xs
xsm
sm
md
lg

จี้เขมรถอนกำลัง ต่อรองเปิดทาง อินโดฯเข้าพื้นที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- "มาร์ค" ยืนกรานไทยไม่ยอมผู้สังเกตการณ์อินโดฯ เข้าพื้นที่ไทย ตราบใดกัมพูชาไม่ถอนทหาร แต่ยอมแค่ 1-2 วันให้ผู้สำรวจอินโดฯ เข้าดูที่อยู่ที่กิน ย้ำต้องไม่สวมเครื่องแบบเข้ามา ด้านคณะกรรมการมรดกโลกเขมรออกแถลงการณ์โต้ “สุวิทย์ คุณกิตติ” ระบุแผนบริหารพื้นที่ไม่ล้ำดินแดนไทย

วานนี้ ( 23 พ.ค. ) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีชุดเล็ก ถึงการเตรียมการดำเนินการเรื่องปราสาทพระวิหาร ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมรดกโลก และศาลโลกว่า ขณะนี้มีความก้าวหน้า และชัดเจนมากขึ้น คือ ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผู้สังเกตการณ์โดยสรุปขณะนี้คือ หลังจากที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม พบปะกับรมว.กลาโหมกัมพูชา ที่ประเทศอินโดนีเซีย ก็มีแนวทางที่จะดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอน

โดยข้อแรก จะมีผู้สำรวจเข้ามาดูจุดที่มีการระบุเอาไว้ในข้อกำหนดหรือ ทีโออาร์ ว่าผู้สังเกตการณ์ที่เคยพูดคุยกันไว้จะเข้ามาอยู่ตรงไหน ซึ่งคนเหล่านี้จะเป็นเจ้าหน้าที่ธรรมดา จะเข้ามาดูที่พักอาศัยว่าจะอยู่ตรงไหน โดยจะอยู่ 1-2 วัน ก็จะกลับ

เมื่อคณะผู้สำรวจ เดินทางมาดูจุดที่จะมีผู้มาสังเกตการณ์แล้ว จะมีการประชุมจีบีซี ที่กรุงพนมเปญ หรือที่อื่นในกัมพูชา แล้วแต่กัมพูชาจะเป็นผู้กำหนด โดยหัวข้อสำคัญที่จะมีการพูดคุยกันคือ ประเด็นการถอนทหาร ตามที่ไทยได้พูดไว้จากพื้นที่ที่เป็นปัญหากันอยู่ ฉะนั้นความก้าวหน้าในเรื่องนี้ หยุดอยู่ในขั้นตอนนี้ เมื่อการประชุมจีบีซีได้ผลเป็นที่พอใจตามเงื่อนไขที่เราได้กำหนดไว้ คือ มีการถอนทหารออกจากพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรแล้ว จึงจะมีการดำเนินการในเรื่องของ ทีโออาร์ และผู้สังเกตุการณ์ต่อไป ซึ่งยังอยู่ในเงื่อนไขของมติครม.เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่กำหนดไว้ว่า เรื่องทีโออาร์ เราจะเดินหน้าต่อก็ต่อเมื่อกัมพูชาถอนทหารออกไป

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คืนวันที่ 23 พ.ค.นี้ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเดินทางไปประชุมมรดกโลก ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยจะมีการพบปะหารือ ทวิภาคีกับกัมพูชา ในวันที่ 25 พ.ค. และจะประชุมคณะกรรมการที่เป็นกลไกของมรดกโลกในวันที่ 26 พ.ค. โดยจุดยืนของเรายังเหมือนเดิม ทางมรดกโลกควรจะเลื่อน หรือหลีกเลี่ยงการพิจารณาแผนบริหารจัดการพื้นที่ ที่ทางกัมพูชาเสนอ เพราะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างที่ผ่านๆ มา ถ้าสามารถตกลงกับทางกัมพูชาได้ หรือในวันที่ 26 พ.ค. สามารถมีความชัดเจน ทางฝ่ายไทยจะสนับสนุนให้มีการเอาเรื่องนี้ ออกจากระเบียบวาระ

อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่า ถ้ายังไม่สามารถเอาออกจากระเบียบวาระได้ หรือมีปัญหาในเชิงข้อบังคับเทคนิค ก็ควรจะมีข้อเสนอแนะออกจากที่ประชุมว่า ควรจะมีการเลื่อนการพิจารณาเรื่องนี้ออกไป สำหรับวันที่ 26 พ.ค.นี้ ถ้ามีผลชัดเจนอย่างไร หลังจากที่นายสุวิทย์ เดินทางกลับ ก็จะมีการกำหนดแนวทางต่อไป ในเรื่องการประชุมในเดือนมิ.ย.

