ มุกดาหาร หนองคาย ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุดรธานี ขอนแก่น พังงา ปัตตานี และสงขลา จำนวน 2,143 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1-7 พฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา

ผลสำรวจพบว่าจุดแข็งของพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค คือ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย ในสายตาของสาธารณชน พรรคเพื่อไทยได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเหนือพรรคประชาธิปัตย์เกือบทุกตัวชี้วัด ยกเว้นเรื่องเดียว คือ ความโปร่งใส ซื่อสัตย์สุจริต โดยพบว่า ร้อยละ 51.6 ระบุความโปร่งใส ซื่อสัตย์สุจริต เป็นจุดแข็งของพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะที่ร้อยละ 48.4 ระบุเป็นจุดแข็งของพรรคเพื่อไทยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างที่ค้นพบในเรื่องนี้ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ เพราะเป็นตัวเลขที่ไม่แตกต่างกันมากนัก

แต่เมื่อพิจารณาตัวชี้วัดจุดแข็งด้านอื่นๆ พบว่า พรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนทิ้งห่างพรรคประชาธิปัตย์อย่างมาก และมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยพบว่า ด้านวิสัยทัศน์ แนวนโยบาย พรรคเพื่อไทย ได้ร้อยละ 59.0 พรรคประชาธิปัตย์ ได้ร้อยละ 41.0 ด้านความรวดเร็วในการบริหารงาน พรรคเพื่อไทย ได้ร้อยละ 64.5 พรรคประชาธิปัตย์ ได้ร้อยละ 35.5 ด้านอุดมการณ์ประชาธิปไตย พรรคเพื่อไทย ได้ร้อยละ 55.5 พรรคประชาธิปัตย์ ได้ร้อยละ 44.5

ด้านการเข้าถึงประชาชน พรรคเพื่อไทย ได้ร้อยละ 61.8 พรรคประชาธิปัตย์ ได้ร้อยละ 38.2 ความสามารถด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย ได้ร้อยละ 64.6 พรรคประชาธิปัตย์ ได้ร้อยละ 35.4 ด้านการพัฒนาสังคม พรรคเพื่อไทย ได้ร้อยละ 57.2 พรรคประชาธิปัตย์ ได้ร้อยละ 42.8 ด้านการต่างประเทศ พรรคเพื่อไทย ได้ร้อยละ 61.9 พรรคประชาธิปัตย์ ได้ร้อยละ 38.1

ด้านการเป็นที่ยอมรับของประชาชน พรรคเพื่อไทย ได้ร้อยละ 60.9 พรรคประชาธิปัตย์ ได้ร้อยละ 39.1 ด้านการเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ พรรคเพื่อไทย ได้ร้อยละ 58.6 พรรคประชาธิปัตย์ ได้ร้อยละ 41.4 และด้านความเจนจัดทางการเมือง จัดสรรตำแหน่ง ประสานประโยชน์ เจรจาต่อรองได้ลงตัว พรรคเพื่อไทย ได้ร้อยละ 58.9 พรรคประชาธิปัตย์ ได้ร้อยละ 41.1 ตามลำดับ

และเมื่อถามว่า ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้งท่านจะเลือกพรรคการเมืองใดในบัญชีรายชื่อ พบว่า เสียงสนับสนุนของประชาชนที่ตั้งใจจะเลือก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจากพรรคประชาธิปัตย์ ลดลงจากร้อยละ 39.6 มาอยู่ที่ร้อยละ 34.1 ในขณะที่พรรคเพื่อไทยได้เสียงโหวตไม่แตกต่างจากการสำรวจครั้งก่อน คือ ร้อยละ 36.2 มาอยู่ที่ร้อยละ 36.4 จึงส่งผลทำให้พรรคเพื่อไทย จะได้จำนวนที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อมากกว่า พรรคประชาธิปัตย์ ถ้ามีการเลือกตั้งวันนี้ แต่ที่น่าจับตามองคือ เสียงสนับสนุนของประชาชนต่อพรรคการเมืองอื่นเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 24.2 มาอยู่ที่ร้อยละ 29.5

ดร.นพดล กล่าวว่า ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง พรรคการเมืองใหญ่สองพรรค คือ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย ยังคงจะได้เสียงโหวตในสัดส่วนที่สูสีกัน โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเสียงสนับสนุนลดลงในการสำรวจล่าสุด โดยส่วนหนึ่งอาจเกิดจากดัชนีตัวชี้วัดการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ยกเว้นเพียงเรื่อง ความโปร่งใส ซื่อสัตย์สุจริต แต่หลังจากการอนุมัติงบประมาณจำนวนมหาศาลที่ไม่ปกติ จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการแบ่งเค้กและเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในหมู่ประชาชนต่อจุดแข็งของพรรคประชาธิปัตย์ได้

ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ กล่าวว่า จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าตัวอย่างร้อยละ 51.8 เป็นหญิง ร้อยละ 48.2 เป็นชาย ตัวอย่างร้อยละ 4.7 อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 19.8 อายุ 20 - 29 ปี ร้อยละ 20.1 อายุ 30 - 39 ปี ร้อยละ 20.2 อายุ 40 - 49 ปี และร้อยละ 35.2 อายุ 50 ปีขึ้นไป โดย ร้อยละ 70.7 มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 23.8 มีการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 5.5 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 30.3 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 25.9 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 10.1 ระบุอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 11.6 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 8.3 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 9.6 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ในขณะที่ร้อยละ 4.2 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ
กำลังโหลดความคิดเห็น