ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
การไปให้การชี้แจงกับศาลโลกเมื่อวันที่ 30 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 นั้นโดยภาพรวมหากพิจารณาจากเหตุผลที่ฝ่ายไทยได้ไปต่อสู้ในการที่กัมพูชาขอมาตรการคุ้มครองชั่วคราวนั้นน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
มาตรการคุ้มครองชั่วคราวที่กัมพูชาต้องการให้ศาลโลกสั่ง มี 3 ข้อคือ
1.สั่งไทยถอยทหารออกจากพื้นที่บริเวณรอบปราสาทพระวิหารทันที
2.สั่งให้ไทยยุติกิจการทางทหารทุกอย่างในพื้นที่เขาพระวิหาร
3.สั่งให้ไทยหยุดกิจการดำเนินการใดๆที่เป็นการแทรกแซงสิทธิของกัมพูชานั้น
ที่กัมพูชาได้ร้องขอต่อศาลโลกเช่นนี้ ก็เพราะการอ้างเหตุว่าต้องการให้ศาลโลกได้ตีความคำพิพากษาศาลโลกเดิมเมื่อปี พ.ศ. 2505 ตามธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ มาตรา 60 ในประเด็นการตัดสินครั้งนั้นว่า:
“ประเทศไทยมีพันธะที่จะต้องถอนกำลังทหาร ผู้เฝ้ารักษาหรือผู้ดูแลซึ่งประเทศไทยส่งไปประจำอยู่ที่ปราสาทพระวิหารหรือในบริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา”
กัมพูชาพยายามที่จะอาศัยประเด็นนี้ เพื่อให้ศาลโลกได้ตีความว่าหมายถึงให้ทหารไทยถอยออกจากแผ่นดินของกัมพูชาตามแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 จึงขอให้ศาลโลกได้ออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว 3 ข้อดังที่กล่าวมาข้างต้น ในช่วงระหว่างที่ศาลโลกยังพิจารณาตีความคดีนี้ยังไม่แล้วเสร็จ
แม้ว่าในหลายประเด็นทีมฝ่ายไทยได้หยิบยกขึ้นมาต่อสู้ในเวทีศาลโลกกับกัมพูชา แทบจะไม่มีความแตกต่างมากนักกับการพูดปราศรัยแสดงความคิดเห็นของภาคประชาชนที่กำลังชุมนุมอยู่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ในการต่อสู้คดีความ เช่น ประเทศไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกครบถ้วนบริบูรณ์โดยปราศจากการอุทธรณ์ใดๆจากกัมพูชา การที่กัมพูชาเป็นฝ่ายเริ่มก่อเหตุเพื่อสร้างสถานการณ์เพราะมีแรงจูงใจเพื่อการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก การที่กัมพูชาให้ปราสาทพระวิหารในการเป็นฐานทัพโจมตีไทยและไทยจำเป็นต้องตอบโต้โดยกัมพูชาเป็นฝ่ายที่มีเจตนาอพยพประชาชนเข้ามาโดยหวังผลทางการเมือง อีกทั้งกรณีนี้เป็นคดีใหม่ซึ่งไม่ใช่ประเด็นที่ตัดสินเอาไว้เดิม ศาลโลกจึงไม่มีอำนาจในการตีความในประเด็นนี้ และประเด็นสุดท้ายที่สำคัญคือ...
ขอให้ศาลจำหน่ายคดีออกจากระบบ !!?