สำหรับเรื่องศาลโลกได้มีการเตรียมประเด็นข้อกฎหมายต่างๆ รับทราบความก้าวหน้าในการทำงานของคณะที่ปรึกษากฎหมาย และทีมกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนี้ได้มีการให้ข้อสังเกตุเพิ่มเติมไป ซึ่งจะต้องมีการไปยื่นความเห็นของฝ่ายไทย ในวันที่ 30 -31 พ.ค. ต่อกรณีที่ทางกัมพูชาไปขอใช้มาตรการชั่วคราว ซึ่งวันนี้ได้ใช้เวลาในการกำหนดจุดยืนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชาทั้งหมดมีความเป็นเอกภาพ และมีความเข้าใจตรงกัน เดินไปในทิศทางยุทธศาสตร์ เดียวกันครบถ้วน และมั่นใจว่า การดำเนินการใดๆ ก็ตาม จะไม่ทำให้ประเทศไทยต้องเสียสิทธิใดๆ ทั้งสิ้น ในเรื่องของดินแดน หรืออธิปไตย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้สำรวจเข้ามาเป็นหน่วยไหน อย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ พูดง่ายๆ คือ ไม่มีเครื่องแบบเข้ามาสำรวจ เมื่อถามว่า การมีผู้สำรวจเข้ามาในขณะที่กัมพูชายังไม่มีการถอนทหารออกจากพื้นที่ กัมพูชา จะอ้างได้หรือไม่ว่า นั่นคือผู้สังเกตการณ์ นายอภิสิทธิ์ กล่าววว่า ไม่ใช่ เพราะชื่อเรียกต่างกันชัดเจน ขอบเขตการทำงานก็ต่างกัน มาแค่ 1-2 วัน ดูที่พักอาศัยแล้วก็กลับ โดยผู้สำรวจจะมาจากอินโดนีเซีย แต่ไม่ทราบว่าเป็นหน่วยงานไหน เขาไม่มาในนามของหน่วยงาน แต่มาในนามของเจ้าหน้าที่ โดยกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซียน ยืนยันมา

เมื่อถามว่า หลังการหารือระหว่าง รมว.กลาโหมของไทยกับกัมพูชา มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ที่กัมพูชาจะถอนทหาร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องไปพูดคุยกันใน จีบีซี แต่ถ้ายังไม่ถอน เรื่องผู้สังเกตการณ์ ก็ยังเข้ามาไม่ได้

เมื่อถามว่า ถ้าผู้สังเกตการณ์เข้ามาไม่ได้ ทางอินโดนีเซียจะเข้ามาแทรกแซง หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คงไม่ เพราะได้ทำความเข้าใจกันครบถ้วน 3 ฝ่าย ซึ่งผู้สำรวจที่เข้ามา จะไม่ได้เข้าไปในพื้นที่ 4.6 ตร.กม. และผู้สำรวจที่เข้ามา เขาจะไม่มาในนามทหาร หรือตำรวจ เขาจะมาในนามของผู้สำรวจ ซึ่งเราไม่มีปัญหา เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมการที่จะส่งผู้สังเกตการณ์เข้ามา ถ้าเป็นทหาร หรือตำรวจ เขาก็จะไม่ใส่เครื่องแบบเข้ามา ซึ่งตนก็ตอบไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าทุกอย่างไม่เป็นไปตามขั้นตอน มีแผนรองรับหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า มันเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะการจะเข้ามาได้แต่ละครั้ง เราต้องยินยอม ฉะนั้นถ้าไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่เรากำหนดไว้ เราก็ไม่ยินยอม

