xs
xsm
sm
md
lg

พธม.จี้รัฐปฏิเสธอำนาจศาล จับตาคุ้มครองชั่วคราวพระวิหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - พธม.จี้รัฐเร่งประกาศปฏิเสธอำนาจศาล ก่อนมีคำตัดสิน เชื่อ“ศาลโลก” เรียกหลักฐานเพิ่ม2 ประทศ 7 มิ.ย.นี้ สัญญาณไม่ดี คาดเดินหน้าวินิจฉัยต่อ ไม่สนใจไทยไม่ยอมรับอำนาจ ส่อต้องเสียเปรียบหากมีการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ด้าน “กษิต” เผยไทยมีสิทธิ์รับหรือไม่รับคำตัดสินของศาลโลกได้ ชี้ศาลไม่มีอำนาจบังคับ ระบุแต่ผลหากไม่ทำตามก็ต้องไปยูเอ็นเอสซี ด้าน "สนธิ" เตรียมแฉเหตุผลมาร์คกอดเอ็มโอยู43แน่นวันนี้

วานนี้ (2 มิ.ย.) ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงการไต่สวนของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก ที่กัมพูชาได้ยื่นคำร้องให้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวกรณีปราสาทพระวิหาร ว่า การที่ศาลให้ทั้ง 2 ฝ่าย ยื่นหลักฐานเกี่ยวกับเหตุการณ์ปะทะที่ผ่านมาเพิ่มเติมนั้นเป็นสัญญาณที่ไม่ดีต่อฝ่ายไทย เนื่องจากแสดงให้เห็นว่าศาลโลกกำลังเดินหน้าในการพิจารณาในส่วนของรายละเอียดคดีต่อไป โดยไม่คำนึงถึงอำนาจของศาลว่าจะสามารถวินิจฉัยได้หรือไม่

แม้ภาพรวมการต่อสู้ของทีมทนายฝ่ายไทยในศาลโลกนั้น คล้ายคลึงกับแนวทางที่ภาคประชาชนพยายามนำเสนอ แต่เมื่อพิจารณาลงในรายละเอียดจากทั้ง 2 ฝ่าย พบว่ายังมีความแตกต่างจากแนวทางของภาคประชาชนคือ การที่ฝ่ายไทยยังใช้เอ็มโอยู 2543 ยืนยันว่าเส้นเขตแดนยังไม่ชัดเจน ขณะที่กัมพูชาใช้เอ็มโอยู 2543 ยืนยันว่าการจัดทำหลักเขตแดนแล้วเสร็จตามแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน เพื่อยืนยันเส้นเขตแดนของตัวเอง จากเหตุนี้เมื่อฝ่ายไทยไม่ยืนยันเขตแดนของตัวเอง จึงไม่สามารถใช้ข้อสงวนสิทธิ์เมื่อปี 2505 ได้ และนำพาประเทศไปสู่ความสุ่มเสี่ยง โดยที่ศาลโลกจะตัดสินออกมาอย่างไรก็ได้

การที่ฝ่ายไทยขอให้ศาลวินิจฉัยอำนาจของศาล แต่ไม่ปฏิเสธไม่ยอมรับอำนาจศาลนั้น อาจทำให้ฝ่ายไทยต้องยอมรับอำนาจศาลโลก เพราะเท่ากับว่าศาลมีสิทธิ์วินิจฉัยว่าศาลมีอำนาจหรือไม่ จึงถือเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ของฝ่ายไทย ทำให้เสียเปรียบเข้าไปสู่ภาวะสุ่มเสี่ยงที่แขวนอยู่บนคำวินิจฉัยของศาลโลก ซึ่งหากเราถลำลึกไปมากกว่านี้ หมายความว่าการพิพากษาจะดำเนินการต่อหลังจากที่ศาลโลกมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวจะส่งผลกระทบในวงกว้าง เพราะจะมีการตีความเพิ่มเติมคำพิพากษาศาลโลกเมื่อปี 2505 ทำให้ข้อพิพาทไม่จำกัดอยู่ที่ปราสาทพระวิหารอีกต่อไป แต่อาจบานปลายไปถึงพื้นที่อื่นๆตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา จนถึงพื้นที่ทางทะเลอีกด้วย