แต่สิ่งที่รัฐบาลไทยกับภาคประชาชนเห็นไม่ตรงกันที่สำคัญคือ “ประโยชน์และโทษของ MOU 2543 “ หรือประเด็น “การยืนยันเส้นเขตแดนของตัวเองในฝ่ายไทยในเวทีนานาชาติ” แล้ว ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือฝ่ายภาคประชาชนเห็นว่าฝ่ายไทยควรประกาศว่า “ประเทศไทยไม่รับอำนาจศาลโลก” ในขณะที่รัฐบาลไทยกลับเห็นว่าให้ไปสู้ในศาลโลกว่า “ศาลโลกไม่มีอำนาจ”
“ไทยไม่รับอำนาจศาลโลก” กับ “ศาลโลกไม่มีอำนาจตัดสินไทย” ดูมีความคล้ายคลึงกันแต่จริงๆแล้วไม่เหมือนกัน เพราะ “ไทยไม่รับอำนาจศาลโลก” หมายถึงไทยไม่ยอมรับการบังคับอำนาจของศาลโลกอีกแล้วหลังจากคดีปราสาทพระวิหาร แต่การสู้ว่า “ศาลโลกไม่มีอำนาจตัดสินไทย”ยังมีความเสี่ยงให้อยู่ที่ดุลยพินิจของศาลโลกจะพิจารณาว่า “ศาลโลกมีอำนาจในการตัดสินคดีนี้และออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวให้ได้หรือไม่”
ซึ่งเมื่อดูประเด็นที่ฝ่ายไทยได้โต้แย้งนั้น ถ้าดูตามเหตุตามผลแล้ว ศาลโลกไม่ควรจะออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวให้กับกัมพูชาได้เลย แต่ในเวทีศาลโลกนั้นมีความไม่แน่นอนสูง และไทยได้รับบทเรียนที่แพงมากในการแพ้คดีปราสาทพระวิหารในศาลโลกเมื่อปี พ.ศ. 2505
ที่แปลกก็คือว่าการที่ประเทศไทยต้องกลับมาขึ้นศาลโลกเป็นครั้งที่ 2 นับตั้งแต่หลังคำตัดสินของศาลโลกในคดีปราสาทพระวิหาร แต่ประเทศไทยมีเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันกับเมื่อปี พ.ศ. 2505 เกี่ยวกับอำนาจศาลโลกกลับมาอีกครั้งหนึ่ง
ในคดีปราสาทพระวิหารที่ฝ่ายไทยแพ้กัมพูชาในศาลโลก นั้น ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล ได้เสนอให้ประเทศไทยไม่ควรขึ้นศาลโลกเพราะมีความเสี่ยง แต่รัฐบาลไทยกลับไม่เชื่อฟัง เพราะด้านหนึ่งในเวลานั้น ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล ซึ่งเป็นทนายผู้ประสานงานคดีปราสาทพระวิหาร ยังมีอายุน้อย และรัฐบาลไทยเวลานั้นมีความเชื่อมั่นมากว่าจะต้องชนะคดีความอย่างแน่นอน จึงเห็นว่าจะต้องขึ้นศาลโลกเพื่อไปชนะคดีนี้ให้ได้
ที่รัฐบาลไทยในขณะนั้นมีความมั่นใจเพราะทางขึ้นปราสาทพระวิหารอยู่ฝั่งไทย สันปันน้ำคือเส้นเขตแดนตามที่ตกลงทำอนุสัญญากับฝรั่งเศส มีหลักฐานแสดงบันทึกผลการสำรวจระหว่างสยามกับฝรั่งเศส อีกทั้งหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ก็ยืนยันว่าสันปันน้ำอยู่ที่ขอบหน้าผา ดังนั้นปราสาทพระวิหารย่อมเป็นของประเทศไทยอย่างแน่นอน โดยที่ไม่มีทางจะเป็นอื่นไปได้
แม้ฝ่ายไทยจะยืนยันในการต่อสู้คดีความ ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล ก็ยังเสนอให้ตัดอำนาจของศาลโลก แต่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กลับไม่เห็นด้วยและมีความเห็นว่าการตัดอำนาจศาลโลกเสมือนเป็นการขัดขวางการเฉลิมฉลองชัยชนะที่ท้องสนามหลวงของวีรบุรุษที่กำลังจะมาถึงหลังจากได้รับชัยชนะคดีปราสาทพระวิหารแล้ว
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในเวลานั้นถึงกับแจ้งให้ ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล ได้ทราบว่ามีคนไม่เห็นด้วยและไม่พอใจกับการแสดงความเห็นของ ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล ถึงขั้นมีผู้เสนอจอมพลสฤษดิ์ ให้นำตัว ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุลมาลงโทษตามมาตรา 17 คือ “ยิงเป้าประหารชีวิต”