เมื่อถามว่า การให้ผู้สังเกตการณ์เข้ามาจะไม่ทำให้ไทยเสียเปรียบกัมพูชาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่มี เพราะพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ไม่ได้เกี่ยวข้อง มาดูเพื่อให้จีบีซี เดินหน้าได้ พูดง่ายๆ เป็นการแสดงออกให้เห็นว่า ทุกคนต้องการให้ทุกอย่างเดินหน้า

ส่วนการเจรจาปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ถ้ามีการเปลี่ยนขั้วอำนาจ จะกระทบหรือไม่นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องมรดกโลกอย่างน้อยที่สุดในการประชุมปีนี้จะเสร็จสิ้นก่อนการเลือกตั้ง ส่วนปีหน้า เรายังยืนยันเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมอยู่ ส่วนคดีที่ศาลโลก การตัดสินอาจจะชี้ในเรื่องของมาตรการชั่วคราว คงจะใกล้ๆ ช่วงเลือกตั้ง แต่น่าจะเป็นก่อนที่รัฐบาลชุดใหม่จะเข้ามา แต่หลังจากนั้นไป การต่อสู้คดี หรือแนวทางมรดกโลก ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า เดิมทีพรรคเพื่อไทยสนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลก นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องไปถามเขาว่า ยังมีจุดยืนอย่างนั้นหรือไม่ อย่างไร เมื่อถามว่า ที่นายกฯ บอกว่า มีการตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมไปยังศาลโลก พอตั้งข้อสังเกตได้หรือไม่ว่า เรื่องอะไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ เพราะเป็นเรื่องของเนื้อคดี เราขออนุญาตว่า แนวทางการต่อสู้ที่เป็นตัวเนื้อหาสาระในตัวสำนวน ตัวคดี ไม่ขอเปิดเผย
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้ากัมพูชายืนยันไม่ถอนทหาร ก็จะหยุดอยู่แค่นั้น ซึ่งเรื่องของผู้สังเกตการณ์เป็นผลสืบเนื่องมาจากความพยายามที่จะมาช่วยแก้ปัญหาของอาเซียนด้วยกันเอง แต่ข้อเท็จจริงเราทราบกันดีอยู่ว่า อย่างเหตุการณ์เดือนเม.ย. ที่เกิดขึ้น เป็นคนละพื้นที่กับเหตุการณ์ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นที่มาของการที่เรื่องนี้ไปอาเซียน โดยภาพรวมพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ยกเว้นช่วงสั้นๆ ที่มีปัญหา เรื่องเครื่องบิน ก็ไม่ได้มีการปะทะอะไรกัน และผู้สังเกตการณ์ที่พูดถึง ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพื้นที่ที่มีการปะทะกันในจังหวัดอื่นของเดือนเม.ย.

ทั้งนี้ การที่เราให้ผู้สำรวจเข้ามา เป็นการแสดงให้เห็นว่า เราไม่ได้ขัดขวางกระบวนการที่มีความพยายามช่วยเหลือจากเพื่อนๆ เพียงแต่ว่า ถ้าจะเป็นเรื่องของการมาสังเกตการณ์ แล้วต้องมาแก้ปัญหาในเรื่องการละเมิดเอ็มโอยู ปี 43 และต้องถอนทหารก่อน ทางกองทัพยืนอย่างนี้มาตลอด

เมื่อถามว่า การให้ผู้สำรวจเข้ามาจะถือเป็นก้าวแรก ที่ให้ประเทศที่ 3 เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่ ทางอินโดนีเซียเขาตระหนักถึงบทบาทขอบเขตต่างๆ ค่อนข้างดี เหมือนเรื่อง จีบีซี เจบีซี เขาก็เพียงแต่อำนวยความสะดวกให้เกิดความมั่นใจว่า ความร่วมมือในการดูแล ไม่ให้เกิดการปะทะกัน ตามที่อาเซียนได้คุยกันไว้ และหลักคือ ทุกอย่างต้องกลับไปสู่จุดที่ต้องไม่มีการละเมิดข้อตกลงระหว่างกัน คือ เอ็มโอยูปี 43 เรายืนยัน ต้องเคารพข้อตกลงดังกล่าว

