xs
xsm
sm
md
lg

พธม.สับรัฐยอมอิเหนาเข้าไทยตามแผน TOR สมรู้เขมรใช้ศาลโลกยกดินแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (แฟ้มภาพ)
โฆษกพันธมิตรฯ ซัด “มาร์ค” ยอมทีมสำรวจเข้าพื้นที่ทำสังคมสงสัย ชี้ตามแผนทีโออาร์ไร้เงื่อนไขถอนทหารเขมร ฉะรัฐทำข้อตกลงต่างชาติโดยชาวบ้านไม่รู้ จี้เปิดข้อตกลง สับยอมรับอำนาจศาลโลก เปิดข้อมูลให้ทนายฝรั่งเศสทำคนสงสัยสมรู้ร่วมคิด ยกข้อเขียน “สมปอง” สงวนสิทธิ์ตามปี 2505 จวกรัฐถ้าแพ้อย่าปฏิเสธความรับผิดชอบ “จำลอง” ถาม “มาร์ค” ถ้าบ้านโดนบุกจะปล่อยไว้ไหม “ประพันธ์” กัด ปชป.สร้างปัญหาเพิ่ม สับทหารไม่จริงใจปกป้องอธิปไตย


 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ให้สัมภาษณ์  

วันนี้ (24 พ.ค.) ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่าจะมีทีมล่วงหน้าของอินโดนีเซียเข้ามาสำรวจพื้นที่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ก่อนที่จะมีทีมสังเกตการณ์เต็มชุดเข้ามาว่า เป็นเพียงการเลี่ยงใช้ภาษา ที่ว่าเป็นทีมสำรวจพื้นที่ล่วงหน้า ไม่ใช่ทีมสังเกตการณ์ เพื่อสร้างความคลุมเครือให้แก่สังคม ซึ่งทำให้ประชาชนเคลือบเคลืองสงสัย เพราะพอภาคประชาชนจะออกมาเปิดเผยข้อมูล รัฐบาลจึงออกมาแถลงในภายหลัง โดยยอมรับว่าจะมีคณะจากต่างชาติเข้ามา แต่ไม่ได้บอกรายละเอียดว่าเป็นคณะทหารหรือตำรวจ มีเพียงข่าวที่ออกจากทางฝ่ายกัมพูชาว่าคณะดังกล่าวจะไม่สวมเครื่องแบบเพื่ออำพรางตัวว่าเป็นพลเรือน อย่างไรก็ตาม กระบวนนี้เป็นการดำเนินการตามข้อตกลงร่วมกัน (ทีโออาร์) ของรัฐมนตรีต่างประเทศของ 3 ฝ่าย คือ ไทย กัมพูชา และอินโดนีเซีย ที่มีการลงนามกันเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมาในการประชุมที่ประเทศอินโดนีเซีย

นายปานเทพกล่าวอีกว่า ในทีโออาร์ดังกล่าวได้จัดชุดทางออก (Package of Solutions) โดยกำหนดเงื่อนเวลาไว้ 3 ช่วง คือ 1.ลงนามและแลกเปลี่ยนทีโออาร์ พร้อมประกาศประชุมคณะกรรมาธิการชายแดนทั่วไป (จีบีซี) และคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (เจบีซี) 2.ภายหลังจากนั้น 5 วัน ส่งทีมสำรวจพื้นที่เข้ามา พร้อมเริ่มการประชุมเจบีซี หรือจีบีซี และ 3.ถัดจากนั้นอีก 5 วัน ส่งทีมสังเกตการณ์เต็มชุดจากอินโดนีเซีย พร้อมติดตามผลการประชุมเจบีซีและจีบีซี โดยเงื่อนไขเหล่านี้อยู่ในส่วนของการสรุปข้อตกลงที่ทั้ง 3 ฝ่ายลงนาม โดยที่ไม่มีเงื่อนไขที่ให้ทหารและชุมชนชาวกัมพูชาถอนตัวออกจากพื้นที่ 4.6 ตร.กม.รอบปราสาทพระวิหารแต่อย่างไร

“ไม่ว่านายกฯ จะเรียกคณะดังกล่าวว่าทีมสำรวจล่วงหน้า หรือทีมสังเกตการณ์ ตราบใดที่มีวัตถุประสงค์ไม่ให้เกิดการปะทะนั้น ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้กัมพูชายึดครองแผ่นดินไทยโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา ดังนั้น รัฐบาลต้องไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ และต้องให้กัมพูชาออกไปก่อนเป็นเงื่อนไขสำคัญ จึงจะเริ่มนับหนึ่งในการเจรจาหรือให้ใครเข้ามาสังเกตการณ์ ไม่ใช่มากำหนดกรอบเวลาเช่นนี้” นายปานเทพกล่าว

โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวด้วยว่า ตนอยากฝากถามไปถึงนายกฯ ว่า ชุดสำรวจที่เข้ามาในพื้นที่นั้นอยู่ในขั้นตอนที่ 2 ของทีโออาร์เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ใช่หรือไม่ และอีก 5 วันหลังจากนี้ก็จะมีชุดสังเกตการณ์เต็มทีมเข้ามาเพิ่มเติม การกระทำดังกล่าวแสดงว่ารัฐบาลเดินหน้าทำข้อตกลงกับต่างชาติ และดำเนินการมาอยู่ในช่วงที่ 2 โดยที่ประชาชนไม่รับรู้ความเคลื่อนไหวเลย จึงขอให้รัฐบาลเปิดเผยทีโออาร์ออกมาอย่างเป็นทางการ เพราะข้อมูลที่เราได้รับก็มาจาการเปิดเผยของทางการกัมพูชา ซึ่งขั้นตอนก็เป็นไปตามนั้นทุกประการ

ส่วนกรณีที่นายกฯ ออกมาระบุว่าฝ่ายไทยมีหลักฐานใหม่ในการชี้แจงต่อศาลโลก ในวันที่ 30-31 พ.ค.นี้ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้นั้น นายปานเทพกล่าวว่า ในฐานะภาคประชาชนขอย้ำว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญและมีความละเอียดอ่อนมาก การที่รัฐบาลไม่ยอมเปิดเผยหลักฐานดังกล่าว แสดงว่า 1.รัฐบาลยอมรับอำนาจของศาลโลก แทนที่จะปฏิเสธการยอมรับคำตัดสิน เนื่องจากศาลโลกเป็นเพียงศาลการเมืองระหว่างประเทศ 2.เมื่อรัฐบาลไม่ยอมเปิดเผยให้ประชาชนรับรู้ แต่อีกทางกลับเปิดเผยให้ทนายความชาวฝรั่งเศส ที่กระทรวงการต่างประเทศว่าจ้างให้ว่าความในศาลโลก ทั้งที่ประเทศฝรั่งเศสมีผลประโยชน์โดยตรงกับกัมพูชา ในฐานะเจ้าอาณานิคม และผลประโยชน์ด้านน้ำมัน ปัญหาเหล่านี้ทำให้ประชาชนมีความเคลือบแคลงสงสัยในพฤติกรรมของรัฐบาล ทำให้คิดได้ว่ามีขบวนการสมรู้ร่วมคิด ยกแผ่นดินให้กัมพูชา โดยอาศัยมือของศาลโลก

นายปานเทพยังได้กล่าวถึงการข้อเขียนฉบับใหม่ของ ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ ที่มีการระบุให้รัฐบาลปฏิเสธอำนาจของศาลโลกในทุกกรณี โดยให้เหตุผลว่าไทยไม่ได้ต่ออายุการยอมรับปฏิณญาว่าด้วยการบังคับใช่อำนาจของศาลว่า ศาลโลกจึงไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาคดี หรือแม้แต่ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ดังนั้นฝ่ายไทยต้องต่อสู้ในศาลโลก โดยให้ศาลพิจารณาถึงอำนาจขอบเขตการพิจารณาของศาลเสียก่อน แล้วจึงใช้ข้อสงวนสิทธิที่ไทยได้เคยประกาศไว้ในที่ประชุมสหประชาชาติ เมื่อปี 2505 ต่อไป รวมทั้งการยืนยันในการไม่ยอมรับอำนาจของศาลโลก ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาคดีใหม่ หรือการตีความเพิ่มเติมของคดีเมื่อปี 2505 เพราะผ่านมากว่า 50 ปีแล้ว โดยที่ทั้ง 2 ฝ่ายก็ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาอย่างเคร่งครัด ไม่มีการยื่นคำร้องคัดค้านแต่อย่างไร

“รัฐบาลไทยต้องสู้โดยไม่ยอมรับอำนาจศาลโลก ไม่ใช่นำหลักฐานใหม่ที่อ้างถึงไปสู้ ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าฝ่ายไทยจะเสียเปรียบในเวทีศาลโลก เมื่อถึงเวลานั้นรัฐบาลไม่มีสิทธิที่จะอ้างว่า ศาลโลกเป็นผู้ตัดสิน เพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบ” นายปานเทพกล่าว