“แม้ว่าฝ่ายไทยจะใช้เหตุผลที่ดีในการต่อสู้ในเวทีศาลโลก แต่กรต่อสู้ที่ดีนั้นเคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2505 ที่เรามั่นใจว่าชนะอย่างแน่นอน แต่ศาลโลกกลับตัดสินอย่างไม่ยุติธรรม เล่นพรรคเล่นพวก ครั้งนี้เช่นกันเมื่อฝ่ายไทยไม่ปฏิเสธอำนาจศาลโลก ก็สุ่มเสี่ยงที่เราจะต้องพลาดพลั้งอีกครั้ง ผมได้สอบถามไปยัง ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ ท่านก็บอกว่า ยังไม่สายเกินไปที่ไทยจะถอนตัวอกมาจากกระบวนการของศาลโลก ขอให้รัฐบาลใช้เวลาที่เหลืออยู่นี้ก่อนที่จะมีคำพิพากษาออกมา ดำเนินการให้เกิดความชัดเจนว่าประเทศไทยไม่รับอำนาจของศาลโลก ตั้งแต่คดีปราสาทพระวิหารเป็นต้นมา” นายปานเทพ กล่าว

**จับตา3 สัปดาห์มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่

นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ แถลงข่าวภายหลังการเดินทางกลับจากกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ว่าเพื่อชี้แจงต่อศาลโลกกรณีที่กัมพูชาร้องขอให้ออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวบริเวณพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ว่า คณะดำเนินการด้านกฎหมายของไทยที่ไปในครั้งนี้มีแต่ระดับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ โดยมีทั้งกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา สำนักงานอัยการสูงสุด กรมศิลปากร กรมแผนที่ทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย และ กองทัพบก ซึ่งเราได้ประเมินเป้าประสงค์ของกัมพูชาว่า ต้องการใช้อำนาจศาลเพื่อให้มีคำสั่งให้ไทยถอนทหารออกจากบริเวณปราสาทพระหารซึ่ง รวมถึงพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร นั่นหมายถึงว่า พื้นที่ดังกล่าวจะอยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา และเป็นการเปิดทางให้กัมพูชาอ้างต่อกรรมการมรดกโลกและยูเนสโกว่าบัดนี้พื้นที่รอบปราสาทพระวิหารได้ตกเป็นของกัมพูชาแล้ว ดังนั้นแผนบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารก็จะดำเนินการต่อไปได้

นายกษิต กล่าวต่อว่าในการให้การโต้แย้งในศาล เรายืนยันชัดเจนว่าไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลโลกปี 2505 แล้ว โดยเราได้ยกปราสาทพระวิหารให้กับกัมพูชาและถอนทหารออกจากพื้นที่โดยรอบ รวมทั้งทำแนวรั้ว ซึ่งเท่ากับว่าเราบอกต่อประชาคนโลกและกัมพูชาว่าส่วนที่เหลือเป็นของประเทศไทย ฉะนั้นการที่ศาลจะพูดอะไรโดยใช้แผนที่ 1:200,000 ก็ไม่อยู่ในอำนาจของศาลที่จะพิจารณาอีก ทั้งนี้หากมีการพิจารณาและยกดินแดนให้กับกัมพูชาในครั้งนี้ก็เท่ากับเป็นการใช้ประตูหลัง

ทั้งนี้ ไทยเห็นว่าไม่มีความเร่งด่วนและมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก็ไม่อยู่ในภาวะที่จะแก้ปัญหาต่างๆได้ เนื่องจากเหตุการณ์ปะทะเกิดขึ้นที่บริเวณปราสาทตาเมือน และปราสาทตาควาย ที่อยู่ห่างปราสาทพระวิหารราว 50 กิโลเมตร อีกทั้งประเด็นความขัดแย้งก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับปราสาทพระวิหาร ดังนั้นจะเอาเรื่องปราสาทตาเมือนกับตาควายมาเกี่ยวโยงกับปราสาทพระวิหารจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ยืนยันว่ากลไกทวิภาคีเพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาทตามแนวชายแดนสามารถเดินหน้าต่อไปได้ อีกทั้งขณะนี้ก็ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็เตรียมกำหนดการประชุม จีบีซีที่ จะมีขึ้นที่กรุงพนมเปญ

นายกษิต กล่าวถึงการดำเนินการตามแพ็คเกจเพื่อส่งคณะผู้สังเกตุการณ์ชาวอินโดนีเซียลงพื้นที่ว่า ทางไทยก็มีความพร้อม ดังนั้นการที่กัมพูชากล่าวหาว่ากลไกต่างๆชะงักงันก็ไม่เป็นความจริง พร้อมกันนั้นไทยขอปฏิเสธโดยสิ้นเชิงว่าไม่ได้เป็นประเทศใหญ่ที่รังแกกัมพูชา แต่ตลอดเวลาเราได้ช่วยเหลือกัมพูชา และไทย เป็นประเทศแรกที่ให้การรับรองกัมพูชาจาการได้รับเอกราชจากฝรั่งเศศ และยังสนับสนุนให้กัมพูชาเข้ามามีส่วนในกลุ่มความร่วมมืออาเซียน