เพราะธรรมนูญศาลโลกนั้นระบุอย่างชัดเจนว่า ศาลโลกจะตัดสินคดีใดได้ก็ต่อเมื่อคู่กรณีทั้งสองประเทศตกลงใจที่จะใช้เวทีศาลโลกในการตัดสินข้อพิพาท จะยอมรับการตัดสินอำนาจศาลโลกทั้งสองฝ่าย และจะยอมปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลเมื่อมีคำตัดสิน หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมแล้ว ศาลโลกไม่สามารถจะบังคับให้คู่กรณีขึ้นศาลโลกได้เลย
ในที่สุดคดีปราสาทพระวิหาร ต้องกลายเป็นบาดแผลลึกของคนไทยทั้งชาติ เพราะศาลโลกไม่สนใจประเด็นเรื่องอนุสัญญาสยามฝรั่งเศส ค.ศ. 1904 ไม่สนใจหลักฐานที่มีการเดินสำรวจและตกลงระหว่างสยามกับฝรั่งเศสกันให้ใช้ขอบหน้าผาเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา และไม่สนใจหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่าสันปันน้ำอยู่ที่ขอบหน้าผา แต่ศาลโลกลับสนใจประเด็นเดียวเพียงแค่กฎหมายปิดปากที่ประเทศไทยนิ่งเฉยกับแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยฝรั่งเศสฝ่ายเดียว ที่นำมาเป็นมูลเหตุที่ตัดสินให้ ปราสาทพระวิหารอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา
ทั้งๆที่แผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ที่ฝรั่งเศสทำขึ้นนั้น เขียนผิดขัดแย้งกับอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1904, ขัดแย้งกับบันทึกของฝรั่งเศสที่สำรวจและยืนยันว่าบริเวณนี้สันปันน้ำอยู่ที่ขอบหน้าผาคือเส้นเขตแดนมองเห็นได้จากตีนภูเขาดงรัก, และขัดแย้งกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่าสันปันน้ำอยู่ที่ขอบหน้าผา แต่ศาลโลกก็ยังตัดสินเช่นนี้ได้ ด้วยเหตุผลนี้ประเทศไทยจึงได้ยื่นหนังสือคัดค้าน ประท้วงคำพิพากษาของศาลโลก และตั้งข้อสงวนเอาไว้กับองค์การสหประชาชาติว่าจะทวงคืนอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารในอนาคตเมื่อมีโอกาส
49 ปีผ่านไป ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล ได้ออกมาแสดงความเห็นอีกครั้งให้รัฐบาลไทยไม่รับอำนาจศาลโลก ผ่านบทความเรื่อง “ข้อสังเกตคำร้องกัมพูชาให้ศาลฯ คุ้มครองชั่วคราว” เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ความตอนหนึ่งว่า:
“ก่อนดำเนินการใดๆ ศาลฯจะต้องวินิจฉัยว่ามีอำนาจพิจารณาหรืออกคำสั่งตามคำขอของกัมพูชาหรือไม่
1.ใน Press Release ของศาลฯเลขที่ 2011/14 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ศาลฯ ได้ยืนยันว่าเป็นการเปิดคดีใหม่ โดยที่ไทยมิได้ต่ออายุปฏิญญารับอำนาจศาลฯ โดยบังคับ (Compulsory Jurisdiction) ตั้งแต่ พ.ศ. 2492 ซึ่งเป็นเวลากว่า 50 ปีมาแล้ว ศาลฯจึงไม่มีอำนาจพิจารณาและไม่มีอำนาจออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามคำขอของกัมพูชา
2.ในการแถลงด้วยวาจาในช่วงบ่ายวันที่ 30 และ 31 พฤษภาคม 2554 ไทยชอบที่จะขอให้ศาลฯวินิจฉัยในเบื้องต้นเกี่ยวกับเขตอำนาจของศาลฯ หรือเสนอข้อสงวนสิทธิ์ในประเด็นนี้ ทั้งนี้เนื่องจากการออกคำสั่งโดยไม่มีอำนาจย่อมไม่มีผล
3.ไทยควรยืนยันการไม่รับอำนาจศาลฯ ไม่ไปร่วมพิจารณาใดๆ นอกจากไปแถลงย้ำว่าศาลฯขาดอำนาจพิจารณา”
ดูเหมือนว่าฝ่ายไทยได้ต่อสู้ตามแนวทางของ ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล เป็นส่วนใหญ่ในเนื้อหาของบทความนี้ เหลือเพียงประเด็นเรื่อง “การไม่รับอำนาจศาลฯ” นั้นกระทรวงการต่างประเทศของไทยยังใจไม่ถึงพอ และเลือกที่จะไปรอลุ้นการวินิจฉัยของศาลโลกที่ยังไม่มีใครรู้ว่าจะออกมาในทิศทางใด
ถ้าศาลโลกออกมาวินิจฉัยว่าศาลโลกไม่มีอำนาจให้จำหน่ายคดีก็โชคดีไป แต่ถ้าศาลโลกบอกว่าตัวเองมีอำนาจและไทยรับอำนาจศาลด้วยละก็...
“เหนื่อยกันอีกแน่ประเทศไทย”!!!