ขณะที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนขอตั้งข้อสังเกตว่า การที่รัฐบาลไทยว่าจ้างทนายชาวฝรั่งเศสทำหน้าที่ในศาลโลกนั้นสามารถทำได้หรือไม่ เพราะระเบียบกำหนดไว้ว่า ไม่ให้มีคนสัญชาติเดียวกันเกินกว่า 1 คนอยู่ในศาล แต่ในศาลก็มีผู้แทนของฝรั่งเศสอยู่แล้ว จึงน่าแปลกใจว่าเหตุใดรัฐบาลจึงยังพยายามที่จะใช้ทนายชาวฝรั่งเศส ทั้งที่มีผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ และมีความรู้ในเรื่องข้อพิพาทปราสาทพระวิหาร อย่าง ศ.ดร.สมปองอยู่ หรือว่านายกฯ ของ 2 ประเทศสมยอมกัน

ส่วนกรณีที่นายอภิสิทธิ์ออกมาระบุยอมรับมีผู้บุกรุกอยู่ในดินแดนของไทย แต่ไม่อยากใช้ความรุนแรง เพราะเห็นว่าเป็นประเทศเพื่อนบ้านนั้น พล.ต.จำลองกล่าวว่า การที่นายกฯ ออกมายอมรับว่ามีผู้บุกรุกดินแดน แต่ไม่ต้องการผลักดัน เพราะไม่อยากมีปัญหา ดังนั้น การไม่ทำหน้าที่ปกป้องดินแดนนั้นถือว่าถูกต้องหรือไม่ หากเป็นบ้านของนายกฯ เองถูกบุกรุกจะปล่อยเช่นนี้เหมือนกันหรือ อย่างไรก็ตาม การที่เราเสนอให้มีการผลักดันกัมพูชาออกจากดินแดนไทยนั้น ไม่ใช้ต้องการให้ใช้กำลังไปรบราฆ่าฟันกัน เพราะยังมีมาตรการทางเศรษฐกิจที่ยังสามารถใช้ได้อีกหลายหนทาง แต่เมื่อรัฐบาลไม่ทำอะไรเลย จึงเป็นการพิสูจน์แล้วว่าเป็นการสมยอมกัน

ด้าน นายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย กล่าวเสริมว่า รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์มีปัญหาในการทำหน้าที่ปกป้องดินแดนอธิปไตยของชาติ โดยมัวแต่สร้างปัญหาเพิ่ม ทั้งที่มีภาคประชาชนคอยคัดค้านและเสนอข้อมูลทางออก แต่ก็ไม่ยอมทำตาม อย่างไรก็ตามจากท่าทีล่าสุดของกองทัพ ทำให้เห็นได้ว่ากองทัพกับรัฐบาลสมรู้ร่วมคิดกัน เพราะจากเดิมที่กองทัพประกาศชัดว่าจะไม่ยอมให้ชุดสังเกตการณ์ของอินโดนีเซียเข้ามาในพื้นที่ หรือไม่ไปประชุมจีบีซี หากไม่มีการถอนทหารกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทย แต่สุดท้ายก็ยอมให้ทีมสำรวจล่วงหน้าเข้ามา แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจในการทำหน้าที่ปกป้องเอกราชของชาติ

นายประพันธ์กล่าวอีกว่า สถานการณ์เลือกตั้งยังคงเต็มไปด้วยความรุนแรง และไม่ได้เป็นอนาคตของชาติ โดยขณะนี้เริ่มมีการเสนอการออกกฎหมายนิรโทษกรรม โดยพยายามดึงพันธมิตรฯ และคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทยเข้าไปเกี่ยวข้อง จึงต้องขอยืนยันว่าเราไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมผู้ที่ก่อความไม่สงบ ก่อการร้าย เผาบ้านเผาเมือง และทุจริตคอรร์รัปชั่น โดยเฉพาะคดีที่ศาลพิพากษาสิ้นสุดแล้ว หรือที่ยังอยู่ในการพิจารณาของศาล

“บางกลุ่มพยายามอ้างว่าการนิรโทษกรรม เป็นหนทางในการสร้างความปรองดองของทุกฝ่าย ซึ่งเราขอยืนยันว่าไม่เห็นด้วย เพราะมีความพร้อมในการต่อสู้ในทุกคดีตามกระบวนการยุติธรรม อย่านำพวกเราไปเหมารวมกับกลุ่มอื่นที่กระทำผิด โดยไม่เคารพหลักนิติรัฐนิติธรรม และขอสนับสนุนให้ประชาชนร่วมกันคัดค้านการนิรโทษกรรม ให้ทุกฝ่ายดำเนินการตามกฎหมายทุกอย่าง หากพรรคการเมืองใดพยายามแก้กฎหมายเพื่อนิรโทษกรรมให้บุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใด เราจะออกมาคัดค้านและต่อสู้ถึงที่สุด” นายประพันธ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น