ภายหลังจากการชี้แจงเสร็จสิ้นผู้พิพากษาชาวบราซิลก็ได้ถามถึงข้อมูลจากเหตุการณ์ปะทะที่ชายแดนว่ามีชาวบ้านพักอาศัยเท่าไหร่และมีผู้อพยพออกจากพื้นที่และมีความเสียหายเท่าไหร่ ต่อมา ประธานศาลโลกที่เป็นชาวญี่ปุ่นก็ได้แจ้งว่าขอให้ทั้งสองฝั่งจัดทำเอกสารข้อมูล ส่งให้ศาลโลกภายใน 7 มิ.ย. ซึ่งศาลก็จะมอบคำชี้แจงของแต่ละประเทศให้อีกฝั่งเพื่อทำข้อมูลแย้งและส่งคืนในวันที่ 14 มิ.ย. จากนั้น 3 สัปดาห์ก็จะมีคำตัดสินว่าจะรับหรือไม่รับการขอให้มีมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งหากรับก็ต้องมาดูว่ามาตรการจะมากน้อยเพียงใด แต่อย่างไรก็ตามไทยก็มีสิทธิที่จะรับหรือไม่รับคำตัดสินของศ่าลก็ได้ เพราะศาลโลกไม่มีหน้าที่บังคับแต่ หากมีคำตัดสิน คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ UNSC จะเป็นผู้บังคับให้ใช้อำนาจนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า พอใจในการชี้แจงต่อศาลหรือไม่นายกษิตกล่าวว่า เราได้เตรียมการมาเกือบ 2 ปี อย่างไรก็ตามเราก็ต้องเตรียมข้อมูลต่อไปเพื่อที่จะมาสนับสนุนข้อโต้แย้งกรณีที่กัมพูชาขอให้ตีความคำพิพากษาเดิมในปี 2505 ซึ่งต้องส่งให้ศาลภายในเดือน ก.ย. จากนั้นศาลจะใช้เวลา 4 - 5 เดือนในการพิจารณา.

**ไทยมีสิทธิ์รับหรือไม่รับคำตัดสินของศาลโลกได้

นายกษิต กล่าวถึงกรณีหากศาลโลกมีคำสั่งออกมาทางใดทางหนึ่งออกมา ว่า ศาลโลกจะตัดสินเรื่องคำขอของกัมพูชาที่จะให้ศาลออกมาตรการชั่วคราวว่าจะรับหรือไม่รับ และถ้ารับจะมีคำสั่งมากน้อยแค่ไหนอย่างไร แต่ก็ไม่แน่ว่าศาลอาจมีคำพิพากษาก่อนก็เป็นได้ เพราะได้มีการส่งเอกสารและข้อมูลประกอบต่างๆไปให้ศาลพิจารณาก่อนหน้านี้แล้ว อย่างไรก็ดีทั้งหมดเป็นเพียงการคาดเดา

"เรื่องนี้ต้องปล่อยให้เป็นดุลพินิจของศาล โดยจะมีการแจ้งวันผ่านตัวแทนรัฐบาลไทยเพื่อให้ส่งทีมไปนั่งฟังคำตัดสิน ซึ่งหากเป็นภายในปลายเดือนมิถุนายน หรือต้นเดือนกรกฎาคมผมจะเดินทางไปด้วยตัวเอง"นายกษิตกล่าวและว่าหากไทยไม่ปฎิบัติตามคำตัดสิน เรื่องทั้งหมดจะไม่กลับมาที่ศาลโลก เพราะศาลไม่มีอำนาจบังคับ แต่เรื่องการบังคับให้เป็นไปตามมติของศาลโลกเป็นอำนาจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดของประชาคมโลก ในหลักการเราต้องรับผลบังคับในฐานะของสมาชิกที่ดีของยูเอ็น และถ้าเราไม่ทำก็ต้องไปยูเอ็นเอสซี

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความมั่นใจแค่ไหนหลังการชี้แจง และคาดว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ นายกษิต กล่าวว่า เรื่องนี้เหมือนทีมฟุตบอล อยู่ที่การฝึกซ้อมก่อนลงแข่ง เราเตรียมการล่วงหน้ามา 2 ปี ทำงานกับทีมทนายที่ปรึกษามาตลอด มีการค้นคว้าเอกสารจากหอจดหมายเหตุในประเทศต่างๆเพื่อป้อนเป็นข้อมูลเป็นพันเป็นหมื่นฉบับ และยังจะทำต่อไปอย่างไม่ลดละ จากถ้อยแถลงของทั้ง 4 ท่านได้ขึ้นกล่าวต่อศาล ได้มีการแบ่งงานออกมาอย่างดี มีความสอดคล้องและตอบรับกัน เชื่อว่าสิ่งที่ได้พูดตอบทุกประเด็นปัญหาที่ฝ่ายกัมพูชายกขึ้น ด้วยเหตุด้วยผลทางกฎหมาย และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เราเจอ แต่ตนไม่อยู่ในฐานะที่จะตัดสินว่าสำเร็จหรือไม่ เป็นหน้าที่ของสื่อและนักวิชาการ แต่จากที่อ่านผ่านสื่อคิดว่าเราได้รับการตอบรับในทางบวก