"ผมขอเปรียบเทียบให้ชัดๆ กันไปเลยว่า มันมีที่ของเราอยู่ และมันก็มีปัญหาว่า มาบุกรุกทีนี้เราไม่อยากมีเรื่องมีราวกับคนที่บุกรุก เพราะเป็นประเทศเพื่อนบ้านกัน เราก็ขอตกลง จึงพยายามไม่ใช้กำลัง และอยากให้เคารพข้อตกลงว่า นี่เป็นที่ของเรา แต่พอคนบอกว่าจะส่งคนที่สามเข้ามาดูว่าใครอยู่ตรงไหน เราบอกอันนี้ไม่ได้ ต้องกลับไปสู่สภาพตามข้อตกลงก่อน ถึงมาดู เพราะเดี๋ยวมาดูแล้วเห็นการละเมิดข้อตกลง แล้วนึกว่านั่นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ฉะนั้นการที่จะมีคนที่สามเข้ามาดู หรือสังเกตการณ์ จะต้องให้เป็นไปตามข้อตกลงก่อน เดี๋ยวจะเกิดความเข้าใจผิด" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

***กก.มรดกโลกเขมรประท้วง “สุวิทย์”

ล่าสุด ทางคณะกรรมการมรดกโลกของประเทศกัมพูชา ได้ส่งแถลง การณ์มาประท้วงคำให้สัมภาษณ์ของนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)ในฐานะหัวหน้าผู้แทนคณะเจรจามรดกโลก ที่ให้สัมภาษณ์ว่าเพิ่งได้รับแผนบริหารจัดการพื้นที่พระวิหารเมื่อไม่นาน อีกทั้งยังระบุว่าแผนของกัมพูชา มีพื้นที่บางส่วนล้ำเข้ามาในเขตแดนไทย และไทยยอมรับไม่ได้ จึงต้องชี้แจงต่อยูเนสโกนั้น ทางคณะกรรมการมรดกโลกของกัมพูชา รู้สึกตกใจกับถ้อยคำให้สัมภาษณ์ดังกล่าว และอยากชี้แจง ดังนี้

กรณีที่ไทยอ้างว่าเพิ่งได้รับแผนบริหารจัดการพื้นที่พระวิหาร แท้จริงแล้วกัมพูชา ยื่นแผนบริหารจัดการพื้นที่ฯ ให้กับคณะกรรมการ มรดกโลก ตั้งแต่เดือน ม.ค.53 และมีการแจกจ่ายให้สมาชิกของยูเนสโกที่มีไทย ที่อยู่ในฐานะรองประธานการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ประเทศบราซิลที่ก.ค.-ส.ค.53
แถลงการณ์ ยังระบุอีกว่า ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่าแผนบริหารดังกล่าวมีบางส่วนล่วงล้ำมาในเขตแดนไทยนั้น ขอแจ้งว่าแผนฉบับนี้จัดทำโดยคณะกรรมการมรดกโลก และอีโคมอส และแผนกราฟฟิกบริหารจัดการ ก็ชัดเจนว่าอยู่ในกัมพูชาไม่มีส่วนไหนล้ำเกินมาในไทย

ทั้งนี้การประชุมมรดกโลกที่บราซิล นอกจากนี้ข้อตกลงว่าจะพิจารณาแผนในการประชุมมรดกโลกที่มีขึ้นที่ปารีสในเดือนมิ.ย.นี้ และนายสุวิทย์ ก็ได้เซ็นรับรองรับทราบเรื่องดังกล่าว

“ การที่บอกว่าเพิ่งได้รับแผนการจัดการ บริหารเมื่อเร็วๆ เป็นคำพูดที่ไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ และทางคณะกรรมการมรดกโลกของกัมพูชา ขอออกแถลงการณ์ต่อต้านคำพูดของนายสุวิทย์ ซึ่งคำสัมภาษณดังกล่าวจะทำให้การเสียบรรยากาศประชุมที่กรุงปารีสในสัปดาห์นี้” แถลงการณ์ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น