นายกษิต กล่าวยืนยันด้วยว่า การไปขึ้นศาลโลกไม่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการส่งคณะผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซียเข้ามายังชายแดนไทย-กัมพูชา เพราะเรื่องดังกล่าวก็มีความคืบหน้าไปตามขั้นตอนอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะถูกเรื่องอื่นกลบไป ไทยพร้อมและรอให้อินโดนีเซียส่งคณะเข้ามาสำรวจพื้นที่พร้อมกับรอให้กัมพูชาตอบรับการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป(จีบีซี)อยู่ ขณะนี้ภาระไม่ได้อยู่ที่ประเทศไทย

***แฉเหตุมาร์คกอดเอ็มโอยู43แน่นวันนี้

นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวเมื่อเวลา 21.00 น. ที่สะพานมัฆวานฯ กล่าวว่า ถึงแม้เสียงคนไทยที่อยู่ต่างประเทศ มีไม่มาก แต่เชื่อว่า 90% จะโหวตโนแน่นอน ในวันที่ 3 มิ.ย.นี้ ตนจะเปิดเผยเหตุผลว่า ทำไมนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถึงกอดเอ็มโอยู 2543 ไม่ยอมยกเลิก เพราะกระบวนการต่างๆที่เกิดขึ้น ล้วนถูกจงใจทำให้เกิดขึ้น เช่น การขึ้นสู่ศาลโลก ก็จงใจเพื่อให้แพ้ ตนเคยพูดก่อนหน้านี้ว่านายอภิสิทธิ์เป็นคนส่งของ วันนี้ เริ่มมีความชัดเจนขึ้น เรื่องนี้อำมหิตกับชาติบ้านเมืองมาก ตรงที่ว่า เมื่อศาลโลกพิพากษาออกมาเข้าข้างกัมพูชา นายอภิสิทธิ์จะบอกว่า เขาไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะเป็นคำตัดสินของศาลโลก หลังจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็จะมาสวมตอต่อ แล้วก้อ้างว่าทำตามคำตัดสินของศาลโลก เหมือนกับที่เคยสวมตอต่อจากนายชวน หลีกภัย

ถ้าเราดูสันดานของนักการเมือง จะเห็นว่าพวกนี้ขายชาติ ขายแผ่นดินจริงๆ วันนี้( 3 มิ.ย.) จะเล่ารายละเอียดที่มาที่ไป ว่า เรื่องนี้เป็นเกมซึ่งเล่นกัน เป็นเกมมหาอำนาจเขาเล่นกัน มันพิสูจน์ชัดว่าคนพวกนี้ขายชาติจริงๆ คอยดูในยุคพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายเสนีย์ ปราโมช เป็นนายกฯ เคยทำให้ไทยเสียดินแดน เวลาผ่านมา 49 ปี ยุคพรรคประชาะปัตย์ ที่มีนายอภิสิทธิ์ เป็นนายกฯ ก็จะทำให้ไทยเสียดินแดนเช่นกัน

ในเรื่องปฏิญญาฟินแลนด์ ข้อแรก ที่ระบุว่าต้องเอามวลชน ทำโดยการลดแลกแจกแถม มาถึงยุคนายอภิสิทธิ์ ก็ทำเหมือนกัน ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย ไม่มีอะไรต่างจากยุคทักษิณ

เราจะเห็นชัด ประเทศไทยวันนี้ ถ้าไม่ปฏิรูปการเมืองไม่ได้ คนไทยที่อยู่ในแอลเอถามว่า โหวตโนแล้วได้อะไร ตนบอกว่าได้ 2 ประการ คือประการแรกเป็นการแสดงสิทธิของเรา ว่าเราไม่พอใจนักการเมืองในระบบนี้ เป็นครั้งแรกที่ประชาชน บอกนักการเมือง บอกพรรคการเมือง ว่าไม่เอาทุกคนเลย ประการที่สอง มันสะใจ เราแสดงความไม่พอใจ เป็นการสั่งสอนนักการเมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น